อย่าไปฟูมฟาย อย่าไปให้ค่ากับมันมากเกินไป คนเรามีความฝันก็ได้ไม่มีก็ได้ แต่ว่าคุณต้องมีสิ่งที่คุณอยากทำ บางคนจะให้ค่าของความฝันแล้วก็รอมัน ฝันแล้วไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย บอกว่าอยากเป็นนักบินอวกาศแต่ไปทำนู่นนี่ไม่ได้เข็นชีวิตให้เบนไปทางนั้น
นั่นเรียกว่าให้ค่าแล้วฟูมฟายกับมันมากไปหน่อย การทำความฝันให้จริงมันง่าย อย่างเช่น ถ้าคุณอยากเป็นครีเอทีฟคุณก็ลาออกไปสมัครเป็นครีเอทีฟ แต่การที่คุณจะอยู่กับมันอันนี้เป็นคนละเรื่องเลย ใครๆก็พูดกันว่ามีวิธีทำตามความฝัน วิธีทำนู่นทำนี แต่ไม่มีใครเคยบอกว่าวิธีที่คุณจะอยู่กับความฝันคุณจะทำยังไง
นี่คือสิ่งที่วิชัย มาตกุล นักเขียนหนุ่มแห่งยุคสมัย ได้บอกกล่าวกับนักล่าฝันที่กำลังก่อร่างลงมือสร้างความฝัน หรือคนที่กำลังเดินอยู่ระหว่างทางเพื่อให้ไปถึงความฝันว่าแท้จริงแล้วระหว่างทางหรือปลายทางนั้นอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด ขอเพียงแค่คุณลงมือทำเท่านั้น คุณก็จะรู้เองได้ว่าความฝันของคุณนั้น ที่จริงแล้วเป็นฝันแท้หรือฝันเทียม
สิ่งที่ทำให้คุณเป็นนักเขียน
ผมเริ่มจากการเขียนบล็อค เรามีเนื้อหาที่เราอยากเขียน ซึ่งยังไม่รู้หรอกว่าจะเขียนถูกหรือผิด แต่รู้สึกว่าอยากจะเล่าแบบนี้ แบบที่เราชอบอ่าน เราเป็นคนคิดแบบนี้ก็เขียนแบบนี้ออกมาในบล็อค Exteen พอเริ่มเขียนปุ๊ปก็มีคนติดตามอ่าน แล้วรู้สึกว่าเรายังเขียนได้อีก มีความคิดที่อยากจะระบายออกไปเป็นตัวหนังสือได้อีก เลยเขียนมาเรื่อยๆจนพี่ บิ๊ก ที่เป็น บ.ก. a book ชวนมาออกหนังสือ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าวงการหนังสือมันขยายออกกว้างมาก มียุคที่บล็อคมันบูมมากช่วงนึง เลยรู้สึกว่าเรามีพื้นที่อยู่เหมือนกัน และเรามีความสุขกับการถ่ายทอดความคิดออกไปเป็นตัวหนังสือ
แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
ต้องมาตั้งแต่ตอนคิดว่าจะเขียนอะไรแล้ว เช่น ดรีมแคชเชอร์ แรงบันดาลใจมาจากการที่ผมเห็นหนังสือความฝันเยอะๆ แล้วทำไมไม่มีใครมาบอกว่าการเป็นครีเอทีฟมันยากมากนะ ความฝันมันมีค่าใช้จ่ายนะแต่ทำไมไม่มีใครมาพูดเรื่องนี้ มันคือแรงบันดาลใจแล้ว จากนั้นทั้งเล่มทั้งเรื่องผมก็เอาจากแรงบันดาลใจตรงนี้เขียนให้จบให้ได้ แรงบันดาลใจมันนิดเดียว แต่มันไม่ใช่การออกเดินทาง คุณเดินเข้าร้านหนังสือแล้วคุณเห็นอะไรคุณหยิบจับอะไรมาบ้าง ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศหรอก ขับมอเตอร์ไซค์ปั่นจักรยานก็เจอได้ ตรงนั้น เดินดูคน ดูผู้คนก็ได้แรงบันดาลใจ ผมชอบทำงานที่ห้างสลับกับที่บ้าน ดูคนเดินไปเดินมาก็ทำให้ได้คิด ทำไมคนนั้นชอบเดินอย่างนั้นอย่างนี้ แรงบันดาลคือสิ่งคุณหยิบจับมาได้มากแค่ไหน
ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทย
ตอนนี้วงการนักเขียนมันหลากหลายมาก การเขียนมันไม่ได้เป็นระบบนิยายหรือถ่ายทอดความคิดแบบเมื่อก่อนแล้ว ตอนนี้มันอยู่ที่คอนเท้นท์กับคอนเซ็ปต์ของเนื้อเรื่องว่าเราจะถ่ายทอด จะเขียนออกมาอย่างไรให้มันดูน่าสนใจ นักเขียนตอนนี้คือนักอ่านเมื่อตอนเด็กๆ เค้าจะมีความสะสมหรือความสงสัยว่ามันเล่าเรื่องแบบไหนได้บ้าง ไปทางนี้ได้ไหมไปทางนั้นได้ไหม ผมเลยรู้สึกว่ามีความหลากหลายมากขึ้นในวงการ ตอนนี้ถ้าคุณมีคอนเท้นท์หรือมีคอนเซ็ปท์ที่ดีพอก็มีสำนักพิมพ์เล็กๆที่คุณสามารถไปแจ้งเกิดได้ มันเป็นเรื่องดี เพราะผมเชื่อว่าความหลากหลายมันทำให้วงการหนังสือมันเดินไปได้ มันมีความสนุกอยู่ เราสนุกที่จะเขียน สนุกที่จะเห็นว่าคนอื่นเค้าเขียนอะไรกัน คิดยังไง เค้าตีคอนเท้นท์ออกมาเป็นยังไงกัน
ทัศนะต่อการอ่านของคนไทย
ยังไงซะคนเราก็ต้องอ่าน ไม่ว่าจะอ่านอะไรซักอย่าง แต่คอนเท้นท์ทุกวันนี้ปรับตัวให้เข้าสู่นักอ่านมากขึ้น เมื่อก่อนคนเขียนหนังสือเค้าจะคิดเรื่องที่เค้าอยากจะเขียนแล้วเขียนออกมาเลย เดี๋ยวนี้เราต้องดูว่าพฤติกรรมคนอ่านอยากอ่านอะไร มาเจอกันตรงกลาง คนยังอ่านหนังสือกันอยู่แต่วิธีการอ่านเปลี่ยนไป นักเขียนเดี๋ยวนี้ก็ต้องรู้ว่าเค้าอ่านแบบไหน อยากอ่านอะไร เค้าอาจไม่ชอบอ่านยาวๆอ่านสั้นลง เราก็ต้องทำเนื้อหาของเราให้มันกระชับลง ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้นักเขียนเดี๋ยวนี้ต้องคิดมากกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนอาจจะคิดว่าเราจะเขียนยังไงให้ออกมาจนจบเรื่อง เดี๋ยวนี้ต้องไปดูแล้วว่าคนที่จะอ่านวัยของเราเค้าอ่านแบบยังไงแบบไหน
อย่างสมัยนี้ถ้าพูดถึงเฟซบุ๊ค ผมจะให้ค่ามันแค่เป็นช่องทางติดต่อกับนักอ่าน เมื่อก่อนเวลาเราเขียนหนังสือเสร็จแล้ว กว่าจะได้ฟีดแบ็คมันนานมากว่าเราเขียนหนังสือดีไหม มีคนชอบรึเปล่า เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีเฟซบุ๊คเราลงหนังสือเราได้เลย ทันทีที่หนังสือมีคนอ่านปุ๊ปเค้าอาจจะมาคอมเม้นท์งานเราเลยก็ได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องดีนะแต่ไม่ได้มองว่ามันคือการสะสมเนื้องาน เพราะเฟซบุ๊คมันง่ายเกินไปเมื่อเทียบกับการเขียนหนังสือ แต่คอนเท้นท์หลายๆคอนเท้นท์ก็มาจากในเฟซบุ๊คเหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่าการเอาเฟซบุ๊คมาทำหนังสือ คุณก็ต้องมาคิดต่อว่าคุณจะทำยังไงให้เป็นหนังสือขึ้นมา ไม่ใช่แค่เอาสเตตัสมา
สิ่งสำคัญในหนังสือของคุณ
ผมต้องสนุกที่จะเขียนมัน จะว่าไปมันเป็นการเอาแต่ใจตัวเองเหมือนกัน ผมรู้สึกว่าการเขียนหนังสือมันใช้พลังมาก เราต้องอยู่กับมันปีนึงหรืออย่างน้อยครึ่งปี เราต้องอยากเขียนมัน ไม่เบื่อมันซะก่อนกลางทาง ถ้าเราเบื่อมันแล้วสักแต่จะให้งานจบออกมา งานมันจะไม่สนุก ผมทนไม่ได้ที่จะเห็นงานที่เราไม่สนุกกับมันแล้วถูกปล่อยออกไป ถ้าเราจะทำให้มันสนุกเราต้องชอบมันซะก่อน และไม่ใช่ชอบแค่ว่าเราอยากทำมันสามเดือนให้จบไป เพราะหนังสือถ้าออกมาแล้วจะไม่มีวันหายไปจากชีวิตเรา มันคืองานของเราที่อยู่ในชั้นหนังสือของเราไปทั้งชีวิต เราต้องชอบมันมากถึงขนาดที่ว่าเรามีเวลาให้มันหกเดือนโดยที่เราไม่เบื่อมัน
ทุกครั้งที่จะเขียนหนังสือ ผมรู้สึกว่าเราต้องชอบเรื่องที่เราจะเขียนแล้วเราจะไม่เบื่อมัน พอเราชอบแล้วงานมันจะออกมาสนุก คนดูก็จะรู้สึกสนุก รู้สึกว่าเป็นวิชัยเขียนจริงๆ เพราะบางคนเคยถามว่างานนี้พี่เครียดอยู่หรือเปล่า ชีวิตพี่ดาร์กๆใช่ไหม เค้าจะรู้สึกได้ แล้ว บ.ก. จะรู้สึกว่าช่วงนี้เครียดใช่ไหมไปแก้งานมาก่อน เพราะงานช่วงนี้มันไม่ได้อยู่ในฟิวส์ของวิชัย เพราะเราเป็นนักเขียนที่อยู่ในมู๊ดของอารมณ์ดี ถ้าเราไม่สนุกภาวะอารมณ์ตอนนั้นมันจะพาเราไปอีกทางเลย
รางวัลจำเป็นไหม
ไม่ได้คิดขนาดนี้ หนังสือขายได้ สำนักพิมพ์ไม่เจ๊งเค้ายังเรียกใช้เราอยู่ คนอ่านมีความสุข เค้าไม่มาด่าเรา เค้ายังแฮปปี้ที่จะอ่านหนังสือเรานั่นก็พอแล้ว ผมไม่ได้คิดถึงรางวัลขนาดนั้น พูดถึงรางวัลในเมืองไทยก็ยังเป็นรางวัลแบบนั้นๆ แต่ผมไม่ได้เขียนเพื่อหวังรางวัล และหนังสือส่วนใหญ่ในตลาดก็ไม่ใช่หนังสือที่จะได้รางวัลด้วย
นักเขียนต้นแบบ หนังสือเล่มโปรด
ผมเป็นคนอ่านหนังสือน้อยมาก ผมมีคติว่าช่วงที่ผมเขียนงานอยู่ผมจะไม่ไปอ่านหนังสือคนอื่นเลย กระทั่งหนังสือที่ใกล้เคียงกับทางผม ผมก็จะไม่อ่าน เพราะถ้าผมอ่านแล้วชอบ มันจะติดมาในงานเรา ถ้าติดมาเราจะเขียนงานแบบเค้า เราเอามาอ่านจะรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่เรา เพราะเราจะรู้ว่าช่วงที่เราเขียนบทนี้ตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ หนังสือนี่ผมจะอ่านเฉพาะช่วงที่ผมเขียนจบไปหนึ่งเล่ม มีช่วงว่างสองเดือนสามเดือนก็จะหยิบมาอ่านบ้าง ถ้านักเขียนที่ชอบจริงๆเมื่อก่อนจะชอบคุณวินทร์ เลียววาริณ หนังสือเค้าเปลี่ยนมุมมองในการคิดของเรา แล้วชาติ กอบจิตติ ผมชอบนักเขียนที่มีผลงานออกมาสม่ำเสมอ ออกมาเรื่อยๆ รู้สึกว่าเค้าเก่ง พอเรามาทำงานเองแล้วรู้สึกว่าการมี หนังสือสองเล่มสามเล่มเก่งมาก ไม่ใช่แค่เขียนเก่งแล้ว คุณอดทนมาก อย่างที่บอกงานหนังสือเป็นงานที่เหนื่อย การเขียนหนังสือ มันต้องอยู่กับสิ่งเดียว ถ้ายุคสมัยนี้ผมชอบเพื่อนๆนักเขียนที่อยู่แก็งค์เดียวกัน อย่างพี่ภูมิชาย บุญสินสุข งานเค้ากับตัวเค้าเป็นสิ่งเดียวกัน อ่านหนังสือเค้าจะเห็นเค้า มีลายเซ็นที่ไม่ต้องมีชื่อเค้าก็รู้ว่าเค้าเขียน
คำแนะนำสำหรับนักอยากเขียน
เด็กสมัยนี้ชอบคิดอะไรยากๆ ดูดี ดูยาก เช่น อยากเขียนวรรณกรรม เรื่องความรักระหว่างชนชั้น แต่น้องเพิ่งเรียนปีสี่และยังไม่รู้จักชนชั้นก็ยังไม่ควรเขียน น้องควรเขียนเรื่องที่น้องรู้ใกล้ๆตัวที่น้องประสบทุกวัน เขียนเรื่องง่ายๆเลย เช่น น้องไปซื้อผักในตลาด น้องขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ มันมีเรื่องเล่าที่เยอะมาก น้องจะเล่าได้ดีกว่าการที่น้องเล่าเรื่องความรักระหว่างชนชั้น โดยที่น้องยังไม่เคยไปอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น ง่ายที่สุด ถ้าอยากเขียนก็เริ่มเขียน ต้องรู้จักตัวเองผ่านหนังสือของตัวเอง ถ้าน้องชอบอ่านแฮรรี่พ็อตเตอร์ น้องอาจจะไม่ได้อยากเขียนอย่างแฮรรี่พ็อตเตอร์นะ ผมชอบอ่านหนังสือพี่วินทร์ ผมไม่สามารถเขียนเป็นพี่วินทร์ได้ผมก็เขียนของผม
ผมบอกเด็กๆเสมอว่าสิ่งที่เราชอบกับสิ่งที่เราเป็นมันไม่เคยเป็นสิ่งเดียวกันหรอก ถ้าเป็นได้เมื่อไหร่คุณเวิรค์มาก แต่อย่าหวังว่ามันจะเป็นสิ่งเดียวกัน สิ่งที่คุณชอบคุณก็ชอบไปแต่สิ่งที่คุณเป็นคุณต้องหาให้เจอ วิธีเดียวที่จะหาเจอคุณต้องเดินหามัน ถ้าจะเป็นนักเขียนก็ต้องเขียนให้เยอะจนเจอทางของเราเอง เมื่อก่อนผมก็เขียนเยอะอยู่ เขียนมั่วๆซั่วๆเขียนเละๆเทะๆผมก็เขียน ไปทางหล่อไหมหรือไปทางตลกสกปรกไหมหรือมาทางนี้ไหม มีทางเดียวคุณต้องเขียน คุณไม่สามารถฉันอยากเป็นนักเขียนจังแล้วก็ออกเดินทาง กลับมาเขียนเฟซบุ๊คเขียนอะไรสั้นๆอัพสเตตัสมันไม่ใช่ คุณต้องเขียนจริงๆ
วิชัย มาตกุล บล็อคเกอร์ยอดนิยมจาก exteen.com เจ้าของหนังสือ Best Seller หลายต่อหลายเล่ม หนังสือเล่มแรกที่ตีพิมพ์คือ “สิ่งมีชีวิตในโรงแรม” เล่มล่าสุด “รุ้งตะแคงแวงตั้ง”
ติดตามวิชัยได้ที่ : https://www.facebook.com/pagevichai