เพราะส่วนผสมหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกความสำเร็จล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้าน หรือธุรกิจเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นขึ้นภายในโรงรถหน้าบ้าน ก็คือ ‘ความรัก’ เช่นเดียวกับแบรนด์ ‘ยานณกาล’ งานเซรามิคสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดย คุณกรินทร์ พิศลยบุตร และ คุณพชรพรรณ ตั้งมติธรรม สองศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งคู่คิดและคู่ชีวิต ผู้จับมือกันสร้างธุรกิจเล็กๆของพวกเขาด้วยความรัก จนเติบโตกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางระดับสากล
“ชื่อแบรนด์ ยานณกาล มาจากการที่อันดับแรกอยากได้ชื่อภาษาไทย ที่เกี่ยวกับความหมายของเวลา การเปลี่ยนแปลง ผมก็เลยให้พี่สาวตั้งให้ ‘ยาน’ หมายถึง พาหนะที่นำไปสู่จุดหมาย ‘กาล’ ก็คือ เวลา ‘ยานณกาล’ ก็คือ พาหนะที่พาเราเปลี่ยนผ่านเวลา เป็นสเปซที่เคลื่อนไหว
“รูปแบบของงาน คือความเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือต้นไม้ มันสื่อสารกับคนง่าย เพราะคนสามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ง่าย ก็เลยเอาตรงนี้มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ โดยชิ้นงานของเราสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในสเปซนั้นๆได้ จากองค์ประกอบรวมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เท็กซ์เจอร์ เทคนิค ฟอร์ม ยกตัวอย่างจาก ชุดแรกที่ทำให้ดูมันขยับ จะเป็นนกกับผีเสื้อ แทนที่สเปซมันนิ่ง เราเอาของที่มีมูฟเม้นท์เข้าไป มันช่วยให้พื้นที่มีชีวิตมากขึ้น ยิ่งถ้าเราใส่เข้าไปหลายอย่าง บรรยากาศของพื้นที่ก็จะยิ่งเปลี่ยน” คุณกรินทร์บอกเล่าถึงคอนเซ็ปต์ในการออกแบบชิ้นงานต่างๆของแบรนด์ยานณกาล ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน
“จุดเริ่มต้นตอนที่เรียนเซรามิค ผมอยากทำงานในรูปแบบสตูดิโอเล็กๆ อยากทำงานที่ตัวเองทำเองแล้วขายเลี้ยงชีพได้ ตอนแรกคิดง่ายๆเหมือนขายของ แต่โชคดีที่มีประสบการณ์ทำงานในโรงงานเซรามิค ได้ความรู้ที่สามารถนำมาเซ็ทอัพทุกอย่าง ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ทำงานจริงทุกขั้นตอน ได้เรียนรู้เรื่องการขาย ลูกค้าเป็นใคร เจอบายเออร์ ไปออกบูธ ทำบูธเอง ทำทุกอย่างเอง รู้ไอเดียรวมๆว่าทำยังไง เลยเริ่มมาเซ็ทที่บ้าน ตอนเริ่มก็ไม่ได้คิดว่าอยากทำเอ็กซ์ปอร์ต อยากทำแค่พออยู่ได้ และมีเวลาพัฒนางานไปเรื่อยๆ ด้วยความที่เราเป็นคนกลัวความกดดัน คิดว่าการไปเช่าที่เพื่อทำงาน อาจจะเครียด ต้องหมุนจ่ายเงินเดือน ค่าเช่าที่ ความคิดสร้างสรรค์จะหายหมด เลยเริ่มจากเล็กๆ ค่อยๆเติมไปเรื่อยๆดีกว่า ถ้าเครียดสุดท้ายจะไม่เอาแล้ว ไปทำอย่างอื่นเลย ก็เลยขอทำในโรงรถที่บ้าน และที่บ้านก็สนับสนุน ถ้าสังเกตพื้นที่บ้านจะถูกกลืนไปเรื่อยๆครับ (ยิ้ม)
“ตอนเริ่มต้นก็เหมือนจะเป็นดวงนะครับ วันหนึ่งผมเดินผ่านหน้าบ้าน ทักทายกับเพื่อนบ้านตามปกติ คุณป้าบ้านข้างๆท่านนั่งกินข้าวอยู่หน้าบ้าน ถามว่าผมทำอะไร ผมบอกว่าจะทำสตูดิโอเซรามิค คุณป้าก็บอกว่า ที่บ้านมีเตา มีสารเคมีอยู่ มาขนไปสิ เขาก็ให้มาใช้ฟรีๆเลย เขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เริ่มมาจากเตาเล็กๆค่อยๆงอกมาเรื่อย” คุณกรินทร์เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้น ก่อนจะเสกสรรโรงรถที่บ้านมาเป็นสตูดิโอสุดเก๋ ที่กำเนิดแบรนด์ ‘ยานณกาล’ และที่มาอันสุดบังเอิญอย่างเหลือเชื่อของเตาเผาเซรามิคเครื่องแรกที่เป็นตำนานของแบรนด์ในปัจจุบัน
สินค้าของยานณกาลเริ่มเข้าสู่ตลาดด้วยการออกงานแฟร์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิตสินค้าไปออกงานครั้งแรก เป็นทั้งความผิดหวัง และเป็นทั้งสิ่งที่จุดประกายความสำเร็จให้กับแบรนด์ในขณะเดียวกัน เพราะงานที่ออกมาจากเตาเผาพังเสียหายทั้งหมด แต่เนื่องจากจองบูธงานแฟร์ไว้แล้ว คุณกรินทร์ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาวะเครียด ตัดสินใจพลิกสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประกอบกับได้กำลังใจจากคุณพชรพรรณผู้เป็นคู่คิด ก็เลยรวบรวมเอาผลงานที่อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ‘พัง’ ไปจัดโชว์ในรูปแบบการนำเสนอลำดับกระบวนการผลิตงานทั้งหมด แทนการแสดงผลงานขั้นสำเร็จซึ่งพวกเขาไม่มีอยู่ในมือ คุณพชรพรรณเล่าถึงช่วงเวลาระทึกที่ผ่านมาด้วยรอยยิ้ม แม้ในความเป็นจริง ณ จุดนั้นคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจนไม่มีใครยิ้มออก
“ตอนนั้นเป็นแบรนด์ของเขาอยู่แล้ว เราแค่ให้คำปรึกษา นี่ก็เครียด ยืนโมโหหน้าบ้านว่างานพัง เพราะงานแฟร์จะมีพรุ่งนี้แล้ว เราก็ได้แต่สนับสนุนว่า บูธก็เช่าแล้ว ของก็มีเท่าที่มี ก็ให้กำลังใจ แต่ปรากฏตอนไปเขาก็แก้ปัญหาได้ โดยเขาไปวางให้ดูคล้ายกับการโชว์กระบวนการทำงาน มันก็ดูดีไปด้วยซ้ำ มีสตอรี่ กลับกลายเป็นบูธที่ดูน่าสนใจ เมื่อเทียบกับบูธอื่นๆ ลูกค้าที่เดินมาเขาก็จำเราได้ เป็นของแปลก ก็เข้ามาดูเยอะเพียงแต่เขาเข้ามาคอมเม้นท์เป็นส่วนใหญ่ว่า ดี ทำต่อ ก็ประมาณนั้น สุดท้ายลูกค้าที่เข้ามาคอมเม้นท์หลายคนกลับกลายเป็นลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดสามเจ้า ที่เป็นดิสทริบิวเตอร์ เพราะว่าบายเออร์ในเทรดแฟร์ปกติ ถึงเขาเห็นปุ๊ปแล้วชอบ แต่เขาจะไม่สั่งเลย ต้องรอดูก่อนว่าบริษัทนี้ยังอยู่นะ ทำงานได้ ยังอยู่รอด แปลว่าสั่งได้ ส่วนใหญ่บายเออร์เป็นอย่างนั้น ยิ่งคนญี่ปุ่นเขายิ่งต้องเห็นเราหลายๆครั้งก่อน เมื่อเห็นว่าเรามีคุณภาพดีขึ้น บูธเราค่อยๆใหญ่ขึ้นนะ เขาก็กล้าที่จะสั่ง”
สำหรับบางคน ความล้มเหลวในครั้งแรกๆอาจทำให้ถึงขั้นเลิกราไปทำอย่างอื่น แต่เมื่อเป็นงานที่รัก คุณกรินทร์ผู้ไม่เพียงจะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทว่ายังใช้เป็นทั้งบทเรียนและแรงขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
“การไปออกงานแฟร์ตอนแรกเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือมีลูกค้าเข้ามาดู แต่ไม่ซื้อ ที่บอกว่าเป็นลูกค้า บางส่วนเป็นลูกค้าปัจจุบัน เขาก็จะเข้ามาพูดว่า เขาชอบมากเลย ชอบทุกอย่าง เขาก็แนะนำว่าไปเล่าเรื่องให้จบ เข้าใจว่าตอนนั้นเหมือนเริ่มมาเป็นส่วนๆแล้ว ด้วยงานค้างด้วย เวลาไปดิสเพลย์มันก็จะกระจัดกระจายนิดหน่อย เขาบอกอันนี้มันดีก็ไปออกแบบมาให้จบ เขาก็ออกตัวว่า เขาไม่ใช่ลูกค้าผมหรอกเพราะเขาสั่งทีละเยอะๆ ลูกค้ามองว่าเราเป็นสตูดิโอเล็กๆมองว่าสเกลนี้ทำเล็กไม่ได้สำหรับเขา เขาก็ถามข้อมูลว่าผลิตได้เท่าไหร่ เราก็ตอบความจริงว่ามีอยู่สามคน ตอนนั้นยังเป็นเตาจิ๋วอยู่ แผนแรกจริงๆตรงนี้ไม่ได้จะผลิตมาก แค่จะทดลองการผลิตที่สตูดิโอที่บ้านแล้วก็ไปทำกับโรงงานข้างนอก คือเอากระบวนการของเราไปทำกับโรงงานในสเกลใหญ่ได้ นี่คือแผนเพ้อฝันตอนแรก ข้อดีคือ เมื่อเจอลูกค้าประมาณนี้ เจอคนตำหนิ มันสอนเราหลายอย่าง ทำให้รู้ ส่วนตัวผมไม่เคยขายของเลยพูดไม่ค่อยเป็นเวลาขาย บางทีเราพูดความจริง อย่างเวลาที่เราตอบว่า ไม่รู้ มันเหมือนการตอบแบบกวนๆ ลูกค้าอาจจะรู้สึกว่าเป็นศิลปินนี่ ซึ่งคนจะเข้าใจอย่างนั้น การออกแฟร์เป็นประสบการณ์ ได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการรอบๆที่ให้ความช่วยเหลือ ให้เบอร์ติดต่อ พี่ๆแต่ละคนจะช่วยบอก…มีอะไรมาถามพี่ เดี๋ยวพี่แนะนำให้ ซึ่งน่ารักมาก และอีกปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเดินต่อ เพราะงานแฟร์ที่ไปออกมีวันเทรดประมาณ 5 วัน ขายปลีก 2 วัน ปรากฏว่าในวันขายปลีก งานเรากลับขายได้หมดเลย เป็นจุดที่รู้สึกว่า เออมันก็มีทางไป แม้แต่ของพังก็ขายได้” คุณกรินทร์กล่าวเสริม
ณ ความสำเร็จของชีวิตในวันนี้ และความเติบโตที่น่าภาคภูมิใจของธุรกิจภายใต้แบรนด์ ยานณกาล คนส่วนใหญ่คงคิดว่า คุณพชรพรรณและคุณกรินทร์ คงตั้งเป้าขยายธุรกิจให้ใหญ่โตไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด แต่เขาทั้งสองกลับมีมุมมองความสำเร็จต่างกับคนทั่วไป
“ชีวิตเราตอนนี้ก็มาเยอะกว่าที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกมาแล้วครับ ตั้งใจให้เล็กแต่ว่าไม่หยุดพัฒนา อยากอยู่เล็กๆอย่างนี้จริงแต่มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆในสเกลที่เรามี” คุณกรินทร์ตอบ โดยคุณพชรพรรณเสริมว่า
“เป้าหมายความสำเร็จตอนนี้คือ สมดุลในชีวิตค่ะ หาสมดุลนั้นให้เจอว่าคืออะไร หัวใจหลักของการที่ทำงานทุกวันนี้คืออยากให้คนที่ทำงานกับเราในทีม ซึ่งเป็นเพียงทีมเล็กๆที่เราไม่คิดจะขยาย อยากให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุขจริงๆ ให้เขาดูแลครอบครัวเขาได้ มีเวลาดูแลตัวเอง จะทำยังไงถ้าไม่รับงานเยอะ แล้วเขายังอยู่ได้อย่างนั้น เป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบ แต่ตอนนี้เรายังหาสูตรนั้นไม่เจอ ก็ยังพยายามอยู่ค่ะ
“จุดความสำเร็จที่พวกเราเคยตั้งใจกันไว้ตอนแรกมันผ่านมาแล้ว ตอนนั้นเราแค่คิดว่าให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก คนยอมรับ ส่งออกได้ ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เป้าหมายความสำเร็จหลังจากนี้ คงอยากจะมีความรักในการทำงานต่อเนื่องไปทุกๆวันมากกว่า”
ขอบคุณข้อมูลจาก วารสาร Supalai@Home ฉบับไตรมาส1 / 2018