ตอนที่เลือกเรียนสาขาที่จบออกมาทำงานนักข่าว ผมยังนึกภาพตัวเองในอนาคตไม่ออก แม่ผมพูดติดตลกว่าต้องไปวิ่งทำข่าวตำรวจจับชาวบ้านพนันไก่ชนรึเปล่า ขณะที่เพื่อนผมบอกว่าคงนั่งหน้าตาเคร่งเครียดอยู่หน้าคอม มือนึงสูบบุหรี่ อีกมือจับแก้วกาแฟดำ ซึ่งภาพในปัจจุบันไม่ใช้ทั้งสองแบบ ส่วนตัวเคยแค่ถือสมุดจดวิ่งตามรัฐมนตรีตอนฝึกงาน ออกไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวตอนที่อยู่นสพ.เศรษฐกิจ แต่หลังจากนั้นก็มาเป็นนักข่าวออนไลน์เต็มตัว นั่งหน้าคอมอย่างที่เพื่อนบอก แต่ก็ไม่ได้เครียดขนาดดูดบุหรี่หรือซดกาแฟดำ
ภาพของนักข่าวทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากตั้งแต่มีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเข้ามา ในโลกยุคดิจิตอล คนอ่านข่าวตามทีวีบอกว่าตัวเองเป็นนักข่าว คนที่คอยก็อปปี้ข่าวคนอื่นตามเน็ตเรียกตัวเองว่านักข่าว คนที่สะพายกล้องตัวนึงแล้วไปกินหรือรับแจกของฟรีตามงานต่างๆอ้างตัวเองว่าเป็นนักข่าว ข่าวดังแต่ไร้สาระเกิดขึ้นจากกระแสในสังคมออนไลน์ทุกวัน สำนักข่าวแห่เล่นข่าวตามกันโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลถูกผิดหรือข้อเท็จจริง และสุดท้าย บ่อยครั้งเราก็ถูกหลอกกันเกือบทั้งประเทศ ในความคิดของผม นักข่าวตัวจริง มีคุณสมบัติง่ายๆแค่การ กล้าที่จะพูดความจริง
ในแต่ละปีทั่วโลกมีนักข่าวถูกฆ่าไม่ตํ่ากว่า 50 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความกล้าที่จะพูดความจริงของพวกเขา Kill the messenger คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่พูดถึงการเสียชีวิตของนักข่าว แกรี่ เว็บบ์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากการเปิดโปงข้อมูลลับของ CIA ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสหรัฐฯ รวมถึงการสนับสนุนทางอาวุธให้กับกลุ่มกบฏในนิการากัว (นี่มันยิ่งกว่าคอรัปชั่นซะอีก) คดีของเขาค่อนข้างเป็นปริศนา เจ้าหน้าที่พบร่างของเขาถูกยิงที่ศีรษะ 2 นัดในที่พัก โดยตำรวจสรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย
เนื้อหาในหนังเล่าถึง แกรี่ เว็บบ์ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์หัวเล็กๆอย่าง San Jose Mercury News ที่ได้รู้ข้อมูลลับของรัฐบาลจากคดีของพ่อค้ายาเสพติดรายหนึ่ง แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องอันตรายมากหากจะเผยแพร่ออกไป ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานของทางการพยายามทำทุกทางให้เขาหยุดทำข่าวนี้ ทว่าเขามีจรรยาบรรณมากพอที่จะไม่เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเองคนเดียว
บทหนังค่อนข้างเข้มข้น ตรึงเครียด บอกเล่าชีวิตคนข่าวตัวจริงได้ถึงแก่น สร้างบรรยากาศชวนสงสัย น่าหวาดระแวงได้ดี ฉากและเครื่องแต่งการของตัวละครย้อนยุคไปประมาณช่วงปี 90 บทสนทนาค่อนข้างเยอะ การดำเนินเรื่องไม่หวือหวา บางคนอาจตามเรื่องไม่ทัน ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบหนังสืบสวน ทีเด็ดของเรื่องคือการลากไส้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯมาสับจนเละ รวมถึงแฉเบื้องหลังดำมืดของชาติที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตย และสะท้อนสภาพสังคมทุนนิยมที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย คนขาวกับคนดำ
สิ่งที่ทำให้ผู้ชมอินคือมันสร้างจากเหตุการณ์จริง ข้อมูลที่ได้รับรู้นั้นขนาดเราไม่ใช่คนอเมริกันยังขนลุก กระนั้นหนังก็ไม่ได้เอาแต่เชิดชู แกรี่ เว็บบ์ ว่าเป็นฮีโร่ในวงการสื่อมวลชนแต่อย่างใด การต่อสู้แบบแทบจะเดียวดายของเขาน่าเห็นใจ แต่คนดูก็ยังได้รู้ข้อมูลในอีกด้านว่า เขาเคยทำสิ่งผิดพลาดในอดีต มีนิสัยมั่นใจในตัวเองมาก ดื้อรั้น มุทะลุ โมโหร้าย และควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หนังนำเสนอแบบกลางๆ ไม่ขาว ไม่ดำ ทุกสิ่งในเรื่องล้วนเป็นสีเทา ไม่ว่าจะเป็น ข่าว ความจริง หรือแม้แต่ตัว แกรี่ เว็บบ์ เอง
เจเรมี เรนเนอร์ แสดงดีมาก แทบจะเป็นวันแมนโชว์ของเขาเลย บุคลิกน่าเชื่อว่าเป็นนักข่าว ส่วนตัวละครอื่นๆยังไม่ค่อยมีใครโดดเด่น Kill the messenger เยี่ยมพอๆกับหนังนักข่าวแนวเดียวกันอย่าง State of Play หรือเก่าหน่อยก็ต้อง All the president’s men สิ่งที่น่าชื่นชมของค่ายหนังและผู้กำกับซึ่งสร้างภาพยนตร์ประเภทนี้ก็คือ ความกล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลอันอ่อนไหว เปราะบาง ต่อความมั่นคงของประเทศตัวเอง
คำตลกที่คนในวงการสื่อมวลชนชอบพูดหยอกล้อกันที่ผมได้ยินบ่อยๆมีสองประโยค ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดความจริงอาจตาย กับ ยิ่งจริง ยิ่งผิด (ยิ่งอันตราย) แน่นอนว่ามันจริงจนเราหัวเราะไม่ออกเลย
BUGABOO NEWS / บทวิจารณ์โดย นกไซเบอร์
สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์)
จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์