ในขณะที่คุณค่าของความเป็นศิลปะสำหรับคนบางคน อาจจะตัดสินกันที่ความยากง่ายในการผลิต หรือความเป็นหนึ่งเดียวในโลก (Uniqueness) ที่ไม่มีการทำซ้ำได้อีกของงานชนิดนั้น แต่คุณค่าของงานศิลปะสำหรับคนบางคน บางกลุ่ม กลับอยู่ที่การมองลึกเข้าไปถึงแนวคิด ค่านิยม และบริบทของสังคมที่สะท้อนผ่านการสร้างสรรค์ผลงานประเภทต่างๆ ออกมา ณ เวลานั้น ไม่เว้นแม้แต่งานสร้างสรรค์ที่ถูกเคยตัดสินให้เป็นงานศิลป์ด้อยค่า
อย่างพาณิชย์ศิลป์ หรืองานที่เกิดออกมาจากการกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ฉลากสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต กระป๋องซุป หรือภาพพิมพ์แยกสี แบบที่เรียกกันว่า ซิลค์สกรีน ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคการผลิตภาพหรือลวดลายซ้ำๆลงบนผืนผ้า
ชื่อของ แอนดี วอร์โฮล (Andy Warhol) ที่มาจากชื่อเดิมว่า แอนดรูว์ วอร์โฮลา (Andrew Warhola) เป็นชื่อของศิลปินที่ผู้คนยอมรับทั่วโลกในฐานะบิดาแห่งป๊อปอาร์ต (Pop Art) หรือ หรือศิลปะประชานิยม ผลงานการสร้างสรรค์ของเขาได้ปลุกให้วงการศิลปะโลกหันมาทบทวนแก่นสารของความเป็นศิลปะ ที่มุ่งสื่อสารบริบทของสังคมรอบข้างอย่างที่เป็นอยู่จริง ในฐานะที่เป็นความงามชนิดหนึ่ง บนพื้นฐานว่า ‘ความงามคือความจริง และความจริงคือความงาม’ มากกว่าการพิจารณาเพียงเทคนิคหรือผลสำเร็จของมัน ด้วยเหตุนี้ ฉลากกระป๋องซุป หรือบรรดาฉลากผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เป็นผลผลิตของธุรกิจโฆษณา อันปรากฏดาษดื่นในวัฒนธรรมอเมริกัน จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งมีค่าคู่ควรแก่การพิจารณา ถึงความจริงและเรื่องราวของวิถีชีวิต ค่านิยม ความคิด และทัศนคติของผู้คนในสังคมอเมริกันในช่วงเวลานั้นได้มากกว่าสิ่งอื่นใด
ไม่ว่าใครจะมองผลงานภาพศิลปะของ แอนดี วอร์โฮล ว่างดงามหรือมีคุณค่าเพียงใด แต่ในปัจจุบันภาพกระป๋อง CAMPBELL ของเขามีมูลค่ามหาศาล เช่นเดียวกับภาพสินค้าต่างๆ อีกหลายรายการในซูเปอร์มาร์เก็ต และภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนใบหน้าเหล่าคนดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มาริลิน มอนโร อลิซาเบท เทเลอร์ หรือแม้แต่ผู้นำอย่างประธานเหมา
คงจะไม่ผิดนักหากเราจะเชื่อว่าแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของเขามาจากช่วงชีวิตวัยหนุ่ม หลังจบการศึกษาที่ Carnegie Institute of Technology เมืองพิตต์สเบิร์ก และได้รับปริญญาตรีด้านวิจิตรศิลป์ วอร์โฮลเดินทางไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้า St. Mark’s Place ทางตะวันออกของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นงานโฆษณาและงานออกแบบ หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งและเริ่มมีชื่อเสียงบ้าง เขาจึงเปลี่ยนชื่อจาก แอนดรูว์ วอร์โฮลา มาเป็น แอนดี วอร์โฮล
ในปี ค.ศ. 1952 วอร์โฮลมีโอกาสแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกที่ ฮูโก แกลเลอรี (Hugo Gallery) ในนิวยอร์ก หลังจากแสดงผลงานแล้ววอร์โฮลก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะของนิวยอร์กมากขึ้น จากความเข้าใจในหลักของงานโฆษณาที่มุ่งสร้างความจดจำได้ง่าย เขาพยายามสร้างลักษณะเฉพาะตัว เช่น เปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้สั้นเพื่อให้เรียกและจำได้ง่าย ย้อมผมสีฟางข้าว (straw colour) และมักปล่อยให้ยาวอย่างไม่สนใจ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขามาจนตลอดชีวิต
แนวทางการก่อกำเนิดศิลปะแนวป๊อปอาร์ตนี้ เปิดตัวสู่การรับรู้ของสังคมใกล้เคียงกันทั้งในอังกฤษและอเมริกา ราวปีคศ. 1954 งานลำดับต้นๆที่สร้างชื่อให้ วอร์โฮล เป็นภาพวาดและภาพพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเป็นก้าวแรกๆของการแสดงออกถึงความใส่ใจในปัจจัยการดำรงชีพของผู้คน ตามด้วยการสร้างงานศิลปะจากภาชนะและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งปรากฏตัวตนของเขาชัดเจนในช่วงปีค.ศ. 1960
เพราะความสนใจในบริบททางสังคมอย่างจริงจัง งานของเขาจึงมีทั้งเรื่องราวของคนดังในวงการฮอลีวูดที่คนอเมริกันนิยมบริโภคข่าวสารข้อมูลของพวกเขา และขยายปริมณฑลมาถึงเรื่องราวทางการเมือง ดังปรากฏภาพพิมพ์ผู้นำคอมมิวนิสต์จีนเป็นภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนในสไตล์ป๊อปอาร์ตสีสดใสอันลือลั่น
ท่ามกลางแรงเสียดทานและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่อัจฉริยภาพรอบด้านของวอร์โฮล ทำให้ชื่อเสียงและความสำเร็จในวงการศิลปะของเขาพุ่งเร็วและแรงปานติดจรวด เขาได้พิสูจน์ว่าเป็นผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นการวาด การเขียน หรือแม้แต่การสร้างภาพยนตร์
อย่างไรก็ดี แม้จะประสบความสำเร็จด้านศิลปะ แต่ดูเหมือนชีวิตส่วนตัวของเขาจะไม่สดใสนัก วอร์โฮลเป็นผู้นิยมรักร่วมเพศ เขาใช้ชีวิตเงียบเหงาในบั้นปลายกับมารดาในนิวยอร์ค และเสียชีวิตลงในปี 1987 โดยไม่มีสมาชิกครอบครัวคนอื่นใดอีก เนื่องจากเขาไม่ได้แต่งงาน
วลีเด็ดของ วอร์โฮล ที่กล่าวไว้ว่า “โลกในอนาคตจะทำให้คนมีชื่อเสียงอยู่ได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น” (Famous for 15 minutes) อาจจะจริงหรือไม่จริงสำหรับทุกคน แต่ก็สะท้อนวิถีโลกที่ดำเนินมาหลังการจากไปของเขาได้อย่างชัดแจ้ง
——————————————————————————–
เรียบเรียงโดย : วีร์วิศ
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ ArtBangkok.com ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย