นิทรรศการแสดงผลงานภาพเขียนโซโลครั้งแรกของจิตรกรร่วมสมัยเลือดใหม่ไฟแรงอย่าง ‘ณเรศ จึง’ ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานมืออาชีพแห่งนิตยสารศิลปะชั้นนำของเมืองไทยอย่าง “ไฟน์ อาร์ต” (Fine Art) ซึ่งการที่เขามีโอกาสได้มาทำงานคลุกคลีอยู่ในวงการศิลปะนั้นก็ยิ่งเปรียบเสมือนการจุดประกายไฟในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างต่อเนื่อง
‘ณเรศ จึง’ ทุ่มเทระยะเวลาหนึ่งปีเศษ ในการสร้างเนรมิตผลงานภาพเขียนที่เปี่ยมไปด้วยพลังจำนวนกว่า 20 รูป ซึ่งเขาได้คิดค้นเทคนิควิธีการเฉพาะตัวในการสร้างมิติแห่งผิวสัมผัสที่หลากหลายให้กับผลงาน ด้วยการใช้สีต่างขั้วชนิด คือ สีน้ำมันและสีอะคริลิคบนเฟรมเดียวกัน ก่อนจะทำการเคลือบพื้นผิวให้งดงามตามแบบฉบับและเพื่อเพิ่มความคงทนในการถนอมรักษาสีสันบนผลงานภาพเขียนที่เขารัก นอกจากนี้ผลงานภาพเขียนของเขายังโดดเด่นด้วยเทคนิคทีแปรงที่แม่นยำ ฉวัดเฉวียนแสดงให้เห็นถึงทักษะทางศิลปะอันเหนือชั้นของเขา ซึ่งสอดประสานกลมกลืนกับพลังแห่งสีสันที่จัดจ้านดุดัน หรือในผลงานบางภาพก็จะแสดงให้เห็นทีแปรงที่เนี๊ยบกริบในสีสันที่นุ่มละมุนตามากขึ้นตามโหมดอารมณ์ที่แตกต่างของเขาในแต่ละวัน
แรงดลบันดาลใจหลักในการสร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนครั้งนี้ของ‘ณเรศ จึง’ มีที่มาจาก “สามสิ่ง”สำคัญได้แก่ 1.หนังสือภาพประติมากรรมปูนปั้นเล่มโปรด ซึ่งเขาได้หยิบยืมเค้าโครงของประติมากรรมสมัยคลาสสิค ต้นแบบที่ชื่นชอบมาปรับประยุกต์และสร้างสรรค์มันขึ้นมาใหม่ในรูปแบบเฉพาะของตนเอง ก่อนที่จะนำไปถ่ายทอดลงบนผลงานจิตรกรรม 2. “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า” วรรณกรรมอมตะเรื่องยาวเกี่ยวกับขุนนางต่ำศักดิ์นักฝันแห่งลามันซ่า ประเทศสเปน ที่แม้เขาจะยังอ่านมันไม่จบ แต่เขาก็เกิดความประทับใจในตัวละครเอกของเรื่องอย่างมาก แม้ผู้อ่านหลายๆ คนอาจคิดว่าก็อัศวินชราผู้นี้สติฟั่นเฟือน แต่ทว่าในมุมมองของ ‘ณเรศ’ อัศวินผู้นี้กลับเป็นสุภาพบุรุษอัศวินที่แสดงท่าทางห้าวหาญ สง่างามอย่างชายชาตินักรบออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ เขาจึงต้องการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวลงสู่ผลงานจิตรกรรมของเขา ภายใต้แรงปรารถนาที่จะเป็นอัศวินผู้กล้าเฉกเช่น ดอนกิโฆเต้ 3.การถูกพร่ำสอนให้เชื่อว่ารูปทรงสามเหลี่ยม คือ การจัดองค์ประกอบที่สวยงามที่สุด ดังปรากฏในขนบการสร้างพีระมิด ของอียิปต์ หรือการสร้างพระพุทธรูปในศาสนาพุทธ ฯลฯ ประกอบกับการที่เขาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งและพบเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งมีข้อความกล่าวว่า “จงสังเกตให้ดีในการแข่งขันกีฬาคนที่ได้ที่สาม ณ ตอนนี้ อนาคตจะได้ที่ 1…”
นอกเหนือไปจากนั้น “สามสิ่ง”นิทรรศการแสดงผลงานผานเขียนโซโลครั้งแรกของเขายังถูกกำหนดให้มีฤกษ์เปิดแสดงต่อสาธารณชน พร้อมกับนิทรรศการศิลปะของศิลปินมากฝีมืออีก 2 ท่าน รวมเป็นการเปิดนิทรรศการศิลปะสุดยิ่งใหญ่ถึง 3 งานในวันและสถานที่เดียวกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ “สามสิ่ง”
วันเปิดนิทรรศการเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ.2557 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ หอศิลปแห่งชาติ เจ้าฟ้า
นิทรรศการ : “สามสิ่ง”
ศิลปิน : ณเรศ จึง
วันที่ : 4 – 28 กันยายน พ.ศ. 2557
สถานที่ : หอศิลปแห่งชาติ เจ้าฟ้า
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : 02-281-2224