Text: วีร์ ศรีวราธนบูลย์
การลงทุนในงานศิลปะนั้นมีมานานตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ คุณค่าของงานศิลปะนอกเหนือจากความงดงามเป็นที่ชื่นชอบของผู้สะสม คือความเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์ ที่แต่ละชิ้นมีผลงานต้นฉบับเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่ว่าผลงานนั้นจะถูกลอกเลียนหรือผลิตซ้ำออกไปมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจเทียบเท่าคุณค่ากับงานต้นฉบับที่เป็นของจริงได้ ทำให้คุณค่าและมูลค่าของงานต้นฉบับถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆจากความต้องการซื้อของผู้ที่ปรารถนาจะครอบครอง ซึ่งบางคนอาจจะแย้งว่า เป็นมูลค่าที่เกิดจากการสมมุติขึ้น เพราะศิลปะเป็นของที่นำมาใช้ประโยชน์อะไรจริงๆไม่ได้เลย อีกทั้งยังไม่มีราคากลางหรือสิ่งที่ใช้ประกันมูลค่า แต่คำกล่าวแย้งนั้นก็ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย เพราะไม่ว่าจะนานแค่ไหน ความต้องการในงานศิลปะก็ไม่เคยหมดไป จนกระทั่งมาถึงวันนี้ที่ผู้คนสามารถซื้อขายงานศิลปะกันได้ในโลกดิจิทัล มีการนำเสนองานศิลปะในรูปแบบ NFT ที่ทำให้โลกของการสะสมงานศิลปะยิ่งเปิดกว้างและหลากหลายยิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก
NFT คืออะไร?
NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token คือ Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล (เหรียญคริปโต) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความพิเศษตรงที่เหรียญเหล่านี้มีหนึ่งเดียว และไม่สามารถนำอย่างอื่นมาทดแทนกันได้ ต่อให้ก็อปปี้ไปหลายๆ ชิ้น แต่ต้นฉบับก็มีเพียงหนึ่งเดียว เช่น ภาพถ่าย ภาพวาดศิลปะ ภาพกราฟิก คลิปวิดีโอและเพลง เกิดขึ้นจากการที่ศิลปินนำผลงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมาแปลงเข้าไปเป็นข้อมูล หรือเรียกว่า ‘เข้ารหัส’ ในระบบดิจิทัล NFT ที่เปรียบเสมือนใบรับรองดิจิทัล ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่รักษาความเป็นต้นฉบับของผลงานว่ามีเพียงชิ้นเดียว ทำทดแทนขึ้นมาใหม่ไม่ได้ และมีการบันทึกเข้าไปในระบบที่เรียกว่า Blockchain โดยทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้นมีใครเป็นเจ้าของ ผลงานศิลปะชิ้นนั้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสามารถซื้อ-ขายได้
เหตุผลของคุณค่าและมูลค่าของ NFT เปรียบได้กับรูปโมนาลิซา ซึ่งของจริงที่มีมูลค่าสูงจะมีอยู่เพียงหนึ่งชึ้น ไม่สามารถเอารูปที่วาดเลียนแบบ หรือแม้แต่ภาพเขียนชื่อดังอื่นๆที่มีมูลค่าใกล้เคียงมาทดแทนกันได้ ทำให้ NFT ไม่เหมือนสกุลเงินอื่นๆ เช่นเงินบาท หรือ Bitcoin ที่แต่ละเหรียญแต่ละหน่วยไม่ได้มีความแตกต่างกัน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การซื้อ NFT นั้นไม่ใช่การซื้องานศิลปะไปเก็บสะสมโดยตรง แต่เป็นการซื้อความเป็นเจ้าของงาน Original ชิ้นนั้นในระบบดิจิทัล ไม่ใช่การซื้อ Physical Artwork (ในกรณีของงานศิลปะที่จับต้องได้) ที่ต้องระบุว่าเป็น Original ก็เพราะผลงานจริงๆ ไม่มีอะไรที่จะห้ามคนอื่นๆจากการดาวน์โหลด หรือคัดลอกงานชิ้นดังกล่าวไปขายต่อ แต่คนที่ซื้อขายงานประเภทนี้ก็จะเข้าใจในมูลค่าที่แท้จริงของมัน เพราะใครๆก็สามารถพิมพ์หรือคัดลอกภาพโมนาลิซาที่ดูเหมือนต้นฉบับเป๊ะๆ มาแปะฝาบ้านได้ได้ แต่คนที่เป็นเจ้าของภาพที่แท้จริงนั้นมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น นับว่าเป็นการสะท้อนมุมมองใหม่ที่คนมีต่อการเป็นเจ้าของงานศิลปะ
.
ผู้สร้างงาน ผู้ขายและผู้ซื้อ จะเข้าไปสู่ NFT ได้อย่างไร
วิธีคิดง่ายๆก็คือ เราจะต้องเริ่มด้วยการเข้าไปเป็นสมาชิกหรือเป็นพลเมืองของชุมชนหรือเมืองใดเมืองหนึ่ง ที่ทุกคนในเมืองนั้นมีความเห็นตรงกันว่า มีของสิ่งใดที่ทุกคนพร้อมใจกันเชื่อว่ามีคุณค่าร่วมกัน เช่น ถ้าคนในเมืองนี้กำหนดให้ ‘เปลือกหอย’ เป็นของมีค่า เปลือกหอยก็จะเป็นสิ่งที่ใช้แทนตัวเงินเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในเมืองนั้นได้ โดยสำหรับแต่ละชุมชนหรือแต่เมืองในโลกดิจิทัลก็จะถูกเรียกว่า ‘แพลตฟอร์ม’ ในแต่ละแพลตฟอร์มก็จะประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นผู้คนที่เห็นค่าในสิ่งเดียวกัน (ซึ่งคนอื่นทั่วไปอาจไม่เห็นค่าอะไรเลย)
สำหรับคนที่เห็นคุณค่าในงานศิลปะดิจิทัล ก็ต้องเข้าไปในแพลตฟอร์มของ NFT ที่ใช้สำหรับซื้อ-ขาย สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ก็มีมากมายหลายเว็บไซต์ ซึ่งต่างก็เป็นแหล่งสะสมผลงานที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น OpenSea แหล่งคริปโตอาร์ตที่มีชื่อเสียง ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถแปลงงานของตัวเองสู่ดิจิทัล และตั้งราคาเองได้
.
ถ้าศิลปินต้องการขายผลงานในรูปแบบ NFT ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ถ้าคุณเป็นศิลปินที่อยากขายงานในแพลตฟอร์ม NFT ลำดับแรกคือศิลปินจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกหรือประชากรของชุมชนหรือแพลตฟอร์มก่อน จึงจะไปเปิดร้านขายของตัวเองได้ เหมือนกับการเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเมืองหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เราก็ต้องมีเงินทุนเดิมติดตัวไปและเอาเงินที่เรามีไปแลกเป็นสกุลเงินที่เขาใช้สอยกันในประเทศนั้นๆ มีกระเป๋าสตางค์ที่เอาไว้จ่ายและรับเงินเข้าออก เรียกว่ามี Blockchain Wallet และ Cryptocurrency ของ Blockchain นั้น ซึ่งมีให้เลือกหลายตัวแตกต่างกันไปในหลายแพลตฟอร์ม แต่ที่นิยมใช้กันมากและได้รับความเชื่อถือที่สุดคือ Ethereum ซึ่งสามารถเอาเงินของเราไปเปิดบัญชีหรือสร้าง Blockchain Wallet ของเราได้ด้วยแอพ MetaMask
เมื่อมีเงินและกระเป๋าตังค์แล้ว เราจึงสามารถนำผลงานของเราออกมาขายได้ กระบวนการนี้ เรียกว่า Minting Process แปลตรงตัวว่าการปั๊มเหรียญ หรือแปลงงานของเราให้เป็น Token นั่นเอง เป็นการเอาผลงานที่เรามีมาขึ้นทะเบียนหรือตีทะเบียนเข้ารหัสล็อคไว้ว่า งานศิลปะดิจิทัลที่เป็นออริจินัลของเรามีรหัสเท่านั้นเท่านี้ ถือเป็นตัวตนดิจิทัลอย่างเป็นทางการเป็นที่รับรู้ในระบบ Blockchain แล้ว ซึ่งตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียม เปรียบเสมือนการเปิดร้านหรือการเช่าพื้นที่ในห้าง มีราคาแตกต่างกันออกไป ปัจจุบันขึ้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 100$ Ether
เมื่อเตรียมทุกอย่างข้างต้นพร้อม ขั้นตอนต่อไปก็คือการเลือกตลาดที่จะเอาไปขาย ตลาดที่ใช้กันมากที่สุดได้แก่ Mintable, Rarible และ OpenSea อย่างหลังสุดนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย และคนที่เอางานมาขายในนี้ก็ไม่จำเป็นต้องถูกรับรองในฐานะศิลปินอย่างเป็นทางการ แต่หากยึดตามคำเปรียบเปรยข้างต้น การนำงานของเรามาขายใน OpenSea ก็มีข้อเสียอยู่ เหมือนการไปปูผ้าขายตามทางเดินในตลาดนัด ที่มีคนร้อยพ่อพันแม่มาตั้งขายอยู่แล้วจนเกลื่อน เต็มไปด้วยสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ แต่สำหรับมือใหม่ตลาดนี้ก็เหมาะกับการทดลองขั้นตอนในการ Mint เป็นอย่างดี และเป็นการชิมลางตลาดโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน
หลังจากนั้น ก็ทำการเชื่อมบัญชีหรือหน้าร้านในตลาดของเรากับกระเป๋าเงินคริปโต ซึ่งแต่ตลาดแต่ละแพลตฟอร์มจะมีวิธีการเชื่อมที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่เป็นกระบวนการที่เข้าใจง่ายและมีคำอธิบายให้ในแต่ละขึ้นตอน เมื่อเชื่อมเรียบร้อยก็สามารถอัพโหลดงานของเราไปใน Collection กรอกข้อมูลตามที่ต้องการ ตามด้วยกด Create และกดขายพร้อมกับเลือกตั้งราคา โดยศิลปินจะกำหนดราคาชัดเจน หรือใส่ราคาขั้นต่ำสำหรับประมูลก็ได้ก็เป็นอันเสร็จ ส่วนจะขายได้หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ความนิยมเฉพาะกลุ่ม กระแส ชื่อเสียงของศิลปิน คุณภาพของงาน คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการโปรโมท
.
นักงทุนที่อยากซื้อ NFT ต้องทำอย่างไร
สำหรับคนที่ไม่ได้ซื้อขาย Cryptocurrency มาก่อน ก็ต้องเปิดบัญชี (สำหรับมือใหม่ แนะนำ: Coinbase และ eToro เพราะใช้ง่ายที่สุด) เมื่อ Crypto exchange account แล้ว ก็เอาเงินของเราซื้อ Ether หรือสกุลเงินคริปโตอื่นๆที่ต้องใช้ แล้วโอนเข้าไปใน wallet ที่เชื่อมกับ NFT marketplace ที่มีงานที่เราจะซื้อ บางงานก็สามารถซื้อได้เลย แต่ส่วนใหญ่จะซื้อขายในรูปแบบการประมูล ซึ่งผู้ซื้อก็จะต้องเสนอราคาไปเอง แนะนำว่ามือใหม่ควรทดลองด้วยเงินจำนวนน้อยๆก่อนจนเข้าใจ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าทำอะไรผิดพลาดไปแล้วจะเสียเงินก้อนโต
.
คุณค่าและประโยชน์ของ NFT
จากฝั่งของผู้ซื้อและนักสะสม การมองหรือประเมินคุณค่าราคาของงาน NFT ในฐานะสกุลเงินอาจจะทำได้ยาก แต่หากมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการสะสมศิลปะแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าคนที่ซื้อ NFT นั้นเป็นคนประเภทไหน และซื้อเพื่ออะไร นอกจากการได้สิทธิพื้นฐานในการนำมาใช้ สนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ และความรู้สึกของการได้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นพิเศษนี้แล้ว ผู้ลงทุนใน NFT ส่วนใหญ่สามารถทำเงินได้จากการนำมาขายต่อในราคาที่สูงขึ้น
ในฝั่งของศิลปิน NFT ก็เป็นพื้นที่ใหม่สำหรับงานศิลปะดิจิตอล และงานที่อาจจะไม่สามารถซื้อขายได้ใน physical platform (เช่น ทวิตของแจ๊ค ดอร์ซีย์ เจ้าของทวิตเตอร์ ที่ถูกนำมาขายเป็น NFT ในราคาสองล้านดอลลาร์สหรัฐ) การขายงานในรูปแบบ NFT ยังเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของศิลปินในกรณีที่งานศิลปะถูกนำไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้น เพราะทุกครั้งที่งานถูกขาย ศิลปินก็จะได้ส่วนแบ่งด้วย
แรงบันดาลใจในการซื้อขาย NFT
ยิ่งข้อมูลเรื่องของการลงทุนในรูปแบบ NFT มีการเปิดกว้าง ตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าของมันก็ยิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ NFT ที่มีราคาสูงที่สุดในโลกมีชื่อว่า Everydays: The First 5000 Days ของ Beeple ที่ถูกโปรแกรมเมอร์ชาวสิงคโปร์ซื้อไปในราคามากกว่า 69.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการจัดอันดับของวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2021
Beeple และ Larva Labs เป็นเจ้าของผลงานที่มีผลงานส่วนใหญ่ในการจัดอันดับ NFT ที่มีราคาสูงที่สุด 30 ชิ้น ปัจจุบันมีศิลปินไทยจำนวนพอสมควรเลยทีเดียวที่ขายผลงานเป็น NFT ไม่ว่าจะเป็น โทนี่-ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์ (ช่างภาพของ a day) กำปุ๊ง-ปองนภัค ฟักสีม่วง (ช่างภาพอิสระ) วิน-ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล (นักวาดภาพ) หรือเจ้าของมีมที่เป็นกระแส เช่น เจ้าของคลิปของบังอิมรอน นักทำอุปกรณ์ เป็นต้น
ใครที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ หรือเป็นศิลปินที่ต้องการหาตลาดใหม่ๆในการขายผลงาน ลองศึกษาเรื่องราวของ NFT เพื่อเปิดโลกทัศน์ เพราะอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจและการลงทุนแห่งยุคสมัย แต่ทั้งนี้ก็ต้องตระหนักเสมอว่า ‘ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง’ จึงควรศึกษาข้อมูลทุกอย่างให้ดีที่สุดก่อนตัดสินใจอย่างรอบคอบ และไม่ประมาท
A non-fungible token (NFT) is a unique and non-interchangeable unit of data stored on a digital ledger (blockchain). NFTs can be used to represent easily-reproducible items such as photos, videos, audio, and other types of digital files as unique items (analogous to a certificate of authenticity), and use blockchain technology to establish a verified and public proof of ownership. Copies of the original file are not restricted to the owner of the NFT, and can be copied and shared like any file. The lack of interchangeability (fungibility) distinguishes NFTs from blockchain cryptocurrencies, such as Bitcoin. The first NFT project was launched in 2015 on the Ethereum blockchain, and interest grew with the rise of interest in cryptocurrencies.
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2099661
https://www.theverge.com/22310188/nft-explainer-what-is-blockchain-crypto-art-faq
https://www.businessinsider.com/nft-meaning
https://en.wikipedia.org/wiki/Non-fungible_tokens