สวนปริศนา ( THE SECRET GARDEN )

 

สวนปริศนา ( THE SECRET GARDEN )
โดย อรพินท์ คำสอน
กระแสความนิยมของคนอ่านหนังสือในปัจจุบันนั้นนิยมการอ่านหนังสือแปลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมเยาวชน เนื่องจากวรรณกรรมเยาวชนที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวรรณกรรมเยาวชนที่เขียนโดยนักเขียนชาวไทยยังมีน้อยมาก จึงทำให้ผู้อ่านที่ต้องการอ่านวรรณกรรมเยาวชนต้องอ่านงานประเภทนี้จากวรรณกรรมแปลเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีวรรณกรรมแปลสำหรับเยาวชนหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ต้นส้มแสนรัก ปิน็อกกิโอ เจ้าชายน้อย หรือ โต๊ะโตะจัง เป็นต้น

ทั้งนี้แสดงให้เห็นความจริงที่ว่า เรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆของคนสามารถถ่ายทอดและเชื่อมโยงกันได้ แม้ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างสังคม หรือต่างวัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งการรับรู้ของคนอ่านอาจจะมากกว่าการรับรู้เรื่องราว เพราะอาจขยายเลยไปถึงการมีความรู้สึกซาบซึ้ง สะเทือนใจ และเข้าถึงวรรณกรรมเรื่องนั้นๆได้ไม่ต่างจากผู้อ่านที่อ่านงานวรรณกรรมจากภาษาต้นฉบับเลยก็ได้ สำหรับเรื่อง สวนปริศนา นี้ แปลมาจากเรื่อง THE SECRET GARDEN ของ ฟรานเซล ฮอด์จัน เบอร์เนทท์ (Frances Hodgson Burnett) แปลโดย แก้วคำทิพย์ ไชย ก็นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านชาวไทยอย่างมาก ทั้งนี้เพราะวรรณกรรมฉบับแปลฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา นอกจากนี้วรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีผู้แปลอีกคนหนึ่ง คือ เนื่องน้อย ศรัทธา ซึ่งแปลโดยให้ชื่อเรื่องว่า ในสวนศรี และแปลวรรณกรรมเรื่องนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2454 และได้รับความนิยมจากผู้อ่านจนต้องพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สวนปริศนา เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับ แมรี่ เลนนอน เด็กหญิงวัย 10 ปี ที่ต้องย้ายมาอยู่กับลอร์ด เครเวน ผู้เป็นลุง ที่คฤหาสน์มิสเซลท์เวท ประเทศอังกฤษ หลังจากที่พ่อแม่ของเธอเสียชีวิตเนื่องจากโรคระบาดในประเทศอินเดีย การเดินทางมาอยู่ที่คฤหาสน์มิสเซลท์เวทของแมรี่ในครั้งนี้นำมาซึ่งเรื่องราวและความเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมายในคฤหาสน์มิสเซลท์เวท

“สวนปริศนา”นับเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนต้องการจะเสนอและสื่อต่อผู้อ่าน ทั้งนี้เพราะสวนปริศนามีความสำคัญในการดำเนินเรื่อง เนื่องจากเรื่องราวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเรื่องถ้าไม่เกิดขึ้นในสวนก็จะมีส่วนที่เกี่ยวพันกับสวนอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งสวนยังมีความสำคัญและมีความสัมพันธ์อย่างมากต่อตัวละครสำคัญของเรื่อง ซึ่งความสัมพันธ์และความสำคัญที่เกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนั้นก็จะมีระดับที่แตกต่างกันออกไป นับตั้งแต่แมรี่ซึ่งเป็นตัวดำเนินเรื่องเธอเป็นผู้ค้นพบและเปิดเผยความลับของสวนแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ สวนจึงเป็นความลับที่ยิ่งใหญ่สำหรับเธอและเป็นเสมือนสมบัติส่วนตัวชิ้นล้ำค่า ซึ่งเธอจะบอกความลับนี้กับผู้ที่เธอไว้ใจเท่านั้น ( เธอบอกความลับนี้กับดิกคอนเพื่อนของเธอและโคลินญาติของเธอ ) นอกจากนี้ สวนยังส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสุขภาพร่างกายของเธอ จากเด็กอ่อนแอขี้โรคกลายเป็นเด็กแข็งแรง สมบูรณ์ ในส่วนของสุขภาพจิตนั้น อีกทั้งสวนยังช่วยเปลี่ยนแปลงเธอจากเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง ขี้โมโห ให้กลายเป็นเด็กหญิงผู้ร่าเริง แจ่มใสและเห็นใจผู้อื่น

แต่ความสำคัญของสวนต่อลอร์ดเครเวน แตกต่างออกไป สำหรับเขาแล้วสวนเป็นตัวแทนความรักและความสุขระหว่างเขาและภรรยา แต่เมื่อภรรยาของเขาประสบอุบัติเหตุตายในสวน สวนจึงกลายเป็นตัวแทนความเศร้าของเขาและยังเป็นเสมือนสถานที่ต้องห้ามสำหรับเขา จนทำให้เขาสั่งปิดสวน และไม่เหยียบย่างเข้าไปในสวนอีกเลย

และสำหรับโคลินนั้น สวนกลับมีความหมายและความสำคัญต่อเขามากกว่าตัวละครอื่นๆในเรื่อง เพราะสวนแห่งนี้เป็นเหมือนตัวเขาและโลกภายในจิตใจของเขา ความรกร้างของสวนในตอนแรกเปรียบเสมือนตัวเขาที่ถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อนับตั้งแต่แม่ตาย ( เพราะหน้าเขาเหมือนแม่มาก เขาจึงเป็นตัวแทนของแม่อีกสิ่งหนึ่งนอกจากสวน ที่พ่อทนเห็นไม่ได้ ) แต่เมื่อแมรี่พบเขาและสวน เธอและดิกคอนก็ดูแลเขาและสวนเป็นอย่างดีจนเขามีความรู้สึกว่าเขาไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป อีกทั้งสวนยังเป็นสถานที่ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของเขา เพราะเมื่อเขาได้ออกไปสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงามในสวนสุขภาพและร่างกายเขาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เขาต้องนั่งรถเข็นเดินเองไม่ได้จนเขาสามารถวิ่งแข่งและชนะแมรี่ได้

นอกจากนี้ผู้แต่งเน้นให้ผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ โดยชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติมีอานุภาพและมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยรักษาเยียวยาแผลในจิตใจแล้ว ยังกระตุ้นให้เด็กมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย ธรรมชาติมิได้ส่งผลต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้ลอร์ดเครเวนตระหนักรู้และพร้อมที่จะตื่นขึ้นหลังจากที่จมอยู่กับความหลังอยู่นานถึง 10 ปี นอกจากธรรมชาติแล้วความช่วยเหลือและความกล้าหาญของเด็กๆก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยฉุดให้เขาหลุดพ้นจากโลกแห่งความเศร้าที่เขาจมอยู่มานานนับ 10 ปี เพื่อให้เขาพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปและใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต มิใช่มาจมอยู่กับอดีตที่เศร้าโศก ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงพลังวิเศษหรือมาจิดโดยตลอด ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่าพลังวิเศษที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้สามารถเทียบได้กับพลังของธรรมชาติและพลังชีวิตที่เด็กๆได้เรียนรู้และตระหนักถึงด้วยตนเองมาโดยตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ดิกคอนบอกกับแมรี่ว่าธรรมชาติในสวนจะช่วยรักษาโคลินให้หายป่วย “มันดีสำหรับเขา ผมเชื่ออย่างนั้น” เขาว่า “เราไม่เคยคิดเลยว่า เขาไม่ควรเกิดมา เราเป็นเพียงเด็กที่เฝ้าดูความเจริญเติบโตของสวนนี้ และเขาก็จะเข้ามาร่วมด้วย เด็กผู้ชายสองคนกับเด็กหญิงคนหนึ่ง นั่งมองความเป็นไปในฤดูใบไม้ผลิ ผมรับรองว่าดีกว่ายาของหมออีกนะ” ( หน้า 167) หรือความรู้สึกของโคลินที่ว่าเขารู้สึกว่าเขาจะหายป่วย นับตั้งแต่เขาได้สัมผัสกับธรรมชาติเป็นครั้งแรก “… พวกเขาพาโคลินไปรอบสวนเหมือนอย่างที่ดิกคอนพาแมรี่เดินไปรอบๆ สวน และทุกกำแพง พื้นดิน ต้นไม้ ช่อดอกไม้ที่แผ่กิ่งก้าน … แล้วพระอาทิตย์ก็สาดส่องลงมาบนใบหน้าของเขาราวกับมือที่ลูบไล้อย่างอ่อนนุ่ม … เขาดูแปลกไป และแตกต่างจากเดิม เพราะหน้าของเขาสีชมพูสดใส ปรากฏทั่วใบหน้าของเขาที่ครั้งหนึ่ง ใบหน้า คอ มือ และทั้งหมดซีดเป็นสีงาช้าง ” ฉันต้องหายแน่ ! ฉันต้องหายแน่ !” เขาร้อง”( หน้า 213 –214)

ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากจะอยู่ที่ความเรียบง่ายของภาษาแล้ว ผู้แต่งยังมีความสามารถในการบรรยายบรรยากาศต่างๆ เช่น ฉากของสวนปริศนา ซึ่งทำให้ ผู้อ่านรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสวนจากสวนที่รกร้างในตอนแรกที่ว่า “… ตอนนี้ไม่มีใบไม้หรือดอกกุหลาบบนต้น และแมรี่ไม่รู้ว่ามันตายหรือยังไม่ตายกันแน่ แต่กิ่งก้านสีน้ำตาลหรือสีเทาผอมของมันและช่อของมันดูคล้ายกับผ้าคลุมบางที่แผ่คลุมทุกๆ สิ่ง กำแพง ต้นไม้ และหญ้าสีน้ำตาล ระลงมาเนื่องจากมีใบมากและหนาแน่น … แมรี่คิดว่ามันแตกต่างจากสวนอื่นที่ไม่ถูกทิ้งไว้นานขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันแตกต่างจากสวนอื่นที่เธอเคยเห็นมาในชีวิตของเธอ” ( หน้า 84 –85) ที่แตกต่างไปจากสวนที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากเด็ก ๆ อย่างมาก ผู้แต่งบรรยายภาพสวนในตอนสุดท้ายไว้ว่า  “ทั้งสวนเต็มไปด้วยดอกไม้สีทอง ม่วง น้ำเงิน และแดงสดใส ในฤดูใบไม้ร่วงและทุกๆด้านเป็นดอกลิลี่ชูช่ออยู่ด้วยกัน … ดอกกุหลาบเลื้อยปีนป่ายและห้อยย้อยเป็นพวงและแสงแดดก็ทำให้สีของต้นไม้เข้มขึ้น เน้นให้เห็นเป็นสีเหลือง …” ( หน้า 288)

นอกจากความสามารถในการเขียนและการบรรยายแล้ว วรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีความน่าสนใจและกระตุ้นให้ผู้อ่านติดตามเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เนื่องจากผู้แต่งได้สร้างปริศนา ความลับและความลึกลับขึ้นมาตลอดทั้งเรื่อง และในขณะที่อ่านผู้อ่านจะรู้สึกว่าตนเป็นเสมือนผู้ร่วมรับรู้ความลับและกำความลับต่างๆร่วมไปกับเด็กๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น การรับรู้และร่วมไขปัญหาไปพร้อมกับแมรี่เกี่ยวกับสวนปริศนา รวมไปถึงการค้นหาที่มาของเสียงร้องไห้ลึกลับ หรือการเอาใจช่วยแมรี่ โคลินและดิกคอนในการปกปิดความลับเรื่องสวนของพวกเขา อารมณ์ร่วมต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้อ่านนี้นับเป็นเสน่ห์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

เสน่ห์ของวรรณกรรมเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ความเรียบง่ายของภาษาและการดำเนินเรื่องที่ตื่นเต้นและเร้นลับที่ชวนให้เด็กติดตามอ่านอย่างไม่เบื่อเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนยังได้แฝงแนวคิดที่ลึกซึ้งบางประการไว้โดยตลอดเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ได้ตระหนักถึงความจริงบางอย่างที่อาจจะถูกละเลยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของธรรมชาติของเด็กที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ และความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งการขาดการดูแลหรือการถูกละเลยในเรื่องนี้ของพวกเขาอาจส่งผลถึงพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของเขาด้วย เพราะผู้แต่งพยายามที่จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นและเข้าใจถึงสภาพทางร่างกายและจิตใจและความน่าสงสารของเด็กที่ถูกพ่อแม่ละเลยและทอดทิ้งว่าเป็นเช่นไร โดยให้แมรี่และโคลินเป็นตัวแทนของเด็กเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนที่โคลินเล่าให้แมรี่ฟังถึงความคิดและความฝังใจของเขาว่าเขาจะพิการและตายว่า “เพราะว่าฉันเป็นอย่างนี้ตลอด ป่วยและนอนอยู่บนเตียง พ่อของฉันไม่ยอมให้ใครมาพูดกับฉัน คนรับใช้ไม่ได้รับอนุญาตให้คุยกับฉัน ถ้าฉันมีชีวิตต่อไปฉันอาจจะหลังค่อม แต่ฉันคงมีชีวิตไม่ยาวนักหรอก พ่อของฉันไม่อยากคิด เมื่อฉันโตขึ้นฉันอาจเหมือนท่าน” ( หน้า 132) ขณะเดียวกันผู้แต่งก็ได้สร้างตัวละครอีกตัวหนึ่ง คือ ดิกคอน ซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่ และเข้าใจอย่างดีจากแม่ จนเขากลายเป็นเด็กร่าเริง แจ่มใส มีความสุขและสุขภาพดี และตลอดเวลาที่ผู้แต่งกล่าวถึงดิกคอนนั้น ผู้แต่งจะแสดงให้เห็นว่าเขาจะมีความสุขและสนุกสนานอยู่ท่ามกลางฝูงสัตว์ของเขาอยู่เสมอ เช่นตอนที่แมรี่พบดิกคอนเป็นครั้งแรก “… เด็กผู้ชายคนหนึ่งนั่งนิ่งอยู่ใต้ต้นไม้ เป่าปี่ที่ทำด้วยไม้หยาบๆ เขาเป็นเด็กชายท่าทางสนุกสนานอายุราว 12 ขวบ เขาดูสะอาดมาก … แล้วบนต้นไม้ที่เขาพิงอยู่นั้นมีกระรอกสีน้ำตาลเกาะอยู่ … มีไก่ฟ้าตัวผู้ยืดคอแอบมองเขาอยู่และใกล้ๆตัวเขามีกระต่ายสองตัวนั่งอยู่ … ทุกสิ่งที่ปรากฏราวกับสัตว์ต่างๆ กำลังก้าวเข้ามามองเขา …” ( หน้า 102) การสร้างตัวละครที่ต่างกันมากเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพเปรียบเทียบอย่างชัดเจนระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้ นับเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้อ่านให้ฉุกคิดและหันกลับไปมองชีวิตของตนว่า ตนได้ละเลยและทอดทิ้งลูกหลานของตนดังเช่นที่แมรี่หรือโคลินเป็นหรือไม่

ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเรื่องนี้จึงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้เฉพาะกับตัวละครเท่านั้น แต่การรับรู้นั้นได้แผ่ขยายมาสู่ผู้อ่านที่อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างตั้งใจ เข้าใจและให้ความสำคัญด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความเปราะบางของจิตใจเด็กต้องการมือที่อ่อนนุ่มและอบอุ่นของผู้ใหญ่ที่เขารักประคับประคองอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่ควรให้ความสนใจและใส่ใจต่อเด็กของตนมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างสวนที่งดงามในจิตใจของพวกเขา แทนที่จะปล่อยให้สวนในจิตใจของเขาเป็นสวนที่รกร้างปราศจากการดูแลเอาใจใส่ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโคลินและแมรี่มาแล้ว

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...