นิทรรศการ บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa) ปรากฏการณ์พลังจิตอาสา

หอศิลปฯ กรุงเทพ นำเสนอนิทรรศการภาพถ่ายและสื่อผสม ปรากฏการณ์พลังจิตอาสาในมหาอุทกภัยปี 2554 “บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa)” สะท้อนภาพการทำงาน ความร่วมมือและทุ่มเทของคนไทยและองค์กร ที่ช่วยเหลือสังคมยามเกิดพิบัติภัย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อาสาทำหน้าที่รวบรวมเรื่องราวอันเกิดจากพลังเล็กๆ ของบรรดาอาสาสมัครในสถานการณ์น้ำท่วมนี้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของบทบันทึกอันยิ่งใหญ่ของความร่วมมือที่เกิดขึ้น ผ่านการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและสื่อผสมในชื่อว่า “บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa)” ระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ชั้น 2-3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน มีพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2555 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งมีคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับและนำชมนิทรรศการ

นางลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงภาพของการทำงานด้านจิตอาสา พลังจิตอาสา ของประชาชนไทยในเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือและทุ่มเทของแต่ละบุคคลและองค์กรที่สามารถช่วยเหลือสังคมยามเกิดพิบัติภัย หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมาได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของทุกสิ่ง เมื่อน้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นในได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงเป็นมูลค่าถึง 1.44 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งเราได้เห็นภาพคนไทยที่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวกมาร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยไม่แบ่งแยก และทำให้กับผู้อื่นและสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง คนเหล่านี้เรียกว่า “จิตอาสา” ซึ่งหอศิลปฯ กรุงเทพ และศูนย์อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตั้งใจที่จะบันทึกเหตุการณ์จิตอาสาครั้งนี้ ผ่านการจัดนิทรรศการเพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้เห็นถึงภาพการทำงานของอาสาสมัคร รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม

นายปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์ของหอศิลปฯ กรุงเทพ กล่าวว่า คำว่า “จิตอาสา” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย จริงๆ แล้ว ในต่างจังหวัดเรามีคำว่า “ลงแขก” ซึ่งคนในละแวกหมู่บ้านมาลงแรงช่วยกัน “คนในหมู่บ้าน และเครือญาติที่รู้จักกันในต่างจังหวัดมาช่วยงานกันโดยที่เขารู้สึกว่าร่วมทำบุญ ทั้งเกี่ยวข้าว ขึ้นบ้านใหม่ บวชลูกชาย เพราะฉะนั้นจิตอาสากับการลงแขกในทัศนของผมถือว่าอันเดียวกัน เพียงแต่ว่าการลงแขกอาจเกี่ยวข้องกันด้วยเครือญาติคนรู้จัก แต่จิตอาสาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน เราไม่ได้เกี่ยวพันกันแบบนั้น แต่เราเกี่ยวพันกันโดยตัวเชื่อมที่เรียกว่า Social Network ที่ชัดเจนมากคือ เฟสบุ๊ค ที่ทำให้คนไม่รู้จักกันหันมารู้จักกัน คนที่ไม่เคยพูดคุยกันก็มาพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมากมาย ร่วมทั้งการรวมตัวของจิตอาสาด้วย”

ปรากฏการณ์พลังจิตอาสาในมหาอุทกภัยปี 2554 มีหลายระดับ ในระดับเริ่มต้นคือการใช้กำลังกายเข้าไปช่วย เช่น ก่อกองทราย แพ็คถุงยังชีพ ระดับที่สองคือการใช้กำลังเงินเข้าไปช่วย เช่น การบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมช่วยเหลือ และระดับที่ 3 เป็นการใช้กำลังความรู้ ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะด้าน เช่น กลุ่มรู้สู้ Flood ที่ทำสื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจข้อมูลอันแท้จริงของปรากฏการณ์น้ำท่วม และสามารถรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนต่างๆ ก็ได้สร้างนวัตกรรมและอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น การทำไม้วัดไฟเพื่อป้องกันการไฟฟ้าช็อต การทำเครื่องกรองน้ำสำหรับน้ำดื่ม การสร้างเรือจากกล่องนม ซึ่งเป็นไอเดียการนำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์และราคาถูก
รูปแบบนิทรรศการ“บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa)” นำเสนอผลงานที่มีความหลากหลาย เช่น ภาพถ่ายของบุคคล กลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่ทำงานจิตอาสา ศิลปะการจัดวางซึ่งเป็นวัตถุจริงที่ใช้ในระหว่างเกิดอุทกภัย สื่อวิดีทัศน์ เช่น สกู๊ปข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มิวสิควีดีโอจากศิลปินที่ให้กำลังใจ และสื่อแอนนิเมชั่น ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ ผลงานที่นำเสนอในนิทรรศการยังเป็นการเปิดให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสาในเหตุการณ์อุทกภัยไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของสังคมได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้ โดยได้เปิดให้ส่งภาพการทำงานอาสมัครของตัวเองเข้ามาร่วมแสดงในนิทรรศการด้วย

นิทรรศการนำเสนอในห้องต่างๆ ของพื้นที่ชั้น 2 โดยเรียงลำดับตามเหตุการณ์ตั้งแต่การรับมือก่อนน้ำท่วม เช่น การก่อกระสอบทราย จากนั้นเมื่อน้ำท่วมแล้วจึงมีการอพยพผู้คน การช่วยเหลือสัตว์ การให้อาหาร และถุงยังชีพ เมื่อผู้คนเริ่มตื่นตระหนกจึงมีการผลิตสื่อเพื่อสร้างความมั่นใจและเข้าใจ ถัดมาเป็นการเสนอภาพการอพยพประชาชนที่ประสบอุกภัยเข้าไปยังศูนย์พักพิง และเมื่อเกิดน้ำเสียก็มีการทำ EM Ball สุดท้ายคือการฟื้นฟูจิตใจและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

ภัณฑารักษ์ของงานกล่าวด้วยว่า “ไฮไลต์ของนิทรรศการคือการนำเสนอภาพของการรวมคนที่ไม่ได้นัดหมายกันมาทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องทำอะไรบางอย่าง หรือช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามศักยภาพและความถนัด ซึ่งคนที่ชมนิทรรศการจะได้เห็นพลังของจิตอาสาที่ไม่รู้จักกัน ได้เห็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ถ้าไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิด หรือความรู้บางอย่างที่เราไม่ทราบมาก่อน เช่น หนังสือจมน้ำมันกู้ได้ การไปอยู่ศูนย์พักพิงไม่ใช่การรอความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาคนให้สามารถบริหารจัดการให้อยู่ร่วมกันได้ เมื่อภัยพิบัติครั้งต่อไปเราจะตั้งรับได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตจริงมักจะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้วในทุกๆ เรื่อง”

The Story of Asa : What When Where Why
ขอเชิญร่วมส่งผลงานภาพถ่ายการทำงานอาสาสมัครของคุณและเพื่อนในระหว่างช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา พร้อมให้รายละเอียดว่า ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และที่สำคัญเหตุผลที่คุณทำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การทำความดี ภาพของคุณจะปรากฏที่บอร์ดนิทรรศการ “บันทึกอาสาฯ” ไม่ว่าคุณทำอะไร เล็ก ใหญ่ ไม่สำคัญ ขอแค่ลงมือทำ แล้วส่งมาให้กับเรา (คนละไม่เกิน 10 ภาพ ขนาดไฟล์ 1-2 M) ที่ เฟสบุ๊ค www.facebook.com/baccpage หรืออีเมล storyofasa@gmail.com ส่งภาพการเป็นอาสาสมัครของได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555

สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร. 02 214 6630 – 8 ต่อ 517, 520
เว็บไซต์ – www.bacc.or.th / เฟสบุ๊ค www.facebook.com/baccpage

You may also like...