แม้เราจะมีนิทานหรือตำนานมากมาย ที่บอกเล่าถึงความมีชีวิตจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย เช่น ในทศชาติชาดก นิทานอีสป หรือในคัมภีร์ศาสนาโบราณ ทว่าการแสดงความเห็นใจและความกรุณาปราณีต่อสัตว์ ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นจิตสำนึกเด่นชัดในวัฒนธรรมสากลแบบเดียวกับปัจจุบัน กระทั่งในกรณีของจักวัตติสูตร ซึ่งมีคำสอนในเรื่องของ “การไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์” ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าน่าจะเกิดจากเหตุผลทางการเมืองการปกครองเพื่อควบคุมการล่าและบริโภคเนื้อสัตว์โดยอิสระมากกว่า
จะเป็นหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมบริสุทธิ์ที่พุทธศาสนาได้สมาทานมาจากหลักจารีตโบราณอีกชั้น ซึ่งก็ชัดเจนว่าคำสอนในเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์แบบพุทธ มิได้ส่งผลกระทบต่อความคิดในโลกตะวันตกหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาไปสู่หลักการในเรื่องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของสัตว์(Animal Right)
กล่าวได้ว่าการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ผ่านการทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการล่าเพื่อเกมกีฬานั้นเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำรงอยู่ของมนุษย์มาช้านาน หรือถึงแม้มนุษย์จะสามารถบริโภคอาหารได้หลาหลายหมู่ หากการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ ก็ถือเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งของชีวิต ถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณาแนวคิดแบบยิว-คริสต์ ในช่วงสองพันปีก่อน สัตว์ในความเข้าใจของคนทั่วไปถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าออกแบบมาให้เป็นอาหาร ผ่านการจัดการแปรสภาพ ปรุงรส หรือแม้กระทั่งการนำไปบริโภคในรูปแบบพิสดารแม้บางอย่างจะเป็นการทารุณสำหรับคนในปัจจุบัน หากก็ย่อมไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมสำหรับคนในสมัยโบราณ ซึ่งไม่ขัดกับหลักศีลธรรมนั้นอาจรวมไปถึงการนำสัตว์มาต่อสู่เพื่อความบันเทิงและการพนันขันต่อ เช่น การสู้วัวกระทิง การชนไก่ ชนวัว กัดสุนัข หรือปล่อยหมากัดหมีที่ไม่ได้เป็นกีฬาของคนเถื่อน หากแต่เป็นกีฬาของคนชั้นสูง ดังกรณีของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และราชินีอลิซาเบธที่ทรงชื่นชอบกีฬานองเลือดประเภทนี้ โดยดฉพาะพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงอุปถัมภ์กีฬาหมากัดหมี กระทั่งสร้างสนามไว้ที่พระราชวังไวท์ฮอลล์
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์เราจะปราศจากความกรุณาต่อสัตว์ หรือมิได้ผูกพันทางใจเลยทีเดียว เพราะในทางกลับกัน คำประพันธ์ของมหากวีโฮเมอร์ ผู้มีชีวิตอยู่ในยุคก่อนคริสตกาล ก็มีฉากตอนที่พรรณาถึง “สุนัขชราแห่งเกาะอาร์กอส” ที่แสดงความห่วงหาอาลัย รักใคร่เอ็นดูสัตว์ คล้ายคลึงกับคนในปัจจุบันไม่น้อย ผิดเพียงแค่การตระหนักถึงสิทธิสภาพของสัตว์เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นติดตามมาหลังจากการตระหนักถึงสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ ดังเช่นที่นักสังคมวิทยาบางคน ได้ชี้ให้เราเห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิสภาพของสัตว์กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่มีนักเขียนและกวีจำนวนมากพยายามนำเสนอภาพของสัตว์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดและจิตใจไม่ต่างไปจากคน (humanize animal) กระทั่งเริ่มมีการทวงสิทธิ์ให้กับสัตว์มากขึ้นๆไม่เว้นแม้แต่สัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภค ก็ยังถูกตั้งคำถามในเชิงศีลธรรม โดยเฉพาะงานเขียนในกลุ่มโรแมนติก (Romantic School)ที่นำเสนอมุมมองในทำนองเดียวกับนักกิจกรรมเรียกร้องเพื่อสิทธิในสัตว์ (Animal Rights Activist) เช่นในกรณีของซามูเอล เทย์เลอร์ โคลด์ริดจ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเขียนถึงความทุกข์ทรมานจาก “ริ้นไรที่บินส่งเสียงเหนือศรีษะ” ก็เริ่มจะรจนาบทกวี ถึงความทุกข์ระทมที่ลูกลาตัวหนึ่งถูกทรมาน หรือเพอร์ซี เซลลี (Percy Shelly) เองก็เคยเขียนบทกวี The Sensitive Plan (1820) ที่บรรยายถึงโลกอุดมคติของศัตรูพืช จำพวกหนอนและแมลงที่จะไม่ถูกทำลายและกำจัดทิ้ง หากจะถูกจับใส่ตระกร้าแล้วนำไปปล่อยกลางป่า
กระทั่งว่าชีวิตจริงของเพอร์ซี เชลลีนั้นก็มีนิสัยชอบซื้อปลาในตลาดไปปล่อยลงแม่น้ำเทมส์ เช่นเดียวกับ ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) ที่หญิงคนรักบอกเล่าว่า เขามักจะเดินออกไปนอกเส้นทางเสมอ เพราะเกรงว่าจะเหยียบมดสักตัวหนึ่งเข้าให้ จิตใจอันละเอียดอ่อนพิสดารนี้ออกจะขัดกับสำนึกหลายอย่างที่ดำรงอยู่ในศตวรรษที่ 18 เช่นหลักคิดของเรอเน่ เดอการ์ตส์ (Rene Descartes) จากศตวรรษที่ 16-17 ในเรื่องที่ว่าสัตว์เป็นเสมือนจักรกลที่มีชีวิต มันไม่รู้จักความเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ตัวบทวรรณกรรมจำนวนมากในยุคโรแมนติกนี้ได้นำพาไปสู่การตรากฎหมายและการยกเลิก กีฬาทรมานสัตว์ในอีกหลายๆประเภท ในเวลาต่อมา และค่อยๆวิวัฒนาการเป็นจิตสำนึกแบบเดียวกับคนในปัจจุบัน เป็นจิตสำนึกที่มองสัตว์ทั้งหลายมีคุณลักษณะเป็นปัจเจก เป็นสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่บนโลกใบนี้เช่นเดียวกันกับคน
Text : กิตติพล สรัคคานนท์