ที่สุดของนิทรรศการศิลปะ ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙

กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  จัดนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙  ให้เป็นนิทรรศการครั้งสำคัญที่มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ ๗ ทศวรรษแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะไทย

ประกอบด้วยการจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปิน ที่อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ในรูปแบบที่หลากหลาย พร้อมข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจ ตลอดจนการนำเสนอลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญทางศิลปะของไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะอันมีคุณค่า  จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม – ๔ พฤศจิกายน ศกนี้


นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ จัดแสดงผลงานศิลปะที่โดดเด่นในรอบ ๗ ทศวรรษ มากกว่า ๓๐๐ ชิ้น จากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและศิลปินร่วมสมัยเกือบ ๓๐๐ ท่าน ตั้งแต่บรมจารย์รุ่นอาวุโส จนถึงรุ่นปัจจุบัน อาทิ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี, เฟื้อ หริพิทักษ์, จิตร บัวบุศย์, สวัสดิ์  ตันติสุข, ชำเรือง วิเชียรเขตต์,ประหยัด พงษ์ดำ, เฉลิม นาคีรักษ์, อังคาร กัลยาณพงศ์, อินสนธิ์  วงศ์สาม, ดำรง วงศ์อุปราช, เหม เวชกร, ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ, ประเทือง เอมเจริญ, ถวัลย์ ดัชนี, ม.จ.มารศีสุขุมพันธ์ บริพัตร, กมล ทัศนาญชลี, อิทธิพล ตั้งโฉลก, เดชา วราชุน, เข็มรัตน์ กองสุข, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, มณเฑียร บุญมา, พิษณุ ศุภนิมิตร, ถาวร โกอุดมวิทย์, ปรีชา อรชุนกะ, สุรสิทธิ์ เสาว์คง, สมชัย หัตถกิจโกศล, ประสงค์ ลือเมือง, ประทีป คชบัว, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, กมล เผ่าสวัสดิ์, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, วิโรจน์ เจียมจิราวัฒน์ รวมถึง อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ดาว วาสิกศิริ, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, บุษราพร ทองชัย, อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, Alex Face ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีศิลปินต่างชาติร่วมแสดง เช่น Niro Yogota, Theo Meier, Raden Basuki, Elizabeth Romhild และ Varsha Nair เป็นต้น

ผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย งานจัดวาง และศิลปะแนวทดลอง จากการคัดสรรโดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์ และภัณฑารักษ์ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล พร้อมด้วยทีมภัณฑารักษ์ชั้นแนวหน้า คือ คุณลักขณา  คุณาวิชยานนท์, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์, คุณกฤติยา  กาวีวงศ์, คุณปกรณ์  กล่อมเกลี้ยง และ คุณนิกันต์ วะสีนนท์ จัดแสดงโดยแบ่งตามแนวเรื่อง (Theme) ๙ กลุ่ม ได้แก่ “การแสวงหาความเป็นไทย” ผ่านมุมมองของศิลปินที่มีความคิดเกี่ยวกับ “ความเป็นไทย”

ที่ต้องการนำเสนอแตกต่างกันออกไปทั้งในแง่ของเนื้อหาและเทคนิค, “แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา” แสดงถึงความผูกพันและความเชื่อมโยงระหว่างศิลปินกับพุทธศาสนา ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและศิลปะแนวใหม่ พร้อมตัวอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญในสถานที่ต่างๆจาก ๔ สกุลช่าง ที่มีความโดดเด่นในแง่มุมที่ต่างกัน, “พื้นที่ทางสังคม และการอุปถัมภ์ศิลปะ” นำเสนอเกี่ยวกับพัฒนาการของวงการศิลปะในเมืองไทย ผู้มีบทบาทสำคัญจากภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่ทำให้งานศิลปะและผู้เกี่ยวข้องมีพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น, “จินตนาการกับความเหนือจริง” นำเสนอผลงานศิลปะอันมีที่มาจากความลี้ลับ มายาคติ กับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่กว้างไกล ไร้ขอบเขตของศิลปิน

สำหรับแนวเรื่อง “นามธรรมและปัจเจกชน” นั้น จัดแสดงผลงานแนวนามธรรม ที่ศิลปินแต่ละท่านมีแนวคิดและความตั้งใจที่ชัดเจนในการสื่อถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยรูปแบบ สีสัน ลายเส้น   ตลอดจนการใช้วัสดุที่สะท้อนความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของศิลปิน โดยผู้ชมสามารถตีความได้อย่างอิสระตามทัศนะที่แตกต่าง, “การต่อสู้ทางการเมืองและสังคม” เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของศิลปินเกี่ยวกับมุมมองทางด้านสังคมและการเมืองของไทย ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ จนถึงปัจจุบัน โดยมีรูปแบบและประเภทของผลงานที่หลากหลาย

“เพศสภาพและความเป็นชายขอบ” เป็นการสร้างสรรค์ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง  เป็นการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเพศ และบุคคลหรือกลุ่มคนซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจ ซึ่งศิลปินบางกลุ่มจัดว่าคนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคม เช่น เพศที่ ๓  โดยศิลปินได้ถ่ายทอดความคิดที่มีต่อเรื่องดังกล่าวอย่างน่าสนใจ หรือใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงเพศในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, “จากท้องถิ่น สู่อินเตอร์” จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด และได้รับรางวัลต่างๆ หรือจากการได้รับเชิญให้ร่วมจัดแสดงผลงานที่ต่างประเทศ โดยผลงานบางชิ้นมีแนวคิดหรือการใช้วัสดุแบบพื้นบ้าน แต่มีเทคนิคและการนำเสนอที่ทันสมัยแบบสากล  และ “ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม” เป็นแนวคิดใหม่ในการทดลองสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะที่มีความน่าท้าทาย ทั้งการคิดริเริ่ม การทำรูปแบบและเทคนิคการนำเสนอที่แตกต่าง วิธีการใช้สื่อหลากประเภทมาเป็นองค์ประกอบของชิ้นงานซึ่งเป็นความแปลกใหม่อย่างน่าทึ่ง

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเล่าถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาศิลปะของไทย เปรียบเทียบกับศิลปะนานาประเทศ รวมถึงนิทรรศการโปสเตอร์ศิลปะที่หาดูได้ยากกว่า ๑๐๐ แผ่น

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ นี้มีความเป็น “ที่สุด” ของการจัดนิทรรศการศิลปะในเมืองไทยในหลายด้าน โดยมีจำนวนและประเภทของชิ้นงานมากที่สุด  มีจำนวนศิลปินเจ้าของผลงานมากที่สุด  ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานมากที่สุด และเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะได้ชื่นชมงานศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณค่าของศิลปินชั้นนำของเมืองไทย ซึ่งตามปกติอยู่ในความครอบครองขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือเป็นของสะสมส่วนบุคคล ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาจัดแสดงให้สาธารณชนได้ชม  โดยทีมภัณฑารักษ์มีบทบาทสำคัญที่ทำให้นิทรรศการนี้มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาและการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานคร ในการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านศิลปะ เป็นแหล่งเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงสร้างเครือข่ายศิลปินและความร่วมมือด้านศิลปะด้วย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ซึ่งให้เกียรติเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า “ผู้ที่มาชมนิทรรศการนี้ จะได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการในแง่มุมต่างๆ ของศิลปะไทยตลอดช่วง ๗ ทศวรรษในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  ได้เห็นฝีมือของศิลปินที่มีชื่อเสียง ประทับใจกับงานศิลปกรรมที่ให้สัมผัสได้ทั้งกว้างและลึก ด้วยความหลากหลายและมีรายละเอียดมากมาย ได้เรียนรู้ถึงมิติทางความคิด ได้เห็นที่มาที่ไปจากรูปแบบดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย และเป็นผลงานในระดับที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ  ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในคนไทย ในความเป็นไทย และสร้างแรงบันดาลใจในการสืบสานและผลักดันศิลปะที่ทรงคุณค่าของไทยให้ก้าวไกลต่อไป”

นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้นที่ ๓, ๔, ๕, ๗, ๘ และ ๙  ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม – ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. (หยุดวันจันทร์)  นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาพูดคุยกับนักวิชาการและศิลปินที่มีชื่อเสียง เพื่อเรียนรู้แนวโน้มต่างๆ ของศิลปะไทยในจุดเปลี่ยนของช่วงเวลาสำคัญต่างๆ  โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะจัดทำหนังสือรวบรวมผลงานศิลปะในยุคสมัยรัชกาลที่ ๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “อัครศิลปิน” แห่งสยามประเทศ  และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะในวงกว้าง โดยนำเสนอศิลปะกับวิถีชีวิตในรูปแบบต่างๆ สะท้อนผ่านผลงานศิลปกรรมของศิลปินหลากหลายรุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน   ซึ่งนอกจากนำเสนอความงามเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลป์แล้ว  ยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญของศิลปะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ด้วยบทความและเรื่องราวจากการถ่ายทอดของศิลปินและนักวิชาการระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งจะเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยของไทย  มีกำหนดจัดพิมพ์แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้  จำนวน ๑,๕๐๐ เล่ม โดยหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันการศึกษาที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  กรุงเทพมหานคร

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ  :
-ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ  โทร : ๐๘๙ – ๔๘๔ – ๙๘๙๔, ๐๘๖ – ๕๖๗ – ๑๖๗๗, ๐๘๑ – ๘๓๕ – ๙๕๘๕
-กองวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  โทร :  ๐๒ – ๒๔๖ – ๖๑๔๔, ๐๒ – ๒๔๗ – ๒๓๓๓
-หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร  :  ๐๒ – ๒๑๔ – ๖๖๓๐ – ๓๘ ต่อ ๕๒๐

You may also like...