Mizuki Shigeru

ปีโชวะที่ 43 ตรงกับ พ.ศ. 2511 ทั่วโลกเกิดเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ในประเทศไทยเราสูญเสียบุคคลสำคัญไป 2 คน คือสุรพล สมบัติเจริญ และ ป. อินทรปาลิต แต่ที่เกาะญี่ปุ่น การ์ตูนเรื่อง “คิทาโร่แห่งสุสาน” (อสูรน้อยคิทาโร่) ได้ออกเผยแพร่เป็นการ์ตูนโทรทัศน์ครั้งแรก และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากเด็กๆทั่วประเทศ จนทำให้ในวันนี้ Mizuki Shigeru (มิสุกิ ชิเงะรุ) กลายเป็นบุรุษผู้เป็นตำนานนักเขียนการ์ตูนของญี่ปุ่น และ ตัวการ์ตูน “อสูรน้อยคิทาโร่กับผองเพื่อนปีศาจ” เป็นที่รู้จักกันในระดับสากล

มิสุกิ ชิเงะรุ เกิดที่ ซะไกมินะโตะ เมืองเล็กๆ สุดขอบตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดโทตโทริ พ่อของเขาทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่พนักงานธนาคาร จนถึงผู้บริหารโรงภาพยนตร์แต่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน แม่ของมิสุกิเป็นแม่บ้านที่ชอบอ่านหนังสือ 

มิสุกิเข้าร่วมกองทัพเพื่อออกรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา เขาถูกส่งไปเมืองราบอล ที่ปาปัวนิวกินี และเสียแขนซ้ายไปในสงคราม เมื่อรักษาตัวที่คะนะกะวะจนหายดี มิสุกิ ชิเงะรุ จึงมุ่งสู่ถนนการเป็นจิตรกร โดยเข้าเรียนที่วิทยาลัยศิลปะมุซะชิโนะ และรับจ้างถีบรถพ่วงเพื่อทำงานหาเงินเลี้ยงชีพไปด้วย แต่ไม่นานความเจริญก็นำพารถยนต์เข้ามา กิจการให้เช่ารถถีบก็ถึงทางตัน ประกอบกับระหว่างที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 เขาตระหนักด้วยตนเองว่าถึงเรียนต่อไปก็คงเป็นจิตรกรหาเลี้ยงชีพไม่ได้ จึงเลิกเรียนกลางคัน

เส้นทางการเป็นผู้รังสรรค์การ์ตูนระดับโลกนั้นได้มาด้วยความลำบากอย่างแสนสาหัส

มิสุกิ ได้รู้จักกับ คุโบตะ นักเขียนละครหุ่นกระดาษ เขาได่ถ่ายทอดวิชาการวาดหุ่นกระดาษให้มิสุกิ และให้มิสุกิรับช่วงทำงานต่อแทนตนเองที่กำลังจะเลิกอาชีพนี้  มิสุกิทำงานรับจ้างวาดละครหุ่นกระดาษด้วยรายได้อันน้อยนิดเรื่อยมา แต่พอถึงยุคที่โทรทัศน์เริ่มแพร่หลายในครัวเรือนมากขึ้น ยุคสมัยของละครหุ่นกระดาษจึงถึงกาลอวสาน มิสุกิจึงผันตัวไปเป็นนักเขียนการ์ตูนให้เช่าแทน เขาก็ยังคงยากจนสุดขีดเหมือนเดิม ต้องเอาของในบ้านไปจำนำ ไม่เว้นแม้แต่เสื้อผ้า รองเท้า วิทยุ และนาฬิกา แต่หนังสือมักจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่มิสุเกะเลือกไปจำนำเสมอ ถึงลำบากยากจน ตนเองและภรรยาไม่ค่อยมีอะไรจะกิน เคยไม่มีกระทั่งเงินซื้อนมผงให้ลูก แต่มิสุกิก็ไม่เคยเลิกอาชีพนักเขียนการ์ตูน ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “จงทำแต่สิ่งที่ตัวเองรัก และจงตั้งใจทำสิ่งที่ตัวเองรักให้ดีที่สุด”

ไม่นานนักเทพเจ้าแห่งความยากจนก็ค่อยๆออกจากบ้านเขาไป

มิสุกิ ได้รับการทาบทามให้เขียนการ์ตูนลงนิตยสารของสำนักพิมพ์ซันโยซะ และนิตยสาร “กาโร่รายเดือน” ไม่นานนัก “อสูรน้อยคิท่าโร่” จึงถือกำเนิดขึ้น เขาเริ่มมีชื่อเสียง จนได้รับรางวัลการ์ตูนสำหรับเยาวชนยอดเยี่ยมของสำนักพิมพ์โคดันชะถึง 2 ครั้ง ทั้งงานและเงินเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ มีคนติดต่อให้ไปออกรายการทีวีต่างๆ

เทพเจ้าแห่งโชคลาภได้เข้ามาเยือนบ้านของเขาแล้ว

ในปีโชวะที่ 43 (2511) การ์ตูนเรื่อง “คิทาโร่แห่งสุสาน” (อสูรน้อยคิทาโร่) จึงได้ถูกสร้างเป็นการ์ตูนโทรทัศน์ และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับคิทาโร่จึงทยอยออกมามากมาย มีทั้งช็อกโกแลต หมากฝรั่ง ตุ๊กตา เข็มกลัด เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่มีลวดลายคิทาโร่ ฯลฯ มิสุกิ ชิเงะรุ ได้รับพระราชทานเหรียญตราเกียรติยศประดับโบสีม่วง และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอาทิตย์อุทัยเล็ก มีการสร้างถนน มิสุกิ ชิเงะรุ และพิพิธภัณฑ์มิสุกิ ชิเงะรุ ในเมืองซะไกมินะโตะ

ปัจจุบัน มิสุกิ ชิเงะรุและครอบครัวคงใช้ชีวิตเรียบง่ายที่กรุงโตเกียว ในวัย 93 เขายังทำงานหนักเหมือนเดิม

ไม่มีชีวิตใครสมบูรณ์แบบ เพราะชีวิตเราไมได้เป็นคนกำหนดจุดเริ่มต้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ตามเส้นทางที่เราเลือก มิสุกิ ชิเงรุ เป็นศิลปินที่ไม่ต่างจากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือพวกเขาล้วนทุ่มเททำงานอย่างหนัก มุ่งมั่นพยามยามแม้จะไม่เห็นหนทางข้างหน้าหรือแสงสว่างใดๆ และไม่มีคำว่าล้มเหลวหรือล้มเลิก

“จงเป็นคนเกียจคร้าน จงอย่าพยายาม จงใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย”
มิสุกิ ชิเงะรุ

บางมุมของ มิสุกิ ชิเงรุ
– มิสุกิ ชิเงะรุ ใส่แขนเทียมแค่ครั้งเดียวในชีวิตคือวันที่เขาแต่งงาน จากนั้นไม่เคยใส่แขนเทียมอีกเลย ด้วยเหตุผลที่เขาบอกว่าการพยายามสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูพร้อมสมบูรณ์เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ และน่าสมเพช
– ความสำเร็จของ มิสุกิ ชิเงะรุ มาจากกำลังใจและการสนับสนุนจากภรรยาของเขา ที่คอยอยู่เคียงข้าง เชื่อใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่สามีกำลังทำอยู่
– มิสุกิ ชิเงรุ เป็นนักอ่านหนังสือปรัชญาตัวยง นักเขียนคนโปรดของเขาคือ เกอเธ่ นอกจากนั้นเขายังชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล และหนังสือพุทธศาสนา
– บางเดือนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ มิสุกิ ชเงรุ ยังคงมุ่งมั่นเขียนการตูนต่อไป โดยอาศัยแสงสลัวจากเทียนไขเท่านั้น
– “จงเป็นคนเกียจคร้าน จงอย่าพยายาม จงใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย” คือสิ่งที่มิสุกิ ชิเงะรุ ตั้งใจจะบอกทุกคนว่า เขาควรพยายามให้มากที่สุดก่อน เพื่อที่จะได้ทำตัวเรื่อยเปื่อยและเกียจคร้านได้ในภายหลัง

เรียบเรียงจาก : เกะเกะเกะ หลังบ้านนี้มีความรัก
เขียนโดย มุระ มุโนะเอะ (ภรรยาของมิสุกิ ชิเงะรุ)
แปลโดย : กนกวรรณ เกตุชัยมาศ
แพรวสำนักพิมพ์ 2556

You may also like...