เพราะ “ยะลา” เป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีข่าวคราวเหตุการณ์ไม่สงบตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวของ “ยะลา” บิดเบือนไป
แต่ด้วยความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ต้องการทำให้ยะลาเกิดบทสนทนาใหม่ในมุมมองของเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจอันเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความสวยงามและศิลปะ ผ่านโครงการนิทรรศการภาพถ่ายภาย “ลองล่องยะลา” โดยมีสถาปนิกชื่อดังของเมืองไทย ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ริเริ่มโครงการฯ ร่วมมือกับแวร์อินไทย (www.WHERE.IN.TH) เว็บไซด์ที่นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับที่ท่องเที่ยวที่พักทั่วไทย
พร้อมกันนี้ได้รวบรวมภาพถ่ายของศิลปิน นักท่องเที่ยว สถาปนิก นักข่าว ช่างภาพ นักธุรกิจ ทั้งหมด 17 คน ที่รวมตัวกันไปร่วมทริปถ่ายภาพที่จังหวัดยะลา เก็บสีสันและประสบการณ์ในแบบฉบับของแต่ละคน แล้วนำกลับมาถ่ายทอดเป็นนิทรรศการภาพถ่าย “ลอง ล่อง ยะลา” ที่สะท้อนให้เห็นแง่งามผ่านวิถีชีวิตของผู้คน ทัศนียภาพที่น่าประทับใจ ตลอดจนสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งผังเมืองที่มีความสมบูรณ์สวยงาม จำนวนทั้งหมด 100 ภาพ โดยมี พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการภาพถ่ายอย่างเป็นทางการ ณ เดอะ แจม แฟคตอรี่ เมื่อเร็วๆ นี้
ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ริเริ่มโครงการ ลองล่องยะลา เผยถึงความตั้งใจที่จะทำให้ยะลาเกิด บทสนทนาใหม่ ในมุมมองของเมืองท่องเที่ยวที่มีกลิ่นอายของความสวยงาม และ ศิลปะ สะท้อนให้เห็นความน่าสนใจของเมือง ในแง่ชีวิตของผู้คน การใช้ชีวิต ทัศนียภาพ สถาปัตยกรรม และผังเมือง การดำเนินงานจะเชิญผู้คนที่ทำงานในด้าน สถาปัตยกรรม ศิลปะ การออกแบบ ช่างภาพ และ นักข่าว ลงไปถ่ายรูป 1 วัน ในเมืองยะลา โดยรูปถ่ายดังกล่าว จะเปิดเผยให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจ ความสวยงามของเมืองยะลา และสร้างบทสนทนาขึ้นมาในสังคม โดยเริ่มต้นจากรูปภาพเหล่านั้น ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เศรษฐกิจของยะลากลับมาเข้มแข็งเนื่องจาก การท่องเที่ยว อาจเป็นผลให้ความรุนแรงในจังหวัดเนื่องมาจากเหตุไม่สงบลดลง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ จะก่อให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพมาสู่สามจังหวัดชายแดน คือ ปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา ในที่สุด
ในฐานะสถาปนิก ดวงฤทธิ์ มองการวางผังเมืองยะลาที่เป็นรูปข่ายใยแมงมุม มีวงเวียนซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ชั้นในสุดเป็นหลักเมือง รอบวงเวียนชั้นในเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ “ผมเคยเดินทางมายะลาเมื่อกลางปีที่ผ่านมาและได้ค้นพบว่าเป็นเมืองที่น่ารัก รวมทั้งมีการวางผังเมืองที่ดีมีเอกลักษณ์ มีตึกเก่าๆ ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ถนนหนทางก็กว้างขวางสะดวกสบาย อย่างผมเป็นสถาปนิกด้วยก็ยิ่งชอบใหญ่และอยากให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่ายะลาเป็นเมืองที่น่ารัก จึงชักชวนเพื่อที่เป็นนักท่องเที่ยว นักเดินทาง นักถ่ายรูป ลงมาเที่ยวยะลาแล้วถ่ายรูปกลับไป และอยากจะเผยแพร่รูปให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่ายะลาไม่ได้เป็นอย่างที่หลายๆ คนคิด แต่มีมุมที่มีทั้งความน่ารักและความเก๋ หวังจะเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ช่วยบุกเบิกการท่องเที่ยวยะลาให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง
“ผมมองว่าการท่องเที่ยวยุคใหม่ไม่ได้ถูกสร้างจากการแต่งหน้า ทาเล็บ แต่เกิดจากความตรงไปตรงมาและความจริงที่ปรากฏตรงหน้ามากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวตัวจริงอยากเห็น และฝันว่าถ้ามีคนมาเที่ยวเยอะๆ ก็อาจทำให้ยะลากลับมาคึกคักเหมือนอย่างปาย หรือ เชียงคานในสมัยก่อน รวมทั้งมีความเชื่อมั่นว่าถ้าผู้คนไปเที่ยวยะลาเยอะขึ้น เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น ความรุนแรงในภาพใต้ก็อาจจะลดลง เพราะเมื่อคนเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนที่กำลังหันเหไปทำเรื่องรุนแรงก็อาจน้อยลง ถึงหลายคนจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งภาคใต้จะต้องสงบได้” ดวงฤทธิ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโปรเจ็กต์เล็กๆ ของเขาที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสงบของภาคใต้ก็เป็นได้
สำหรับผลงานทั้ง 9 ภาพของสถาปนิกหนุ่ม ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายตึกรามบ้านช่องในเมืองยะลาให้เห็นวิถีชีวิตประจำวันของคนยะลา ผ่านมุมมองการถ่ายภาพในแนวสตรีท โฟโต้กราฟ สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนยะลาแบบเนื้อแท้ ทั้งในย่านตลาด ชุมชน โรงเรียน รวมทั้งผู้คนที่มีอัธยาศัยดี ใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยตั้งใจถ่ายทอดแง่มุมของยะลาในทางสร้างสรรค์ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเก๋ๆ ที่ยังคงมีกลิ่นอายไร้เดียงสา เพื่อสร้างบทสนทนาใหม่ให้กับยะลาและเป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจให้ลองไปเที่ยวกัน
“เป็นที่รู้กันว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาคนตายเยอะมาก ถ้าเราไม่เริ่มต้นช่วยกันทำอะไรตั้งแต่วันนี้ ต่อไปก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ตอนตัดสินใจเดินทางไปยะลา ก็ไม่ได้รู้สึกว่ากลัว รู้อย่างเดียวว่าต้องช่วยกันทำอะไรก็ได้ให้ยะลาสงบสุข ยิ่งได้ลงพื้นที่แยกย้ายไปถ่ายภาพ พอคนยะลาที่ได้รู้ว่าพวกเราไปทำกิจกรรมดีๆ เพื่อพวกเขา ต่างก็มาขอบคุณที่ทำโครงการให้พวกเขา ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวในการเรียกร้องสันติสุข และถ้าเราเชื่อว่าความสงบสุขจะกลับคืนมา สักวันหนึ่งก็ต้องสงบสุขแน่นอน” โต้โผคนสำคัญบอก พร้อมกล่าวว่าหลังจากเสร็จสิ้นการแสดง
นิทรรศการภาพถ่ายลอง ล่อง ยะลา ที่กรุงเทพฯ แล้ว เทศบาลเมืองนครยะลาจะนำไปจัดแสดงต่อที่ยะลา เพื่อให้คนยะลาได้รับรู้ว่าพี่น้องชาวไทยในกรุงเทพฯ ยังห่วงใยเขาเสมอ รวมทั้งพวกเขาจะได้มีความภาคภูมิใจในถิ่นที่อยู่ด้วย
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีในฐานะตัวแทนคนยะลาว่า “ผมเกิดและเติบโตที่ยะลามุมมองต่างๆ ก็อาจจะได้เห็นภาพเดิมๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ศิลปินทุกท่านที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ได้แสดงภาพของเมืองที่ทำให้เห็นความสวยงามของยะลาที่หากได้สื่อสารออกไปก็คงจะเป็นเรื่องการสร้างภาพพจน์ การให้กำลังใจ และการฟื้นฟูจิตใจของคนในพื้นที่ด้วย ในฐานะตัวแทนคนยะลา ต้องขอบคุณโครงการนี้ที่คนจากนอกพื้นที่และมาเปลี่ยนภาพของยะลาจากที่เป็นภาพของความรุนแรงให้เป็นภาพของความสวยงามที่จะสื่อออกไปถึงสาธารณชนในวงกว้างต่อไป”
นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมทริปถ่ายภาพ ในโครงการ ลอง ล่อง ยะลา ได้เปิดเผยประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมทริปถ่ายภาพครั้งนี้ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าว จากค่ายเนชั่น กล่าวถึงความรู้สึกในการร่วมทริปถ่ายภาพในโครงการลอง ล่อง ยะลา ว่า “เป้าหมายแรก คือ ต้องการให้คนกล้าไปเที่ยวยะลา ต่อมาคือ ให้คนยะลารู้ว่าเขามีเพื่อน ดังนั้นนอกจากติดตามเพื่อไปทำข่าวแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนและความเป็นยะลาซึ่งที่อื่นไม่มี นอกเหนือจากระเบิดและความรุนแรงที่มักได้ยินตามข่าว แต่พอไปสัมผัสพื้นที่จริงกลับไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ใช่เดินไปทางไหนก็เจอแต่ระเบิด ทำให้ได้รู้ความเป็นไปมากขึ้น เหมือนชาวต่างประเทศที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ และคิดว่ามีแต่โสเภณี แต่พอมาสัมผัสก็จะได้รู้ว่ากรุงเทพฯ มีหลากหลายแง่มุมที่ดีงามมากกว่านั้นมาก เช่นเดียวกับยะลาถ้าไม่มาก็จะไม่มีทางรู้ว่ายะลามีความน่าสนใจขนาดไหน”
สำหรับรูปถ่ายของตัวเองที่ชอบเป็นภาพถ่ายทีมงานที่กำลังวางแผนนิทรรศการนี้กัน อาจผิดโจทย์กว่าคนอื่น แต่ต้องการสะท้อนถึงความตั้งใจของพวกเราที่ต้องการให้นิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ สร้างทัศนคติให้คนมองยะลาในอีกมุม
เพชรรัตน์ จันทร์บัว เจ้าของธุรกิจรีสอร์ท เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการเดินทางไปร่วมกิจกรรมถ่ายภาพในครั้งนี้ว่า “เคยไปยะลาเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ก็เลยอยากกลับไปดูอีกครั้งว่ายะลาในตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพราะตั้งแต่มีข่าวเหตุการณ์ไม่สงบเมืองยะลาก็ดูเงียบเหงามาโดยตลอด แต่พอทุกคนได้ลงไปเห็นกับตาก็ประหลาดใจกันว่า ไม่เห็นน่ากลัวเหมือนในข่าวเลย และยังสวยสงบเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ทุกคนใช้ชีวิตตามปกติ แม้บางจุดในย่านเมืองเก่าจะมีป้อมทหาร หรือ บังเกอร์เพิ่มขึ้นมา ตอนเช้าก็ยังตื่นออกมาวิ่งออกกำลังกายเหมือนกับคนอื่นๆ ตามเมืองอื่นๆ ทั่วไป ส่วนชาวบ้านที่ได้พูดคุยก็ดีใจที่เรามาถ่ายทอดมุมมองจากสายตาคนอื่นที่ไม่ใช่คนพื้นที่เพื่อไปเผยแพร่ให้คนในวงกว้างได้รับรู้ด้วย”
สำหรับภาพถ่ายของ เพชรรัตน์ เน้นถ่ายทอดความเป็นปกติสุขของผู้คนและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปที่แสดงให้เห็นว่ายะลาเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีอารยะธรรมเป็นของตัวเอง เห็นได้จากสถาปัตยกรรมต่างๆ แต่รูปของตัวเองที่ประทับใจ คือ ย่านตลาดสดที่แม้ยะลาจะเป็นเมืองที่ไม่ติดทะเล แต่กลับมีอาหารทะเลชั้นเลิศที่เคยเห็นจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตหรูๆ ในกรุงเทพฯ แต่ที่ยะลากลับวางขายมากมายตามข้างทางแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในแถบนี้
รัมภาพร วรสีหะ ช่างภาพหญิงอิสระ กล่าวความรู้สึกประทับใจจากการได้มาสัมผัสผู้คนในพื้นที่ว่า “คนที่นี่หน้าตาเขาจะเคร่งขรึม ดูมีทีท่าเฉยๆ แต่ถ้าเอ่ยปากพูดคุยทักทายกัน และขอถ่ายรูปทุกคนก็ยินดี เรียกว่าน่ารักและอัธยาศัยดีมาก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนคิด คุณป้าบางคนนอกจากยินดีให้ไปถ่ายรูปแล้วยังแต่งตัวสวยเตรียมพร้อมมาให้เลยก็มี”
ภายถ่ายส่วนใหญ่ของ รัมภาพร เป็นภาพของนักเรียนหลังเลิกเรียนที่ต่างมีกิจกรรมเหมือนเด็กทั่วไป ทั้งยืนเลือกซื้อขนมก่อนกลับบ้าน รอคิวนั่งรถสองแถว แต่ในบรรดาภาพถ่ายทั้งหมดเธอประทับใจภาพปลายนิ้วมือที่พ้นชายแขนเสื้อออกมาเพียงเล็กน้อยของเด็กนักเรียนหญิงสองคนที่แสดงให้เห็นถึงความงาม ของผู้หญิงมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา และคิดว่าผลงานของตัวเองจะส่งผลให้ผู้คนยังนึกถึงยะลาที่ในแง่งามที่ไม่ใช่มีแต่เสียงระเบิดตลอดเวลา
พิธีกรสาว สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ เล่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับคนในพื้นที่ว่า “เป็นครั้งแรกที่ไปยะลา ก่อนลงไปก็ทำการบ้านว่าสิ่งที่เราต้องการนำเสนออีกแง่มุมของยะลาคืออะไร กระทั่งได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า สิ่งที่จะทำให้ชายแดนใต้ดีขึ้น ต้องมาจากคนรุ่นใหม่ อย่างบรรดาเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมา ถ้าเขาได้รับการปลูกฝังหรือความเข้าใจที่ดี ก็อาจจะสร้างสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ โดยนำเสนอผ่านโรงเรียนและเด็กนักเรียน และพยายามพูดภาษามลายูแบบสั้นๆ กับเขา เพราะก่อนมาหัดพูดภาษามลายูมานิดหน่อย ก็เลยได้พูดทักทายกับน้องๆ ซึ่งทุกคนน่ารักมาก เด็กๆ ขอบคุณที่มาเที่ยวยะลาและช่วยกันนำรูปออกไปเผยแพร่”
เช่นนั้นภาพถ่ายของ สิริมา จึงแสดงถึงความไร้เดียงสาของเด็กๆ ที่แสดงถึงความมีไมตรีจิตกับทุกๆ คน ภาพที่ชอบที่สุด คือ กลุ่มนักเรียนเด็กชายที่นั่งเรียงแถวจับกลุ่มอยู่หลังห้องที่แสดงออกทั้งความทะเล้นและเขินอายตามประสาเด็กๆ นั่นเอง
นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจดีๆ ของคนกลุ่มหนึ่งที่หวังจะช่วยกันถ่ายทอดแง่งามของ “ยะลา” ให้สาธารณชนได้รับรู้โดยทั่วกัน ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย “ลองล่องยะลา” จำนวน 100 ภาพที่ประกอบไปด้วยภาพถ่ายจากฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของศิลปิน นักท่องเที่ยว สถาปนิก นักข่าว ช่างภาพ นักธุรกิจ รวมทั้งหมด 16 คน ได้แก่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค, นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์, พลวิทย์ เภตรา, สิริมา ไชยปรีชาวิทย์,รัมภาพร วรสีหะ, เพชรรัตน์ จันทร์บัว, นิศากร แก่นมีผล, สามารถ เมฆทิพย์พาชัย, สิทธิชัย อินทุประภา,บงการ เสมรัตต์, วันเอก กิจสมใจ, บุษปา กีรติไกรนนท์, เตชิษฐ์ ยุวดี, สมพร เนาวประทีป, ขนิษฐา พูลเสม และ พรพรรณ ทรงปัญญาวุฒิ โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – ปลายเดือนมกราคมศกหน้า เข้าชมได้ในเวลา 11.00 – 20.00 ของทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ เดอะ แจม แฟคตอรี่ ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการฯ และชมส่วนหนึ่งของภาพถ่ายสวยๆ ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/longlongyala พร้อมแบ่งปันภาพถ่ายในนิทรรศการที่คุณประทับใจเพื่อเผยแพร่แง่งามของเมืองยะลาให้ผู้คนมากมายได้รับรู้ใน Instagram และร่วมแฮชแทค #Longlongyala
บริษัท พับบลิค ฮิต จำกัด
จิตตาภา อาชาเทวัญ 089 480 4514, หทัยรัตน์ ศรีนาราง 082 333 1122