History DRAMA CHULA

นับตั้งแต่มีการสอนศิลปะการละครในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรทรงเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งหน่วยวิชาศิลปการละครในแผนกวิชาภาษาอังกฤษ

ระหว่างนั้น มีการจัดแสดงละครเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้นิสิตได้ฝึกฝนความรู้ด้านภาษาและศิลปะการละคร โดยมีรองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรศิลปการละครและกำกับการแสดงละครเรื่องต่างๆ ตั้งแต่พ.ศ. 2507 กิจการดังกล่าวได้ก้าวหน้าเป็นลำดับ จนสามารถดำเนินการจัดตั้งเป็นภาควิชาศิลปการละครได้ เมื่อปีพ.ศ. 2514

ปัจจุบัน ภาควิชาศิลปการละครเปิดสอนสามหลักสูตร คือ

อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปการละคร

อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปการละคร

อักษรศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยม) สาขาศิลปการละคร

และยังมีรายวิชาในหลักสูตรนานาชาติของคณะอีกสามรายวิชาด้วย

หลักสูตรของภาควิชาศิลปการละคร มีเนื้อหาวิชาและกระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นลักษณะพิเศษ กล่าวคือ มีทั้งด้านวิชาการ ทฤษฎี เนื้อหา ทักษะ วิจัย และสร้างสรรค์

แบ่งออกเป็นสายต่างๆ คือ ทฤษฎี การวิจารณ์ และวรรณกรรมการละคร การแสดง การกำกับการแสดง การออกแบบศิลป์ในละคร การเขียน-แปลและดัดแปลงบท งานเทคนิคสำหรับละครเวที การจัดการละครและการกำกับเวที การใช้เสียง ลีลาและละครเพลง การละครไทยร่วมสมัย การสร้างสรรค์ละครขนบนิยมใหม่ การละครหลังสมัยใหม่ การละครประยุกต์ และการละครเพื่อการศึกษา แต่ละสายมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ

นอกจากนี้ หลักสูตรของภาควิชายังมีโครงสร้างที่ให้รายวิชาสายต่างๆ ต่อยอดความเข้มข้นทางวิชาการและทักษะทางศิลปะการละครขึ้นไปเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่การฝึกพื้นฐาน พัฒนาทักษะ ไปจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ในรายวิชาขั้นสูงสู่สาธารณชน ทั้งนี้ รายวิชาขั้นสูงและงานวิจัยสร้างสรรค์ของนิสิต จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของสายนั้นๆ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของบัณฑิต

อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปการละคร

เป็นผู้มีความรู้รอบในศาสตร์ด้านต่างๆ ของศิลปะการละครทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ รู้ลึกในศาสตร์เฉพาะทางที่สนใจ สามารถไปทำงานในวิชาชีพด้านศิลปะการละครได้ มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ มีจิตอาสา จิตสาธารณะ และสำนึกต่อสังคม

อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปการละคร

เป็นผู้ที่เข้าใจหลักสำคัญในศาสตร์เฉพาะทางของศิลปะการละครที่ตนสนใจอย่างถ่องแท้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในงานวิชาการและสร้างสรรค์ อย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคม ทั้งในเชิงศิลปะ การศึกษา การพัฒนา และวิชาชีพ มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ มีจิตอาสา จิตสาธารณะ และสำนึกต่อสังคม

ทุกหลักสูตรของภาควิชา มีกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนซึ่งเป็นทั้งการฝึกทักษะ การปฏิบัติงานจริง การทำวิจัย และงานสร้างสรรค์ ทั้งของนิสิต คณาจารย์ และ ที่เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างนิสิต คณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิลปินรับเชิญ อาทิ ละครประจำปีการศึกษาของภาควิชา ละครศิลปะนิพนธ์ ละครการศึกษาอิสระ ละครปริญญานิพนธ์ ละครสารนิพนธ์ ละครวิทยานิพนธ์ ละครของชมรมละครอักษรศาสตร์ ฯลฯ อาจารย์ผู้ควบคุมงานแต่ละกิจกรรมจะทำงานร่วมกับนิสิตอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนานิสิตในความดูแลของตน ทั้งด้านทักษะวิชาการ ศิลปะ วิชาชีพ และทักษะชีวิต

ตลอดระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมา ภาควิชาศิลปการละครได้นำเสนอละครประจำปีแนวต่างๆ อย่างน้อยปีละสองครั้ง โดยจะเน้นที่ความหลากหลาย คุณค่าทางศิลปะ และประเด็นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

นอกจากนี้ ภาควิชายังได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเสริมทักษะทางด้านศิลปะการละครให้แก่นิสิตและเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ/วิชาชีพให้แก่นักวิชาการ นักการละคร และผู้สนใจทั่วไป อาทิ โครงการละคร“อักษรฯ-พื้นถิ่น” โครงการละคร“อักษรฯ-อาสา” เสวนาวิชาการ DRAMA FORUM โครงการSchool on Internet (SOI) โครงการภาพยนตร์นานาชาติ การจัดการฝึกอบรมปฏิบัติการร่วมกับมูลนิธิญี่ปุ่น การฝึกอบรมปฏิบัติการกับคณะ Luoghi Dell’ Arte การอบรมการเขียนบทโทรทัศน์สำหรับบุคคลภายนอก และการฝึกอบรมปฏิบัติการการสอนการแสดง เป็นต้น

ขณะนี้ ภาควิชาศิลปการละครมีคณาจารย์ประจำ 8 คน รวมทั้งมีอาจารย์พิเศษ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ศิลปินรับเชิญ และนักวิชาการชาวต่างประเทศด้วย

นอกจากงานสอนแล้ว คณาจารย์ของภาควิชายังให้บริการทางวิชาการแก่สังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น เขียนตำราให้กับสถาบันการศึกษา บรรยายพิเศษและจัดอบรมความรู้เฉพาะสาขา เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เขียนบทความด้านศิลปะการละครในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการจัดการแสดงทางเวทีและโทรทัศน์

แต่ละปี ภาควิชามีนิสิตระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาศิลปการละครเป็นวิชาเอกและโทจำนวน

ทั้งสิ้น 85 คน นิสิตระดับปริญญาโทสาขาศิลปการละครจำนวน 25 คน

ในเวลาเดียวกัน คณาจารย์ของภาควิชา ก็ได้ผลิตผลงานวิชาการและดำเนินโครงการวิจัยสาขาศิลปะการละครแขนงต่างๆ ทั้งที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและเอกชนอาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ฯลฯ และที่เป็นโครงการวิจัยส่วนตัวที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการและนำเสนอในที่ประชุมวิชาการะดับชาติและนานาชาติ อีกเป็นจำนวนมากควบคู่กันไปอีกด้วย

โครงการวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร ได้แก่ โครงการวิจัยชุดเรื่องเก่าเล่าใหม่ การประชุมวิชาการ “รื้อเวทีวิจัย สร้างวิจัยบนเวทีละคร”

โครงการละครประยุกต์และละครเพื่อการพัฒนา โครงการมหาวิทยาลัยวิจัย : การพัฒนาละครเพลง โครงการวิจัยชุด “รามเกียรติ์: ก้าวหน้าจากรากแก้ว”

โครงการสร้างสรรค์ละครเพลงเรื่อง “สยามมิสฉัน” (Siam Mission)

การประชุมวิชาการและเทศกาลศิลปะการละครนานาชาติ “Our RootDRight Now : The International Conference & Festival on ASEAN Contemporary Theater”  ฯลฯ

Contact
“Our Roots Right Now” A Research Forum & Festival of Thai/ASEAN Contemporary Theater will be held in 19 – 28 January 2013 at Sodsai Pantoomkomol Centre for Dramatic Arts

For More Information & Reservation, please contact

Telephone : 02-218-4802 / 081-559-7252

Facebook : http://www.facebook.com/ourrootsrightnow

http://dramachula.com/academic/

You may also like...