งานออกแบบที่โดดเด่นสะดุดตา นอกจากตึกสวยระฟ้า เสื้อผ้าที่นำสมัย เฟอร์นิเจอร์ที่ทันตามความต้องการของผู้ใช้งานแล้ว ปฎิเสธไม่ได้ว่า การออกแบบรถยนต์ พาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1900 ก็มีวิวัฒนาการอันน่าทึ่งไม่แพ้กันคาร์ล เบนซ์ และ กอตต์ลีบ เดมเลอร์ สองนักประดิษฐ์ผู้หมุนกงล้อประวัติศาสตร์
คาร์ล เบนซ์ และ กอตต์ลีบ เดมเลอร์ คือ ผู้บุกเบิกแห่งโลกยนตรกรรม ทั้งคู่เป็นนักประดิษฐ์และพัฒนายานยนต์ โดยต่างมีกิจการของตนเองจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1920 จึงได้รวมกิจการเป็นบรฺษัท เดมเลอร์-เบนซ์ เอจี (Deimler-Benz AG) ผู้ผลิตรถคุณภาพในนาม เมอร์เซเดส-เบนซ์ เส้นทางนวัตกรรมของคนทั้งสองแม้จะเคียงคู่ขนานกันในหลายๆด้าน แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างที่ชัดเจน
กอตต์ลีบ เดมเลอร์ คือผู้นำสันดาปภายในมาสนองวิสัยทัศน์แห่งการขับขี่ขนส่ง “ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ” โดยเริ่มทดสอบเครื่องยนต์พลังสูงเครื่องแรกของโลกในปี 1883 สองปีต่อมาเขาติดตั้งเครื่องยนต์นี้เข้ากับจักรยาน ซึ่งได้รับการดัดแปลง ผลลัพธ์คือ จักรยานยนต์คันแรกของโลก และอีกสามปีเขาก็ได้ติดตั้งเครืองยนต์ดังกล่าวเข้ากับตัวรถม้า นับเป็นรถยนต์สี่ล้อคันแรกนีวิตนักประดิษฐ์ของเขา น่าเสียดายที่เดมเลอร์มีเวลาเหลือเพียงน้อยนิดก่อนอำลาโลกไปด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 1900
คาร์ล เบนซ์ เลือกเส้นทางยนตรกรรมที่แตกต่างจากเดมเลอร์ เขาถือว่าการสร้างรถยนต์จะต้องอาศัยหลักการที่แตกต่างจากระบบรถเทียมม้าโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงออกแบบยานยนต์ให้มีสามล้อติดตั้งเครื่องยนต์หนึ่งสูบในแนวนอน และได้จดทะเบียนสิทธิบัตรหมายเลข 37435 เมื่อวันที่ 19 มกราคม ปี 1886 สิทธิบัตรฉบับนี้ก็คือ สูติบัตร ของรถ ที่คารล์ เบนซ์ เป็นผู้ให้กำเนิดนั่นเอง จำนวนรถที่ผลิตจากโรงงานของเขาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อรถรุ่น เวโล (Velo) เริ่มปรากฎโฉมโดยระหว่างปี 1894-1901 ผลิตได้ถึง 1,200 คัน อาจกล่าวได้ว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เบนซ์มีชีวิตยืนยาวจนได้เห็นความฝันปรากฎเป็นจริงก่อนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี 1929
ก้าวแรกที่สง่างาม
เมอร์เซเดส ชื่อที่สร้างตำนานเกียรติยศมีที่มาจาก เอมิล เยลลิเน็ค (Emil Jellinek) นักธุรกิจใหญ่ชาวออสเตรเลีย ผู้จำหน่ายรถของบริษัท เดมเลอร์ มอเตอร์เรน เกเซลชาฟท์ (Daimler Motoren Gesellschaft-DMG) ในแวดวงสังคมชั้นสูงและวงการธุรกิจการเงิน เยลลิเน็คเป็นคนหัวก้าวหน้า และมองออกว่ารถยนต์คือสิ่งประดิษฐ์ที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในโลกอนาคต จึงเร่งเร้าให้ DMG เพิ่มสมรรถนะความเร็วและพลังแรงของรถขึ้นเรื่อยๆทั้งยังได้ลงสนามแข่งรถเอง โดยใช้ชื่อทีมว่า เมอร์เซเดส ตามชื่อบุตรสาว (Mercedes) เป็นคำในภาษาสเปน หมายถึงความสง่างาม) เดิมทีเยลลิเน็คเป็นเจ้าของรถเดมเลอร์ขนาด 6 แรงม้า เครื่องยนต์สองสูบ ซึ่งมีระดับความเร็วสูงสุด 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่นั่นยังไม่เร็วพอสำหรับเขา ทางโรงงานจึงต้องประกอบรถรุ่น ฟีนิกซ์ ให้อีกสองคันตาคำเรียกร้อง ในปี 1898 โดยติดตั้งเครื่องยนต์ 8 แรงม้าและสามารถวิ่งได้เร็วถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นรถยนต์ขนาดสี่สูบตัยแรกของโลก สองปีหลังจากนั้น DMG ก็สร้างปรากฎการณ์รับศตวรรษใหม่ด้วยรถ 35 แรงม้า ออกแบบโครงสร้างและองค์ประกอบใหม่ทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้นำสมญานามของเยลลิเน็คมาใช้เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ทางการค้า และแล้วใบสั่งซื้อรถที่ผ่านมาทางเยลลิเน็คก็ขยายการผลิตของโรงงานเดมเลอร์ออกไปอย่างเต็มกำลัง รถยนต์ เมอร์เซเดส รุ่นแรกที่ปรากฎโฉมเมื่อปี 1900 ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอันมาก สร้างความภาคภูมิใจแก่เยลลิเน็คจนต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น เอมิล เมอร์เซเดส เขาได้รำพึงถึงเรื่องนี้อย่างติดตลกว่า นี่คงเป็นครั้งแรกที่พ่อได้ชื่อตามลูกสาว
ดาวสามแฉก ล้อมล้อชัยพฤกษ์
แม้ DMG จะประสบความสำเร็จกับชื่อทางการค้า แต่ก็ยังไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์สำหรับรถเมอร์เซเดส จนกระทั่ง พอล และอดอลฟ์ เดมเลอร์ ผู้สืบทอดกิจการของบิดาหวนระลึกขึ้นได้ว่า สมัยหนุ่มๆพ่อเคยเป็นผู้บริหารของโรงแรมแห่งหนึ่งที่เมืองดอยซ์ ในจดหมายที่เขียนถึงแม่ พ่อได้แสดงเจตนารมย์ว่า สักวันหนึ่งดาวดวงนี้จะต้องทอแสงรุ่งโรจน์เหนือโรงงานที่เป็นของท่านเอง และถ้าจะตีความให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก แฉกดาวทั้งสามก็อาจเป็นสื่อแทนความมุ่งมั่นของเดมเลอร์ที่จะพัฒนาระบบขับเคลื่อนยานพาหนะทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รุปดาวสามแฉกจึงได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและเริ่มเปล่งรัศมีทอประกายเหนือกระจังหม้อน้ำหน้ารถเมอร์เซเดส ตั้งแต่ปี 1910 เป็นต้นมา
ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริษัท DMG กับ Benz & Cie. ซึ่งขับเคี่ยวแข่งขันกันมานาน ได้หันมาร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน แล้วในที่สุดก็ได้รวมกิจการภายใต้ชื่อ Daimler-Benz AG ในปี 1926 โดยมีตราสัญลักษณ์ดาวสามแฉกของเดมเลอร์ในวงล้อมชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างชื่อ Mercedes กับ Benz เครื่องหมายการค้านี้ถูกปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย ในช่วงเวลายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ครองความเป็นหนึ่งในโลกยนตรกรรมตลอดมา
ศาสตร์และศิลป์แห่งยนตรกรรม
เกียรติประวัติอันยาวนานได้พิสูจน์ว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ได้เป็นแค่พาหนะใช้งาน นับแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ดาวสามแฉกได้เปล่งประกายจุดแรงบันดาลใจ เสริมสง่าแก่ผู้เป็นเจ้าของ นี่คือรถในฝันที่ใครๆต่างก็เหลียวมองด้วยความนิยมชมชื่น และเคล็ดลับแห่งความสำเร็จอันโดดเด่นก็คือ การประสานอย่างลงตัวระหว่างความล้ำเลิศทางวิศวรรมกับสุดยอดศิลปะแห่งการออกแบบรถ
นั่นเป็นผลึกความคิดซึ่งตกทอดมาจากคันแรกที่ใช้ชื่อ เมอร์เซเดส เมื่อปี 1900 รถคันดังกล่าวมีรูปลักษณ์อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับบรรดา รถม้าที่ไม่ใช้ม้าลาก ในยุคนั้น กล่าวคือ มีเครื่องยนต์ติดตั้งด้านหน้า บังคับถอยหลังได้ ติดกระจังหม้อน้ำแบบรวงผึ้ง มีกลไกเปลี่ยนเกียร์ ดรัมเบรก และแกนพวงมาลัยแนวเฉียง นวัตกรรมเหล่านี้คือคุณลักษณ์ที่โดดเด่นมาจนถึงวาระแห่งการเปิดศักราชเครื่องยนต์พลังสูงในปี 1921 ด้วยฝีมือสร้างสรรค์ของ เฟอร์ดินาน พอร์ช ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหัวหน้าวิศวกรโรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ หลายรุ่นก็เรียงแถวออกมาเป็นดาวเด่นในวงการยานยนต์ จนถึงปี 1952 รถในฝันที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้โลกตื่นตะลึง นั่นคือรุ่น 300 SL เวอร์ชั่นรถแข่ง ซึ่งมีประตูปีกนกนางนวลเป็นสัญลักษณ์ นี่คือความงามติดล้อที่ซ่อนความล้ำเลิศด้านเทคโนโลยีไว้ภายใน รถแข่งรุ่นนี้ได้ครองตำแหน่งเจ้าสนามและครองใจผู้ชมอย่างง่ายดาย ก่อนถูกดัดแปลงเป็นรถสำหรับขับขี่ทั่วไปในอีกสองปีต่อมา แล้วยกระดับความเลิศหรูขึ้นอีกในรุ่นปรับโฉมใหม่ปี 1957
ตั้งแต่ปี 1963-ปี 1981 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ผลิตรถขานดใหญ่พิเศษรุ่น 600 รวมทั้งสิ้น 2,677 คัน รถลิมูซีน 250 แรงม้า 6.3 ลิตร รุ่นนี้คือต้นตำรับแห่งพาหนะคู่ใจ วีไอพี และถือเป็นสุดยอดประณีตศิลป์แห่งยนตรกรรม คุณสมบัติเหนือจินตนาการและมาตรฐานใดๆในวงการยานยนต์ ส่งให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ 600 ฝากชื่อไว้ในฐานะยานเกียรติยศของรัฐบาลและผู้นำวงการต่างๆทั่วโลก หลังจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ยุติการผลิตรถรุ่น 600 เลขหมายแห่งความสูงศักดิ์นี้ถูกนำไปใช้กับรถเก๋งคันใหญ่รุ่น 600 SE แต่ทายาทที่แท้จริงของจักรพรรดิแห่งยานยนต์เพิ่งจุติมาสืบทอดภารกิจเมื่อเร็วๆนี้เอง โดยได้รับการขนานนามว่า มายบัค (Maybach) อีกครั้งหนึ่งที่ความล้ำเลิศทางเทคโนโลยีได้บรรจบกับความอลังการเลิศหรูภายใต้สัญลักษณ์ดาวสามแฉก การประกอบรถรุ่นนี้ต้องอาศัยฝีมือช่างมากกว่าการใช้จักรกลอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงมีการสอดใส่รายละเอียดตามความประสงค์ของลูกค้าแต่ละรายด้วย
คุณลักษณ์เหนือมาตรฐาน
บนเส้นทางที่ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้คิดค้นและพัฒนาประสิทธิภาพของรถทุกรุ่นจนสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิศวกรรม รถยนต์เมอร์เซเดสคันแรกของโลกที่ประกอบขึ้นเมื่อปี 1900 คือต้นแบบของยานยนต์ยุคปัจจุบัน ซึ่งยังคงติดตั้งพวงมาลัยแนวเฉียง และรถรุ่นต่อมาก็ได้รับการเสริมพลังเครื่องยนต์ จนสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดในบรรดารถร่วมยุคร่วมสมัย รถเมอร์เซเดส 90 แรงม้า ซึ่งผลิตเมื่อปี 1904 ได้สร้างสถิติความเร็วสูงสุดถึง 148.5 ไมล์ต่อชั่วโมง
ทั่วโลกยอมรับว่า รถเมอร์เซเดส เร็ว แรง แต่ให้ความรู้สึกนุมนวลโอ่อ่า ดุจคฤหาสน์เคลื่อนที่ รถห้าประเภทที่เรียงแถวออกสู่ตลาดรถระดับสูงในช่วงปี 1965-1998 ได้แก่ 300 SEL 6.3, 450 SEL 6.9, 560 SEL, 600 SEL, และ S 600 เมอร์เซเดส-เบนซ์ คือผู้นำรายแรกของโลกที่เริ่มใช้ระบบ Anti-lock Brakes (ABS) ในปี 1978 และเริ่มติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์บังคับล็อคกับระบบขับเคลื่อนทั้งสี่ล้อ 4 MATIC ตั้งแต่ปี 1985 ทั้งยังได้พัฒนาระบบ ESP (Electronic Stability Program) สำหรับ S 600 คูเป้ ส่วนรุ่น C230 นั่นถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในรูปลักษณ์ใหม่ของ Supercharged Mercdes ยุคทศวรรษ 1930 และการจุติของ A-CLASS ในปี 1996 ได้กำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับความปลอดภัยของรถรุ่นกะทัดรัดด้วย Sandwichconstruction ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของรถในการต้านรับแรงอัดจากการชนด้านหน้า การรังสรรค์ทางวิศวกรรมยังคงต่อเนื่องไม่ขาดสายจนถึงก้าวสำคัญในปี 1998 เมื่อ S-Class ได้รับการปรับโฉมด้วยอุปกรณ์ใหม่ 30 รายการ
นวัตกรรมหลังปี 2000 ได้แก่รถ SL ติดตั้งเบรกอิเล็กทรอไฮดรอลิกแรงดันสูงกับระบบควบคุมเบรกด้วยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ทรอนิกคันแรกของโลก รถมายบัคสุดยอดสุนทรีย์แห่งยานยนต์ ซึ่งมีเบาะหลังปรับเอนได้และติดตั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่สามเครื่อง
สำหรับ Mercedes-Benz SLR McLaren เริ่มออกสู่ตลาดในปี 2003 เป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตในจำนวนจำกัด ถือเป็นสุดยอดดีไซนืรถสปอร์ตยุคใหม่ โดยได้รักษาเอกลักษณ์ด้วยประตูแบบปีกนกของของ 300 SL กับรูปลักษณ์ที่ถอดเค้ามาจาก 300 SL อันลือลั่นในโลกแห่งความเร็ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ภาคภูมิใจกับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าในสนามแข่งกรังด์ปรีซ์ ฟอร์มูล่า-วัน และเส้นทางแรลลี่ทั่วโลก
ประติมากรรมติดล้อ
ความประณีตด้านดีไซน์และฝีมือประกอบรถอันไร้ที่ติ คือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้เมอร์เซเดสทุกรุ่นโดดเด่นด้วยรสนิยมสั่งซื้อแชสซีจากโรงงานแต่ไปว่าจ้างช่างฝีมืออิสระเป็นผู้ประกอบตัวรถให้ โรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้เสนอทางออกใหม่ที่ทำให้งานด้านวิศวกรรมกับศิลปกรรมไม่จำเป็นต้องแยกจากกันอีกต่อไป
สำหรับโลกสมัยใหม่ เมื่อรถรุ่น 300 SL ปรากฏโฉมในทศวรรษที่ 1950 บรรดา เกจิรถ ทั่วโลกได้แสดงความชื่นชมต้อนรับ รถในฝัน แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็ต้องตื่นตะลึงกับความงามสง่าคู่บารมี บุคคลสำคัญของรถลิมูซีนรุ่น 600
ปี 1963 คือจุดเริ่มต้นหลังคาฮาร์ดท็อปสำหรับรถ SL ทั้งแบบเปิดประทุนและติดคั้งตายตัว ผลงานดีไซน์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่เพียงก้าวล้ำนำสมัย หากยังรักษารสนิยมอมตะอย่างเสมอต้นเสมอปลาย รูปลักษณ์ของรถออฟโรด G ที่ผลิตต่อเนื่องมานานกว่า 25 ปี ยังคงโดดเด่นประทับใจไม่ตกยุค และจุดเด่นของ A-Class ซึ่งเผยโฉมกะทัดรัดในปี 1998 ก็คือดีไซน์ที่ใช้พื้นที่ภายในให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสัดส่วนโครงสร้างที่ช่วยปกป้องผู้โดยสารจากแรงชนด้านหน้าอย่างต็มประสิทธิภาพ หรือในกรณีของCLS ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน การผสมผสานระหว่างรูปแบบของซีดานสี่ประตูกับรูปโฉมโฉบเฉี่ยวของคูเป้ ทำให้โค้งหลังคาสูงกว่ารถคูเป้ทั่วไป พื้นที่ภายในจึงโปร่งโล่งให้ความรู้สึกสบายอารมณ์ยามขับขี่
เคล็ดลับในการออกแบบรถของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็คือ ต้องเข้าถึงความต้องการและรสนิยมของลูกค้าส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการปรุงแต่งอย่างฉาบฉวยและล้นเกิน ดีไซน์หรูที่แฝงความรอบคอบและคำนึงถึงอนาคต จะช่วยให้ผู้ครอบครองรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รู้สึกอุ่นใจไม่ต้องพะวงเรื่องการ ตกรุ่น และยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำทางรสนิยมไว้ได้ตราบนานเท่านาน
หนึ่งศตวรรษถนนสายดวงดาวในสยามประเทศ
ตำนานดาวสามแฉกในกรุงสยาม
ภาพวัดวาอารามซ้อนสลับกับตึกสูงทันสมัยคือภาพสะท้อนความกลมกลืนระหว่างวิถีชีวิตไทยสมัยใหม่กับวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่แม้สายถนน ในเมืองใหญ่จะคลาคล่ำด้วยยวดยานนานาชนิด ผู้คนในดินแดนแห่งรอยยิ้มและอิสรเสรียังจำได้ว่า ช้าง เคยมีบทบาทเป็นพาหนะสำคัญในการสัญจรและลำเลียงขนส่ง หรืกระทั่งการรบทัพจับศึก สัญลักษณ์พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้างก็ยังคงแนบแน่นในสำนึกของคนไทย ช้างยังคงเป็นสัตว์นำโชคที่ทุกคนโปรดปรานเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน ในแง่หนึ่ง ความสำคัญของราชาแห่งพาหนะสี่เท้าได้สะท้อนความเป็นจริงในวิถีชีวิตไทยที่การคมนาคมขนส่งทางบกมีความสำคัญ ไม่แพ้ทางน้ำมานานก่อนที่จะมีการตัดถนนและสร้างทางรถไฟ
รถบัสและรถบรรทุกที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในทศวรรษที่ 1920 มีบทบาทเด่นในการพัฒนาระบบขนส่งทางไกล ยกระดับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้นเป็นอันมาก ความเป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้และคุณภาพรถที่ผ่านการพิสูจน์มาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากมหาชนชาวไทยจนอาจกล่าวได้ว่า ถนนทุกสายในประเทศนี้ไม่เคยขาดรถบัสโดยสารและรถบรรทุกที่มีสัญลักษณ์ดาวสามแฉกติดอยู่ และถ้าจะวัดระยะทางที่รถเหล่านี้ได้วิ่งรับใช้ปวงชนชาวไทยมาร่วมแปดทศวรรษก็คงรวมได้หลายรอบโลกทีเดียว
ในเมืองไทยมีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์แทบทุกรุ่นประเภทเท่าที่เคยผลิตออกมา ทั้งรุ่นที่จัดจำหน่ายทั่วไปรุ่นพิเศษสุด เช่นรถติดตั้งซุปเปอร์ชาร์จยุคทศวรรษ 1930 หรือรุ่น 300 และ 220 ยุคหลังสงครามโลกทั้งแบบธรรมดาและแบบเปิดประทุนซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน รถ 300 SL ในรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวของคูเป้ และลิมูซีนรุ่น 600 ที่ใช้ในรัฐพิธีต่างๆ ช่วงกลางทศวรรษ 1970 ก็มีผู้สั่งซื้อ S-Class รุ่น 450 SEL 6.9 ซึ่งเป็นสุดยอดนวัตกรรมแห่งยุคสถิติการนำเข้ารถและผลสำเร็จจากการตั้งโรงงานประกอบรถหลายรุ่นในประเทศ คือรัศมีอันรุ่งโรจน์ของดาวสามแฉกซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
คู่บารมีองค์ราชันย์
ย้อนอดีตสู่ปีพุทธศักราช 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสายแรกในนครหลวง ชื่อถนนเจริญกรุง มีความยาว 6.5 กม. ตั้งต้นจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่บางคอแหลมหรือถนนตกในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของรถม้าและรถลาก
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงโปรดให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย และทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์เป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทรงสั่งให้บริษัทเยอรมันในกรุงปารีส ประกอบรถยนต์เก๋งหนึ่งคันยี่ห้อเมอร์เซเดส ซึ่งนับเป็นรถชั้นยอดในเวลานั้น
รถยนต์เมอร์เซเดสคันดังกล่าว ปรากฎหลักฐานการสั่งซื้อผ่านสถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส โดยสั่งซื้อจากออโตโมบิลยูเนียน ปารีส ตั้งอยู่เลขที่ 39 ถนนฌองส์ เอลิเซ่ ซึ่งเป็นบริษัทขายรถยนต์ของนายเอมิล เยลลิเน็ค รถคันนี้มาถึงสยามประเทศเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ระบุผู้รับปลายทางคือพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม เป็นรถยนต์รุ่น 28 hp 4 สูบ เครื่องยนต์ 35 แรงม้า หมายเลขแชสซี คือ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์คือ 4290
ในขณะนั้น กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเร่งการประกอบรถยนต์แทบทุกวัน พอรถเสร็จก็ทรงว่าจ้างคนขับชาวอังกฤษขับรถคันนั้นพาพระองค์ท่าน พร้อมด้วย ม.จ. อมรทัต กฤดากร หลวงสฤษดิ์ สุทธิวิจารณ์ (ม.ร.ว.ถัด ชุมสาย) ตระเวนทั่วยุโรปภาคกลางเป็นการทดลองเครื่อง แล้ววนกลับไปยังนครปารีส
เมื่อเสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จกลับถึงเมืองไทย ก็ได้ทรงนำรถคันนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก รถยนต์คันนี้คือรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สารถีคือ เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ นั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานรถยนต์พระที่นั่งมาก เพราะความสะดวกสบายและเดินทางได้เร็วกว่ารถม้าพระที่นั่ง เมื่อทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจก็มักเสด็จเยือนที่ต่างๆ ด้วยรถยนต์พระที่นั่งคันดังกล่าวเสมอ ต่อมาทรงเล็งเห็นว่ารถยนต์เพียงคันเดียวไม่เพียงพอที่จะใช้งานตามพระราชประสงค์ เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายในหลายพระองค์ก็ทรงโปรดปรานรถยนต์กันทั้งนั้น จึงได้ตัดสินพระทัยซื้อรถยนต์พระที่นั่งอีกหนึ่งคัน
ในครั้งนี้เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ ได้เป็นผู้แทนพระองค์ในการสั่งซื้อ และทรงเลือกรถเมอร์เซเดส-เบนซ์อีกครั้ง สั่งนำเข้าโดยตรงจากประเทศเยอรมนี เป็นรถเก๋งสีแดง รุ่นปี 2448 เครื่องยนต์สี่ลูกสูบ ขนาด 28 แรงม้า วิ่งเร็ว 73 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งนับว่าเร็วมากในยุคนั้นและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามแก่รถยนต์คันนี้ ในทำนองเดียวกันกับโบราณราชประเพณีที่มีการพระราชทานนามแก่ช้างเผือกคู่บารมี ชื่อ แก้วจักรพรรดิ์ ของรถยนต์พระที่นั่งคันนี้ มีความหมายว่า เป็นประดุจหนึ่งในแก้วเจ็ดประการอันเป็นของคู่พระบารมีแห่งองค์ราชันย์
เมื่อรถยนต์เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่พระราชวงศ์และคหบดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่าสมควรจะจัดงานเฉลิมฉลองสักครั้งหนึ่ง จึงทรงกำหนดให้วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2448 เป็นวันชุมนุมรถยนต์ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ามีรถยนต์ไปร่วมชุมนุมในบริเวณพระบรมมหาราชวังถึง 30 คัน และพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าของรถทุกคน เมื่อถึงเวลาบ่ายสี่โมงเย็นก็ได้เคลื่อนขบวนรถไปตามถนนสามเสนเลี้ยวเข้าสู่สวนดุสิต โดยตลอดสองข้างทางมีผู้คนยืนเรียงรายชมขบวนด้วยความตื่นตาตื่นใจ
ปี พ.ศ. 2451 ใสวาระเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 56 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งรถยนต์เข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งเป็นจำนวน 10 คัน เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูงเพื่อใช้ในราชการแผ่นดิน รถทั้งสิบคันได้รับพระราชทานนามให้สอดคล้องกันเป็นที่ไพเราะจับใจ ได้แก่ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพตกังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำพองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี
ความทันสมัยมุ่งสู่ถนนทุกสาย
เมื่อมีการสร้างถนนหนทางในเมืองบางกอกมากขึ้น รถยนต์ก็กลายเป็นพาหนะที่สะดวกสบายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางวิ่งขวักไขว่ไปมาบนท้องถนนทำให้การจราจรเริ่มติดขัดเนื่องจากรถวิ่งกันไม่เป็นระเบียบและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบกับในสมัยนั้นยังไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักฐานกรรมสิทธิ์ จึงมีปัญหาการลักขโมย และก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมามากมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการออกกฎหมายตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2452 ภายใต้พระบรมราชโองการ ดังนี้
“ทุกวันนี้มีผู้ใช้รถยนต์ที่เรียกกันว่า “โอโตโมบิล” ขับไปมาอยู่ตามถนนหลวงมากขึ้น สมควรที่จะมีพระราชบัญญัติสำหรับการเดินรถและขับรถขึ้นไว้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์อันตรายต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสืบไป…”
พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้เจ้าของจดทะเบียนรถกับกระทรวงมหาดไทย โดยเสียค่าธรรมเนียมคันละ 10 บาท ในช่วงเวลานั้นมีรถยนต์นั่งและรถบรรทุกทั้งในบางกอกและหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศที่จะทะเบียนรวมทั้งสิ้น 412 คัน
ในเมื่อคนไทยหันมานิยมใช้รถกันมากขึ้น บริษัทต่างประเทศได้ทยอยกันเข้ามาเปิดกิจการในบางกอกมากมาย ว่ากันว่า ในยุคนั้นร้านรวงในย่านการค้าเมืองหลวงจะมีการขึ้นป้ายประกาศเปิดกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหม่แทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว รถยนต์ที่นำเข้ามีหลากหลายยี่ห้อ ทั้งจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา รวมไปจนถึงธุรกิจรถมือสองด้วย จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2474 รถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดมีจำนวนถึง 3,222 คัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระอุขึ้นในปีพ.ศ. 2482 การสัญจรโดยรถยนต์ในเมืองไทยก็ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว จนเมื่อผ่านพ้นยุคข้าวยากหมากแพงไปแล้ว คนไทยก็หันมานิยมสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกครั้ง และแน่นอนว่ารถยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ความรุ่งโรจน์ของแบรนด์ เมอร์เซเดส-เบนซ์
ในระยะแรกห้าง บี.กริมม์ เป็นบริษัทที่นำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในช่วงทศวรรษที่ 1900 รถคันที่เคยเป็นพาหนะคู่ใจของนายอดอล์ฟ ลิงค์ ผู้จัดการบริษัทในยุคทศวรรษ 1920 สืบมาจนถึงทายาทรุ่นหลังๆ ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้การได้ดีเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คันที่ได้จำหน่ายแก่ลูกค้าชาวไทยในระยะต่อมาห้างบี.กริมม์ ยังได้จัดหารถใช้งานหลายประเภทให้กองทัพบกและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทย
พ.ศ. 2484 คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ (บุตรสาวของขุนวิจารณ์พานิช ผู้ก่อตั้งบริษัท วิริยะพานิช จำกัด) ได้ก่อตั้งบริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด ขึ้นที่ถนนราชดำเนินกลาง ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อนำสินค้าคุณภาพดีจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาจำหน่าย อาทิ ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุ ยี่ห้อเทเลฟุงเก้น และรถหลากหลายยี่ห้อรวมถึงรถยนต์ชั้นเยี่ยมจากเยอรมันยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ด้วย
รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่นำเข้ามาในยุคแรก เป็นรถบรรทุกสำหรับใช้ในกิจการทหารหรือการขนส่ง ในเวลานั้นรถบรรทุกส่วนมากเป็นรถที่นำเข้าจากอเมริกา มีแต่เครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คุณเล็กและคุณประไพจึงได้นำเครื่องยนต์ดีเซลเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาใส่แทนที่ ทำให้ประหยัดและใช้งานได้ทนทานกว่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักรถบรรทุกและรถโดยสารยี่ห้อ “เมอร์เซเดส-เบนซ์”
เมื่อตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เป็นที่รู้จักอย่างดีแล้ว บริษัท ธนบุรีพานิชเล็งเห็นว่าควรขยายตลาดรถยนต์นั่งให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่มีรถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์จำหน่ายในประเทศไทย คุณเล็กและคุณประไพจึงเริ่มติดต่อโดยตรงกับทางเยอรมนี เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการในประเทศไทยรายแรก
รถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่นแรกที่ทางบริษัทฯ นำเข้ามาก็คือ Benz 170 V โดยนำเข้ามาจัดแสดงที่โชว์รูม ถนนราชดำเนินชุดแรกเพียง 4 คันเท่านั้น กิจการของธนบุรีพานิชได้เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านยอดจำหน่ายและจำนวนพนักงาน เนื่องจากคนไทยรู้จักและประทับใจในคุณภาพของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งหรือรถบรรทุก
ต่อมา คุณเล็กและคุณประไพได้ตั้งบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เพื่อประกอบเฉพาะรถบรรทุกในย่านยศเส และหลังจากนั้นขยับขยายไปที่สวนลุมพินี กิจการค้าและประกอบรถยนต์ของธนบุรีฯ นั้นขึ้นชื่อลือชาทั้งในด้านคุณภาพและบริการ ทำให้มีตัวแทนจำหน่ายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์รายอื่นๆ เช่น ห้างยนต์วิชัย หรือลำปางชัย ทยอยเปิดตัวตามมา
ในปี พ.ศ. 2522 คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ บุตรชายคนโตของคุณเล็กและคุณประไพ ผู้ผ่านการศึกษาและฝึกงานกับบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ประเทศเยอรมนีโดยตรง ได้สร้างโรงงานใหม่เพื่อประกอบทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุกที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ส่วนโรงงานเดิมที่ลุมพินีก็เปลี่ยนเป็นแผนกอะไหล่ทั้งหมด สำหรับโชว์รูมและสำนักงานใหญ่ก็ยังคงตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลางจนถึงปัจจุบัน
ปักหมุด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย
ด้วยศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศ โดยจดทะเบียนบริษัทฯ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2541 ธุรกิจของบริษัทฯ ครอบคลุมทั้งการนำเข้าและประกอบรถยนต์จัดจำหน่ายรถยนต์นั่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งที่เป็นรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รถไครสเลอร์ และรถจี๊ป ทั้งยังให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าแบบครบวงจรอีกด้วย โดยบริษัทฯ ยึดมั่นในปณิธานที่จะรักษาความเป็นหนึ่งในการผลิตรถยนต์ระดับหรู ดีไซน์เลิศและให้บริการที่สามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า
ดาวสามแฉกได้มาส่องสกาวนำทางอยู่บนท้องถนนเมืองไทยนับเป็นเวลากว่า 100 ปี เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้รับความนิยมชมชื่นในฐานะรถคุณภาพชั้นนำที่รับใช้คนไทยสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยมาหลายยุคสมัย จวบจนวันนี้ ได้มีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์โลดแล่นอย่างโดดเด่นเป็นสง่าทั่วประเทศไทยมาแล้วกว่า 100,000 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำแห่งยนตรกรรมเลิศหรูในประเทศไทยอย่างแท้จริง
เมอร์เซเดส-เบนซ์ คุณค่าเหนือกาลเวลา
ยานยนต์ที่กอตต์ ลีบ เดมเลอร์ และ คาร์ล เบนซ์ ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในปี 1886 ณ เมืองสตุตต์การ์ท ประเทศเยอรมนี ได้รับการสานต่อและมีวิวัฒนาการเรื่อยมา ภายใต้นามอันเลื่องชื่อ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และตราสัญลักษณ์ดาวสามแฉกอันทรงคุณค่ากว่าหนึ่งศตวรรษ
นี่คือจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตยนตรกรรมคุณภาพที่ส่งออกไปทั่วโลก และได้รับความนิยมในแวดวงสังคมชั้นสูง สำหรับประเทศไทย เมอร์เซเดส-เบนซ์ คันแรกได้เดินทางมาถึงดินแดนสยามเมื่อปี 2447 ในฐานะ รถยนต์พระที่นั่งคันแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์ยิ่งนัก
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ครบรอบ 110 ปี ของตำนานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย คืออีกหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการนำเข้ายนตรกรรมหลายรุ่น หลายประเภท ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้ามาทดแทนยานพาหนะแบบเก่า ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนโฉมหน้าการคมนาคมของไทย ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนไปสู่ความศิวิไลซ์มากขึ้น
การเดินทางที่ไม่สิ้นสุดของดวงดาวสีน้ำเงิน
สัญลักษณ์ดาวสามแฉกได้เปล่งรัศมีครองความเป็นหนึ่งในโลกยนตรกรรม และครองตำแหน่งรถยอดนิยมตลอดกาล ทั้งยังมีศักยภาพโดดเด่นอย่างมากในตลาดเมืองไทย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ระดับพรีเมียม ที่ให้ความสำคัญกับการดีไซน์ที่สมบูรณ์แบบ เทคโนโลยีการขับขี่ที่คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ กลายเป็นยนตรกรรมที่ทุกคนมุ่งมาดปรารถนาที่จะครอบครองเป็นเจ้าของ ด้วยเหตุที่ว่าสามารถสะท้อนความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และรสนิยมการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี
ถึงวันนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังคงไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมและคิดค้นเทคโนโลยียานยนต์ เพื่อกำหนดอนาคตการขับขี่ที่ยั่งยืนของโลกยนตรกรรม รวมถึงการพิชิตใจนักขับขี่เจเนอเรชั่นใหม่ ขณะเดียวกันก็มุ่งดำเนินธุรกิจในเมืองไทย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อลูกค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ก้าวต่อไปของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จึงนับว่าท้าทายอย่างมาก แต่ในฐานะผู้นำแล้ว ต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น สมดั่งคำกล่าวของ กอตต์ลีบ เดมเลอร์ ที่ได้ถ่ายทอดไว้ “The best or nothing”
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ 110 years Mercedes-Benz in Thailand