การศึกษาเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยและเครื่องปั้นดินเผาศรีสัชนาลัยระหว่างสามทศวรรษที่ผ่านมามีความก้าวหน้าอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการอิสระและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีในต่างประเทศ
ทำให้ทราบถึงความเป็นจริง ไม่ว่าจะในด้านพัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้น
แรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่จุดประกายทำให้เกิดความคิดริเริ่มที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งอาจอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ตาม หรืออาจได้รับจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีพื้นที่อยู่ติดกันหรืออยู่ห่างไกลก็ตาม และอาจอยู่ในกรอบของต้นแบบหรือไม่ก็ได้
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ มักกล่าวกันว่า ช่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักได้รับแรงบันดาลใจจากการเลียนแบบเครื่องปั้นดินเผาต่างถิ่นหรือต่างประเทศเป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ตามแรงบันดาลสำหรับการสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาก็มิได้ถูกจำกัดแต่เพียงเรื่องการเลียนแบบเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งของแรงบันดาลใจอื่นๆ จากความรู้เดิมที่เข้าใจกันแต่เพียงว่า เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยเลียนแบบเครื่องปั้นดินเผาจีนและเครื่องปั้นดินเผาเวียดนาม เพื่อทดแทนการขาดแคลนหรือเล็งเห็นผลประโยชน์จากการค้าที่สามารถนำรายได้มาสู่อาณาจักร โดยนำการศึกษารูปบุคคลและรูปสัตว์มาอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องศาสนาและความเชื่อเกือบทั้งหมด เนื่องจากการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยในสมัยนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่แนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ในงานโบราณคดียังไม่เฟื่องฟู ขาดการศึกษาจากตัวอย่างจำนวนมาก ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานของเอกชนและในต่างประเทศร่วมด้วย รวมทั้งไม่มีการบูรณาการความรู้ในสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยในการศึกษา ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพของแรงบันดาลสำหรับการสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยที่ถูกต้องและชัดเจนได้
ขอเชิญท่านที่สนใจร่วมงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ “เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยและเครื่องปั้นดินเผาศรีสัชนาลัย แรงบันดาลใจและความจริง” จัดโดย ศูนย์อนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาโบราณ โรงเรียนถนอมบุตร พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในวันเสาร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.00 – 15.30 น. ณ The Grand Hall River City
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 081-137-9779