“แม่ของใครคนหนึ่ง เด็กเอ๋ยเด็กรู้ไหมยายคนนั้น ถึงงกงันงุ่มง่ามตามประสา ถึงยากจนเข็ญใจวัยชรา แกก็เป็นมารดาของบางคน” ถ้อยคำข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “แม่จ๋า” ที่พระราชธรรมนิเทศ แปลมาจากผลงานของ Mary D. Brine ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างค.ศ. 1816-1913 และจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ไฮไลท์สำคัญในงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13” (43rd National Book Fair and 13th Bangkok International Book Fair 2015) ที่จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด เด็กดี?
เพียงเดินเข้าไปในนิทรรศการนี้ ก็สัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายที่งดงาม ผ่านถ้อยคำมากมายจากบางส่วนของหนังสือทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย โดย ศรีบูรพา, ตำราของแม่ โดย ส. ธรรมยศ, วรรณมาลัยเรื่องสั้น เหมือนอย่างไม่เคย: เด็กกับโรงเรียน โดย ครูเทพ, ชายผ้าเหลือง โดย ศรีดาวเรือง, พินัยกรรม โดย สุวรรณี สุคนธา, หยดหนึ่งแห่งกาลเวลา โดย เสนีย์ เสาวพงศ์, สนุกนิ์นึก โดย กรมหลวงพิชิตปรีชากร, ชีวิต เสรีภาพ ซัมเมอร์ฮิล โดย เอ. เอส. นีล เป็นต้น ซึ่งสะท้อนความจริงของวัยเด็ก ที่ช่วยเปิดโลก กระตุ้นจินตนาการ ทลายกรงขัง และเป็นแรงขับให้ “เด็ก” จำนวนมากได้เติบโตเป็น “ผู้ใหญ่” ด้วยหนทางแห่งปัญญามาแล้วหลายยุคสมัย และในขณะเดียวกันก็เป็นกระจกสะท้อนผู้ใหญ่บางท่านที่อาจยังไม่รู้ตัวว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความ “เจ็บปวด” ให้กับเด็กด้วยรูปแบบของนิทรรศการแนวโมเดิร์นที่บอกเล่าความคิดผ่านนัยยะในงานวรรณกรรม ซึ่งปรากฏอยู่บนบอร์ดนิทรรศการแบบสามมิติ ที่ผู้เข้าชมงานสามารถมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ โดยเฉพาะบอร์ดแสดงความคิดเห็นใหญ่ยักษ์ ที่มีพื้นที่ว่างให้เติมหลังข้อความ “เด็กที่ดีคือ…”, “ผู้ใหญ่ที่ดีคือ…”, และ “สังคมที่ดีคือ…”
จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เล่าว่า นิทรรศการนี้ได้รับเกียรติจาก “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ร่วมดูแลเนื้อหาของนิทรรศการ ส่วนตัวแล้วก็หวังว่าทุกถ้อยคำในงานวรรณศิลป์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ที่ทางผู้จัดคัดเลือกมาแสดงในนิทรรศการแบบสามมิติครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะกิดสังคมให้หันกลับมาสำรวจทัศนคติของตนเองและวิธีการต่างๆที่ร่วมสร้างหรือหล่อหลอมลูกหลานซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“นอกจากเนื้อหาด้านวรรณกรรมที่สะท้อนสังคมในนิทรรศการแล้ว บนผนังยาวยังประดับไปด้วย คำขวัญวันเด็กนับย้อนตั้งแต่อดีต พร้อมด้วยรายชื่อของนายกรัฐมนตรีที่มอบคำขวัญปีนั้นๆให้แก่เด็กๆ มาดูกันได้เลยว่า 56 ปีนับตั้งแต่มีคำขวัญวันเด็กเกิดขึ้น ประเทศนี้สอนเราด้วยความดี ความงาม ความจริงกี่แบบ ในส่วนของบอร์ดแสดงความคิดเห็นนั้น แม้จะผ่านเพียงไม่กี่วันก็เต็มไปด้วยข้อความจากหลากหลายลายมือลานตาไปหมด เมื่อเข้าไปอ่านใกล้ๆ ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันมากทีเดียว”
ขณะที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในฐานะผู้ดูแลเนื้อหานิทรรศการก็มองว่าเด็กในทุกยุคทุกสมัยล้วนเติบโตมาด้วยความคาดหวัง ซึ่งความคาดหวังนั้นอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดตามมาโดยที่ผู้ใหญ่เองก็ไม่รู้ตัว
“คำคุณศัพท์ที่ขยายคำว่าเด็ก เป็นเรื่องที่คิดว่าควรมีเครื่องหมายคำถาม อาจเป็นเพราะว่าผู้ใหญ่คาดหวัง สร้างว่าเด็กดีต้องเป็นนั้นนี้ เด็กถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่ คงเพราะพล็อตตรงนี้กระมังที่ทำให้เกิดสิ่งที่ตามมาคือความเจ็บปวด เด็กทุกสมัยถูกคาดหวังจากพ่อแม่ เด็กไม่เข้าใจหรอก สิ่งที่เขาเข้าใจนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่เขาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้น ในนิทรรศการนี้ผมก็จะมองเรื่อง 3 เรื่องกว้างๆ คือครอบครัว สังคม ตัวเด็ก อยากให้มาชมกันด้วยตัวเอง” นายสุชาติกล่าว
ถึงที่สุดแล้วการเรียนรู้ที่สำคัญในวัยเด็ก ถ้อยคำที่นำพาเด็กไปสู่การมีสติปัญญาอย่างเข้มแข็งโดยแท้ และสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความเจ็บปวดได้ อาจอยู่ในตัวหนังสือที่พวกเขาค้นพบเองในการอ่าน อยู่ในบางประโยคบางย่อหน้าของหนังสือบางเล่ม จากประสบการณ์ตรงที่ถูกถ่ายทอดด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์โดยนักเขียนบางท่าน เช่นที่มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยเคยสารภาพอย่างภาคภูมิว่าการอ่านหนังสือได้ “ช่วยชีวิต” พวกเขาเอาไว้ เหมือนถ้อยคำหนึ่งในนิทรรศการที่ว่า
“…หนังสือที่แม่รักมีมากมายจนไม่เชื่อว่าแม่จะอ่านมันได้อย่างไรหมด แม่จะถือว่าเป็นความโง่อย่างยิ่งและเป็นความผิดร้ายแรงอย่างยิ่ง ถ้าลูกของแม่จะไม่อ่านหนังสือ…” สุวรรณี สุคนธา บางตอนจากเรื่องสั้น “พินัยกรรม” พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสยามสมัยรายสัปดาห์ พ.ศ. 2511
ขอเชิญสัมผัสทุกความรู้สึก ทุกถ้อยคำของนิทรรศการ “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13” (43rd National Book Fair and 13th Bangkok International Book Fair 2015) ซึ่งจัดขึ้นถึงวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วจะลืมทุกนิทรรศการที่เกี่ยวกับเด็กๆที่ทุกท่านเคยชมมาอย่างสิ้นเชิง