คำพูน บุญทวี

คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ คูน เกิดเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร (ขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี) เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 7 คนของนายสนิทและนางลุน บุญทวี

คำพูนเรียนหนังสือที่บ้านเกิดจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนปรีชาบัณฑิต จากนั้นจึงเริ่มทำงานหลายอย่างในจังหวัดภาคอีสาน เป็นหัวหน้าคณะรำวง และขายยาเร่ ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นกรรมกรรับจ้างรายวันที่ท่าเรือคลองเตย เป็นคนเลี้ยงม้าแข่ง เป็นสารถีสามล้อ จนกระทั่งสอบเป็นครูได้บรรจุที่ภาคใต้ สอนหนังสืออยู่ 11 ปี จึงเปลี่ยนไปเป็นผู้คุมเรือนจำ ต่อมาแต่งงานกับ นางประพิศ ณ พัทลุง เมื่อ พ.ศ. 2504 มีบุตร 6 คน แล้วลาออกมาจากงานราชการนี้เมื่ออายุได้ 40 เศษๆ เขาเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งยังเป็นผู้คุม ตอนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เขาจึงมุมานะอ่านหนังสือ และเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขาเขียน คือ “ความรักในเหวลึก” ส่งไปที่นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “นิทานลูกทุ่ง” พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาเขียนหนังสือต่อไป เขาจึงเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ มนุษย์ 100 คุก จากนั้นก็เขียนเรื่อยมา เขาจึงกลายเป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้นและสารคดี หนังสือที่ได้รับรางวัลได้แก่

ลูกอีสาน ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2519 และได้รับรางวัล ซีไรท์ เมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นผลงานที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมปลาย ลูกอิสาน ได้รับการแปลภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

นายฮ้อยทมิฬ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2520 หลังจากนั้นเขาจึงลาออกจากผู้คุมมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพ

เมื่อภรรยาคนแรกเสียชีวิต เขาจึงมีภรรยาใหม่ ชื่อ ลันนา เจริญสิทธิชัย ซึ่งภายหลังได้เขียนนวนิยายเรื่อง “เจ๊กบ้านนอก” โดยใช้นามปากกาว่า กิมหลั่น และร่วมกันทำสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน เพื่อพิมพ์หนังสือของครอบครัว

คำพูน  บุญทวี ได้รับการยกย่อง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2546 คำพูน บุญทวี ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รวมอายุได้ อายุ 74 ปี

ลูกอีสาน เป็นหนังสือนวนิยายของคำพูน บุญทวี ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2522 และได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน ในปีพ.ศ. 2525 รวมทั้งยังได้รับการจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย การเขียนของผู้เขียนสามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานและบรรยายภาพได้สมจริงจนเกิดเป็นมโนภาพ

ลูกอีสาน แต่งโดย คำพูน บุญทวี ในรูปแบบนวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 ที่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ความหนา 290 หน้า  หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนิยาย ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปีพ.ศ.2519 และรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมรางวัลซีไรท์ดีเด่นประเภทนิยายประจำปี พ.ศ. 2522 ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวอีสานโดยกำเนิดได้นำเอาประสบการณ์และ เกร็ดชีวิตเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนออกมาเขียน เล่าชีวิตช่วงเด็กในแผ่นดินที่ราบสูงสะท้อนออกมาเป็นเรื่องราว ชีวิตชนบทแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่สภาวะธรรมชาติ ความสุข ความทุกข์ และการต่อสู้อย่างทรหด อดทนกับความแปรปรวนของธรรมชาตินับได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีค่าต่อการศึกษาสังคมท้องถิ่นอีสานอย่างมาก

ลูกอีสาน เป็นการนำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนพบเห็น ถ่ายทอดในรูปของนิยาย โดยได้เขียนเป็นตอนๆ ประมาณ 36 ตอน เพื่อพิมพ์ลงในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ช่วงปี พ.ศ.2518 – 2519 ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องราวโดยผ่านเด็กชายคูน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นชนบท ของอีสาน แถบที่จัดได้ว่าเป็นถิ่นที่แห้งแล้งแห่งหนึ่งของไทยชีวิตความเป็นอยู่ของ ครอบครัวเด็กชายคูน ประกอบด้วยพ่อแม่ และลูก 3 คน และเพื่อนบ้านในละแวกนั้นไม่มีความแตกต่างกันนัก นั่นก็คือ ความจนข้นแค้นต้องหาอาหารตามธรรมชาติทุกอย่างที่กินได้ เมื่อความแห้งแล้งอย่างรุนแรงมาเยือน ครอบครัวเพื่อนบ้านก็เริ่มอพยพออกไป แต่ครอบครัวของเด็กชายคูน และกลุ่มที่สนิทชิดเชื้อกันยังคงอยู่ เพราะเขามีพ่อและแม่ที่เอาใจใส่ ขยันขันแข็งไม่ย่อท้อภัยและอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนมองเห็นความสำคัญของการศึกษา แม้จะยากจนอย่างไร เด็กชายคูนก็ได้เข้าเรียนในระดับการศึกษาประชาบาล เด็กชายคูนมีเพื่อนสนิทชื่อจันดี ผู้เป็นคู่หูในการทำอะไรด้วยกันตาม ประสาเด็กผู้ชาย แล้วยังมีครอบครัวของทิดจุ่นและพี่คำกอง สองสามีภรรยา เป็นต้น

ผู้เขียนได้เล่าถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนความเชื่อของชาวอีสาน โดยผ่านเด็กชายคูน รวมไปถึงการบรรยายถึงสภาพความเป็นไปตามธรรมชาติของผู้คนและสภาพแวดล้อม เช่น การเกี้ยวพาราสีกันของทิดจุ่นและพี่คำกอง จนท้ายที่สุดก็ได้แต่งงานกัน การออกไปจับจิ้งหรีดของคูน การเดินทางไปหาปลาที่ลำน้ำชีเพื่อนำปลามาทำอาหาร และเก็บถนอมเอาไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า เป็นต้น เรื่องราวทั้งหมด นั้นเน้นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แสดงวิธีการของการดำรงชีวิตตามธรรมชาติในถิ่นอีสานเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นยังแทรกความสนุกสนามเพลิดเพลินจากการทำบุญตามประเพณีไว้หลายตอนด้วย ได้แก่การจ้างหมอลำหนู ซึ่งเป็นหมอลำประจำหมู่บ้าน ลำคู่กับหมอลำ ฝ่ายหญิงที่ว่าจ้างมาจากหมู่บ้านอื่น ทั้งกลอนลำและการแสดงออกของหมอลำทั้งสองได้สร้างความสนุกสนานครึกครื้นแก่ผู้ชมที่มาเที่ยวงานอย่างมาก

ลูกอีสานเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา และแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอีสานว่าต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร การเรียนรู้ที่จะอดทนเพื่อเอาชนะกับความยากแค้นตามธรรมชาติ ด้วยความมานะบากบั่น ความเอื้ออารีที่มีให้กันในหมู่คณะ ความเคารพในระบบอาวุโส สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในแต่ละตอนของลูกอีสาน ดังที่พ่อของคูนบอกว่า
“…เรื่องน้ำใจ พ่อของคูนเคยสอนคูนเหมือนกันว่าคนมีชื่อนั้นคือ คน รู้จักสงสารคนและช่วยเหลือคนตกทุกข์ ถ้าไม่มีสิ่งของช่วย ก็เอาแรงกาย ช่วย และไม่เลือกว่าคนๆ นั้นจะอยู่บ้านใด อำเภอใด”

กรณีพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ลูกอีสาน
คำพูน บุญทวี ได้เกิดข้อพิพาทกับบริษัทบรรณกิจเทรดดิ้ง ในเรื่องลิขสิทธิ์ของนวนิยายเรื่องลูกอีสาน เนื่องจากคุณคำพูนได้ขอร้องให้บริษัทฯ ยุติการพิมพ์เผยแพร่นวนิยายเรื่องลูกอีสาน แต่ว่าบริษัทฯ ไม่ยอม คุณคำพูน คุณกิมหลั่น และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันต่อสู้คดี โดยมีคุณงามพรรณ เวชชาชีวะเป็นที่ปรึกษา และผลสุดท้าย คุณคำพูนชนะคดี และได้รับลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องนี้กลับคืนมา หลังจากที่ชนะคดีแล้วก็ได้ทำพิธีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสที่ได้นวนิยายเรื่องนี้กลับคืนมา

รางวัลที่ได้รับ
– รางวัลดีเด่น ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2519
– รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปีพ.ศ. 2522

ที่มาข้อมูล :  http://th.wikipedia.org
ที่มารูปภาพ : http://www.all-magazine.com

 

You may also like...