แม้จะไม่มีระบุอยู่ในระเบียบกฎหมายใดว่า การเป็นนักเขียน จะต้องรวมกับความเป็นนักคิด และนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม หรือเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกปล้น แต่ชื่อของ วาด รวี ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง นักแปล และบรรณาธิการ เจ้าสำนักหนังสือใต้ดิน ก็เป็นหนึ่งในลำดับต้นๆ สำหรับนักเขียนที่กล้าเปิดตัวเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาเห็นว่า ‘ผิด’ ไปจากอุดมการณ์ที่เขายึดมั่น บทบาทในแวดวงวรรณกรรมของเขา จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนะต่อสิ่งคม และสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างชัดเจน นอกเหนือจากผลงานเขียนที่มีลีลาเสียดเย้ย เยาะหยันต่อความเป็นไปของโลกแวดล้อมหรือแม้แต่โลกภายในของตัวเอง
วาด รวี มีชื่อจริง รวี สิริอิสสระนันท์ เขาเกิดที่โรงพยาบาลหัวเฉียว กรุงเทพฯ บรรพบุรุษข้างพ่อมาจากเซียงไฮ้ ตระกูลของย่าทวดฝ่ายแม่เป็นทหารเรือ เรียนอนุบาลที่ Y.W.C.A. เรียนเตรียมประถมที่โรงเรียนบุปผานุกุล จบมัธยมต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เรียนอาชีวะสายพาณิชย์ที่อัสสัมชัญพาณิชยการ ขณะเรียนที่นี่เป็นนักกรีฑาของโรงเรียน ประเภทวิ่ง 400 เมตร และ 1,500 เมตร เข้าแข่งขันในการแข่งกรีฑาของเครืออัสสัมชัญ เรียนชั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1 ปีครึ่งในคณะศิลป์ ภาษาญี่ปุ่นและ 3 ปีในคณะบริหารธุรกิจ เอกการเงินการธนาคาร แต่เอาจริงเอาจังกับการทำกิจกรรมมากกว่า
กิจกรรมที่ทำในระหว่างเรีัยน คือชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขารับหน้าที่เป็นกรรมการฝ่ายวิชาการและประธานค่ายของชมรม ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยทำงานไปพร้อมกับเรียน งานที่ทำได้แก่ แปลซับไตเติลภาพยนตร์ที่ใช้กับแผ่นเลเซอร์, ทำงานวิจัยด้านการตลาดให้กับศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัย, แปลนิยายโรมานซ์, ช่างภาพรับจ้างทั่วไป และผู้ช่วยช่างภาพในสตูดิโอขนาดเล็กแห่งหนึ่ง กระทั่งเริ่มเขียนหนังสือและตัดสินใจเขียนงานวรรณกรรมเป็นหลักจึงเลิกเรียน และมุ่งเขียนหนังสืออย่างเดียว
วาด รวี เป็นนักเขียนอาชีพ ที่มีอยู่ไม่มากนักในประเทศนี้ ผลงานเขียนของ วาด รวี มีหลากหลาย และมีผลงานตีพิมพ์สม่ำเสมอ เฉพาะผลงานที่รวมเป็นหนังสือเล่ม ได้แก่
- ปี 2542 รวมเรื่องสั้น เดนฝัน พิมพ์โดย สำนักหนังสือใต้ดิน,
- ปี 2544 เรื่องสั้น ปิดบริสุทธิ์ พิมพ์โดย สำนักหนังสือใต้ดิน,
- ปี 2546 รวมเรียงความ คิดสั้น พิมพ์โดย Shine Publishing House,
- ปี 2548 รวมเรื่องสั้น ชั่วขณะ พิมพ์โดย Shine Publishing House,
- ปี 2549 รวมบทความ ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ open,
- ปี 2551สารคดี Fighting Publisher ประวัตินักทำหนังสือกบฏฉบับใต้ดิน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ open,
- ปี 2552 ผลงานแปล บันทึกสงครามปฏิว้ติคิวบา ของ เช เกวารา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- ปี 2554 วิกฤต 19, ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- ปี 2555 รวมบทความ ภูเขาน้ำแข็ง จัดพิมพ์โดย Shine Publishing House
- ปี 2556 รวมเรื่องสั้น พื้นผิวของความทรมาน โดย Shine Publishing House
- ปี 2557 รวมเรียงความ ในลวงใจ โดย Shine Publishing House
- ปี 2557 ผลงานแปลเรื่องสั้น ชายชรากับทะเล ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ โดย สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
อะไรที่ทำให้ท่านเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้ท่านยังเป็นนักเขียนมาจนบัดนี้
เขียนหนังสือเพราะรักชอบการอ่านการฟังเรื่องราวและการใช้ภาษา การเป็นนักเขียนสอดพ้องกับลักษณะนิสัยที่สันโดษเนื่องจากขณะทำงานคือการอยู่เพียงลำพังกับความนึกคิดของตนเอง การเป็นนักเขียนเป็นสิ่งที่ตรงกับธรรมชาติของตนและเป็นสิ่งที่มีความถนัดและน่าจะทำได้ดีที่สุด
คุณลักษณะของนักเขียนที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของท่าน
นักเขียนที่ดีควรจะเป็นนักฟัง นักอ่านนักสังเกตการณ์ และชอบการใคร่ครวญครุ่นคิด ตั้งคำถาม มีความดื้อรั้น เป็นอิสระ มีความรับผิดชอบและเฟื่องฝันบ้าง
ปณิธานสูงสุดในการเป็นนักเขียน
เขียนให้ดีกว่าเรื่องที่ดีที่สุดที่เคยอ่านมา
สิ่งสำคัญที่วรรณกรรมหรืองานเขียนชั้นเลิศพึงมี
แรงกระทบที่ทำให้ความหลงผิดถึงแก่มรณกรรม
มุมมองต่อวงการวรรณกรรมไทย
คนที่เขียนหนังสือดีส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับวงการวรรณกรรมน้อย
มุมมองต่อรางวัลวรรณกรรมในปัจจุบัน
ขาดความหลากหลายและมีลักษณะสังคมสงเคราะห์มากกว่าการเข้าถึงคุณค่าของวรรณกรรมจริง ๆ
ณ วันนี้สำหรับท่าน การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร
การใช้ชีวิต
รายชื่อนักเขียนในดวงใจ และหนังสือเล่มโปรด
เคยมีคนถามแล้วขอเอาคำตอบเดิมมาตอบ คือ หนังสือ 10 เล่มในดวงใจของข้าพเจ้าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557
- กาลาปาโก้ส ของ จันทรำไพ – เป็นแฟนหนังสือจันทรำไพตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่มีอิทธิพลกับผมมาก โดยเฉพาะภาษาของเธอ
- บอนไซ ของ บ.ส.จ.น. – เป็นนิยายที่ทำรายละเอียดได้น่าสนใจ และเป็นรายละเอียดที่มักไม่ค่อยพบในนิยายไทย เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรถูกนำมาอ่านกันอีกครั้ง
- ราโชมอน รวมเรื่องสั้นของ อะคุตะงะวะ ริวโนะสุเกะ – อะคุตะงะวะคือนักเขียนเรื่องสั้นอันดับหนึ่งในดวงใจของผมขณะนี้ ฉบับแปลชอบทั้งสำนวนเดิมของฉุน ประภาวิวัฒน และสำนวนใหม่ฉบับของสมมติ
- คำสารภาพ ของ ฌอง ฌาก รุสโซ – ฉบับของคบไฟ นี่คือวรรณกรรมเล่มแรกของโลกสมัยใหม่ที่ให้กำเนิดวรรณกรรมร้อยแก้วสมัยใหม่
- Intimacy ของ HanifKureishi – ผสานความรู้สึกตรงกันข้ามเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างหมดจด
- ภาพผ่าน ของ พจนา – เป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านในวัยแสวงหา กระตุ้นอารมณ์และความคิดในตอนนั้น และเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ยังอยู่
- แพน ของ คนุท แฮมซุน แปลโดย รัชยา เรืองศรี – เป็นนิยายที่งดงามที่สุดเรื่องหนึ่ง แฮมซุนเขียนถึงความสันโดษได้ลึกและกินใจโดยพูดน้อยมาก
- โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ – วิธีคิดและจินตนาการของจิตรทั้งอลังการและกระตุ้นความคิด เป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยพลังงาน
- ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล – งานวิชาการที่กระตุกความคิดและความเคยชินอย่างถึงราก
- ประวัติศาสตร์ของความเงียบ ของ อติภพ ภัทรเดชไพศาล – ออกแบบมาอย่างไร้ที่ติ เหนือคำบรรยาย มาสเตอร์พีชของวรรณกรรมไทยที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกท้าทายความสามารถในการเขียนของตน