ไม่นานมานี้ สารคดีที่โด่งดังไปทั่วโลกก็คือ อาชีพคนส่งปิ่นโต ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ด้วยวัฒนธรรมของสามีชาวอินเดียที่ต้องการทานอาหารกลางวันจากปิ่นโตฝีมือภรรยาหรือคนในครอบครัว
(มีบ้างที่ใช้บริการปิ่นโตจากร้านอาหาร) แบบสดใหม่ คงความร้อนและกลิ่นหอมกรุ่นอยู่ พวกเขาจึงไม่เอาปิ่นโตออกไปจากบ้านในตอนเช้าตรู่แต่ให้มันส่งตามไปทีหลังในเวลาใกล้เที่ยง
อาชีพคนส่งปื่นโตหรือที่ชาวมุมไบเรียกว่า ดับบาวาลา จึงถือกำเนิดขึ้น สิ่งที่น่าทึ่งคือ คน5,000 คน ส่งปิ่นโตกว่า 200,000 เถาไปทั่วเมืองมุมไบผ่านทางรถไฟ รถจักรยาน และการเดินเท้า แต่แทบไม่มีการส่งผิดพลาดเลยจนหน่วยงานจากทั้งอังกฤษและสหรัฐฯเคยมาขอทำการศึกษาหลายครั้ง โดยว่ากันว่าพวกเขามีรหัสลับเฉพาะในกลุ่มที่ช่วยแยกแยะลูกค้าจำนวนมากได้สะดวก ทำให้มีโอกาสผิดพลาดเพียง 1 ใน 16 ล้านครั้งเท่านั้น
แต่จะเป็นอย่างไรหากเกิดการส่งปิ่นโตสลับกัน The Lunchbox คือหนังที่พูดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ยากแต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เมื่อ อิลา (นิมรัต คาอูร์) แม่บ้านลูก1ผู้ถูกสามีหมางเมิน เธอจึงตั้งใจบรรจงทำอาหารรสเลิศจากคำแนะนำของป้าที่อยู่บนห้องด้านบนใส่ในปิ่นโตส่งไปให้สามีของเธอถึงที่ทำงาน โดยหวังว่ารสมือของเธอจะทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับเธอดีขึ้น
ทว่า ปิ่นโตของเธอกลับถูกส่งไปให้ ซาจาน เฟอร์นันเดซ (อิร์ฟาน ข่าน) เสมียนหนุ่มใหญ่วัยใกล้เกษียณผู้ปิดตัวเองจากสังคมหลังการจากไปของภรรยา เขาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไร้ชีวิตชีวา จนกระทั่งได้กินอาหารรสอร่อยราวกับร่ายเวทมนต์จากฝีมือของ อิลา เมื่อรู้ว่าส่งและได้รับปิ่นโตผิดเถา พวกเขาจึงเขียนจดหมายติดต่อกันผ่านทางปิ่นโตในทุกมื้อกลางวัน ข้อความเหล่านั้นมีพลังและสเน่ห์มากเสียจนเมื่อรู้ตัวอีกครั้ง ทั้งสองก็เริ่มรู้สึกหวั่นไหวในหัวใจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่เคยพบหน้ากัน แต่ความรักของทั้งคู่ก็มิได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มันกํ้ากึ่งระหว่างรักแบบพรหมลิขิตกับการคบชู้สู่ชาย
ต้องชม ริเตช บาทรา กับบทภาพยนตร์และการกำกับที่ยอดเยี่ยม บอกเล่าเรื่องราวมื้อกลางวันของคนอินเดียให้ชาวโลกได้เห็นในหลากหลายมุมมองแบบสมจริง ไร้การปรุงแต่ง ทั้งความรักโรแมนติกที่ต้องพึ่งโชคชะตาในประเทศที่มีประชากรมากกว่า1พันล้านคน รวมถึงการถ่ายทอดวิถีชีวิตประจำวันของชาวอินเดีย พวกเขาแทบไม่กินอาหารเช้าด้วยเหตุจราจรที่คับคั่งแออัดสุดๆจากจำนวนคนที่มากเกินไป อาหารกลางวันจึงเป็นมื้อที่สำคัญมาก หลายคนมีปิ่นโตหนักอึ้งเป็นมื้อกลางวัน กระนั้น บางคนก็ยังต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด พวกเขาจึงมีพียงกล้วย2ผลรองท้องในช่วงเที่ยงก่อนจะไปจัดหันกมื้อเดียวในเวลาอาหารเย็น ซึ่งตัวหนังมีการผ่อนคลายผู้ชมด้วยมุขตลกคำพูด ล้อเลียนตัวละคร และเสียดสีสังคมอินเดียที่สร้างรอยยิ้มได้เป็นระยะ
นอกจากนั้น หนังยังมีส่วนดราม่าจัดที่เล่าถึงปัญหาในครอบครัวอินเดียที่ต้องห่างเหินกัน เพราะต่างคนต่างดิ้นรนทำงานหาเงิน และยังมีการแฝงประเด็นหนักๆอย่าง การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรผ่านวีถีชีวิตคนเมืองที่แสนจะวุ่นวาย โดยนำ ภูฏาน ประเทศที่ประกาศว่าไม่สนใจ GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แต่สนใจ GDH (Gross Domestic Happinessหรือ ความสุขรวมภายในประเทศ) แทน เป็นดั่งเมืองในฝันของ อิลา และ ซาจาน ส่วนบทสรุปของหนังเป็นแบบปลายเปิด ไม่ได้ตัดสินถูกผิดหรือชี้นำความคิดคนดู
การแสดงของ อิร์ฟาน ข่าน ดูลุ่มลึก เคร่งขรึม แต่ทรงพลัง ถ่ายทอดอารมณ์ความเหงาออกมาได้จับใจ ขณะที่ นิมรัต คาอูร์ กับบทสาวที่ไม่มีความสุขกับชีวิตสมรสก็แสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมทำให้คนดูเห็นใจและเอาใจช่วยเธอ แต่คนที่สร้างสีสันให้กับเรื่องคงเป็น Nawazuddin Siddiqui กับการเล่นเป็น Shaikh พนักงานหนุ่มอารมณ์ดีที่ต้องเรียนรู้งานจาก เฟอร์นันเดซ เขาสร้างภาพจำที่ดีให้กับคนดูด้วยประโยคที่ว่า บางครั้ง การนั่งรถไฟผิดขบวน อาจนำเราไปสู่จุดหมายที่ใช่ ช็อตเดียวดูหล่อขึ้นมาเลย
ไม่น่าแปลกใจที่ The Lunchbox จะถูกยอย่องให้เป็นหนังอินเดียที่ดีที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากมีองค์ประกอบที่ดี เป็นปิ่นโตที่มีทั้ง รสหวานของความรักโรแมนติกกับมิตรภาพ รสเค็มของปัญหาสังคม รสเผ็ดของชีวิตอันว้าวุ่น ที่เกิดขึ้นในมหานครใหญ่ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้คุณลืมหนังอินเดียที่มีฉากร้องเพลงหมู่หรือคู่พระนางกระโดดโลดเต้นข้ามภูเขาไปเลย
BUGABOO NEWS / บทวิจารณ์โดย นกไซเบอร์
สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์)
จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์