เกิดที่โอซากา ปี 1899 ในหมู่บ้านชาวนาแห่งหนึ่ง ไม่นานนักพ่อของเขาก็จากไปด้วยวัณโรค และในปีต่อมาแม่ของเขาก็จากไปด้วยโรคเดียวกัน คาวาบาตะ ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เขาเติบโตขึ้นมาโดยการเลี้ยงดูของปู่และย่า ส่วนพี่สาวของเขาผู้เป็นป้ารับไปเลี้ยง
ช่วงที่คาวาบาตะเข้าเรียนชั้นประถมในปีนั้นย่าก็มาจากเขาไป เมื่อเขาอายุได้สิบขวบพี่สาวคนเดียวก็ล้มป่วยและจากไปอีกคน เหลือปู่ที่เป็นญาติใกล้ชิดคนสุดท้ายก็มาจากไปตอนที่เขาอายุได้สิบหกปี การจากไปของปู่ทำให้เกิดงานเขียนชิ้นแรก ชื่อ บันทึกในวัยสิบหก ซึ่งได้ตีพิมพ์ในอีกสิบปีต่อมา
คาวาบาตะต้องย้ายเข้าไปอยู่หอพักในโรงเรียนกระทั่งจบมัธยมต้น จึงเดินทางไปโตเกียวเพื่อศึกษาต่อมัธยมปลาย ได้เข้าเรียนในคณะวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยโตเกียวและได้ขอย้ายไปเรียนคณะวรรณคดีญี่ปุ่น
การมีชีวิตโดดเดี่ยวทำให้เขาเข้าหาหนังสือ ความเป็นนักเขียนฉายชัดขึ้นในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจาก คิคุจิ คัน นักเขียนมีชื่อผู้เป็นเจ้าของนิตยสารวรรณกรรมฉบับหนึ่ง
คาวาบาตะชอบท่องเที่ยวไปตามลำพัง เคยมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะละครเร่ และเมื่อผิดหวังจากความรัก เขาเริ่มเขียนนวนิยายขนาดสั้น ระบำเร่ ซึ่งกลายเป็นนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้เขาทันที
ด้วยความแตกฉานในวรรณคดีญี่ปุ่น เขาจึงกลายเป็นต้นแบบสำคัญให้นักเขียนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้จนมีลูกศิษย์มากมาย ในจำนวนนั้นมี ยูกิโอ มิชิมา นักเขียนคนสำคัญของญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย
ตลอดชีวิตทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คาวาบาตะ ได้ใช้ประสบการณ์มากมาย ที่เคยใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่กับคนยากจน หญิงเกอิชา นักทัศนาจร ก่อให้เกิดงานเขียนที่โด่งดังหลายชิ้น เช่น เมืองหิมะ ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก นวนิยายทรงคุณค่าและสร้างชื่อให้เขา คือ กระเรียนพันตัว เสียงแห่งขุนเขา วิมานมายา กรุงเก่า ทะเลสาบ รันทดและงดงาม ฯลฯ ความเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ชีวิต และฝีมือทางด้านศิลปะในงานเขียนทำให้งานของคาวาบาตะล้วนทรงคุณค่า บัณฑิตยสภาสวีเดนได้พิจารณามอบรางวัลโนเบลให้คาวาบาตะ ยาสุนาริ ในปี 1968 นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดแก่คาวาบาตะและคนญี่ปุ่น
ในวันที่ 16 เมษายน 1972 คาวาบาตะ ยาสุนาริ ได้ทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการรมแก๊สภายในอพาร์ทเมนท์ของเขาเอง ไม่มีจดหมายหรือข้อความใดทิ้งไว้ให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลัง มีเพียงงานเขียนที่กลายเป็นมรดกทางศิลปะชิ้นสำคัญทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้
วรรณกรรมที่มักเล่าเรื่องราวการเดินทางเข้าสู่โลกด้านในของมนุษย์ เป็นงานเขียนที่สำคัญที่ทำให้เรารู้จักผู้อื่นและตนเองมากขึ้น แต่การอธิบายแนวคิดเหล่านี้ เป็นงานเขียนที่หนักหนาสำหรับนักเขียน เมื่อชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งซับซ้อน น่าฉงนและชวนศึกษา แต่ชีวิตของมนุษย์นั้นอาจไม่เคยมีใครได้ศึกษาเรียนรู้จนจบสิ้นก็เป็นได้ กระนั้นก็ตาม ยาสึนาริ คาวาบาตะ นับเป็นเจ้าแห่งวรรณกรรมที่สามารถบอกเล่าถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้าง และนับได้ว่าเป็นนักเขียนที่ซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ของตนเอง
แด่ เสียงแห่งขุนเขา
อ้างอิง : หนังสือ เสียงแห่งขุนเขา สำนักพิมพ์นาคร