ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙)
ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารอีกหลังหนึ่งที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขปรับปรุงรูปแบบในระหว่างการออกแบบ อาคารหลังนี้สร้างขึ้นภายหลังจากการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒oo ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งนาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากรองราชเลขาธิการในสมัยนั้น ให้ออกแบบศาลหลักเมืองหลังใหม่แบบที่เห็นในปัจจุบันนี้ขึ้นตามแนวพระราชดำริ
ในการเริ่มต้นออกแบบศาลหลักเมืองหลังใหม่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถึงรูปแบบของศาลหลักเมืองที่จะสร้างใหม่ว่า “ศาลหลักเมืองนั้นให้มีลักษณะเหมือนๆกับประตูพระบรมมหาราชวัง คือมีความสูง แต่มีมุขยื่นโดยรอบทั้งสี่ด้าน” สถาปนิกผู้ถวายงานจึงได้ร่างแบบศาลหลักเมืองหลังใหม่เป็นอาคารทรงยอดปรางค์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายประตูพระบรมมหาราชวัง และมีมุขยื่นโดยรอบทั้ง ๔ ด้านยาวเท่ากัน แล้วจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชวินิจฉัยเป็นครั้งแรก
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแบบร่างดังกล่าวแล้ว มีพระบรมราชานุญาตให้นำมาดำเนินการต่อ สถาปนิกจึงได้สร้างแบบจำลองขึ้นทูลเกล้าฯถวายให้ทอดพระเนตรอีกครั้ง และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้พิจารณาแก้ไขมุขที่ยื่นโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งในแบบจำลองนั้นหลังคามุขชั้นล่างและชั้นบนยื่นออกมาเท่าๆกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ทดลองขยายหลังคามุขชั้นบนออกมาอีกหนึ่งก้านไม้ขีดโดยประมาณ ในอัตราส่วนของแบบจำลอง นอกจากนั้นยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องวัสดุการก่อสร้าง โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า “ต้องยึดความมั่นคงแข็งแรงและการบำรุงรักษาเป็นสำคัญ และการเลือกใช้วัสดุว่าอย่าให้ต้องทาสีบ่อยๆ” นาวาอากาศเอก อาวุธจึงกราบบังคมทูลเสนอกระเบื้องเคลือบสี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานตัวอย่างกระเบื้องเคลือบสีด่อน (สีขาวอมเทา) มาเพื่อเป็นวัสดุในการตกแต่งยอดปรางค์ศาลหลังเมืองในครั้งนั้น
ศาลหลักเมืองหลังใหม่นี้ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุคสมัยรัชกาลที่ ๔ กล่าวคือ เป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน ๒ ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ ๑ ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยมีช่อฟ้าเป็นแบบนกเจ่า ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนใบระกานั้นปรับปรุงรูปแบบจากวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยทำเป็นลายช่อหางโตแทนลายใบเทศ หน้าบันเป็นรูปดอกพุดตานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ พื้นลายสีเหลือง ตัวดอกและช่อลายสลับสี โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังบุหินอ่อนมีประตูทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน ยกพื้นโดยรอบ บุด้วยหินอ่อนและมีพนักระเบียงหินอ่อนโดยรอบ มุมพนักระเบียงประดับเสาหัวเม็ดทำด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกัน
ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
สถาปนิก : พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น