ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดหนองบัวลำภู (พ.ศ. ๒๕๑๑ ) นอกเหนือจากาการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ตลอดจนการทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยโดยผ่านทางสถาปัตยกรรมไทยแล้ว พระราชภารกิจที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ได้ทรงปกป้องประเทศชาติและประชาราษฎร์จากการคุกคามต่างๆ เช่น ภัยจากการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในระหว่างสงครามเย็น
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้งานสถาปัตยกรรมไทยเพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์ของความรักชาติ เช่น โครงการก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บุกยึดสถานีตำรวจหนองบัวลำภู และเนื่องจากในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกรีธาทัพจากกรุงศรีอยุธยาผ่านหนองบัวลำภูแห่งนี้เพื่อไปทำศึกปกป้องบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นเพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านเกิดความรักบ้านรักเมือง จากนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้รับสนองพระราชดำริ โดยมีคำสั่งให้กรมศิลปากรรับผิดชอบในการออกแบบก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น ณ ริมหนองบัวลำภูใกล้สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ และกรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายประเวศ ลิมปรังษี เป็นสถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการ
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นอาคารที่มีลักษณะคล้ายหอพระ หรือศาลที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทย ตัวศาลเป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาจั่วมุขลดด้านหน้า หน้าบันประดับด้วยรวยระกาหัวนาค กระจังแกะสลักลงรักปิดทองฝาไม้เข้ากรอบแบบเรียบง่าย มุขหน้าเป็นลูกกรงมีบันไดขึ้นด้านข้างทั้งสองด้าน ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๔ เมตร ยาว ๕ เมตร และถึงแม้ว่าจะเป็นอาคารขนาดเล็กผู้ออกแบบก็ได้ออกแบบตกแต่งอาคารอย่างมีความหมาย โดยการใช้รูปแบบของเครื่องศาสตราวุธและเครื่องทรงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการศึกครั้งสำคัญเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่ง หน้าบันเป็นรูปพระแสงของ้าวไขว้กับพระแสงดาบคาบค่าย เหนือขึ้นไปเป็นรูปพระมาลาเบี่ยง ประดับตกแต่งปิดทองลายเพดานและดาวเพดานภายในศาลและเพดานปีกนก ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับยืนขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งในกาลต่อมาศาลนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมจิตชาวหนองบัวลำภู สมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้
นายประเวศ ลิมปรังษี : สถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการ