Orasom Suttisakorn

อาหารจานสวยรสอร่อยล้ำ ที่หากเราได้มีโอกาสชิมและหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที บางคนอาจนึกไม่ถึงว่ากระบวนการปรุงรสเหล่านั้นต้องผ่านกรรมวิธีที่พิถีพิถัน ใช้เวลาค้นหาวัตถุดิบ คิดค้นสูตรนานเพียงใด บางจานอาจใช้เวลาเป็นปี เฉกเช่นเดียวกับงานสารคดีเรื่องเยี่ยม กว่าจะตกผลึกออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม ต้องใช้เวลาผ่านร้อนหนาว เก็บเกี่ยวเรื่องราวจากชีวิตของผู้คน ค้นหาข้อมูลและสถานที่ ใช้เวลาหลายต่อหลายปี มาให้เราอ่านจบภายในไม่กี่วัน หรือนี่คงเป็นเสน่ห์และคุณค่าของงานสารคดี

วันนี้เรามีคำตอบจากนักเขียนสารคดีหญิงแถวหน้าของไทย นักเขียนรางวัลศิลปาธร (สาขาวรรณศิลป์ ปี 2552) และเจ้าของรางวัลสตรีดีเด่นในพุทธศาสนานานาชาติ ปี 2550 คุณอรสม สุทธิสาคร ที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตมุ่งมั่นกับงานสารคดีที่เธอรัก

สิ่งที่ทำให้คุณเป็นนักเขียนและยังคงเป็นอยู่
พ่อกับแม่ส่งพี่ไปอยู่ที่โรงเรียนกินนอน ตั้งแต่ 3 ขวบ 8 เดือน ปีนึงจะได้กลับบ้านครั้งหนึ่ง สำหรับเด็กยุคเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วหรือจะเป็นเด็กยุคนี้ก็ตาม พี่ว่ามันเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์ มันเหงา มันทุกข์ทรมานใจสำหรับเด็กวัยนั้น เรารู้สึกว่าต้องหาอะไรสักอย่างมาบำบัดความเหงา โชคดีที่หอพักโรงเรียนกินนอนมีหนังสือ เป็นโรงเรียนคริสต์ที่เมืองจันท์ พี่ก็เริ่มตะลุยอ่านหนังสือ มีอะไรก็อ่านหมด บางอย่างอาจจะรู้สึกว่าเกินกว่าวัยเด็ก มีหนังสือของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน มีนิทานพื้นบ้านของเด็กไทย มีหนังสือสารพัดชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่มีสาระ พอเราโตขึ้น จากตู้หนังสือในโรงเรียนกินนอน ก็เริ่มขยับไปสู่ห้องสมุดโรงเรียน โตกว่านั้นก็ขยับไปหาห้องสมุดประชาชนจังหวัดจันท์ หนังสือที่พี่อ่านส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่เป็นเรื่องจริงเสียเยอะ อย่างหนังสือประวัติศาสตร์ เป็นลักษณะงานสารคดี โดยเฉพาะเรื่องราวของประวัติบุคคลสำคัญของโลก พี่ก็จะอ่านด้วยความเพลิดเพลิน ที่โรงเรียนจะส่งเสริมการอ่านมาก ซิสเตอร์จะดูแลเราดี ตอนอายุ 9 ขวบ อยู่ประถม 3 ก็เขียนเรียงความเรื่อง อนาคตของข้าพเจ้า พี่เขียนว่าความฝันของพี่ในอนาคตคือ อยากเป็นนักประพันธ์ สมัยก่อนยังไม่ใช้นักเขียน เราอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องจริงเยอะ เราคิดว่าชีวิตมันอัศจรรย์ น่าสนใจ เราอยากเป็น แต่ไม่รู้หรอกว่าโลกของนักเขียนเป็นกันยังไง

พออายุ 15 เริ่มเข้าไปห้องสมุดประชาชนจังหวัด ไปสมัครเป็นสมาชิก จำได้ว่าเราให้บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดช่วยแนะนำว่ามีอะไรน่าอ่าน เขาก็แนะนำหนังสือละครแห่งชีวิตของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ บรรณารักษ์คือคุณกษม สาคริกานนท์ เป็นคนที่มีพื้นฐานทางการอ่าน พี่ก็เลยตามอ่านงานของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงหมดทั้ง 4 เล่ม เรารู้สึกว่านี่คือชีวิตของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เป็นกันอย่างนี้เอง เพราะในเรื่องตัวละครเอกคือ บ๊อบบี้ (วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา) เป็นลูกขุนน้ำขุนนางในเมืองไทยแล้วไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ลอนดอน ละแวก Fleet Street ซึ่งเป็นถนนของคนทำหนังสือ ประทับใจและรู้สึกว่านี่คืออาชีพ ที่เราฝันจะเป็น เราได้เห็น ได้สัมผัสผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงระดับสูงสุด

ชีวิตกับงานสารคดี
จากอายุ 9 ขวบ ที่เขียนเรียงความมาถึงตอนอายุ 15ที่ได้อ่านละครแห่งชีวิต พออายุ 18 เริ่มเข้าสู่วงการ หลังจบมัธยมปลายพี่ก็เริ่มจากการตรวจบรู๊ฟ เราใช้ชีวิตตามความฝันของเรา ใช้ชีวิตตามสิ่งที่เรารัก ความฝันของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราเจออุปสรรคในระยะแรกๆบ้าง เจอมาตลอด แต่พี่เป็นคนที่ท้าทายกับอุปสรรค ไม่ใช่คนจริตเรียบ เป็นคนโลดโผน เป็นคนชอบฝ่าฟัน ชอบต่อสู้ ยังมองเห็นเสน่ห์ของงานสารคดีอยู่ ผู้ที่มีพระคุณในเส้นทางงานเขียนของพี่คือ พ่อกับแม่ บ้านเราขายหนังสือ ช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด พี่จะเดินไปส่งหนังสือพิมพ์ให้สมาชิกที่ตลาดในตัวตำบล จะมีหนังสือมาทุกวัน มีความสุขมากที่นิตยสารเล่มนั้นมา เล่มนี้มา หนังสือพิมพ์มา เราก็จะได้อ่านทุกวัน โลกที่โรงเรียน โลกที่บ้านมันหลอมเรา ขณะที่พ่อแม่เป็นนักอ่าน ทั้งพ่อทั้งแม่ชอบบันทึก นอกจากการให้ชีวิตเรา พ่อแม่ยังให้ความฝัน และความรักในงานเขียน ถือเป็นการให้ชีวิตที่สองกับเรา พ่อบวชเรียนมานาน ชอบบันทึกเยอะมากตั้งแต่ก่อนเราเกิด แม่ก็จะบันทึกไว้วันที่แต่งงานกับพ่อ วันที่แม่คลอดเรา พี่เติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่ พี่ป้าน้าอาเป็นคนช่างเล่า เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของปู่ย่าตาทวด มันมีสีสัน ผู้ใหญ่จะบอกเล่าทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องความผิดพลาดของพวกเขา เราจึงเติบโตมาโดยมองเห็นว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องราวธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในชีวิต ผู้ใหญ่ให้อิสระเรา มันอาจจะโยงมาถึงที่เราเป็นนักเขียนสารคดี เป็นเพราะเรามีความสนใจในเรื่องจริง

ซิสเตอร์ที่พี่รักมาก เป็นซิสเตอร์ที่มีพระคุณกับเรา ซิสเตอร์มารีนา รัชดา จันทร สอนพี่ตอนชั้น มศ. 2 ซิสเตอร์จะให้เขียนเรียงความอาทิตย์ละเรื่อง ให้การบ้านวันศุกร์ นักเรียนทุกคนต้องส่งเช้าวันจันทร์ ส่งอย่างช้าวันพุธ มีผลมากนะ นักเรียนเขียนงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพ่อ แม่ ซิสเตอร์ ไม่เคยเห็นเป็นของประหลาดที่เราอยากเป็นนักเขียน ทุกคนสนับสนุนเรา อีกคนที่มีพระคุณกับพี่คือ เรืองเดช จันทรคีรี อดีตบรรณาธิการถนนหนังสือ เป็นคนที่จุดประกายให้เรามาเขียนงานสารคดี

ทุกวันนี้เราก็มองเห็นเสน่ห์ของงานเขียนสารคดีอยู่ ยังสนุกในการทำงานอยู่ ยังมีพลังในการทำงานเหลือเฟือ ยังกระปรี้กระเปร่า ตื่นเต้น มีความสุขทุกครั้งที่ออกไปเก็บข้อมูล ออกไปพบเจอผู้คน งานสารคดีเป็นพื้นที่ที่น้อยนิดในแวดวงวรรณกรรม มีคนเขียนน้อย คนอ่านอาจจะเยอะขึ้นถ้าเทียบกับเมื่อก่อน แต่ยังถือว่าน้อยถ้าเทียบกับงานเขียนประเภทอื่น เช่น เรื่องสั้นหรือนวนิยาย พี่เขียนงานมาแล้ว 40 กว่าเล่ม ในช่วงเวลาร่วม 30 ปี งานสารคดีมีคุณูปการกับชีวิตพี่มาก นอกจากหล่อเลี้ยงชีวิตให้เราอยู่ได้ ยังทำให้เราได้เรียนรู้ผู้คน ทำให้เรามีความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตมากขึ้น ทั้งชีวิตของผู้อื่นแล้วย้อนกลับมาสู่ชีวิตของตนเอง ทำให้เราได้ขัดเกลาตัวเอง ทำให้เรามีความรักความเมตตาในเพื่อนมนุษย์มากขึ้น โดยไม่มีข้อแม้ เราได้ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรารักด้วยการทำงานสารคดีมาอย่างมั่นคงและยาวนาน เส้นทางการเป็นนักเขียนสารคดีในสังคมไทย ในแวดวงวรรรกรรมเมืองไทยมันไม่ง่าย เพราะงานสารคดีเป็นงานที่ต้องใช้พลังเยอะ ใช้เวลา ใช้ปัจจัยเยอะในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล

เป็นเพราะเราทำงานมาหลายปี เราคิดว่าน่าจะมีหน่วยงานไหนที่มาสนับสนุนเราในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เวลาเขียนงานเราใช้เวลาเยอะ หนังสือเล่มนึงบางทีเราใช้เวลาลงพื้นที่ 7-8 เดือน เดินทางตลอด คุยกับคนร่วมร้อยชีวิตเพื่อที่จะมาเป็นหนังสือเล่มนึง ซึ่งอาจจะใช้เวลาอ่านแค่ครึ่งวันถึงหนึ่งวัน เราก็ฝันว่าอยากทำงานแล้วอยู่ได้ จะได้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป แล้วความฝันของเราก็เป็นจริง เมื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ติดต่อมา สนับสนุนเราให้ทุนในการทำงานมา 9 ปี ซึ่งเป็นก้าวบุกเบิกอย่างนึง ดีใจที่มีคนเห็นค่าของงานสารคดี การที่ให้ทุนตรงนี้เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาให้กับอรสม แต่เพราะเขาเห็นคุณค่าของงานสารคดีโดยรวม เราขอบคุณมากๆสิ่งที่เราฝันเป็นความจริง แต่ต้องมาจากการที่เราทำงานแบบทุ่มเทมาก่อนด้วยเมื่อเราอยู่ได้แล้ว เราต้องถางทางให้คนรุ่นหลัง เราต้องมีส่วนสนับสนุนและสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้ก้าวเดินมาบนถนนสายนี้อย่างสะดวกมากขึ้น เรามีส่วนจุดประกายในการทำค่ายนักเขียนสารคดี เป็นค่ายต่อเนื่องโดยการรับเด็กระดับมหาวิทยาลัยมาเข้าอบรม พี่ถือว่าเป็นค่ายอบรมนักเขียนสำหรับเด็กรุ่นใหม่เป็นค่ายต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุด เป็นค่ายที่ดีที่สุด ดีที่สุดไม่ใช่เพราะตัวพี่ เป็นเพราะทางนิตยสารและสำนักพิมพ์สารคดีทำไปแล้วได้ผลดี

จุดแรกคือคุณหมอบัณฑิต ศรไพศาล ที่ขณะนั้นเป็นผู้จัดการงานวิจัยของ สวรส. เป็นผู้สนับสนุนทุน แล้วหมอเองก็เป็นผู้ที่มีความคิดแบบเดียวกับเราที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้ามาเดินบนถนนสายนี้ อีกคนนึงพี่ข้าว กาญจนา พุ่มพวย ซึ่งยืนหยัดแล้วมีความฝันด้วยกัน พี่ข้าวก็ช่วยหาทุนสนับสนุน เราฝันว่าอยากจะเห็นนักเขียนสารคดีรุ่นใหม่ๆ ก้าวเข้ามาบนถนนสายนี้ เพราะเราเองก็แก่ตัวลงไปทุกวัน ผ่านความท้าทายในการทำงานมาแล้ว จะไม่ค่อยมีอะไรใหม่ สิ่งใหม่ๆต้องสร้างจากเด็กรุ่นใหม่ เป็นความฝันของเราที่เราได้ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรารัก

สมัยก่อนสารคดีมันเหมือนเป็นลูกเมียเก็บ แต่ปัจจุบันมันต้องไม่ใช่เช่นนั้น เราต้องต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของงานสารคดี เพื่อที่คนจะได้อ่านงานสารคดีมากขึ้น ให้คนได้เห็นประโยชน์ของงานนี้มากขึ้น สารคดีมีประโยชน์ เป็นงานวรรณศิลป์ เป็นงานวรรณกรรมที่ดี พี่เชื่อว่าหลายๆคนก็มีส่วนสร้าง ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นพี่ธีรภาพ โลหิตกุล พี่เอียด นิพัทธ์พร เพ็ญแก้ว และอีกหลายๆคน พวกเราทำงานกันอย่างทุ่มเท ไม่เคยรามือในการทำงาน ยังทำงานอย่างสม่ำเสมอแล้วก็มุ่งมั่นกับสิ่งที่เรารัก

จุดเริ่มต้นกับงานในเรือนจำ
เราทำงานในแวดวงสารคดีมานาน แล้วงานในส่วนของพี่ พี่จะถนัดสารคดีแนวชีวิต พี่สนใจเรื่องของคนมากเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะชีวิตที่อยู่ในมุมมืด พี่สนใจในชีวิตคน เพราะชีวิตคนมันมีเสน่ห์ น่าเรียนรู้ แล้วการเรียนรู้ชีวิตคนมันให้บทเรียนที่วิเศษ คนแต่ละคนเป็นครูให้กับคนอ่านได้ มันทำให้เราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท พี่ชอบศึกษาเรียนรู้คน ชอบงานที่มันท่องไปในใจคน ทุกครั้งที่คนเขียนสารคดีเดินทาง มันไม่ใช่แค่การเดินทางภายนอก นั่งรถ นั่งเรือไปอย่างเดียว แต่มันเป็นการเดินทางที่ท่องไปในใจคนด้วย งานสารคดีเป็นอย่างนั้น เราทำงานที่มันเป็นสารคดีชีวิตในมุมมืดเยอะ เราฟังเรื่องราวความทุกข์ของคนเยอะมาก

พี่เป็นคนที่ประหลาดคนอยู่ มีความห่าม มีความกล้า บ้าบิ่น ปกติโดยทั่วไปไม่ค่อยมีใครอยากฟังความทุกข์ของคนอื่น แต่พี่นี่ชอบมาก ชอบเรียนรู้ความทุกข์ ถ้าให้นิยามว่าพี่เป็นนักอะไร พี่เป็นนักเรียนรู้ความทุกข์ เพราะว่าตอนเด็กๆเราทุกข์มาก บางทีเราอยากรู้ว่าคนที่มีความทุกข์เขาอยู่กับมันได้ยังไง บางคนอาจจะเหนือชั้นกว่านั้น สามารถฝ่าข้ามมันไปได้ยังไง นี่แหละเป็นโจทย์ที่พี่อยากรู้มากที่สุดในชีวิต เพราะเมื่อเราสามารถถ่ายทอดหรือคลี่คลายออกไปได้ มันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้อ่าน มันคือการเรียนรู้ เป็นครูให้กับคนอ่านในขณะที่เป็นครูให้กับพี่ด้วย ชีวิตพี่จึงมีครูมากมาย จากการที่เวลาพี่ไปนั่งคุย เก็บข้อมูลสารคดีชีวิตในมุมมืด พี่รู้สึกว่าได้พบทั้งเพื่อนและครู เพราะฉะนั้นพี่มีความสนุก ตื่นเต้น มีความกระตือรือร้น รื่นรมย์ใจ เมื่อได้ฟังหรือได้เรียนรู้จากคนเหล่านี้ มันไม่ใช่อยู่ในห้องเรียนที่เป็นห้องสี่เหลี่ยม แต่มันเป็นพื้นที่เรียนรู้ชีวิต ทุกๆความทุกข์ ทุกๆเรื่องราวของเขา ทุกๆอารมณ์ความรู้สึก เราฟัง เราสัมผัสด้วยใจ รับรู้ด้วยความใส่ใจ พี่ได้บทเรียนมากมาย ทำให้เราที่เป็นคนเขียนสารคดีคนนึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถที่จะคลี่คลายปมปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆหลายเรื่องในชีวิตเรา จากที่เคยเป็นเด็กที่อ่อนแอ มีความเปราะบางในใจ มีความทุกข์ ความเศร้า ความเหงา เราค่อยๆแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้พี่แข็งแรงและสามารถที่จะใช้ความแข็งแรง ความเข้าใจชีวิตที่มากขึ้น ทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ก้าวพ้นจากความทุกข์ของตัวเองได้ แล้วนำสิ่งที่ได้รับจากครูทั้งหลายมาดูแลผู้คนได้ ถึงตอนนี้พี่พร้อมแล้ว แข็งแรงพอที่จะดูแลผู้อื่นได้ เพราะเราสามารถที่จะดูแลจิตใจเราได้ อันนี้สำคัญ ถ้าเราไม่สามารถดูแลจิตใจเราได้ดีแล้วเราอยากจะไปทำงานจิตอาสาดูแลผู้คน มันทำได้ไม่ดีหรอกเพราะเรายังพร่องอยู่ แล้วเราจะเป๋ได้ง่ายๆ

ชีวิตพี่ไปตามความฝัน ทำในสิ่งที่เราฝันจะทำ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีชีวิตที่สมฝัน แต่ความโชคดีตรงนี้ไม่ได้ลอยมาเฉยๆ มันมาจากความที่เรารัก ทุ่มเท มีความสุขกับการเป็นนักเขียนสารคดี เรามองเห็นคุณค่าของมันด้วย เมื่อฝันอยากเป็นนักเขียนสารคดี พี่ก็ฝ่าฟันจนได้เป็น นักเขียนสารคดีสมัยก่อนค่าเรื่องยังน้อยมาก สมัยที่พี่เป็นนักเขียนสารคดีอิสระ พี่เคยไปเสนองานกับนิตยสาร 2 ฉบับ งานสารคดีมันมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย เวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูล พี่จำได้ว่ามีนิตยสารสองเล่มที่จ่ายค่าแรงต่ำมาก ต่ำจนเรารับรับไม่ได้ พี่จึงขอถอนต้นฉบับ แล้วพี่ก็เดินถือต้นฉบับออกมาจากนิตยสารแห่งนั้น พี่ไม่ได้ร้องไห้ให้เขาเห็น พอพ้นชายคาสำนักงานพี่น้ำตาไหล แล้วบอกตัวเองว่าพี่จะพิสูจน์ตัวเอง จะอยู่ให้ได้ด้วยอาชีพนักเขียนสารคดีนี่แหละ พี่ไม่ท้อ พอมาถึงวันที่เราอยู่ได้ เราไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังต้องเจอประสบการณ์แบบที่เราเจอ ด้วยการกดขี่ค่าแรง คุณจะมาจ่ายค่าต้นฉบับงานสารคดีเท่ากับค่าเรื่องแต่งไม่ได้ เพราะว่างานสารคดีต้องใช้ต้นทุนมากกว่าเรื่องแต่งเยอะ

ตอนนี้ รายได้พี่ปีนึงพี่เขียนงานประมาณ 2 เล่ม ก็อยู่ได้ด้วยดี ทั้งทางเศรษฐกิจและโดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ เรารอดแล้ว อยู่อย่างมีความสุข พึ่งพิงตนเองได้ทั้งทางใจและการเงิน ถึงเวลาที่เราจะต้องทำบางสิ่งบางอย่างให้คนที่อยู่ในโลกทุกข์ พี่ฝันว่าอยากสร้างเด็กใหม่ ฝันของพี่มาเรื่อย พี่เป็นคนวางแผนล่วงหน้า มีวินัยในการทำงาน พอค่ายสารคดีดำเนินมาเป็นปีที่ 10 แล้ว ใจพี่คิดว่าอยากเอาประสบการณ์ที่เรามีในชีวิตและประสบการณ์จากงานเขียนไปสอนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ

โดยเฉพาะผู้ต้องโทษประหาร ชีวิตของผู้ต้องโทษประหารที่วันนึงก็อยู่ในห้องแคบๆ แออัด เต็มไปด้วยควันบุหรี่ อยู่อย่างนั้นวันนึง 17-18 ชั่วโมง โอกาสที่จะออกมาพ้นห้องมันมีน้อย พี่ชอบคิดเสมอว่าถ้าพี่เป็นคนๆนั้นจะจะทุกข์แค่ไหน ไม่ว่าเขาจะผิด ถูก หรือเขาจะเป็นแพะ แต่คนเราต้องเปิดโอกาสให้กัน เพราะเราเองที่มีชีวิตรอดมาจนถึงทุกวันนี้เพราะมีคนให้โอกาสเรา เขาควรจะได้มีกิจกรรมที่ดีๆทำ โดยนำสิ่งที่ก้าวพลาดมาเป็นครูสอนคนอ่าน จะได้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท

พี่ฝันมาเป็นสิบปี จนวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา รู้สึกว่าโอกาสนี้แหละมาถึงแล้ว เราจึงกราบทูลท่านว่าเราฝันอยากจะสอนผู้ต้องขังในเรือนจำ พอดีพระองค์ภาท่านมีโครงการกำลังใจในพระดำริ แต่ทำในเรือนจำหญิง ท่านก็ประทานอนุญาตให้เราทำได้โดยการผ่านโครงการกำลังใจในพระดำริ

พี่เข้าไปเรือนจำกลางบางขวางครั้งแรกในฐานะครู ก่อนวันเกิดพี่ 3 วัน ถือเป็นของขวัญวันเกิดที่ปลื้มใจที่สุดในชีวิต โครงการกำลังใจเป็นผู้สนับสนุนทุน เครือข่ายพุทธิกาเป็นองค์กรประสานงาน ไม่ใช่พี่คนเดียวนะที่จะทำงานนี้สำเร็จได้ มีครูที่สอนประจำ เป็นหลักอยู่ 3 คน พี่เป็นครูใหญ่ของห้อง มีครูอีก 2 คนที่เป็นนักเขียนสารคดีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกัน ครูวี วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ครูแดง วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ที่บางขวางก็จบรุ่นสามไปแล้ว ตอนนี้กำลังสอนที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นรุ่นสอง เขาก็ให้เราไปสอนตามเรือนจำต่างๆหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ สงขลา เรือนจำพระนครศรีอยุธยา เรือนจำกลางอุดร เรือนจำ กาญจนบุรี เรือนจำกลางราชบุรี ฯลฯ

หนังสือของนักเรียนชื่อ “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร” กับ “คำสารภาพสุดท้ายก่อนเข้าห้องประหาร” สองเล่มนี้ได้รองชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอรด์สองปีซ้อน ในฐานะครูเราภูมิใจมากกว่าได้รางวัลเองเสียอีก รางวัลนี้เป็นการประกาศเกียรติของลูกศิษย์ทุกคน เป็นความภูมิใจของเขา รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย เขาสามารถที่จะถ่ายทอดบทเรียนให้กับผู้อ่านได้ สิ่งนี้มีมีความหมายมากสำหรับครูคนนึง

ถึงวันนี้เราทำกิจกรรมต่อเนื่องที่บางขวางมา 4 ปีกว่าแล้ว โครงการล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป คือโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ ได้รับทุนจากมูลนิธิชิน โสภณพานิช มีอาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร และช่างปั้นพระมือหนึ่งของประเทศเข้ามาสอนนักเรียนเรื่องการปั้นพระ โดยมีความเชื่อว่า งานพุทธศิลป์จะเป็นกระบวนการที่ช่วยขัดเกลาด้านในของนักเรียนได้ พระพุทธรูปจากฝีมือปั้นของนักเรียนบางขวางมีองค์หนึ่งที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง และนำไปถวายตามวัดต่างๆทางอีสาน ปัจจุบันพี่ได้ก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อนหลังกำแพงขึ้น เพื่อทำกิจกรรมในเรือนจำ มีการนิมนต์พระไปรับบิณฑบาตรเป็นประจำทุกเดือน ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีการสอนศิลปะให้กับผู้ต้องขังเจ็บป่วยที่นี่ ทุกอังคารเว้นอังคาร และเรากำลังจะเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมเพิ่มที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมาเดือนละ 2 ครั้ง ด้วยการเปิดสอนศิลปะใต้ร่มไม้ จัดฉายหนังและชวนเสวนาให้กับผู้ต้องขังโทษสูงกลุ่มหนึ่ง ผู้ต้องขังเจ็บป่วยและคนชราอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้เรายังทำกิจกรรมในทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ และแดนหญิงเรือนจำกลางราชบุรีทุกเดือน

การเป็นนักเขียนสารคดี ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เราหวังว่ากิจกรรมในเรือนจำที่เราทำขึ้นเป็นการเปิดพื้นที่ของโอกาสให้กับผู้ต้องขังกลุ่มเล็กๆบนรากฐานของความเชื่อที่ว่าถ้ามนุษย์ทุกคนมองเห็นคุณค่าในตนเอง เค้าจะมองเห็นคุณค่าในชีวิตผู้อื่นด้วย ถึงที่สุดสังคมก็จะปลอดภัยขึ้น นี่คือความฝันในวันนี้ของนักเขียนสารคดีคนหนึ่งที่มองโลกและชีวิตด้วยความหวังและศรัทธา

You may also like...