KHAJURAHO แผ่นดินแห่งกามสูตร นครซึ่งศรัทธาถูกห่อหุ้มไว้ด้วยกามารมณ์

หากเรื่องเพศจะเป็นเรื่องต้องห้ามของศาสนาหรือวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่เราก็คงไม่สามารถจะหมายรวมถึง “อินเดีย” และ  “ศาสนาฮินดู” ด้วยเป็นแน่แท้ แนวคิดพื้นฐานของชาวฮินดูเน้นความสมดุลของหน้าที่ตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ และระบบวรรณะ ทำให้ศาสนาที่เก่าแก่เป็นอันดับต้นๆของโลกศาสนานี้ ให้ความสำคัญกับเรื่อเพศพอๆกับกิจกรรมอื่นๆของชีวิต ด้วยตระหนักว่าหากเราไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง ย่อมไม่อาจดำรงเผ่าพันธ์อยู่ได้ เมื่อไม่มีการสืบลูกหลาน


ความพยายามในการสร้างบ้านเมืองก็ไร้ค่า การให้ความสำคัญกับเรื่องเพศนี้เองที่ก่อเกิดคัมภีร์ที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลกนาม “กามสูตร” สันนิษฐานว่าตำราเพศศึกษาเล่มเก่าแก่ของโลกนี้ ถูกเขียนขึ้นในสมัยคุปตะ หรือกว่า 2,000 ปีที่แล้ว เป็นภาษาสันสกฤต โดยกวีที่ชื่อว่า “วาตสยายน” ดังนั้นคัมภีร์นี้จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “วตสยายน กามสูตร” อันหมายถึง คัมภีร์ว่าด้วยความรักของวาตสยายน มีทั้งสิ้น 1,250 โศลก แบ่งเป็น 7 อธิกรณ์ (ภาค) คือ
1. สาธารณะ –  ว่าด้วยความรัก การจำแนกประเภทของสตรี
2.สัมปรโยคิกะ – ว่าด้วยการจูบ การเล้าโลม การแสดงท่าร่วมรัก
3.กันยาสัมปรยุกตกะ – ว่าด้วยการเลือกหาภรรยา การเกี้ยวพาราสี และการแต่งงาน
4. ภารยาธิการิกะ – ว่าด้วยการประพฤติตัวอย่างเหมาะสมของภรรยา
5.ปารทาริก – ว่าด้วยการแอบมีชู้กับภรรยา
6.ไวศิกะ – ว่าด้วยหญิงคณิกา หรือโสเภณี
7.เอาปนิษทิกะ – ว่าด้วยการสร้างเสน่ห์ให้ตนเอง

สังเกตให้ดีจะพบว่าคัมภีร์กามสูตร ไม่ได้มีแต่เรื่องในมุ้งอย่างเดียว ทว่ายังสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมศาสตร์รวมถึงจริยศาสตร์และแพทยศาสตร์ไว้ด้วย โดยมีสมดุลของชีวิตบนพื้นฐานศีลธรรมเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ทว่าก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหาสำคัญของกามสูตร ว่าด้วยการร่วมรัก ซึ่งวาตสยายนกล่าวเอาไว้มากถึง 64 ท่า โดยเขาบรรยายเป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่คนอินเดียทั่วไปใช้สื่อสาร แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของชาวเมืองขชุราโห ในแคว้นมัธยประเทศ ตำบลชัตปูร์ หมู่บ้านขชุราโห คือที่ตั้งของหมู่เทวสถานในศาสนาฮินดูและศาสนาเชนที่เก่าแก่กว่า 1,800 ปี แต่ละแห่งสร้างด้วยหินทรายสีขาว สลักเสลาลวดลายสวยงามวิจิตร

ทว่าหมู่เทวสถานที่สำคัญทั้ง 17 แห่งนั้น จะมีแห่งโดดเด่นน่าสนใจเท่าเทวสถานลักษณมันแห่งนี้เป็นไม่มี ด้วยเพราะผนังด้านนอกของเทวสถานเก่าแก่มหึมานี้ ประดับด้วยรูปสลักหินทรายละเอียดพิสดารหลายร้อยรูป บอกเล่าถึงการร่วมเพศในท่าต่างๆอย่างชัดเจน ทั้งแบบเดี่ยว คู่ และเป็นหมู่เทวสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อกว่า 1,500 ปีมาแล้ว  เพื่อถวายพระวิษณุโดยมีชื่อเต็มว่า ไวกุณฐวิษณุ ภายในประดิษฐานเทวรูปพระวิษรุเป็นประธานแวดล้อมด้วยเทวรูปของพระผู้เป็นเจ้ามากมาย ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบอินเดียทางตอนใต้ ที่นิยมสร้างเทวสถานให้มีขนาดใหญ่โต ตัวอาคารมีหลังคาสูงเพรียว ซึ่งเรียกว่า ทรงศิขร อันหมายถึง ภูเขา ประดับด้วยลวดลายสลักเสลาจนเต็มพื้นที่ ตั้งแต่ฐานจนถึงส่วนยอด รูปสังวาสดังกล่าวจะประดับอยู่บนผนังส่วนด้านนอกของอาคารทั้งด้านข้างและด้านหลัง  ส่วนด้านหน้าและด้านในนั้นไม่มีรูปดังกล่าวอยู่เลย

รูปสังวาสเหล่านี้สลักเสลาอย่างวิจิตรบรรจง เต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีทั้งรูปเดี่ยว คู่ และรูปกลุ่ม บอกเล่าเรื่องราวการเสพสังวาสทั้ง 64 ท่า และการพลิกแพลงท่าทางไปใช้ในแบบต่างๆ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียอยู่นั้นจะพยายามทำลายเทวสถานแห่งนี้ แต่ก็ไม่ทันสำเร็จดังตั้งใจ เทวสถานลักษณมันก็ยังคงอยู่มาได้จนกระทั่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในที่สุด

ไม่ว่าผู้สร้างจะมีวัตถุประสงค์อันใดกันแน่ ที่เลือกเรื่องราวละเอียดอ่อนเรื่องนี้มาใช้เป็นเครื่องกำหนดเนื้อหาของรูปสลักตกแต่งมหาวิหาร ทว่ารูปสังวาสเหล่านี้ก็สามารถแยกแยะจิตมนุษย์ได้อย่างแยบคาย ใครมีพื้นฐานทางความคิดอย่างไร การได้ยลรูปสังวาสอันลือลั่นนี้ สันดานเหล่านั้นย่อมปรากฎออกมาชัดแจ้ง อันที่จริงเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์โลกและสรรพสัตว์ทั้งปวง ด้วยเป็นกิจกรรมที่ธรรมชาติสร้างไว้เพื่อก่อเกิดชีวิตใหม่ๆ แน่นอนว่าในฐานะที่เป็นสัตว์ที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าสัตว์อื่น มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกนี้ที่ตกแต่งประดับประดาเรื่อเพศจนหลากหลาย ทั้งในแง่ของพฤติกรรมและในแง่ของแนวคิดจนกระทั่งเกิดการปิดกั้นด้วยเห็นเป็นเรื่องผิดบาปในที่สุด ทว่าสัญชาติญาณทางเพศก็ยังมีอยู่ในมนุษย์ทุกตัวคน เพียงแต่จารีตช่วยให้เรารู้จักซ่อนเร้นไว้เท่านั้น

ไม่แน่….ขชุราโห อาจทำให้คุณเผยธาตุแท้ออกมาก็ได้

สิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ : นักเขียนผู้พิสมัยศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสนุกสนานกับการใช้ชีวิตบนพรมแดนอันบอบบางของความต่างทั้งเก่า-ใหม่, ตะวันออก-ตะวันตก, หญิง-ชาย ฯลฯ กลั่นกรองเป็นเรื่องราวน่าสนุกสนานในแบบของเธอเอง    

You may also like...