พระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

พระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔o)

พระอุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร เป็นงานสถาปัตยกรรมไทยอีกหลังหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตั้งแต่ขั้นตอนการวางแนวความคิดในการออกแบบ มีสถาปนิกผู้ถวายงาน คือ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามหลัก “บวร” โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดตัวอย่างของชุมชน  ที่มีลักษณะเฉพาะต่างจากวัดอื่นๆทั้งด้านโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ กล่าวคือ เป็นวัดขนาดเล็กในชุมชนเมืองที่ใช้งบประมาณที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอยสูงสุด มีบทบาทหน้าที่ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาอบรมศีลธรรมและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการเป็นศูนย์รวมแห่งความร่วมใจในการพัฒนาชุมชน และเป็นตัวอย่างในการประสานความร่วมมือบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนเหมือนอย่างประเพณีไทยโบราณที่มีบ้าน วัด และโรงเรียน ร่วมช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดมา


ในการออกแบบพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางในการออกแบบ ให้พระอุโบสถมีขนาดกะทัดรัดสอดคล้องกับลักษณะของชุมชนและสามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้ สถาปนิกผู้ถวายงานจึงน้อมรับแนวพระราชดำริมาดำเนินการออกแบบพระอุโบสถ โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารอย่างคุ้มค่า วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตในประเทศไทย รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

เน้นลักษณะเฉพาะตัวในแบบอย่างสถาปัตยกรรมปัจจุบัน โดยได้ต้นเค้าจากสถาปัตยกรรมรูปทรงปูนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ ความเรียบง่ายและการใช้มุขประเจิดของพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ รูปทรงของเสาจากพระอุโบสถวัดราชาธิวาส และลวดลายปูนปั้นประดับหน้าบันของพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ ผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีระเบียงและบันไดทางขึ้นหน้า-หลัง หลังคาทรงจั่ว ยกคอสองและมีกันสาดโดยรอบ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องบนเป็นโครงเหล็ก กระเบื้องหลังคาเป็นแผ่นเหล็กชุบสีขาว เครื่องปิดเครื่องมุงเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ลายหน้าบันเป็นลายดอกพุดตาน ปิดทองเฉพาะที่ตราราชลัญจกร ประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ส่วนผนังและเสานั้นก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้แบบเรียบ ฝังไฟเป็นระยะ โคมไฟในแนวกลางเดิมออกแบบเป็นโคมหวดหรืออัจกลับแบบเรียบ แต่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชาประดับไว้แทนรวม ๔ ช่อ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ และยังมีพระราชประสงค์ให้พระอุโบสถที่เรียบง่ายเช่นนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย

สถาปนิก :  นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น

 

 

 

You may also like...