เงินตราไทยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยในระยะแรกมนุษย์ได้นำผลผลิตที่ผลิตได้มาแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนเองต้องการและขาดแคลน ถือเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยตรง
ต่อมาเมื่อเห็นว่าการนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรงมีความไม่สะดวก มนุษย์จึงได้คิดนำวัตถุที่เป็นที่ต้องการทั่วไป มาเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น ปศุสัตว์ เปลือกหอย เครื่องประดับ เป็นต้น เมื่ออารยธรรมของมนุษย์เจริญขึ้น มีการค้นพบโลหะมีค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทองแดง เงิน และทองคำ ทำให้สังคมมนุษย์มีสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเป็นมาตรฐานมากขึ้น โดยในระยะแรกมีการนำโลหะเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องประดับก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนามาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในที่สุด สำหรับดินแดนสุวรรณภูมิ หรือดินแดนที่เป็นประเทศไทย มีการค้นพบเงินตราโบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน ทวารวดี ศรีวิชัย โดยสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเงินตราในระยะแรกเป็นความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ความเจริญรุ่งเรืองของรัฐ และกษัตริย์ ต่อมาเมื่อถึงสมัยสุโขทัยอันเป็นอาณาจักรของชนชาติไท ก็ได้มีการผลิตเงินตราอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ขึ้นใช้ เรียกว่า “เงินพดด้วง” โดยใช้น้ำหนักมาตรฐานในการกำหนดมูลค่าของเงิน ทำให้หน่วยน้ำหนัก ซึ่งได้แก่ ไพ เฟื้อง สลึง บาท และตำลึง จึงได้กลายเป็นหน่วยเงินตราไปในที่สุด เงินพดด้วงใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสืบต่อมาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ต้อนต้น จนกระทั่งหลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาริง สมัยรัชการที่ ๔ การค้าขายกับชาติตะวันตกเป็นไปอย่างกว้างขวาง เงินพดด้วงที่ผลิตด้วยมือ จึงไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น รัชการที่ ๔ จึงมีพระราชดำริให้มีการผลิตเงินเหรียญกลมแบนด้วยเครื่องจักรตามแบบชาติตะวันตกขึ้นเพื่อให้ผลิตเงินตราได้เพียงพอสำหรับใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วงอย่างเป็นทางการ เป็นการปิดฉากเงินตราที่ใช้ควบคู่มากับสังคมไทยมาหลายร้อยปีอย่างเป็นทางการ โดยในสมัยนี้ได้มีการปฏิรูประบบเงินตราไทยจากระบบเดิม มาใช้ระบบทศนิยมตามแบบสากล โดยกำหนดให้ ๑๐๐ สตางค์ เท่ากับ ๑ บาท หลังจากนั้นการผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทยก็ได้มีวิวัฒนาการตามลำดับมาจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าระบบเงินตราของไทยมีความสำคัญและมีวิวัฒนาการควบคู่มากับสังคมไทยโดยตลอด การจะศึกษา ทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เงินตราไทยด้วย และเนื่องด้วยสถาบันไทยคดีศึกษา มีพันธกิจในการบริการทางวิชาการแก่สังคม เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ จึงเห็นควรจัดทำโครงการบริการวิชาการ เรื่องการกำเนิดของเงินพดด้วง เพื่อสร้างความความรับรู้และเข้าใจในเรื่องวิวัฒนาการของเงินตราไทย โดยเฉพาะเงินพดด้วงซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเงินตราไทยให้กับประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อไป
วัตถุประสงค์
๑.เพื่อสร้างความความรับรู้และเข้าใจในเรื่องวิวัฒนาการของเงินตราไทย โดยเฉพาะเงินพดด้วงซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเงินตราไทยที่มีความเป็นมายาวนาน
๒.เพื่อการบริการวิชาการด้านไทยคดีศึกษาตามพันธกิจของสถาบันฯ
๓.เพื่อส่งเสริมให้สถาบันไทยคดีศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
๔.ส่งเสริมการสะสมเงินตราไทย
วิทยากร : อาจารย์นวรัตน์ เลขะกุล อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ปรึกษากระทรวงกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
วัน เวลา สถานที่ : วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๔๕ น. ณ ห้องประชุม คึกฤทธิ์ ปราโมช อาคารอเนกประสงค์ ๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
กลุ่มเป้าหมาย : นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป จำนวน ๖๐ คน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : ก่อให้เกิดความรับรู้และเข้าใจในเรื่องวิวัฒนาการของเงินตราไทย โดยเฉพาะเงินพด ด้วงซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเงินตราไทยที่มีความเป็นมายาวนาน
ผู้รับผิดชอบโครงการ นางสุจิตรา ไชยจันทร์ นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ร่วมดำเนินโครงการ นายอิสรา อุปถัมภ์ นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำหนดการ โครงการบริการวิชาการแก่สังคม เรื่อง “การกำเนิดของเงินพดด้วง”
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๔๕ น.
ณ ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมชสถาบันไทยคดีศึกษา ชั้น ๙ อาคารอเนกประสงค์ ๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
๐๘.๓๐ – ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๐๐ – ๐๙.๑๕ น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณี สำราญเวทย์
ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวเปิดงาน
๐๙.๑๕ – ๑๒.๓๐ น. บรรยายเรื่อง เรื่อง “การกำเนิดของเงินพดด้วง”
โดย อาจารย์นวรัตน์ เลขะกุล
อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ปรึกษากระทรวงกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
๑๒.๓๐ – ๑๒.๔๕ น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณี สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวปิดงาน
…………………………………………………………………………………
หมายเหตุ : พักรับประทานอาหารว่างเวลา 10.30-10.45 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : งานบริการวิชาการ
โทรศัพท์ : ๐๒-๖๑๓-๓๒๐๑-๕ ต่อ ๑๙ , ๒๐, ๒๒, ๓๒