‘บางละเมิด’ เป็นละครเวทีฟอร์มเล็กๆ หากประเด็นไม่เล็กน้อย เนื่องจากพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยการจัดแสดงครั้งแรกในปี 2012 นั้น ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ ในแง่ของการนำเสนอประเด็นทางสังคมที่แสนจะใกล้ตัว มาท้าทายให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการขบคิดได้อย่างเปิดกว้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลายครบรส และโดดเด่นจนได้รับ ‘รางวัลบทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม’ จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย
‘บางละเมิด’ สร้างสรรค์และแสดงเดี่ยวโดย ‘อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์’ ศิลปินผู้มีผลงานโดดเด่นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นเจ้าของรางวัลการันตีอันได้แก่ รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2009, รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 18 ทั้งยังเคยได้รับคำชื่นชมจากหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ว่าเป็น “นักแสดงละครเวทีผู้เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์”
ทั้งนี้การรีสเตจบางละเมิดในพ.ศ. 2558 นี้ได้มีการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาและการแสดงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน
“บางละเมิด” เวอร์ชั่น 2015
วันที่ : 22 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2558
เวลา : 20.00 น.
สถานที่ : ทองหล่ออาร์ตสเปซ (Thong Art Space (Sukhumvit 55))
บัตรเข้าชม : 500 บาท
สำรองที่นั่งโทร : 095-542-4555, 095-924-4555
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.facebook.com/events/1015969641753708/
Interview with Ornanong ‘Golf’ Thaisriwong
Q : รบกวนคุณช่วยพูดถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงชุด ‘บางละเมิด’ ในวาระแรกเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วให้ฟังที
A: หากใครยังพอพอจำได้ในช่วงเวลานั้นได้เกิดกรณีของของชายชราคนหนึ่งซึ่งต้องคดีจากการถูกกล่าวหาว่าได้ส่ง SMS ต่อมาเขาถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกยี่สิบปีและเสียชีวิตในเรือนจำ เหตุการณ์นั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับฉันในการสร้างสรรค์ผลงานชุด ‘บางละเมิด’ ขึ้นมาเมื่อประมาณกว่า 2 ปีที่แล้ว เพราะสงสัยว่าหากสิทธิในการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในสังคมที่มีความเห็นต่าง โดยไม่ถูกละเมิดสิทธิจากรัฐ หรือละเมิดสิทธิของกันและกันได้อย่างไร
Q : ผลตอบรับที่ได้รับเมื่อจัดแสดงในวาระแรก รวมถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจใหม่ที่นำกลับมาแสดงอีกครั้งใน พ.ศ.นี้
A: เราได้เห็นว่าเมื่อประเด็นนี้ถูกพูดถึงโดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อ มันเกิดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ชม แม้จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ผู้ชมหลายคนก็อยากจะฟังและอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งนี่คือสัญญาณที่ดี ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของ freedom of expression
ส่วนที่รีสเตจเพราะแม้เวลาจะผ่านไปแต่ฉันก็ยังคิดว่าประเด็นที่เราพยายามนำเสนอคือเรื่องสิทธิเสรีภาพในแสดงความคิดเห็นก็ยังคงร่วมสมัย คุณเองก็คงจะเห็นได้ว่าการเซ็นเซอร์และละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ในประเทศไทย มันเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้ทั้งรู้แต่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
Q : การจัดแสดงบางละเมิดฉบับปี 2012 จะมีการปรับเปลี่ยนหรือแตกต่างไปจาก ฉบับปี 2015 ที่กำลังจะจัดแสดงนี้อย่างไรบ้าง
A: ด้านเนื้อหาและสิ่งที่ต้องการจะสื่อหรือชักชวนคนดูให้ช่วยคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็ยังคงเหมือนเดิมค่ะ แต่สิ่งที่ปรับน่าจะเป็นรายละเอียดของสถานการณ์ในโครงเรื่องเดิมเพื่อให้มีความสดใหม่และสื่อสารกับผู้ชมได้ง่ายขึ้น แต่เนื่องจากเราเปลี่ยนสถานที่การแสดง เป็นดาดฟ้าของตึก Thonglor Art Space ที่ยังสร้างไม่เสร็จ โครงสร้างมีความเป็นซากดิบๆ พังๆ ก็ดูจะเข้ากับเรื่องราวและสถานการณ์ที่การแสดงชุดนี้ต้องการจะพูดถึงได้เป็นอย่างดี