MEDIA ART KITCHEN

ในส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง 40 ปีความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอาเซียน และญี่ปุ่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่นนำเสนอนิทรรศการทางด้านมีเดียอาร์ตจากศิลปินในภูมิภาคอาเซียน

ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภัณฑารักษ์ในภูมิภาคอาเซียน นักวิจัยจากแต่ละประเทศที่มีพื้นฐานทางด้านมีเดียอาร์ต และภัณฑารักษ์ญี่ปุ่น เพื่อสร้างภาพรวมของนิทรรศการผ่านการค้นคว้า และถกเถียง ศิลปิน และผลงานศิลปะที่ถูกคัดเลือกจะถูกนำเสนอโดยบริบทของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และจะนำเสนอผลงานสุดท้ายที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยการคัดสรรของภัณฑารักษ์ไทยจากแนวความคิดของงานที่สร้างขึ้นสำหรับกรุงเทพมหานคร นิทรรศการนำเสนอผลงานต่างๆ ของมีเดียอาร์ต ในขอบเขตจากมุมที่หลากหลายตั้งแต่ภาพยนตร์ วิดีโออาร์ต อะนิเมชั่น ภาพถ่าย ไปจนถึงงานทางด้านเสียง และการแสดงสด (ในรูปแบบการแสดงทางกายภาพ)

ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ : ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงค์โปร์ 

แนวคิดของโครงการ (กรุงเทพฯ)

สื่อกำหนดความคิด: ความคิดกำหนดตัวเลือก: ตัวเลือกกำหนดอนาคต

นิโคลาส ซูร์บรูกก์ (Nicholas Zurbrugg) นักปรัชญาชาวอังกฤษกล่าวว่า ลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมโพสต์โมเดิร์นมีด้วยกันสามประการ หนึ่งคือการเปลี่ยนผ่านเรื่องการดำรงอยู่ของปัจเจก สองคือการเปลี่ยนผ่านเรื่องแนวคิด และสามคือการเปลี่ยนผ่านในเรื่องเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้เกิดขึ้นข้ามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งภาวะโพสต์มีเดีย (postmedia condition)

ในโลกเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ และความเท่าเทียม ปรากฏการณ์ของสังคมช่วงโพสต์มีเดียจึงอยู่ในรูปของการเลือกหยิบใช้จากตัวเลือก ที่มีมากมายไม่จำกัด ภาวะเช่นนี้ทำให้เห็นว่าสังคมนี้มีฐานอยู่บนกลุ่มข้อมูลจำนวนมหาศาล จำนวนของข้อมูลมีมากกว่าที่เคยมีมาก่อน และเราสามารถหยิบจับข้อมูลเหล่านี้มาผสม และสร้างสรรค์ แบบข้ามสายพันธ์ ข้ามสาขา และทำได้หลากหลายวิธีการ เป็นพื้นฐานในการสืบค้น และได้สร้างคำศัพท์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่ออธิบายพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่ ความรู้ใหม่ และการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีมีอยู่แล้วในสังคมดำรงอยู่ยาวนาน มากพอที่สร้างอาณาจักรของตนเอง สร้างเครือข่ายโยงใย แทรกซึมเข้าสู่ทุกๆ ด้านของชีวิต และกำหนดวิธีการที่เราใช้ชีวิต และวิธีการที่เรารับรู้โลกท่ามกลางสังคมที่รุกคืบไปข้างหน้า มีเดีย/อาร์ต คิชเช่น- สนามการบิดเบือนความจริง ฉบับกรุงเทพฯ จึงนำเสนอมีเดียอาร์ตที่ไม่ใช่การอวดอ้างว่าเป็นสิ่งใหม่ หากแต่เป็นแนวทางที่มีอยู่แล้วเดิม เป็นแนวทางที่บอกให้รู้ว่า เราอยู่กับเทคโนโลยีที่มีเพื่อที่สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร

‘สื่อกำหนดความคิด: ความคิดกำหนดตัวเลือก: ตัวเลือกกำหนดอนาคต’ ตั้งอยู่บนความคิดของการสร้าง ‘เนื้อหาที่เกิดจากตัวผู้ใช้’ เพื่อให้ผู้ชมได้คำนึงถึงทัศนะส่วนตัวของผู้ชมที่มีต่อสื่อ และเทคโนโลยี และผลลัพธ์ที่ได้เห็นจากการที่ศิลปินนำตนเองเข้าไปผนวกรวมกับสื่อ และเทคโนโลยี นิทรรศการนี้ต้องการที่จะหลีกพ้นจากแนวคิดที่ว่า เทคโนโลยีคือความก้าวหน้าหรือแนวคิดที่ว่าศิลปะใช้เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ เป้าหมายของนิทรรศการคือต้องการนำเสนอว่า สุนทรียะของเทคโนโลยีอยู่กับวิธีการที่สังคมทำงานเพื่อดูว่าเทคโนโลยีทำงานอย่างไร มันได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมอะไรบ้าง และเทคโนโลยีกำลังหล่อเลี้ยงบริบทใดอยู่ แนวคิดนี้คือการนำเสนอเทคโนโลยีที่ออกมาเป็นผลผลิตของสังคมจากรูปแบบของคนที่ใช้ มากกว่าที่จะไปดูว่ารูปร่างหน้าตาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นอย่างไร 

โครงการนี้ต้องการเผยให้เห็นด้านที่เป็นมนุษย์ของโค้ดคอมพิวเตอร์ และข้อมูล โดยไม่ไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ พร้อมทั้งเสนอให้เห็นความสัมพันธ์ของระบบ กระบวนการ ความสัมพันธ์ของผู้ใช้ และโครงข่ายอันรุ่มรวยที่เคลื่อนไหวมากกว่าเป็นสิ่งตายตัว เป็นพื้นที่ซึ่งนำเสนอการรับรู้ที่แตกต่างไปจากมุมมองกระแสหลัก นำเสนอความต่างทางสภาวะกายภาพหรือรูปแบบเพื่อนำมาจับยึดความจริงอีกครั้ง และทั้งหมดนี้ได้สร้างพื้นที่เพื่อแบ่งปันพฤติกรรมอันแตกต่างหลากหลาย ‘สื่อกำหนดความคิด: ความคิดกำหนดตัวเลือก: ตัวเลือกกำหนดอนาคต’ จึงเป็นแนวคิดปลายเปิดที่สนับสนุนแก่นความคิด และทัศนะของมีเดีย/อาร์ต คิชเช่น- สนามการบิดเบือนความจริง ซึ่งมิใช่ทัศนะที่เพิกเฉยหรือเทิดทูนเทคโนโลยี หากแต่เป็นเหมือนคำชี้แนะให้ลองมองสื่อ และเทคโนโลยี รวมทั้งวัฒนธรรมของสังคมที่ออกมา ในฐานะสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สิ่งคุกคาม และเป็นการขยายศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถหาความเชื่อมโยงระหว่างสื่อ และเทคโนโลยีกับศิลปะ รวมถึงแสวงหาประสบการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความหมายซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างชีวิตประจำวัน รวมไปถึงใช้ประโยชน์จากชีวิตในโลกเทคโนโลยี มีเดีย/อารต์ คิชเช่น จึงเป็นเหมือนครัวหรือสถานที่สำหรับดำเนินกระบวนการหรือลงมือทำ โครงการนี้จึงมีเป้าหมายที่จะเป็นเหมือนสนามของระบบปฏิบัติการทางความคิด แนวคิด และประสบการณ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบความเชื่อที่จะไปกำหนดพฤติกรรม ซึ่งท้าทายขอบเขตของภาษา กฏระเบียบ และโครงสร้างของการคิด เพื่อปูทางให้แก่รูปแบบของศิลปะ (ทั้งจากผู้ชมและจากศิลปิน) ได้เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของศิลปะที่มีต้นกำเนิดจากครัว (พิชญา ศุภวานิช)

ภัณฑารักษ์ (ญี่ปุ่น/ไทย)
ฮัตโตริ ฮิโรยูกิ
โอคามูระ เคย์โกะ
ไอดะ ไดยะ
พิชญา ศุภวานิช
นิกันติ์ วะสีนนท์

ศิลปิน
APOSTROPHY’S (ไทย)
B-floor (ไทย)
บรูซ เควก (สิงคโปร์)
จุฬญาณนนท์ ศิริผล (ไทย)
contact Gonzo (ญี่ปุ่น)
ฟารุซ สุไลมาน (มาเลเซีย)
โฮริโอะ คันตะ (ญี่ปุ่น)
กมล เผ่าสวัสดิ์ (ไทย)
คุวาคุโบะ เรียวตะ(ญี่ปุ่น)
Lifepatch (อินโดนีเซีย)
ลิม ก๊ก ยุง (มาเลเซีย)
มาคิโนะ ทาคาชิ (ญี่ปุ่น)
Mute Mute (ไทย)
เหงียน ตรินห์ ทิ (เวียดนาม)
นิธิภัค สามเสน (ไทย)
OOMLEO (อินโดนีเซีย)
โอโตโมะ โยชิฮิดะ และซาจิโกะ เอ็ม (ญี่ปุ่น)
ปฐมพล เทศประทีป (ไทย)
Rhizomatiks (ญี่ปุ่น)
สินา วิทยวิโรจน์ (ไทย)
สเตฟานี ซีฮูโก (ฟิลิบปินส์)
ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ (ไทย)
ทาเคอุจิ โคตะ (ญี่ปุ่น)
The Propeller Group (เวียดนาม)
ทสึดะ มิจิโกะ (ญี่ปุ่น)
อุเมดะ เท็ตสึยะ (ญี่ปุ่น)
วิทยา จันมา (ไทย)
ยางิ เลียวตะ (ญี่ปุ่น)

นิทรรศการ : “มีเดีย/อาร์ต คิชเช่น – สนามบิดเบือนความจริง(ฉบับกรุงเทพฯ) – สื่อกำหนดความคิด: ความคิดกำหนดตัวเลือก : ตัวเลือกกำหนดอนาคต”
วันที่ : 21 ธันวาคม – 16 กุมภาพันธ์ 2557
สถานที่ : ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7, ชั้น 5 และชั้น 3

นิทรรศการดำเนินงานโดย
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 โทรสาร 02 214 6639
www.bacc.or.th
www.facebook.com/baccpage

เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ
ชั้น 10 อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ 159 ถนนสุขุมวิท 21 กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ 02 260 8560 – 4 โทรสาร 02 260 8565
www.jfbkk.or.th

You may also like...