“Made in Thailand… ฝรั่งแอบชอบใจ แต่คนไทยไม่เห็นค่า กลัวน้อยหน้าว่าคุณค่านิยม ไม่ทันสมัย…”เนื้อร้องท่อนหนึ่งจากเพลง Made in Thailand ของคาราบาวที่โด่งดังมากเมื่อประมาณยุค 80’s แวบขึ้นมาในหัว ขณะที่เอกเขนกกำลังนั่งคุยกับ ม.ล. ภาวินี สันติสิริ หรือคุณหน่า ดีไซนเนอร์และมัณฑนากร เจ้าของสินค้าตกแต่งบ้าน Ayodhaya (อโยธยา) ที่นำวัสดุท้องถิ่นอย่างผักตบชวามาสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้ามี design จนเป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลก
ในเมืองไทย อโยธยาจะเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มลูกค้าที่ไม่ยึดติดกับแบรนด์และเห็นคุณค่าของงาน hand-made ที่มีเสน่ห์ในเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากใครไม่รู้จักอโยธยา อาจคิดว่าสินค้าที่ทำจากผักตบชวาจะมีรูปลักษณ์ไม่สวยงามหรือทันสมัย แต่อโยธยาทำให้เห็นแล้วว่า สินค้าเหล่านี้ ถึงแม้จะทำจากวัตถุดิบธรรมชาติแต่ก็มี design ที่มีรสนิยมและได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ เช่นรางวัล DESIGNER OF THE YEAR, G-MARK จากประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนสินค้าพื้นเมืองที่เราเห็นทั่วๆ ไป ด้วยเส้นสายที่เรียบง่ายแต่มี texture ที่น่าสนใจ
และเมื่อสินค้าภายใต้แบรนด์อโยธยาเป็นที่ยอมรับของตลาด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการลอกเลียนแบบ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เพียงคนไทยเท่านั้นที่เลียนแบบกันเอง แม้แต่ต่างชาติเองก็ยังหยิบเอาดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ของอโยธยาไปเลียนแบบ โดยอาศัยประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเป็นฐานการผลิต คุณหน่ากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเอาผิดกับผู้ที่ลอกเลียนแบบสินค้าที่เป็นงานฝีมือนั้นเป็นเรื่องยากและไม่คุ้มกับเวลาและเงินทองที่จะต้องเสียไปเพราะสินค้า hand-made มักจะไม่มีการจดลิขสิทธิ์เหมือนสินค้าอื่นๆ แต่จะเป็นที่รู้กันว่าคุณภาพและมาตรฐานของงานที่เลียนแบบมานั้นจะเทียบไม่ได้กับสินค้าของอโยธยาเอง
แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้คุณหน่าเต็มเปี่ยมด้วยวิญญาณนักออกแบบเริ่มต้นมาจากความจำเป็นที่ต้องออกแบบเสื้อผ้าใส่เอง เพราะในสมัยก่อนเสื้อผ้าสำเร็จรูปไม่เป็นที่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ หากต้องการเสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำใคร ก็ ต้องคิดออกแบบเสื้อผ้าในแบบของตัวเอง โดยอาจจะนำเอาเสื้อมาทำเป็นกางเกง หรืองกระโปรงมาทำเป็นเสื้อ ซึ่งจุดนั้นก็ได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักออกแบบมาจนถึงทุกวันนี้ สินค้าภายใต้แบรนด์อโยธยา ส่วนใหญ่จึงสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ และความสง่างามของตัวของคุณหน่าได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ อโยธยายังใช้เทคนิคการผลิตเป็นตัวกำหนดแนวทางการออกแบบสินค้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้มุมมองใหม่ๆ ในการยกระดับภูมิปัญญาไทยให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาลอกเลียนแบบได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่คิดจะเลียนแบบมักจะไม่อยากเสียเวลาแกะแบบ และอาจจะล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด
ในขณะที่โลกเกาะกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำให้สินค้าของอโยธยาดูจะเข้ากับคอนเซ็ป Eco-Friendly ได้อย่างกลมกลืน เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติและสิ่งของที่ไร้ประโยชน์ เช่น ผักตบชวา กระดาษสา เปลือกไม้หรือแม้แต่เมล็ดผลไม้อย่างลูกมะฮอกกานี มิหนำซ้ำ ยังเน้นขั้นตอนการผลิตที่ทำด้วยมือมากกว่าเครื่องจักร และเป็นสินค้าประเภท HAND MADE เกือบทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องมียอดสั่งซื้อขั้นตำในการผลิต และผลิตจากโรงงานของ Ayodhya เองทำให้สินค้าถูกผลิตออกมาไม่เกินความต้องการของตลาด สินค้าจากแบรนด์อโยธยาจึงแทบไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย
หนึ่งในคอลเลคชั่นที่น่าสนใจคือ คอลเลคชั่นที่ทำมาจากหนังสือพิมพ์เก่า แทบไม่น่าเชื่อว่ากระดาษหนังสือพิมพ์จะสามารถนำกลับมาทำเป็นของใช้ดีไซน์สวยๆ ได้ ทราบมาว่า แหล่งวัตถุดิบของอโยธยาในคอลเลคชั่นนี้มาจากร้านรับซื้อของเก่า ที่ซาเล้งจะนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาขาย และเป็นแหล่งเดียวกับที่แม่ค้าผลไม้ที่จะไปซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์มาห่อผลไม้ โดยหนังสือพิมพ์ที่อโยธยารับซื้อ จะเป็น top grade ต่างจากที่แม้ค้าจะซื้อไปห่อผลไม้
ล่าสุด อโยธยาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับตัวเอง ด้วยคำสั่งซื้อโคมไฟ กระดาษสาและ MOSS TABLE จาก Fendi แบรนด์ระดับหรูจากอิตาลี
ด้วยความเป็นที่เแบรนด์ไทยแท้แต่สร้างชื่อในเวทีระดับนานาชาติได้ จึงทำให้คุณหน่ามีมุมมองต่อสินค้าประเภท Hand Made และ Brand Name ในสายตาของคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียว่า คนในแถบเอเซียมักหลงใหลไปกับแบรนด์ของสินค้าที่มาจากทางยุโรป มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีค่านิยมที่ว่า การได้เป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมจะเรียกความมั่นใจ ส่งเสริมภาพลักษณ์และฐานะทางสังคมได้ ในขณะที่คนทางยุโรปโดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสจะให้ความสำคัญกับความเป็น เอกลักษณ์ส่วนบุคคล จึงมักจะเลือกใช้สินค้าที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนข้างใน ของตน ไม่ใช่เพื่อการเสริมสร้างความมั่นใจและฐานะทางสังคม
เมื่อถามถึงอายุการใช้งานของสินค้าบางชิ้นของอโยธยา คำตอบที่ได้คือ ถ้าอยากได้ของที่มีอายุการใช้งานเป็นสิบปี โดนน้ำได้ ล้างน้ำได้ ก็คงต้องใช้พลาสติก เนื่องจากวัตถุดิบของอโยธยาส่วนใหญ่ทำมาจากธรรมชาติหรือสิ่งของที่ใช้แล้ว ระยะเวลาการใช้งานหรือความคงทนก็อาจจะไม่มากเท่ากับพลาสติกที่เราคุ้ยเคย หากมองในมุมกลับกัน ปัจจุบัน สังคมของเรากลายเป็นสังคมแห่งการบริโภคแบบ ใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกล่องบรรจุอาหารพลาสติก เสื้อผ้าแฟชั่นที่ใส่ได้ไม่กี่เดือนก็่ตกเทรนด์ จนกระทั่งเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้เพียงไม่กี่ปี ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะถูกออกแบบมาให้สวยงาม ราคาย่อมเยาว์แต่ใช้งานได้ไม่นาน แต่การสนับสนุนสินค้าของอโยธยาเป็นการช่วย ส่งเสริมและกระจายรายได้สู่ชนบทและไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
สินค้าของอโยธยามีมากกว่า 2,000 ชิ้น สินค้าทุกชิ้นจึงไม่สามารถนำขึ้นวางที่ร้านค้าทุกแห่งได้ได้ แต่ทางร้านจะมี catalogue ของสินค้าให้เลือก และถ้าหากใครอยากซื้อและชมชมสินค้าของอโยธยา ก็สามารถติดต่อไปที่ออฟฟิศ เพื่อเข้าชมโชว์รูมของอโยธยาได้
หรือถ้าชอบเดินงานแสดงสินค้าประเภทของตกแต่งบ้าน ก็สามารถพบกับ collection ใหม่ๆ ของอโยธยาได้ที่งาน BIG ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี
สนใจชมสินค้าของอโยธยา สามารถแวะเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ayodhyatrade.com
ที่มาเรื่องและภาพจาก www.akanek.com/shops/ayodhaya-trade