Charan Homtientong

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย แต่สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว แล้วผมก็ไม่ได้เรียนหนังสือ”

จรัญ หอมเทียนทอง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเอ่ยกับเราด้วรอยยิ้ม เมื่อหวนคิดถึงวัยหนุ่มของเขาในยุคที่หนุ่มสาวกำลังตั้งคำถามและเสาะแสวงหาชีวิต

วัยเด็กของเขาแทบไม่ต่างจากนักคิดนักเขียนทั้งหลาย ที่สนใจใฝ่รู้ มีเพื่อนเป็นหนังสือ และเป็นสิ่งปลอบประโลม
ครอบครัวผมแม่เป็นแม่ค้า โอกาสที่จะอ่านหนังสือแทบไม่มี แต่ผมใช้วิธีไปเช่าหนังสืออ่าน ทุกครั้งที่เอาเงินที่แม่ให้มาไปเช่าหนังสืออ่านจะโดนแม่ด่า แม่จะตีเอา แล้วมักจะพูดประชดว่า “เวลาที่ไม่มีเงิน จะเอาหนังสือต้มน้ำให้กิน” สมัยก่อนจะเป็นอย่างนี้ พอเราเข้ามหาวิทยาลัยก็จะมีวงจรของพวกกลุ่มหนังสือ โดยเฉพาะปี 16-17 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งมันเป็นการเปิดโลกของตัวผม บ้านเมืองตอนนั้นบรรยากาศมันมีเสรีภาพมากขึ้น มีหนังสือหลากหลายมาให้เราอ่าน นั่นคือจุดเริ่มต้นของผมที่ทำให้อยู่ในวงการหนังสือ

เมื่อผมต้องการอ่านหนังสือมาก แต่ไม่มีเงิน เลยไปเป็นเด็กจัดสต็อคหนังสือที่สำนักพิมพ์ปุถุชน ตอนนั้นมี วินัย อุกฤษณ์ เป็นบรรณาธิการ คมทวน คันธนู วิสา คัญทัพ พวกนักกิจกรรม นักเขียนวรรณกรรมสมัยก่อนจะอยู่กันที่นี่ ผมก็ไปเป็นเด็กสต็อค จัดหนังสือ ห่อหนังสือ ขนหนังสือ เพราะว่าเราอยากอ่านหนังสือ อยู่ที่นี่ได้อ่านหนังสือฟรี ไม่เสียสตางค์ เพราะฉะนั้นการเติบโตทางความความคิดทำให้เราพัฒนามาเรื่อยๆ และผมก็ทำหนังสือมาโดยตลอดนับตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ทุกหนทางไม่มีความราบเรียบ และมักพบเจออุปสรรคเสมอ เพราะโลกอาจต้องการทดสอบความแกร่ง ความอึดในชีวิตของมนุษย์ทุกคน
การทำหนังสือเป็นอาชีพที่ไม่แน่ไม่นอน ผมมีครอบครัวจะทำมากก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลังปี 2520 ผมก็ไปทำอาชีพเป็นชิปปิ้ง เป็นพนักงานท่าเรือบ้าง เป็นชิปปิ้งด่านศุลกากรดอนเมือง เพราะมันเป็นอาชีพเดียวที่ทำให้เรามีเงิน พอได้มาจำนวนหนึ่ง เราก็เอามาทำหนังสือ พอหมดเงินเราก็หยุด พอมีเงินก็กลับมาทำใหม่ ผมไม่เคยหยุด แต่การทำหนังสือตอนนั้นมันไม่มีระบบ ผมเห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปมันคงไม่เติบโตแน่ กระทั่งปี 2530 ผมจึงสร้างออฟฟิศให้เป็นเรื่องเป็นราว จ้างคนมาทำงาน แต่เมื่อก่อนจะเป็นแบบคิดว่าอยากทำก็ทำ เงินมันเลยจมหายไปเรื่อย ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มทำบริษัทหนังสือ

สำนักพิมพ์แสงดาว
จริงๆแล้วสำนักพิมพ์แสงดาวมันเกิดมาในปี 30 ที่ชื่อแสงดาวเพราะว่าเมื่อสมัยก่อนตอนที่เราเป็นเด็ก มันมีชมรมหนังสือชื่อแสงจันทร์ ของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำหนังสือวิชาการ หนังสือกวีของคาลิล ยิบราน และตอนนั้นก็มีสำนักพิมพ์ชื่อแสงตะวันของ นิสิต จิรโสภณ ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษาในระหว่างปี 17-18 เราก็เอาชื่อเค้ามาล้อเป็นแสงดาวซะ ก็มี แสงจันทร์ แสงตะวัน แสงดาว ตอนนั้นทำเป็นกลุ่มของเรามีเพื่อนที่มหาวิทยาลัยทำกัน แล้วผมก็ใช้ชื่อนี้มาตลอด นี่คือที่มาที่ไปของสำนักพิมพ์ และมันก็เป็นความผูกพันทางใจเรา แต่อาชีพจริงๆที่มันช่วยหล่อเลี้ยงให้เราอยู่ได้ ต้องขอบคุณอาชีพชิปปิ้ง ถ้าในแง่ชีวิตทางความคิดผมเป็นหนี้หนังสือ แต่ในแง่ชีวิต เศรษฐกิจผมเป็นหนี้กรมศุลการกร เพราะอาชีพชิปปิ้งมันให้ชีวิตเรา ให้เราอยู่ได้ ปัจจุบันนี้ผมก็ยังทำสองอาชีพนี้มาโดยตลอด อาชีพชิปปิ้งกับอาชีพหนังสือ สองอาชีพนี้ยิ่งทำนานคุณก็ยิ่งมีประสบการณ์มากขึ้น

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย แต่สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว แล้วผมก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ถามว่าเสียใจไหมที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เสียใจ เราอาจจะไม่ได้ปริญญาในตอนนั้น แต่เราได้ชีวิตเรา ความเป็นตัวเรา ปริญญาในชีวิตเรามันมีค่ามาก ปัจจุบันนี้ความคิดความอ่านในเรื่องบ้านเมือง ในเรื่องมนุษยธรรม เราได้มาจากช่วงปี 16-19 เพราะเป็นช่วงที่บ้านเรามีกระแสทางความคิดเข้ามาเยอะมาก มีหลายสำนัก

ทุกคนที่เคยผ่านปี 19 มา สิ่งหนึ่งที่จะอยู่ในตัวเขาตลอดไป คือความรักในความเป็นธรรม เลือดของความรักความเป็นธรรมยังอยู่ในตัวเรา ความมีมนุษยธรรมสูง ความรักในเพื่อนมนุษย์ เห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้ คุณจะไม่เห็นกลุ่มคนเดือนตุลาพวกนี้เป็นคนที่ดูถูกคนยากไร้ เพราะเค้าชอบเข้าชนบท ปัจจุบันนี้ผมก็เข้าชนบท ไปทำกิจกรรมกับ สสส. บ้าง แต่ชนบทในปัจจุบันมันไม่ได้เปลี่ยนไปเหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในแง่ทางกายภาพยังเหมือนเดิม แต่ในแง่คุณภาพชีวิตเค้าแย่กว่าเดิม เพราะของมันแพงขึ้น คนในชนบทไม่ประหยัดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว คนชนบทยังยากไร้อยู่ ความยากไร้ของเค้าสมัยก่อนอาจไม่เท่าทุกวันนี้ สมัยนี้ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้ แต่สมัยก่อนอยู่ได้ อาศัยเก็บผักผลไม้กิน ปัจจุบันความเอื้อเฟื้อหายไป เพราะนักการเมืองเป็นหลัก นักการเมืองให้เค้าแบมือขอ แต่ไม่เคยสอนให้เค้าตกปลา บางครั้งการเข้ามาของสื่อทีวี เค้าอยากจะมีชีวิตแบบคนเมือง แต่รายได้เค้าไม่มี ทุกบ้านอยากจะมีรถมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ กลับกันคนในเมืองอยากขี่จักรยาน เพราะคนในเมืองเริ่มที่จะโหยหาอดีต นี่คือการพัฒนาของประเทศที่มันไม่ได้ดีขึ้น

เราอาจจะมี GDP ประเทศดีขึ้น แต่ในภาพลึกของประเทศเราจะรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นมันไม่มีความสุข ความสุขของคนมันหายไป เราเน้นให้คนมีความสุขแบบดูหนังฟังเพลง ความสุขของคนที่จะสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือกลับไม่ยอมทำ ไปดูความสุขของคนในต่างประเทศคือการอ่านหนังสือนะ หนังสือคือการสร้างความสุขที่สุด แต่เราไม่ได้เน้น เราเน้นการฟังเพลงดูหนัง เราเน้นทัศนศิลป์ สิ่งที่ต้องใช้ตาดู หูฟัง เราไม่เคยเน้นทางด้านวรรณศิลป์ คือเพ่งพินิจพิจารณาความสุข วันนึงพอเราเจอคนพูดเรื่องพุทธ เรื่องปรัชญา เรื่องอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราทึ่ง จริงๆเค้าไม่ได้พูดอะไรลึกซึ้งนะ ความจริงเราไม่ศึกษาเอง เราไม่เคยสนใจใส่ใจ สังคมเราไม่ถูกสอนให้คิด สังคมเราเป็นสังคมแห่งการคุย รัฐบาลไหนก็แล้วแต่ไม่เคยสร้างอะไรที่จะสอนให้คนคิด สังคมบ้านเราไม่ได้สอนให้ถูกคิด สอนให้แบมือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลใดก็แล้วแต่ มีใครบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้เสรีภาพ แต่พอเค้าให้คุณมาคุณก็ไม่ใช้เหมือนกัน คุณเคยใช้กันไหม

บนเส้นทางหนังสือที่ยาวนาน คุณจรัญได้สั่งสมประสบการณ์ และข้ามผ่านข้อจำกัดหลายๆอย่างไปได้ รอยเท้าที่เขาได้เดินผ่านมาก็หวังเสมอว่าจะมีคนเดินตาม

คุณจรัญมีมุมมองต่อวงการหนังสือและวงการนักเขียนของไทยอย่างไร
ในมุมมองของผม การเติบโตของนิยายไทยในยี่สิบปีที่ผ่านมา นับแต่วันแรกที่สำนักพิมพ์แจ่มใสเริ่มเข้าสู่ตลาด แจ่มใสมีคุณูปการสูงส่งในแง่ที่ชักชวนให้เด็กอ่านหนังสือ ซึ่งถือเป็นข้อดีของแจ่มใสและเป็นคุณูปการที่เราต้องเคารพเค้า เราต้องให้เครดิตเค้าว่าแจ่มใสทำให้คนจำนวนนึงอ่านหนังสือมากขึ้น มันจึงเกิดนวนิยายวัยรุ่นเยอะมากใน 20 ปีที่ผ่านมา คุณจะเห็นนวนิยายในร้านหนังสือเยอะไปหมด อาจพูดได้ว่าประเทศไทยในยุคยี่สิบปีเรามีนิยายมากที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยตั้งมา ในความที่สุดของมันคุณไม่เจออมตะนะ คุณไม่เคยเจอนิยายอย่างคู่กรรม สี่แผ่นดิน แผ่นดินของเรา ปริศนา เพราะอะไร เพราะมันชี้ให้เห็นสังคมทุนนิยม ทุนคนปั่นออกมาให้มากที่สุด แต่ทุกคนไม่ได้คิดในเรื่องวรรณศิลป์ แล้วนักเขียนทุกวันนี้มีเยอะมาก แต่นักเขียนเชิงคุณภาพกลับน้อยมาก

ส่วนในมุมมองของนักเขียน นักเขียนส่วนใหญ่เค้าก็ยังอยู่ แต่ยังอยู่อย่างลำบาก บางคนต้องยอมเป็นพนักงานของสำนักพิมพ์ ยอมเป็นนักเขียนในสังกัด พอทุนนิยมเข้ามานักเขียนรุ่นใหม่ นักดนตรีรุ่นใหม่ ทุกคนต้องสังกัด คุณอิสระไม่ได้ นักดนตรีอิสระที่อยู่ได้เติบโตอยู่รอด ร่ำรวยเป็นล่ำเป็นสันมีวงเดียวคือ คาราบาว นอกนั้นอยู่ไม่ได้ ทุกคนถูกซื้อขายหมด เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นเพลงรุ่นใหม่เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเป็นของค่ายเพลง

แล้วถ้าถามถึงภารกิจเร่งด่วนของจรัญ หอมเทียนทอง ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
ในฐานะเป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ ภารกิจที่ผมอยากทำมากที่สุดตอนนี้ ผมพยายามเร่งรัดให้รัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วมาจนรัฐบาลนี้ คือเรียกร้องให้การอ่านเป็นเรื่องของกระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันนี้การอ่านของเราไปอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมันไม่ใช่ เราไม่ได้รังเกียจกระทรวงศึกษาธิการ แต่กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ทำการเรียนการสอน การอ่านควรจะเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม การอ่านไม่ใช่การเรียน ไม่ใช่การสอน การอ่านไม่ใช่แบบฝึกหัด การอ่านเป็นวัฒนธรรม คนในประเทศนี้ถ้าอ่านหนังสือมากขึ้นจะเกิดอะไร สังคมจะน่าอยู่ขึ้น ความขัดแย้งจะลดลง ผู้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในต่างประเทศที่เจริญแล้วอัตราการอ่านของเค้านี่สูงมาก แต่ของเรานี่ไม่อ่าน เราจึงพยายามจะรณรงค์ให้คนอ่าน

ในบ้านเราเศรษฐีมีเงินมักจะเอาหนังสือมาเป็นอาภรณ์ประดับตัวเอง คนนี้เขียนหนังสือได้ เขียนนิยายได้ ความจริงเค้าเขียนรึเปล่า คุณเอาหนังสือมาต่อยอดตัวเอง ไม่ได้ต่อยอดทางธุรกิจ เงินทองคุณมีเยอะแยะ แต่คุณใช้หนังสือในการต่อยอดเกียรติยศตัวคุณ แต่ถามว่าในชีวิตคุณเคยให้อะไรกับสังคมด้วยหนังสือไหม

ห้างดังอยู่ห้างนึงเขียนกล่องรับบริจาคหนังสือ แล้วคุณไปดูกล่องรับบริจาคหนังสือสิ ข้างในคือหนังสืออะไร รายงานประจำปี หนังสือที่ทิ้งแล้วเปียกๆแฉะๆ เมื่อคุณจะบริจาคหนังสือให้ชนบท ปีนึงคุณมีกำไรกี่หมื่นๆล้านกี่พันล้าน ควักเงินของคุณมาเลย ห้าร้อยล้าน สิบร้อยล้าน ซื้อหนังสือเพื่อการบริจาค นี่คุณรับบริจาคหนังสือเก่าๆมา แล้วห้องสมุดจะสวยไหม กาแฟชื่อดังยี่ห้อนึงในประเทศเราตั้งกล่องรับบริจาคหนังสือ คุณทำกาแฟขายกดขี่คนแอฟริกามาเท่าไหร่ ทำไมคุณไม่ซื้อหนังสือไปบริจาคเค้า มาตั้งกล่องรับบริจาคทำไม ตั้งกล่องรับบริจาคแล้วคุณบอกว่าคุณทำ CSR แต่กล่องรับบริจาคของคุณกลายเป็นที่ทิ้งหนังสือที่คนไม่อ่าน

เราจึงพยายามรณรงค์ให้คนอ่านหนังสือ ต้องการให้สังคมนี้บริจาคหรือซื้อหนังสือเพื่อการบริจาค อย่าไปตั้งกล่องรับบริจาคหนังสือ ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจเดียวที่คนเวลาจะทำห้องสมุดจะขอรับบริจาค คุณทำห้องสมุด มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีแอร์ คุณทำห้องสมุดหัวใจของห้องสมุดคืออะไร มันคือหนังสือ แต่กลับขอรับบริจาคหนังสือเพื่อทำห้องสมุด

ส่วนราชการลงทุน3-4 ร้อยล้านสร้างตึกเสร็จเรียบร้อย แต่มีเงินซื้อหนังสืออยู่ 300,000 สิ่งที่ผมหวังที่สุดคืออยากจะให้ทุกภาคส่วนมันเปลี่ยน เปลี่ยนให้มีการอ่านมากขึ้น ให้การอ่านอยู่ในชีวิตคน ให้หนังสือเป็นของขวัญ ให้หนังสือเป็นสินค้าเดียวที่เอาไว้แจกตามเทศกาล แต่ตอนนี้เวลาเค้าแจกหนังสือแจกอยู่งานเดียว คือหนังสืองานศพ มีไหมงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานปีใหม่ แจกหนังสือ ไม่มี หนังสือกลายเป็นสินค้าที่แจกเฉพาะงานศพ ทำไมชุดแฮปปี้มีลของแมคโดนัลด์ไม่เอาหนังสือแจก งานรับปริญญาไม่เอาหนังสือแจก ให้เอาหนังสือเป็นของขวัญ ปีใหม่คุณให้กระเช้าให้ผลไม้ มูลค่ากระเช้าสามสี่พันบาท เมื่อคนเปิดกระเช้ามากินแล้วก็หมดไป เงินสามพันบาทซื้อหนังสือ หรือคุณจะซื้อสมาชิกนิตยสารให้เค้าก็ได้หนึ่งปี อย่างน้อยๆของขวัญของคุณเค้าจะได้รับในหนึ่งปีเต็มๆ ถ้าคุณต้องการซื้อของให้ใครเป็นหลักหมื่น คุณก็ไปซื้อพระไตรปิฎก หนังสืออยู่ที่บ้านเค้า เค้าได้อ่าน แล้วเค้าจะเห็นหน้าคุณตลอดไปไง กระเช้าเดี๋ยวก็ทิ้งหมดแล้ว หลังปีใหม่มากระเช้าถูกทิ้งไว้เต็มหมดเลย สามสี่ร้อยคุณซื้อหนังสือได้สี่เล่ม แต่คนไทยไม่ทำ เราจึงรณรงค์ให้รัฐให้หนังสือเป็นของขวัญ

1. เรียกร้องให้หนังสือขึ้นอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม 2. เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งงบการอ่านเป็นรายได้ประจำปี ในชนบท คุณไม่สามารถทำการอ่านได้ เพราะคุณไม่มีงบ คุณต้องตั้งงบการอ่านเป็นงบประจำปี ในแต่ละจังหวัดมีงบอะไรบ้าง มีงบเงินเดือน งบกีฬา งบยาเสพติด งบวัฒนธรรม งบการท่องเที่ยว แล้วงบหนังสือล่ะ เป็นงบที่จังหวัดต้องทำ แต่จะทำอะไรบ้าง อาจจะจัดงานหนังสือ ซื้อหนังสือ จัดอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับหนังสือ คุณอาจเอางบจังหวัดคุณไปซื้อสมาชิกนิตยสารให้ห้องสมุดก็ได้ ในปีๆนึงรัฐบาลไม่เคยมีงบหนังสือ คุณมีงบซื้อห้องสมุดโรงเรียน อันนี้มันต้องซื้ออยู่แล้วไม่เกี่ยวกัน ห้องสมุดคือห้องสมุด การอ่านคือการอ่าน หนังสือออกใหม่ทุกวัน คุณซื้อปีละครั้ง สามเดือนครั้งยังถือว่าน้อยเลย 3. เรียกร้องให้ หนึ่งอาคารสูงหนึ่งห้องสมุด ทุกวันนี้เราก่อสร้างออฟฟิศ ก่อสร้างตึกอะไรก็แล้วแต่ ที่กรุงเทพฯหรือท้องถิ่น ถ้าคุณสร้างตึกออฟฟิศสำนักงาน เค้าจะกำหนดให้คุณว่าตึกคุณต้องมีห้องน้ำกว้างกี่เมตร มีโถส้วมกี่อัน ในเมื่อคุณกำหนดห้องน้ำให้เค้าได้ แล้วทำไมห้องคิดคุณไม่ทำ คุณสร้างตึกมีห้องน้ำเท่านี้ ห้องนี้เท่านี้ แล้วทำไมตึกที่คุณสร้างคุณไม่กำหนดให้มีห้องสมุดด้วย ซึ่งมันง่ายมากๆทั้งความยาวและความใหญ่ของห้องสมุดเป็นยังไง ห้องสมุดคิดเป็นห้องตามตารางเมตรของห้องสมุด ตึกคุณ 9 ชั้นก็ 9 ตารางเมตร ง่ายๆตึกคุณ 30 ชั้น ก็ 30 ตารางเมตร 6 ชั้น ก็ 6 ตารางเมตร แต่มันไม่มี ในต่างประเทศห้องสมุดเค้ามี แต่ตึกของเราไม่มี บอกว่าสร้างห้องสมุดแล้วไม่มีคนใช้ คุณสร้างห้องสมุดมามีคนใช้สองคนก็กำไรแล้ว แล้วห้องสมุดที่คุณมีต้องเป็นแบบโอเพ่นนะ ไม่ใช่แบบแดนสนธยาห้ามเข้า ห้ามยืมของ ในประเทศจีนห้องสมุดอยู่ริมถนนเลย ใช้หยอดเหรียญเอา ยืมได้เลย แต่ของเราไม่มีแบบนั้น ข้อที่ 4. รัฐบาลพยายามช่วยคนเยอะแยะ ให้คูปองนู่นนี่ แต่ผมอยากให้รัฐบาลให้คูปองปัญญา มูลค่า 200 บาท ชาวบ้านได้คูปอง 200 บาท รัฐบาลให้เอาไปซื้อหนังสืออะไรก็ได้ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือเรียน ให้บ้านนึงซื้อหนังสือ คนในชนบทบางคนไม่เคยท่องหนังสือได้นะ การพัฒนาประเทศไม่ใช่ว่าหายใจเข้าท่องเที่ยว หายใจออกท่องเที่ยว ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ กี่ปีๆก็เป็นอย่างนี้มีมันอยู่แล้ว ทะเลไม่ต้องโฆษณามากก็เป็นทะเล คนก็มาเยอะอยู่แล้ว รัฐบาลทำคูปองปัญญาให้ชาวบ้านแค่ 200 บาท ขอแค่นี้ ถ้าคนไทยอ่านหนังสือมาก ปัญหาความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น

เมื่อสิ่งเหล่านี้คือภารกิจเร่งด่วนที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยพยามยามที่จะผลักดันให้มันเกิดเป็นรูปธรรม เราได้แต่หวังว่ามันจะประสบความสำเร็จไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่คนกรุงเท่านั้นที่จะมีแหล่งปัญญาเพิ่มมากขึ้น หากแต่คนชนบทจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ถ้าถามในด้านชีวิตส่วนตัวคุณจรัญเป็นคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบไหน
ทันทีที่มีเวลาว่าง ผมจะออกกำลังกายทุกวัน ถ้ามีเวลาว่างน้อยก็ว่ายน้ำ ถ้ามีเวลาว่างเยอะก็ซ้อมกอลฟ์ ถ้าหยุดยาวก็จะปลีกวิเวกไปไกลๆเลย แต่ส่วนตัวประจำวันจะอ่านหนังสือกับดูหนัง หนังที่ไม่ชอบดูเลยคือหนังตลก และพวกหนังเกรดบีอย่างของ Steven Seagal จะไม่ดู หนังที่ชอบที่สุดคือของ Clinton Eastwood, Michael Bay, Zhang Yimou, Tsui Hark, John Woo ส่วนหนังผมชอบเรื่อง Luch box มาก แต่ถ้าถามยามว่ายามที่เราหงอยเหงา เศร้าใจ ทุกข์ใจท้อแท้ หมดกำลังใจ หนังที่ปลอบประโลมเราได้คือ The Godfather ภาค1 กับ ภาค2

ส่วนหนังสือผมอ่านเกือบทุกประเภท ส่วนมากจะอ่านนิยายไทยที่เป็นนิยายเก่า ของ กฤษณา อโศกสิน, ว.ณ ประมวญมารค, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ หนังสือพวกนี้เราจะกลับไปอ่านซ้ำใหม่ ตอนนี้เราอ่านของโบตั๋นอยู่ จดหมายจากเมืองไทย เคยอ่านตั้งแต่เด็กๆ ชอบความเป็นศิลปะของเค้า ถ้าคุณอ่านในวัยนี้กับตอนที่คุณอ่านในวัยเด็กจะไม่เหมือนกันนะ จะรู้สึกได้อีกแบบนึง นี่คือความเป็นสากลของศิลปะอย่างหนังสือ เพราะหนังสือมันอยู่ที่เดิม แต่ความคิดของเราจะเปลี่ยนไป

ผมชอบหนังกับเพลง แต่ไม่มีใครสามารถมารู้นิสัยผมจากเพลงได้ เพราะผมฟังเพลงทุกแนว สิ่งเหล่านี้คือความสุขของผม พอกลางคืนก็ดูหนัง อ่านหนังสือทุกวัน ปีนี้อ่านมาแล้ว 30 เล่ม อ่านทุกแนว ผมมองว่าความคิดของคนรุ่นใหม่มันน่าสนใจ เราศึกษา แต่เราไม่ต้องการตามหรือแซงหน้าเค้า

You may also like...