โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี (ถนนสีลม) ภูมิใจเสนอนิทรรศการจิตรกรรมใหม่ ชุด “ความจริง สมมติ” โดยเกรียงไกร กุลพันธ์ ศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งได้รับรางวัลมากมายระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
“ความจริง สมมติ” คือการตะหนักถึงความจริงของการรับรู้ที่ มีหลายระดับ หลายชุดความจริง สกุลความคิดหลังสมัยใหม่บอกว่าความจริงไม่มี มีแต่กฎเกณฑ์ที่บอกว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ขึ้นอยู่กับคนคนนั้นจะเชื่อแบบใดหรือมีประสบการณ์ระดับไหน ในพุทธศาสนาบอกว่า ความจริงนั้นมี ๒ ระดับ คือ ความจริงแบบสมมติ หรือ สมมติสัจจะ และความจริงแบบปรมัตถ์ หรือ ปรมัตถสัจจะ นาย ก. เป็นรัฐมนตรี นาย ข. เป็นชาวนา นี่เป็นความจริงแบบสมมติ แต่เมื่อพูดถึงความจริงระดับปรมัตถ์แล้ว ทั้ง ๒ คนไม่ได้แตกต่างกัน เพราะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน (พระไพศาล วิสาโล)
งานจิตรกรรมในชุดนี้ เสมือนการค้นหา ทำความเข้าใจ ตั้งคำถามว่าเราสามารถตัดสินความจริงได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ ความจริงทางสังคม (การเมือง) ที่มีความสลับซับซ้อน กระจัดกระจาย ยากที่จะรวมเป็นก้อนก้อนเดียว แต่หากมองไปผ่านความจริง สมมติ (สัจจะ) ภายใต้นั้น ระหว่างนั้น เรามีความเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยม ที่เรา (ทุกคน) ต่างถือครองร่วมกัน
เกรียงไกรเป็นศิลปิน ที่มีรากเหง้ามาจากอีสาน ศิลปะอีสานจึงมีอิทธิพลต่อศิลปินเป็นอย่างมาก ศิลปินจงใจหยิบความเป็นช่างพื้นบ้านแบบศิลปะอีสานมาเล่าเรื่อง ทั้งความสดใส ไร้เดียงสา และความมีชีวิตชีวา รวมถึงคำสั่งสอนที่แฝงไว้ในจิตกรรมฝาผนังแบบตามวัด หรือ สิมอีสาน ที่บอกเล่าคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ศิลปินจึงนำจุดนี้มาเป็นกรอบที่จะให้สังคมเห็นความเป็นมนุษย์ภายใต้เปลือกที่เราสวมอยู่
ผลงานชุด ความจริง สมมติ เป็นการพัฒนาต่อยอด ระบบภาพแบบจิตรกรรมฝาผนัง อีสาน ที่มีการบันทึกบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นไปในสังคมโดยการเปลี่ยนภาษาภาพที่มีโครงสร้างประโยคหรือไวยากรณ์ของภาษาที่มีลักษณะเวลายาวต่อเนื่องเป็นเส้นตรง เรียกว่า Linear Syntax เหมือนการอ่านหนังสือ ผู้ชมเริ่มมองจากซ้ายไปขวา มีเส้นระหว่างบรรทัดทำให้เข้าใจได้ง่าย ถึงใจความที่ช่างเขียนพยายามจะสื่อความหมาย บอกเล่าเรื่องในลักษณะ ใคร/ ทำอะไร/ ที่ไหน/ เมื่อไร/ อย่างไร ให้เป็น Non-Linear Syntax โครงสร้างของภาพที่เวลาไม่เรียงเป็นเส้นตรง มีลักษณะของการบอกเล่าเรื่องราวด้วยการอุปมาอุปไมยแบบ ผญาภาษิต หรือ ผะหยาภาษิต เป็นลักษณะของคำพูดที่มีความหมาย แม้ประโยคจะสั้นแต่มีความหมายมาก ฉะนั้นการตีความหมายจะเกิดจากประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกัน ตลอดถึงการใช้สัญลักษณ์ของการสร้างความหมายต่างๆที่สัมพันธ์กับเรื่องราวเอาไว้ ผู้ชมสามารถเริ่มต้นจากจุดไหนของภาพก็ได้ มีลักษณะเป็นความหมายแบบเปิด (Multiply Meaning) ผู้ชมสามารถสร้างบทสนทนาและความหมายใหม่ได้ไม่รู้จบ
แนะนำและวิจารณ์ศิลปิน (โดย ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์อิสระระดับประเทศ อดีตภัณฑารักษ์ แห่งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)
อาจจะดูตื้น และง่ายเกินไป หากเห็นใครสักคน ใส่เสื้อ “สีแดง” แล้วเหมารวมเขาว่า “เป็นคนเสื้อแดง (นปช.)” ใส่กางเกงลายทหาร ก็ว่าเขาสนับสนุน “รัฐประหาร” สังคมนี้ มันซับซ้อนกว่านั้น และออกจะเป็นความสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน หากมีใครสักคน จะเขียนรูป “ทักษิณ” ออกมาแสดงเป็นงานศิลปะสังคมที่เลือกข้าง และหวาดระแวง ไม่ไว้ใจใครบริโภคข่าวสาร ซึ่งมีทั้งจริงและลวงอยู่ในโลกไซเบอร์ อะไรคือ “ความจริง” อะไรคือ “สิ่งสมมุติ” ในวิถีชีวิตจริงๆ
“เกรียงไกร กุลพันธ์” วาดรูปทักษิณสวมหมวกเทพีเสรีภาพ แทนความหมาย “ทุนนิยมร่วมสมัย” ขณะที่มีคนอีกจำนวนหนึ่ง “แปะทองคำเปลว” บนใบหน้า มองคล้ายว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และนั่งพนมมืออ้อนวอน ร้องขอ เป็นลัทธิ “บูชานิยม” ศิลปิน พาความคิดเขาเดินมาถึงแค่นั้น แล้วโยนคำถามต่อให้แก่ผู้ชม “โปรดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง” ในยุคบริโภคข่าวสาร แทนอาหาร แทนข้าว บางทีเราคล้ายตกอยู่ในความจริง-ความลวง ที่ถูกซ่อนเร้น คุณมองตัวเอง มองข่าวสารที่อยู่รอบตัวและมองสังคมอย่างไร
เสน่ห์ของงานศิลชุดนี้ คือความคลุมเครือ ไม่เล่าทั้งหมด เหมือนหนังอาร์ตที่มันลางๆ และเหมือนภาพถ่ายที่มันไม่ชัดเพราะภาพไม่ได้เล่าทั้งหมด และศิลปินไม่ได้บอกว่าตัวเองคิดอย่างไร แต่กลับเจตนาให้ผู้ชมตั้งคำถามกับงาน สื่อสารกับงาน ผู้ชมต้องเดาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ ความจริงกับสมมติ สิ่งที่คนเห็นว่าจริง บางทีอาจเป็นสิ่งสมมติ
เกรียงไกร กุลพันธ์ ถือเป็นศิลปินรุ่นใหม่ เป็นแรงขับเคลื่อนของศิลปะยุคปัจจุบัน เขา เล่าเรื่องและถ่ายทอดมุมมองและความคิดที่มีต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้หยิบเรื่องอดีตมาเล่าใหม่เหมือนศิลปินส่วนใหญ่ แต่เล่าเรื่องด้วยลมหายใจของเขาเอง ซึ่งเป็นลมหายใจของวันนี้กับสิ่งที่ได้พบเจอจริงๆ
ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ และร่วมพิธีเปิดงานนิทรรศการใน วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2557 เวลา 19:00 น. โดยคุณชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ณ แกลลอรี่ 36 ตั้งอยู่บนชั้น 36 ของโรงแรม พูลแมน กรุงเทพ จี (ถนน สีลม) ชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2557เวลา 10:00 – 19:00 น.
นิทรรศการ : ความจริง สมมติ
ศิลปิน : เกรียงไกร กุลพันธ์
วันที่ : 3 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2557
สถานที่ : ณ แกลลอรี่ ชั้น 36 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสนใจซื้อผลงานโทร : 02-238-1991
อีเมล์ : Pr@PullmanHotelG.com
เฟซบุ๊ค : www.facebook.com/pullmanbangkokhotelG
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด
นันทน์นัดดา สุภัคธนสมบัติ (แอ๊ป)
อีเมล์: nannadda@pullmanhotelG.com
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
เมลนีย์ ศิรจินดาภิรมย์ (เมย์)
อีเมล์: pr@pullmanhotelG.com
เบอร์โทร : 02-238 1991 ต่อ 1419