Transcendence เหรียญสองด้านของเทคโนโลยี

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวไกลอย่างปัจจุบัน แน่นอนว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนย่อมสะดวกสบายขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่นนี้ก็มีผลเสียที่มากมายเกินกว่าสาธยายได้หมด แต่มันก็เหมือนกับหลายอย่างบนโลกนี้ ที่ไม่มีสิ่งใดขาวหรือดำ100% ทุกสิ่งเป็นเหรียญที่มีสองด้านเสมอ แม้แต่ตัวมนุษย์เอง

Transcendence คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่จับประเด็นข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีมาถกเถียง สำหรับคำว่า Transcendence แปลเป็นไทยว่า อุตรภาพ ในทางปรัชญาคือสภาวะที่อยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ ศาสนา อภิปรัชญา หรือ ความตาย แต่ในหนังเรื่องนี้กล่าวถึง ความเป็น อุตรภาพ ในเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

หนังเล่าถึง ดร. วิล แคสเตอร์ นักวิทยาศาตร์อัจฉริยะ หัวหน้าทีมวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีเป้าหมายในการสร้างเครื่องจักรที่มีความรู้สึกนึกและฉลากกว่ามนุษย์ เขาเข้าใกล้เป้าหมายด้วยการสนุบสนุนของ เอเวอลีน แฟนสาวนักวิทยาศาสตร์สาวผู้ต้องการเปลี่ยนโลก กับ แม็กซ์ นักวิทยาศาสตร์หนุ่มผู้มีอุดมการณ์มั่นคง เพื่อนสนิทของ วิล

ต่อมาในวันที่ วิล ขึ้นปราศรัยเพื่อระดมทุนในการทำวิจัย เขาโชคร้ายโดน กลุ่มนักเครื่อนไหวต่อต้านเทคโนโลยีหัวรุนแรงในชื่อ ริฟท์ (RIFT) บุกเข้ามายิงได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่จะพบว่าในภายหลังลูกกระสุนมีพิษของสารกัมมันตภาพรังสี ร่างกาย วิล จึงค่อยๆถูกทำลายและมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน6เดือน เอเวอลีน เปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นความหวังโดยการทดลองอัพโหลดจิตสำนึกของ วิล เข้าไปในคอมพิวเตอร์ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าของ แม็กซ์ และในวันที่ร่างกาย วิล กำลังดับสูญ จิตของของกลับถือกำเนิดขึ้นเป็น AI ในคอมพิวเตอร์ ปัญหาคือ พลังของ วิล นั้นมากมายมายเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

บทหนังค่อนข้างเอื่อย ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ไซไฟแอ็คชั่นล้างผลาญอย่างที่แฟนๆ โนแลน (เรื่องนี้เขาอำนวยการสร้าง) คาดหวัง ตัวหนังดำเนินเรื่องด้วย บทสนทนา มีความดราม่าและโรแมนติกเรื่องความรักระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ในสัดส่วนที่สูสีกับความเป็นไซไฟ คล้ายกับเรากำลังดู Her ภาคที่ดาร์กกว่า และ ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองผู้หญิง

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของหนังก็คือการถ่ายภาพที่สวยงาม ไม่เสียแรงที่ Wally Pfister ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยเป็นผู้กำกับภาพมาก่อน เสียแต่ว่างานนี้ดูจะใหญ่เกินตัวเขา ประเด็นหนักๆ การตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงถูกถ่ายทอดออกมาไม่ลื่นไหล รวมถึงไม่ค่อยสมจริงหลายจุด ความสามารถแบบ อุตรภาพ ของ วิล ไร้นํ้าหนัก ขาดเหตุผลรองรับ จึงสร้างคำถามในหัวคนดูมากมาย

การแสดง จอห์นนี่ เดปป์ ในบทด็อกเตอร์วิล แสดงได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับน่าประทับใจ ไม่ค่อยมีฉากโชว์ของ เรียกว่าใช้เขาไม่คุ้มค่าตัว เช่นเดียวกับ มอร์แกน ฟรีแมน ที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ รีเบ็คก้า ฮอลล์ ที่เล่นเป็น เอเวอลีน แฟนสาวของวิลดูเหมาะกับคาแร็กเตอร์ แสดงได้โดดเด่นกว่าคนอื่น ส่วน พอล เบ็ตตานี่ เป็นตัวละครที่สำคัญมาก และเขาก็แสดงได้น่าสนใจทีเดียว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูยาก ไม่ใช่หนังที่คนดูทุกคนจะชอบ แต่ก็มีพล็อตและแนวคิดที่ดี เพียงแต่การนำเสนอออกมาไม่ค่อยดี ความเห็นจึงออกมาเป็นสองทาง คือชอบและไม่ชอบเลย ไม่ค่อยมีกลุ่มที่อยู่กลางๆ ฉากจบของหนังแบบปลายเปิดให้คนดูได้จินตนาการกันต่อทำให้เราคิดถึงสไตล์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ขณะที่ ดอกทานตะวัน ซึ่งมีสรรพคุณดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีถูกนำมาเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ ก็ทำให้ผู้ชมตีความออกมาได้หลากหลาย

BUGABOO NEWS / บทวิจารณ์โดย นกไซเบอร์

สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์)

จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์

You may also like...