วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2554 เวลา 14.00 น.ห้องนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ประเด็นการเสวนา
1.ถกปัญหาการสร้างงานศิลปะในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ในบริบทของวัฒนธรรมที่หลากหลาย
2. ลักษณะความเป็นอัตลักษณ์ของลายท้องถิ่นภาคใต้ ที่นำมาประยุกต์และพัฒนามาเป็นงานศิลปกรรมร่วมสมัย โดยมองถึงว่า มีขีดจำกัดของการสร้างงานหรือไม่
3. การสร้างสรรค์โดยเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจนถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน จากมุมมองของคณาจารย์ศิลปินและภัณฑารักษ์ตลอดจนผู้ชมว่ามีเสียงสะท้อนอย่างไรต่อการสร้างสรรค์งาน
4. ความยากง่ายในการนำเสนอและสร้างสรรค์งานศิลปะในบริบทความรุนแรงของพื้นที่และความเป็นจริงของ
พื้นที่จากคนใน
และขอเชิญชมการแสดงดนตรีโดยวง “เบบี้อารเบีย”
วิทยากร: อ.พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น อ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ คุณก้อง ฤทธิ์ดี
ดำเนินรายการ: ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
การเมืองในศิลปะอิสลาม: ความขัดแย้ง ยุ่งยาก และยุ่งเหยิง
วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 เวลา 14.00 น.
โถงบริเวณหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การเสวนาในวันนี้มุ่งถกเถียงแลกเปลี่ยนถึงกระบวนทัศน์เรื่องศิลปะกับการเมือง นำเสนอศิลปะในโลก
อิสลามและอารยธรรมอิสลามซึ่งจะเห็นว่ามีความหลากหลายทั้งในแง่มุมมองและการสร้างสรรค์ผลงานในโลกอิสลามโดยยกกรณีของการนำเสนอศิลปะอิสลามในโลกตะวันตกที่คฤหาสน์แชงกรีลาของมหาเศรษฐีนีดอริส
ดุ๊คที่เมืองฮอโนลูลู รัฐฮาวายอิ สหรัฐอเมริกาและปัญหาการนำเสนองานศิลปะและสร้างสรรค์งานศิลปะในโลกและวัฒนธรรมอิสลาม
นอกจากนี้ มีการอ่านบทกวีโดย ซะกรียา อำมาตย์ และการแสดงดนตรีโดย “วงเบบี้อารเบีย”
วิทยากร: ผศ. ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี (สถาบันศาสนาและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ)
คุณกฤติยา กาวีวงศ์ (มูลนิธิหอศิลปะบ้านจิมทอมป์สัน)
ดำเนินรายการ: ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภัณฑารักษ์ศาลาไทยเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54
นิทรรศการลีลาของลายใหม่ ศิลปะร่วมสมัย สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
4 สิงหาคม – 16 ตุลาคม 2554 (พิธีเปิดเป็นทางการไปเมื่อวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2554)
ที่ห้องนิทรรศการชั้น 7 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ซึ่งนำเสนอโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรุงเทพมหานคร
“ลีลาของลายใหม่” โดย 28 ศิลปินร่วมสมัยจาก สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สะท้อนถึงความหลากหลายด้านความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินรุ่นใหม่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ จากพื้นฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ปรากฎในสิ่งของในชีวิตประจำวันอย่าง ผ้าลายปาเต๊ะ เรือกอและ หนังตะลุง แสดงถึงรูปทรง สีสัน ลวดลาย สวยงามจนเป็นที่ประจักษ์ ประทับใจ และซึมซับจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ศิลปินได้รับและนำมาบูรณาการ ผูกวาง ร่างลวดลายใหม่ด้วยความชำนาญ สานต่อเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย นอกจากการใช้ลวดลายแล้ว ยังปรากฎการวาดภาพเหมือน หรือการสร้างภาพเหมือนจริง ได้เป็นเรื่องท้าทายพื้นฐานขนบวัฒนธรรมของศิลปินที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และค้นพบศิลปะแบบต่างๆ จากการที่ได้ผ่านสถาบันการศึกษาศิลปะร่วมสมัย ในฐานะหน่อเนื้อเชื้อไขของชาวบ้าน ศิลปินรุ่นนี้ได้แตกดอกผลิใบต่อไป จากการทำงานศิลปะ ทดลองความคิด เทคนิคใหม่ โดยไม่ละทิ้งเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้านหมู่บ้านชุมชน เรื่องราวชีวิตของตายายที่สะท้อนความผูกพันและสายใยทางวัฒนธรรม ขณะที่บางศิลปินถ่ายทอดความอดทนเข้มแข็งในชีวิตแม่เฒ่า เหล่าผู้อาวุโสในสังคมจารีต การเสนอความคิดโดยใช้สื่อด้วยภาพเหมือนเป็นเรื่องใหม่และงานบุกเบิกในบริบทท้องถิ่น ในเวลาเดียวกันบางศิลปินได้นำภาพเหมือนมาสื่อถึงมิติรูปธรรม สะท้อนความไม่เที่ยงของชีวิต จะเห็นว่าภาพเหมือนและลวดลายเรื่องรูปธรรมและนามธรรม เป็นเรื่องสนทนาเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ แต่กำลังได้มีชีวิตชีวาขึ้นอีก เป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรที่เคยเป็นที่ขึ้นฝั่งของอารยธรรมโบราณและศิลปินรุ่นใหม่ได้ใช้พลังสร้างสรรค์ ถักทอเชื่อมโยงมาสู่ปัจจุบัน
นอกจากประเด็นทางวัฒนธรรมแล้ว ผลงานศิลปะกลุ่มนี้สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมในช่วงประสบการณ์และชีวิตของคน เช่น ฝั่งทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของท้องที่ และชีวิตของท้องถิ่น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้อาจจะเห็นได้ไม่ชัดในสภาพแวดล้อมของเมืองสมัยใหม่ แต่สิ่งที่แสดงออกมาให้ประจักษ์บนงานจิตรกรรม ก็สร้างถึงความชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและสังคมในท้องถิ่น ศิลปินส่วนหนึ่งที่แสดงงานนิทรรศการ ได้มองถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม สืบเนื่องจากที่ดินแดนคาบสมุทรแห่งนี้เป็นทางแพร่งผ่าน เป็นดินแดนจัตุรัสสัญจร ซึ่งผู้คนหลายหมู่หลายเหล่าได้รู้จักการทำมาหากินอยู่ร่วมกันมาช้านาน มีการแลกเปลี่ยนและต่อรองกันอย่างเข้มข้น ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเดือดร้อนวิตกกังวล ศิลปินที่มีจิตใจสร้างสรรค์ เชื่อมโยง และมองโลกที่มีแสงสว่าง ก็สามารถสร้างและหาแนวทางของวิถีชีวิตที่มีความบรรสานและปรองดอง นิทรรศการ ‘ลีลาของลายใหม่’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สร้างโอกาสให้มีการสนทนาระหว่างคนในท้องถิ่นต่างๆ ผ่านผลงานศิลปะ เป็นการรับรู้และการแลกเปลี่ยนความคิด อย่างน้อยที่สุด การหยิบยกเรื่องรูปธรรม นามธรรม มาเป็นบทสนทนาอีกวาระหนึ่ง เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสังคมในปัจจุบัน สังคมที่อาจเต็มไปด้วยรูปลักษณ์ ทั้งภาพจริงและภาพลวงตา
ภัณฑารักษ์นิทรรศการ
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น
ศิลปิน : สุริยา เจะมุ, เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ, การีมะห์ ดอเล๊าะ, มูฮัมหมัดซุรียี มะซู, ตอเฟต บูลายามา, มณี มีมาก, วิรุณ จันทร์ทอง, สมศักดิ์ ลีเดร์, ปรัชญ์ พิมาแมน, คีต์ตา อิสรั่น, นุรัตนา หะแว, ปวีณา กล่อมนก, ออมสิรี ปานดำรง, ศิริชัย พุ่มมาก, ฮาซามี เปาะแซยือไร, อนีส นาคเสวี, อิมรอม ยูนุ, วุฒิเกียรติ วัฒกี, ซัลวาณี หะยีสะแม, ชูศักดิ์ ศรีขวัญ, พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น, สยุมภู ยมนา, ชัยรัตน์ แสงทอง, อาซีด สะอาดวารี, จรุงรัตน์ รอดคีน, รอพีอะ อาลี, อัลฟาตีฮะห์ มันเหมาะ และซาบีย๊ะ มะแอ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 02 214 6630 โทรสาร 02 214 6639
email: prbacc@hotmail.com
website: www.bacc.or.th / facebook: www.facebook.com/baccpage