Prabda Yoon

prabda

“สังคมพยายามที่จะบอกว่า ผู้ใหญ่เป็นคนที่รู้ทุกอย่าง ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” ปราบดา หยุ่น

นับตั้งแต่ก้าวแรกสู่วงการวรรณกรรม จนได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2545 เมื่อเขามีอายุได้ 29 ปี จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ความน่าจะเป็น ชื่อเสียงและบทบาทของ ‘ปราบดา หยุ่น’ ก็ไม่เคยขาดหายไปจากแวดวงหนังสือ ทั้งในฐานะนักเขียนและนักออกแบบที่มีความสามารถโดดเด่น ผู้มีผลงานสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหลายสาขา รวมถึงบทบาทในฐานะกลุ่มผู้นำทางความคิดที่จะปลดปล่อยสังคมไทยจากอำนาจหรือข้อกฎหมายที่เขาและเหล่าผู้ร่วมอุดมการณ์เห็นว่าไม่เป็นธรรม

นอกเหนือจากบทบาทเหล่านั้น ปราบดา หยุ่น ยังเป็นหนึ่งในอุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในฐานะประธานจัดนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของงาน“งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13 (43rd Nation Book Fair and 13th Bangkok International Book Fair 2015)” ในระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม – วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2558 (12 วัน) โดยวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 19.00 -21.00 น.  และวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม -วันจันทร์ที่ 6 เมษายน เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด     “เด็กดี ?”

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า บทบาทที่ ปราบดา หยุ่น มารับผิดชอบในวาระนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและมุมมองของนักเขียนร่วมสมัยอย่างเขา ต่อเยาวชนในสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย ทั้งในฐานะผู้ร่วมจัดงาน และผู้ที่ผ่านวัยเด็กในยุคก่อนหน้ามาสู่การพิจารณาเด็กยุคใหม่ในปัจจุบันและอนาคต

ที่ผ่านมา ทั้งเด็กไทยและเด็กทั่วโลกล้วนถูกหล่อหลอมตัวตนและความคิดผ่านวัฒนธรรมการอ่าน ทั้งหนังสือและสื่อต่างๆในสังคม มาถึงวันที่คุณปราบดาเองมีส่วนร่วมในการหล่อหลอมการอ่านของเด็กไทย คิดว่าเด็กไทยต้องอ่านอะไร

ปราบดา : ผมว่าการหล่อหลอมหรือการนำเสนอมันมีวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการบังคับหรือยัดเยียด เพราะถ้าผมอยู่ในตำแหน่งหรือสถานะที่หยิบยื่นได้ก็อยากจะให้มันเป็นวิธีที่เปิดกว้างมากกว่า หมายถึงว่ามันควรจะเป็นการให้อิสระในการเลือกกับเด็ก สิ่งที่เราคัดมามันเหมือนกับเพียงเพื่อยกตัวอย่างเฉยๆไม่ได้หมายความว่าหนังสือเหล่านี้เราควรจะอ่าน หรือว่ามันดีไปทั้งหมด หรือว่าต้องอ่านก่อนตายอะไรก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าเราแค่เริ่มอะไรบางอย่างให้คนที่อาจจะไม่เคยคิดที่จะอยากอ่านหนังสือมาก่อน หรือว่าไม่รู้จักนักเขียนท่านี้ หรือหนังสือเล่มนี้มาก่อน เค้าก็จะได้ลองเปิดอ่านดู ชอบก็ดี ไม่ชอบก็ๆไม่เป็นไร

มีภาพสำเร็จหรือเป้าหมายของสังคมที่คุณเป็นผู้หนึ่งที่กำลังมีส่วนในการหล่อหลอมทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านการกระตุ้นการอ่านหนังสือนี้อย่างไรบ้าง  คาดหวังว่า เด็กไทยน่าจะเป็นแบบไหน ใช่เด็กแบบเดียวกับที่คุณเคยเป็นหรือไม่ เพราะเด็กก็อยู่ภายใต้ความคาดหวังของผู้ปั้นเสมอ

ปราบดา : ถ้าเป็นผม ก็อยากจะเห็นเด็กที่อ่านแล้วย้อนถามมากกว่า มากกว่าที่จะชื่นชอบ ชื่นชม ยกยอ หนังสือเล่มนึงถึงอ่านแล้วจะรู้สึกว่ามันดี  หรือว่ามันให้แรงบันดาลใจอะไรก็ตาม ผมรู้สึกว่ามันไม่มีหนังสือเล่มไหนที่จะสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็ไม่มีข้อบกพร่อง เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นหนังสือที่อ่านแล้วถึงจะชอบถึงจะชื่นชมมัน ในที่สุดแล้วก็ตั้งคำถามย้อนกลับไปที่มันว่ามันดีจริงไหม หรือว่าบางเรื่องที่มันพูดผิดหรือเปล่าหรือว่าสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องของมันคืออะไรบ้าง อยากได้เด็กที่เป็นขบถ ไม่อยากได้เด็กที่เชื่อเรา

สิ่งที่หล่อหลอมคุณในวัยเด็กจนกลายมาเป็นคนที่คุณเป็นอย่างทุกวันนี้ มีสิ่งใดที่คุณคิดว่าใช่ หรือไม่ใช่บ้าง เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณก็เติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมาคุณถูกหล่อหลอมอย่างที่คุณต้องการรึเปล่า สิ่งที่กำลังล้มล้างมันอยู่ มันก็ทำให้เราเป็นเราอยู่ในวันนี้มิใช่หรือ

ปราบดา : ผมก็ไม่แน่ใจ ผู้ใหญ่ที่หล่อหลอมมา เขาก็อาจไม่ได้ตั้งใจให้เราเป็นแบบนี้ก็ได้ แต่ข้อดีก็คือเขาเปิดกว้าง เรารู้สึกโชคดีตรงที่เราได้เจอผู้ใหญ่ที่ไม่ตัดสินเรา หมายความว่าเขาอาจจะเป็นห่วง เขาอาจจะพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ว่าในที่สุดแล้วส่วนใหญ่ก็จะมีคนที่หยิบยื่นอิสระในการคิดให้กับเรามากกว่า หนังสือที่ยื่นให้ก็ให้ไปคิดเอาเองว่ามันดีไหม หรือว่าฉันหนังสือที่บ้านก็มีหนังสือหลากหลายที่เคยมีการห้ามว่า ห้ามปีนขึ้นไปอ่านเล่มนั้นเล่มนี้ไม่มี

ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวที่จัดว่า “พิเศษ”

ปราบดา : ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาแค่ไม่มีเวลามาห้าม แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการเลือกอ่าน อ่านอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ แล้วก็การได้เจอครูที่ดีด้วย ครูที่ดีคือครูที่ทำตัวทัดเทียมกับเรา เป็นเพื่อนเรา เผยให้เห็นด้านที่เขาก็อ่อนแอเหมือนกัน ไม่ใช่ครูที่ทุกอย่างฉันทำถูกหมด หรือว่าทุกสิ่งที่ฉันถูกหมด หรือว่าทุกสิ่งที่ฉันพูดเธอต้องเชื่อ ได้เจอครูที่แชร์ปัญหาทุกสิ่งให้ฟังกันและกันได้ คือผู้ใหญ่ที่สามารถบอกว่าฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมคิดว่าเป็นคนที่ทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้เหมือนกัน เพราะว่าเรารู้สึกว่าเขาก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในแบบสำเร็จที่เราเห็น สังคมพยายามที่จะบอกว่า ผู้ใหญ่เป็นคนรู้ทุกอย่าง ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ พอเราเจอผู้ใหญ่ที่ร้องไห้ให้เราเห็น หรือบอกว่าก็ไม่รู้คิดเอาเอง เราก็รู้สึกว่าโลกนี้มันคงมีอิสระในความคิดให้กับเรามากกว่าที่เราคิด

คุณเคยสังเกตตัวเองไหมว่า สูญเสียความเป็นเด็กไปตอนไหน หรือก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ตอนไหน และตอนนี้ คุณคิดว่าตัวเองเป็น “ผู้ใหญ่” หรือยัง

ปราบดา : ในแง่ความคิดกับสิ่งที่ชอบคิดว่าก็ยังไม่เปลี่ยนไปมากจากความเป็นเด็ก แต่ผมไม่ค่อยชอบใช้ความเป็นผู้ใหญ่นะ สิ่งที่เปลี่ยนไปจากวัยที่เรารู้สึกว่าเรายังเป็นเด็กกับตอนนี้ คือความรู้สึกกับความรับผิดชอบในตัวคนอื่น อันนี้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องหลักๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีครอบครัว มีลูก แต่เรามีเพื่อนร่วมงาน เรามีบริษัท ความรู้สึกที่ว่าเราต้องรับผิดชอบคนอื่น เราอยากให้คนอื่นมีความสุขสบายต่างๆ หรือว่าต้องการดูแลคนอื่น อันนั้นผมคิดว่าเป็นความรู้สึกของผมคนเดียวนะ คือความรู้สึกที่มันมากกว่าความเป็นเด็ก เปลี่ยนไปจากความเป็นเด็ก


Interview  : วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ / พรทิพย์ ทองขวัญใจ

ArtMaster@ArtBangkok.com

You may also like...