กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) หรือ ISMED รุกสร้างจุดขายอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ผนวกศาสตร์ด้านการออกแบบ ผสมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เตรียมเปิดตัว 4 ต้นแบบนวัตกรรมแฟชั่น
อันได้แก่ “อินโน ดีไซน์” (Inno-Design) หรือ นวัตกรรมด้านการออกแบบ “ อินโน แมททีเรียล” (Inno-Materials) หรือนวัตกรรมด้านวัสดุ “อินโน เทคนิคอล” (Inno-Technical) หรือ นวัตกรรมด้านเทคนิคหรือการผลิต และ “อินโน คอนเซ็ปต์” (Inno-Concept) หรือ นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ โดยการพัฒนาดังกล่าวมุ่งหวังในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยโดยรวม 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า และอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็นการยกระดับจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตไปสู่ผู้ออกแบบหรือดีไซเนอร์ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เพื่อพัฒนาสู่ผู้นำอุตสาหกรรมแฟชั่นของอาเซียน เมื่อเปิด AEC ทั้งนี้ ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อวงการแฟชั่นดังกล่าว สะท้อนผ่าน การประกวดออกแบบแฟชั่น “ไทยแลนด์ อินโนแฟชั่น อวอร์ดส์ 2014”(THAILAND INNOFASHION AWARDS 2014 หรือ TIFA 2014 ) ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” ในกรอบความคิด “ไทย เทรเชอร์ส (Thai Treasures) จากทุนทางปัญญาไทย สู่งานออกแบบนวัตกรรมแฟชั่น” เพื่อเป็นเวทีให้นักออกแบบทั้งรุ่นใหม่และมืออาชีพได้แสดงศักยภาพในการนำเสนอผลงานออกแบบสร้างสรรค์สินค้าแฟชั่น และพัฒนาสู่นักออกแบบแฟชั่นมืออาชีพได้อย่างครบวงจร ชิงเงินรางวัลและการศึกษาดูงานมูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาท
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ เพราะมีบทบาทต่อการจ้างงานกว่า 2.2 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยแต่ละปี ประมาณ 6 แสนล้านบาท (ประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ถือได้ว่าอยู่ในระดับล่างของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ไม่ว่าจะเป็นมิลาน ปารีส อเมริกา และญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าไทยได้รับการยอมรับในฐานะประเทศรับจ้างผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่น(OEM) เนื่องจากฝีมือประณีต มีคุณภาพ และค่าแรงงานไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันไทยกำลังประสบปัญหาเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพราะจีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างจริงจังประกอบกับค่าแรงที่ถูกกว่าไทย ความสูญเสียความสามารถในการแข่งขันดังกล่าวอาจสูงขึ้นหากไม่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างจริงจัง
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ซึ่งเกี่ยวเนื่องใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยวางแนวทางในการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งวางแผนในการพัฒนายกระดับจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตไปสู่ผู้ออกแบบหรือดีไซเนอร์ มีแบรนด์เป็นของตัวเองซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ความเป็นแฟชั่นไทย เพื่อพัฒนาสู่ผู้นำอุตสาหกรรมแฟชั่นของอาเซียน เมื่อเปิด AEC และเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชียและระดับโลกต่อไป ทั้งนี้ การยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยได้นั้น การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบหรือดีไซเนอร์ ซึ่งไทยมีดีไซเนอร์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นในระดับภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้จะมีดีไซเนอร์ไทยหลายท่านมีชื่อเสียงในระดับโลก แต่ก็เพียงเฉพาะบุคคล ซึ่งขาดการการส่งเสริมและพัฒนาจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้วงการแฟชั่นไทยไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) หรือ ISMED กล่าวว่า จากการที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลาการด้านการออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น จึงมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดกิจกรรมการประกวดออกแบบด้านแฟชั่น “ไทยแลนด์ อินโนแฟชั่น อวอร์ดส์ 2014”(THAILAND INNOFASHION AWARDS 2014 หรือ TIFA 2014 ) ภายใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นเวทีให้นักออกแบบทั้งรุ่นใหม่และมืออาชีพได้แสดงศักยภาพในการนำเสนอผลงานออกแบบสร้างสรรค์สินค้าแฟชั่นและพัฒนาสู่นักออกแบบแฟชั่นมืออาชีพ (Fashion Designer) ใน 3 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า และอัญมณีและเครื่องประดับ ให้เป็นที่รับรู้และเกิดการยอมรับของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวความคิดในการออกแบบ “ไทย เทรเชอร์ส (Thai Treasures) จากทุนทางปัญญาไทย สู่งานออกแบบนวัตกรรมแฟชั่น” โดยนำเสนอสินค้าแฟชั่นไทยผ่านเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความประณีต เป็นต้นแบบความคิด
สำหรับจุดเด่นของการประกวดครั้งนี้คือ การนำการประยุกต์ใช้นวัตกรรมหรือนำสิ่งใหม่ ๆ มาพัฒนาหรือดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าแฟชั่นตอบสนองความต้องการของตลาดประเภทเป้าหมายได้แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมแบบยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักออกแบบอาชีพหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น และนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจการออกแบบสินค้าแฟชั่น อย่างไรก็ดี แนวคิด ” อินโนแฟชั่น” เป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมผสานความคิดสร้างสรรค์
ด้วยทุนปัญญาไทย ผ่านนวัตกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1. “อินโน ดีไซน์” (Inno-Design) : นวัตกรรมด้านการออกแบบ 2.“อินโน แมททีเรียล” (Inno-Materials) : นวัตกรรมด้านวัสดุ 3. “อินโน เทคนิคอล” (Inno-Technical) : นวัตกรรมด้านเทคนิคหรือการผลิต และ 4. “อินโน คอนเซ็ปต์” (Inno-Concept) : นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ นายสุวรรณชัย กล่าว
ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกวดว่า สำหรับการประกวดครั้งนี้ นอกจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะได้รับประสบการณ์และความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงแฟชั่นหลายท่าน ยังได้รับประสบการณ์ในการศึกษาดูงานจากประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่นของเอเชียอีกด้วย โดยเปิดรับสมัครผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันนี้ ถึง 12 กันยายน 2557 ซึ่งจะมีการตัดสินรอบแรก วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2557 และตัดสินรอบรองชนะเลิศ ในวันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2557 สำหรับนักออกแบบที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 15 ท่านจะได้ไปร่วมศึกษาดูงานที่ โซล แฟชั่น วีค หรือ โตเกียว แฟชั่น วิสิท (Seoul Fashion Week / Tokyo
Fashion Visit) และกลับมาจัดทำผลงานจริงเพื่อแสดงผลงานในการตัดสินรอบชิงชนะเลิศบนเวที “รันเวย์ อินโนแฟชั่น โชว์ (Runway Innofashion Show) ในวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2557 รวมมูลค่าเงินรางวัลและการศึกษาดูงานกว่า 1,000,000 บาท คาดดว่าจะมีผู้ส่งผลงานเข้าประไม่ต่ำกว่า 200 ผลงาน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีการจัดงานแถลงข่าวความพร้อมในการจัดประกวด “ไทยแลนด์ อินโนแฟชั่น อวอร์ดส์ 2014” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2557 ณ ห้องอินฟินิตี้ 2 โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงเพาเวอร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกกรรมแฟชั่นร่วมให้ความรู้ในงานเสวนา “การสร้างแรงบันดาลใจ และการทดลองสร้างสรรค์ เพื่อหาแนวทางการออกแบบแฟชั่น” อาทิ นายศิริชัย ทหรานนท์ เจ้าของแบรนด์เธียเตอร์ (Theatre)
นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ เจ้าของแบรนด์ที-ระ (T-Ra) และนายชนกนันท์ มุกดาพงศธร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบรนด์แฟชั่น และแฟชั่นโชว์สุดอลังการโดยนักแสดง-นางแบบมืออาชีพ คุณบี น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ มีนักออกแบบรุ่นใหม่และนักออกแบบแฟชั่นเจ้าของกิจการ ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ดร. อรรชกา กล่าวสรุป
สำหรับนักออกแบบ นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โทรศัพท์ 02-564-4000 ต่อ 7203,7204 เว็บไซต์ www.tifa-awards.net และสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่หก กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2202-4559 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
รางวัลในการประกวด “ไทยแลนด์ อินโนแฟชั่น อวอร์ดส์ 2014” แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่
1. รางวัลนักออกแบบรุ่นใหม่ (Young Talent) (ไม่แยกประเภทสาขา) เน้นนักออกแบบรุ่นใหม่หรือนักศึกษา มีประสบการณ์ 0-2 ปี มีจำนวน 3 รางวัล ได้แก่
· รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
· รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
· รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
2. รางวัลนักออกแบบมืออาชีพ หรือเจ้าของสินค้าแฟชั่น (Professional Talent) มุ่งเน้นนักออกแบบที่มีประสบการณ์ด้านผลงานแฟชั่น หรือผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าแฟชั่นสาขาใดสาขาหนึ่ง มีจำนวน 12 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 สาขา ตามประเภทสินค้า (สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาเครื่องหนังและรองเท้า และสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ) สาขาละ 4 รางวัล ได้แก่
· รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
· รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
· รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
· รางวัลชมเชย เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
3. รางวัลกิติมศักดิ์ (Honor Awards) มุ่งเน้นกลุ่มนักออกแบบเจ้าของสินค้าที่มีผลงานโดดเด่นมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่น หรือมีอิทธิผลต่อแนวโน้มแฟชั่น จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
· สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โล่ประกาศเกียรติคุณ
· สาขาเครื่องหนังและรองเท้า โล่ประกาศเกียรติคุณ
· สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ โล่ประกาศเกียรติคุณ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร : 02-202-4414 – 18
เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์- JC&CO PUBLIC RELATIONS
ณภัทร กาญจนะจัย 087-477-0707
อีเมล : napatk@jcpr.co.th