ไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการการออกแบบในบ้านเราเริ่มเป็นที่จับตามองจากวงการนักออกแบบทั่วโลก ด้วยฝีมือการออกแบบของดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น มีสไตล์ไม่ซ้ำใครแถมนักออกแบบเหล่านี้ยังมีโอกาส มีพื้นที่ในการแสดงฝีมือไปสู่สายตาคนภายนอกมากขึ้น เพราะภาครัฐหันมาให้ความสำคัญและส่งเสริมศักยภาพของดีไซน์เนอร์เหล่านี้ เพื่อช่วยยกระดับนักออกแบบและสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายไปสู่ระดับสากล หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนวงการการออกแบบให้ก้าวเข้าไปสู่เวทีระดับโลกได้นั้นไม่ใช่ใครอื่น นั่นคือ ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ในเรื่องของการออกแบบ ตอนนี้มันเป็นกระแสความนิยมอย่างมาก ต่างประเทศมีความต้องการนวัตกรรม ต้องการงานออกแบบใหม่ๆตลอดเวลา จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในอุตสาหกรรมพวกสมารท์โฟน เปลี่ยนกันแทบจะทุกเดือน เดือนสองเดือนจะมีโมเดล มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีดีไซน์สวยงามตลอดเวลา และจะเห็นได้ชัดในวงการอิเลคโทรนิคเพราะมีการแข่งขันกันสูง
ในอุตสาหกรรมอื่นๆก็มีการแข่งขันอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ไลฟ์สไตล์ มีความต้องการในเรื่องของนวัตกรรมตลอดเวลา เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาในเรื่องของดีไซน์และการออกแบบ เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกให้ได้ ทุกคนก็ทำอย่างนี้ สิ่งที่เราได้เปรียบในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็คือการดีไซน์นี่แหล่ะ และคนไทยนักออกแบบไทย เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศว่ามีความคิดสร้างสรรค์มาก แต่คนไทยเรายังไม่สามารถเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศเท่าที่ควร สิ่งที่เราขาดอาจจะเป็นโอกาส โดยเฉพาะนักออกแบบมีโอกาสน้อยมากที่จะไปโปรโมทแบรนด์ตนเองในต่างประเทศ หรือกระทั่งไปขายสินค้าของตัวเองในต่างประเทศ แต่นี่เป็นโอกาสที่ทางภาครัฐพยายามจะหาให้กับดีไซน์เนอร์และนักออกแบบตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นสินค้าที่มีการออกแบบดีๆของคนไทย ของอุตสาหกรรมไทย ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศเยอะมาก แต่คนทั่วไปยังไม่ทราบ บางทีเราเห็นชิ้นงานอันนี้สวย แต่เรารู้ไหมว่าเป็นฝีมือของนักออกแบบไทย หรือผลิตในประเทศไทย บางคนต้องพลิกดูว่าเป็นเมดอินอะไร อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของการจัด DEmark ตราสัญลักษณ์อันนี้เป็นเบอร์หนึ่ง เป็นตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่มีการออกแบบโดยคนไทย ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นยี่ห้อไหน ที่ผ่านมาโตชิบาก็ได้รางวัลนี้ เพราะเค้าใช้ดีไซน์เนอร์ไทยออกแบบที่จับตู้เย็น อันนี้เป็นสิ่งที่ DEmark พยายามสื่อออกไปว่าดีไซน์เนอร์ไทยก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร
ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบดีมีชื่ออยู่ในตลาดก็เยอะ และเราจะรู้อย่างไรว่าเป็นดีไซน์เนอร์ไทย ก็คือมีตราสัญลักษณ์อันนี้อยู่บนสินค้า ถ้าเราเดินไปในห้างเราจะเห็นตราสัญลักษณ์นี้ติดอยู่ แล้วเรายังได้ช่วยรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าไทยอีกด้วย สินค้าดีๆของคนไทยมีเยอะมาก ดีไซน์ดี ราคาไม่แพง ไม่จำเป็นต้องใช้ของนอก เราพยายามส่งเสริมให้คนไทยใช้สินค้าไทยมากยิ่งขึ้น
มุมมองต่อวงการการออกแบบและนักออกแบบของไทย
มันมีหลายมิติ การออกแบบนอกจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว เราพูดถึงฟอร์ม ฟังก์ชั่นที่เป็นรูปทรงที่สวยงาม ประโยชน์ใช้สอยที่สูง มีการใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน อันนี้ป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบที่เราเรียกว่าเป็นการออกแบบที่ดี และมีการออกแบบที่ทำให้ผู้คนที่ใช้ที่บริโภคมีความรู้สึกดี เราใช้สินค้าง่ายๆแต่ทำให้เรารู้สึกดี อันนี้เป็นแนวโน้มที่หลายองค์กรใหญ่ๆเค้าใช้กลยุทธ์นี้กัน ยกตัวอย่างแอปเปิ้ล เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก ในเรื่องของอินโนเวชั่น เค้าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี แต่เชื่อไหมว่าเทคโนโลยีของแบรนด์นี้กับอีกแบรนด์นึงใกล้เคียงกันมาก เหมือนกันหมด ใช้มือขยายภาพหรือความละเอียดของจอ มันคล้ายกันมาก สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือความรู้สึกของผู้ใช้เพราะเราใช้ยี่ห้อนี้แล้วเรารู้สึกดี มันคือเรื่องของดีไซน์ ทำดีไซน์ให้ตัวฟร้อนท์สวยงาม การใช้ฟังก์ชั่นต่างๆง่ายดายกว่าคนอื่น หรือไอคอนสวยกว่านิดหน่อย มีการออกแบบน่ารัก เพราะฉะนั้นการออกแบบมันมีหลายมิติ
แต่ในเรื่องของดีไซน์ไทยเราแตะแค่ไม่กี่มิติ เช่นในเรื่องของวัสดุ เรื่องของประโยชน์ใช้สอย เรื่องของอีโคล เรื่องของอิโมชั่นแนล เราเริ่มมีแล้ว คนไทยมีข้อได้เปรียบนักออกแบบต่างประเทศคือเรื่องของอารมณ์ เรามีอารมณ์ขัน มีอารมณ์ที่สนุกในตัว มันจะสะท้อนจากสินค้าที่เราผลิตออกมา จะมีสินค้าหลายชิ้นที่สนุก ใช้แล้วสนุก ฟังก์ชั่นก็แค่นั้น อย่างกระปุกออมสินเวลาเราหยอดตังค์ลงไปมันจะมีเสียงตึ๊ง แค่นี้แหล่ะที่ทำให้เรารู้สึกดีตลอดเวลา ทำให้คนอยากหยอด ในแง่ของฟังก์ชั่นง่ายมาก คือเราหยอดตังค์อย่างเดียว แต่การหยอดตังค์ทำให้รู้สึกดี มันพิเศษจนทำให้คนอยากซื้อ นี่คือเรื่องของมิติทางอารมณ์ ของต่างประเทศมีน้อยนะที่เป็นอย่างนี้ แต่เค้ามีจุดเด่นในเรื่องฟังก์ชั่น เทคโนโลยี เรื่องของวัสดุที่ใช้ เพราะฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีจุดแข็งของตนเอง เราก็ต้องดึงจุดแข็งของเรามาสู้กับเค้าให้ได้
กิจกรรมครั้งต่อๆไป
หลังจากการจัด Demark 2014 เราจะนำสินค้าที่ได้รับการคัดเลือก ไปจัดแสดงในงานบิ๊ก งานทิฟ งานที่เราคิดว่าเหมาะสมกับงานดีไซน์ทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมาเราก็ไปบุกตลาดฟิลิปปินส์มาแล้ว เอางานมาโชว์ชาวฟิลิปปินส์ว่าดีไซน์เราดีตรงไหน เราไปอินเดียมาแล้ว เพราะชนชั้นกลางที่อินเดียมีกำลังซื้อมหาศาล เค้าต้องการสินค้าที่มีความแปลกใหม่ มีนวัตกรรม มีการออกแบบที่ดี เค้าเริ่มที่จะนิยมหรือรู้จักสินค้าไทยกันมากขึ้นแล้ว เราจำเป็นต้องไปบุกตลาดนั้น มิลานเราก็ไปมา นำเสนอสินค้าที่มีการออกแบบดีในงาน มิลานดีไซน์วีคมาแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่เราไปเจาะตลาดเค้า เราเริ่มที่จะทำให้สินค้าที่มีการออกแบบดีๆของคนไทยไปทั่วโลกแล้ว ผมก็มีความหวังว่าตลาดต่างประเทศจะรู้จักสินค้าของไทยมากขึ้น การที่เราจะใช้สินค้าจากต่างประเทศอย่างเดียวและเป็นทางเลือกเดียวไม่ใช่แล้ว เรามีทางเลือกอื่น ผมเชื่อว่าถ้าเราเลือกที่จะบริโภคสินค้าดีๆเหล่านี้ ที่ไม่ต้องแพงแต่มีดีไซน์ มีควอลิตี้ มันจะยกระดับคุณภาพชีวิตเราโดยอัตโนมัติ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง
คำแนะนำสำหรับนักออกแบบมือใหม่
ท่านเป็นอนาคต อย่าหยุดนิ่ง ปัจจุบันเป็นโอกาสทองของนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทย เพราะเริ่มที่จะมีกระแสการยอมรับ ถ้าเทียบกับสิบยี่สิบปีที่ผ่านมาแทบจะไม่มีเลย คุณจบด้านการออกแบบ คุณแทบจะหางานไม่ได้เลย ไม่สามารถหางานได้เลย แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมยอมรับมากขึ้น แม้กระทั่งตลาดต่างประเทศก็ยอมรับมากขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นโอกาสของท่านที่จะแสดงศักยภาพออกมา ท่านสามารถประกอบอาชีพที่ท่านรักและประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นอย่าหยุดนิ่ง ถ้าท่านมีโอกาสที่จะนำเสนอผลงานดีๆ DEmark เป็นสิ่งที่จะช่วยท่านให้ท่านประสบความสำเร็จในอาชีพที่ท่านต้องการ
เกี่ยวกับ Design Excellence Award หรือ Demark (โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2557)
สถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินรางวัลผู้ประกอบธุรกิจดีเด่น ประเภทสินค้าที่มีการออกแบบดี หรือ Design Excellence Award (Demark) ขึ้นเป็นปีที่ 7 เพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย ในตลาดโลก โดยได้รับความร่วมมือจาก องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ Japan Institute of Desing Promotion (JDP) ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากรางวัล G-Mark ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาร่วมพิจารณาตัดสินรางวัลในแต่ละปี รวมทั้งให้ความร่วมมือในด้านอื่นๆเพื่อให้รางวัลได้มาตรฐานในระดับสากล รางวัล Design Excellence Award หรือ Demark มีที่มาจากรางวัล Prime Minister’s Export Award : PM Award Design ซึ่งเดิมพิจารณาให้รางวัลจากกระบวนการพัฒนาสินค้าเป็นหลัก ต่อมาสถาบันฯได้มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนสู่การพิจารณาตัวสินค้าที่มีการออกแบบดีเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านการแข่งขันทางการค้า โดยมีการออกแบบตราสัญลักษณ์ของรางวัลขึ้นใหม่ในชื่อ Demark เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่มีการออกแบบดี และใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย และขยายตลาดสินค้าไทยทั้งในประเทศญี่ปุ่น และในระดับนานาชาติ โดยมีแผนการประชาสัมพันธ์รางวัลให้เป็นที่รู้จัก แบะยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยปี 2551-2556 มีสินค้าได้รับรางวัล Demark ทั้งสิ้น 416 รายการ มีสินค้าได้รับรางวัล G-mark 277 รายการ