แบบเรียนไทย เครื่องมือในการสร้างอุดมคติระดับชาติ? ถ้าลองสังเกตในช่วงเวลาปีกว่าที่ผ่านมา น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของงานหนังสือทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมหนังสือหรือสัปดาห์หนังสือนั่นคือ “นิทรรศการ”นิทรรศการ 2 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ความใฝ่ฝันแสนงาม 40 ปี 14 ตุลา หรือโลกคือนิยาย สร้างกระแสฮือฮาได้ทุกครั้งทั้งในรูปแบบและเนื้อหาการนำเสนอที่แตกต่างจากนิทรรศการอื่นๆ เป็นนิทรรศการที่ตั้งคำถามและสะท้อนสิ่งที่เป็นในประเด็นต่างๆของสังคมอยู่เสมอ และครั้งนี้ในมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19 สปอตไลท์ก็ส่องไปที่ “นิทรรศการระลึกชาติในแบบเรียน” ซึ่งสร้างความฮือฮาให้ผู้ชมได้อย่างมาก
แบบเรียนแล้วอย่างไร แบบเรียนสำคัญอะไร แล้วทำไมต้องมาระลึกชาติ เชื่อแน่ว่าต้องมีคำถามนี้เกิดขึ้นในใจใครหลายคน เมื่อได้ยินถึงนิทรรศการนี้ นิทรรศการ “ระลึกชาติในแบบเรียน” ได้เล่าถึงวิวัฒนาการของแบบเรียนไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก การสอดแทรกแนวคิดทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยเข้าไปในแบบเรียนไทยตั้งแต่พ.ศ. 2411 ถึงปัจจุบัน
ซึ่งรูปแบบนั้นออกแบบอย่างโดดเด่นแตกต่างจากที่เคยทำมา ผ่านตัวอย่างหนังสือในแต่ละยุค โดยแยกเป็น 6 ยุค และในแต่ละยุคกล่าวถึงหนังสือเล่มเด่นที่เป็นตัวแทนแนวคิดของยุคนั้นๆ เช่น แบบเรียนยุคแรก- ตาหวังหลังโก่ง แบบเรียนยุคชาติผู้ดี – พ่อหลีพี่หนูหล่อ แบบเรียนยุคประชาธิปไตย -ป้ากะปู่ กู้อีจู้ฯ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงปัญหาและร่องรอยของพัฒนาการแบบเรียนไทย เมื่อลองร้อยเรียงเนื้อหา ก็จะเห็นถึงวิธีการนำเสนอหรือสิ่งที่รัฐต้องการปลูกฝังประชนผ่านแบบเรียน ซึ่งเมื่อลองตีความวิเคราะห์แล้ว ก็สามารถสะท้อนความเป็นไปในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
“แบบเรียนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมืองตามอุดมคติของสังคมในแต่ละยุคด้วย”จรัญ หอมเทียนทอง ในฐานะต้นคิดนิทรรศการนี้อธิบายด้วยรอยยิ้ม
“เราต้องการเน้นย้ำให้เห็นถึงการสร้างแบบเรียนในอดีตที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จและล้มเหลวอย่างไร รวมถึงผลของการสร้างแบบเรียนเพื่อตอบโจทย์ฝ่ายการเมืองในอดีตที่ผ่านมา สามารถสร้างผลกระทบในระยะยาวของประเทศได้อย่างไร”
ในมุมของผู้ชม นักเขียนซีไรต์อย่างปราบดา หยุ่น ก็มองว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงวัยเยาว์ ต่อเรื่องราวในแบบเรียนต่างๆนั้น เขาพบว่ามีลักษณะของการที่รัฐพยายามจำลองประเทศให้เป็นชุมชนเล็กๆ โดยแต่ละตัวละครหรือครอบครัวในเรื่องก็จะแทนอุดมคติที่ชาติต้องการให้ประชาชนเชื่อไปในทางนั้น ถือเป็นส่วนที่ปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่างให้สังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะคิดเหมือนกัน เพราะในชีวิตแต่ละคนก็มีสื่ออื่นที่สร้างการรับรู้นอกเหนือจากแบบเรียนด้วย
“ในแต่ละยุคสมัยก็มีความแตกต่างกัน อย่างผมเรียนมานีมานะ ก็จะต่างจากยุคก่อนหน้า เป็นการเขียนเรื่องเล่าโดยมีพล็อต ในขณะที่ก่อนหน้า ถึงผมอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าพยายามจะพูดอะไร แต่คิดว่ามีวิธีคิดบางอย่างอยู่เบื้องหลังที่น่าสนใจ”
ในมุมของนักเขียนชื่อดังแห่งยุค สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ “นิ้วกลม” ก็เล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนนั้น เขาไม่เคยคิดตั้งคำถามกับแบบเรียนเลย คิดว่าแบบเรียนเป็นคัมภีร์อะไรสักอย่างที่เราจำเป็นต้องรู้เนื้อหาในนั้น เพราะเนื้อหาในนั้นคือความจริง เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือที่สุด สร้างความเชื่อและความจำมากกกว่าการทำความเข้าใจ
“จะว่าไปแบบเรียนที่ไม่สะกิดให้นักเรียนได้คิดเองหรือได้ตั้งคำถามนั้นอาจเป็นรากฐานในการสร้างสังคมที่ตกใจกับความหลากหลายทางความคิด และทนไม่ค่อยได้กับความขัดแย้ง เพราะรักในสภาพที่ทุกคนคิดเหมือนกันและอยู่ในระเบียบแบบแผนแบบเดียวกันมากกว่า”
เขามองว่าแบบเรียนในแต่ละยุคสมัยย่อมสะท้อนว่าสังคมในยุคนั้นเป็นแบบไหน แบบเรียนที่พยายามเน้นความภูมิใจในชาติอาจเกิดขึ้นในยุคสมัยที่สถานการณ์ทั้งภายในภายนอกรุมเร้า จนต้องปลูกฝังค่านิยมรักชาติขึ้นมา ในยุคสมัยที่ผู้นำต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ก็อาจปลูกฝังค่านิยมให้ท่องจำให้ความสำคัญกับการทำตามมากกว่าการคิดสร้างสรรค์
“เพราะแบบเรียนและสังคมนั้นส่งอิทธิพลต่อกันไปมาเสมอ แบบเรียนสร้างสังคมแบบหนึ่งขึ้นมา และสังคมก็สร้างแบบเรียนแบบหนึ่งขึ้นมา ในอนาคตถ้าเราโชคดี เราก็อาจมีแบบเรียนที่ยั่วกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามกับแบบเรียน สอนให้เห็นความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ขยายขอบเขตความดี ความงาม ความจริงให้กว้างขวาง กระทั่งสร้างแบบเรียนในบางวิชากันเอง หากเป็นแบบนั้นก็แปลว่าสังคมกำลังให้ความสำคัญกับความคิดเสรีของปัจเจกชนมากขึ้น”
เห็นด้วยหรือเห็นแย้งอย่างไร ยังเหลืออีก 1 วัน ให้มารำลึกและวิเคราะห์กันในนิทรรศการที่นำเสนอแบบ 3 มิติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ใครพลาดไป เสียดายแทนจริงๆ