ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปฟังการบรรยาย “เผยเทคนิคย้อมเส้นใยธรรมชาติด้วยสีธรรมชาติ” ที่ TCDC โดย อาจารย์พินัย ห้างทองแดง จากศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ จังหวัดนครราชสีมา
และ ดร.มณฑล นาคปฐม จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จะมาให้ความรู้เบื้องต้นกับเรา ตั้งแต่แหล่งที่มา ข้อจำกัด ของสีย้อมธรรมชาติ เส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย ไหม ลินิน กัญชง) รวมทั้งกระบวนการการเตรียมเส้นใยก่อนการย้อมสีธรรมชาติ การเตรียมสกัดน้ำสีย้อมธรรมชาติ การย้อมเส้นใยธรรมชาติด้วยสีธรรมชาติ ทั้งยังแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติย้อมด้วยสีธรรมชาติ
ซึ่งโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้ย้อมสีและศึกษาวิจัยเทคนิคการย้อมสี เป็นกิจกรรมเนื่องในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และมีพันธุกรรมพืชมากกว่า 70 ชนิด โดยเริ่มดำเนินการรวบรวมพันธืไม้ย้อมสีและศึกษาวิจัยเทคนิคการย้อมสีเส้นไหมที่เป็นภูมิปัญยาชาวบ้านมาแต่โบราณ นำมาปรับปรุงวิธีการย้อมให้สีมีความคงทน และศึกษาพืชชนิดใหม่ๆเป็นพืชขยายพันธุ์ได้ง่ายเพิ่มเติม ปัจจุบันเราได้พืชมากกว่า 50 ชนิด ที่ย้อมเส้นไหมได้ดีมีความคงทนต่อการซักและแสงแดดในระดับดีได้มาตรฐานอุตสาหกรรม และได้เริ่มต้นพัฒนาวัตถุดิบจากพืชให้อยู่ในรูปที่สะดวกต่อการใช้ สามารถใช้ได้ตลอดเวลา
ปัจจุบัน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับสีธรรมชาติขึ้นที่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุไม้ย้อมสี สาธิตกระบวนการย้อมสีธรรมชาติขั้นตอนการทอผ้าตั้งแต่สาวเส้นใยออกจากรังไหม จนถึงการทอเป็นผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ทั้งนี้ภายในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาที่สามารถเข้ามาศึกษาได้ตลอดเวลาถึงชนิดของพืชพันธุ์ให้สี กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ และการทอผ้าไหมสีธรรมชาติ และได้มีการฝึกอบรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติให้กลุ่มทอผ้าต่างๆ เพื่อนำเอาไปพัฒนาวิธีการย้อมสีธรรมชาติให้ได้สีคุณภาพสูง และนำพันธุ์พืชไปปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมสี
และทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันเป็นผลผลิตจากหยาดเหงื่อแรงงาน ความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ชื่อ หยาดป่า
ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นผลพวงจากวัตถุดิบในพื้นที่ของศูนย์ฯ ตัวอย่าง เส้นไหมที่นำมาถักทอเป็นผ้าไหมเป็นหนอนไหมที่เลี้ยงดูจากใบหม่อนพันธุ์ดีของศูนย์ นำมาย้อมด้วยสีจากพืชพรรณไม้ที่ให้สีสวยงามตามธรรมชาติ บวกเทคโนโลยีการย้อมที่ทำให้สีคงทน และที่สำคัญอย่างยิ่ง ทุกขั้นตอนในการผลิตเป็นไปด้วยความประณีตและได้คุณภาพอย่างมีมาตรฐาน จนผลงานส่วนหนึ่งได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกจากการที่ทางศูนย์ฯ ส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด เมื่อปี พ.ศ.2551 นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการในสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานให้กับผู้ที่สนใจให้รู้จักประโยชน์ของพันธุ์ไม้ย้อมสีที่สามารถย้อมได้แทบทุกเฉดสี และสีที่ได้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากการย้อมด้วยสีเคมี และได้จัดทำเอกสารและหนังสือพันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกให้กับผู้สนใจและใช้เป็นคู่มือในการย้อมสีธรรมชาติ
ทั้งนี้เรายังได้ความรู้เกี่ยวกับสีต่างๆ อาทิ
สีแดง ซึ่งเป็นสีที่ได้จากสัตว์และพืชหลายชนิด ได้แก่ ครั่ง ฝาง คำแสด และโพธิ์ ครั่ง เป็นวัตถุดิบที่ใช้ย้อมสีเส้นไหมได้ดีที่สุด ในด้านความคงทนต่อการซักและแสง
สีน้ำเงิน เป็นสีที่จัดอยู่ในประเภทสี Vat เป็นกลุ่มสี ที่ใช้วิธีการย้อมเย็น ได้จากพืช 3 ชนิด ได้แก่ คราม ฮ่อม และครามเถา
สีเขียวใบไม้ มักพบว่าไม่สามารถย้อมสีธรรมชาติแล้วได้สีเขียวโดยตรงที่มีความคงทนต่อการซักและแสง จึงนิยมใช้จุนสีเป็นสารช่วยติดสี ในพืชหลายชนิดที่ให้สีเขียว ได้แก่ สบู่แดง โกสน โมกมัน แก้ว สนแผง หูกวาง ขี้เหล็กบ้าน หูปลาช่อน ผื่นต้น เลี่ยน หม่อน พุกซ้อน ส้มป่อย สัก เทียนทอง และตะคบควาย
สีเหลือง-ทอง ได้จากส่วนต่างๆของพืช เช่น ใบ เปลือก แก่น และดอก ในพืชหลายชนิด ได้แก่ มะพูด ขนุน มะกอกโอลีฟ เพกา ดาวเรือง มะม่วงป่า ยอป่า และยอบ้าน ส่วนใหญ่ใช้สารส้มเป็นสารช่วยติดสี
สีน้ำตาล เป็นสีอีกชนิดหนึ่งที่ได้จากส่วนต่างๆของพืชจำพวกเปลือก ผล ใบ ของพืชหลายชนิด ได้แก่ สะเดา กระถินบ้าน ตะแบกนา ตะโกนา มังคุด ประดู่ป่า เทียนกิ่ง หว้า หญ้างวงช้าง งิ้ว ก้านเหลือง อินทนิลน้ำ สีเสียดเหนือ และฝาง ใช้จุนสีและโคลนเป็นสารช่วยติดสี
สีเทา-ดำ เป็นสีที่ใช้มากในการทอผ้าไหม เนื่องจากนิยมใช้เป็นเส้นยืน สีดำ ได้จาก มะเกลือ เปลือกเงาะโรงเรียน คนทา ส่วนสีเทาได้จากบัวสาย กระบก และกล้วย สีในกลุ่มนี้ใช้โคลนเป็นสารช่วยติดสี
(สีที่ได้ในการย้อมจากพืชเหล่านี้ ได้ผ่านการทดสอบความคงทนต่อการซักตามมาตรฐาน ISO 105-Co1 และความคงทนต่อแสง ISO 105-B02 จากศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ)
แต่ใช่ว่าสีธรรมชาติเหล่านี้ จะไม่มีปัญหาและอุปสรรคในการผลิต ซึ่งปัญหาหลักๆที่อาจารย์พินัยได้พูดถึงคือ การที่พืชส่วนใหญ่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ มีหลายชนิดที่หายากและมีปริมาณที่จำกัด เช่น เปลือกไม้ แก่นไม้ และผลไม้บางอย่าง ผลไม้บางอย่างก็มีราคาสูง เช่น ครั่ง มะพูด จึงทำให้ไม่สามารถนำผลผลิตเหล่านี้มาทำเป็นธุรกิจได้อย่างจริงจัง และถ้าเกิดมีการนำมาใช้กันมากๆอาจจะทำให้สิ่งเหล่านี้หมดไปจากป่าได้ และผลไม้บางอย่างก็ออกตามฤดูกาลเท่านั้น แต่เวลาที่นำมาใช้ต้องใช้ในจำนวนหลายกิโล ทางศูนย์จึงพยายามศึกษาวิธีการตัดแต่งพันธุกรรมอยู่
ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างนึงคือ การควบคุมคุณภาพเวลาย้อมสีให้สีมีความสม่ำเสมอ เพราะเทคนิคในการย้อมเป็นตัวสำคัญ และยังต้องมีการทดสอบความคงทนก่อนจะส่งไปเปรียบเทียบดูว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของผ้าธรรมชาติให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นแนวทางในการพัฒนาคือต้องหาพืชมาทดแทนพืชที่หายากและราคาแพง เช่น คราม ฮ่อม ดาวเรือง มะเกลือ คนทา สะเดา กระถินบ้าน สิ่งเหล่านี้ทางศูนย์ต้องหาทางพัฒนาและจัดการต่อไป
เมื่อฟังการบรรยายจบ ทำให้รู้สึกทึ่งว่ามนุษย์เรานั้นมีการเรียนรู้วิธีการนำสีจากวัสดุธรรมชาติ ที่สกัดมาจาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่โบราณนานมาแล้ว และยังมีการทดลอง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างหลากหลายในปัจจุบัน ประกอบกับทุกวันนี้ที่กระแสความสนใจ ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวและกลายเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสิ่งที่ได้จากธรรมชาติย่อมมีความปลอดภัยต่อชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่กำลังเสื่อมโทรมลงไปทุกขณะ
รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมและหนังสือพันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 044-323446