สุรพล สมบัติเจริญ (เดิมชื่อลำดวน) เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2473 เป็นคนสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของเพลงดัง “16 ปีแห่งความหลัง” สุรพล สมบัติเจริญถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่นครปฐม เสียชีวิต เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เมื่ออายุเพียง 37 ปี 10 เดือน 23 วัน
ประวัติ
ลำดวน สมบัติเจริญ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 125 ถนนนางพิม อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานะทางครอบครัวแต่เดิมค่อนข้างจะดีด้วย คุณพ่อรับราชการอยู่แผนกสรรพากรจังหวัด ชื่อ เปลื้อง สมบัติเจริญ ส่วนคุณแม่ชื่อวงศ์ นอกจากเป็นแม่บ้านแล้วยังค้าขายเล็กๆน้อยๆ ภายในบ้านกลางใจเมืองสุพรรณ สุรพลเป็นบุตรชาย คนที่ 2 ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน
หลังจบชั้นประถมจาก โรงเรียนประสาทวิทย์ ก็มาเรียนที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัยจนจบมัธยมปีที่ 6 เมื่อเรียน จบที่สุพรรณบุรีคุณพ่อก็จัดส่งสุรพลเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แต่สุรพลก็เรียนได้เพียงปีครึ่งก็ต้องลาออกเพราะใจไม่รักแต่ด้วยไม่อยากขัดใจคุณพ่อ การเรียนก็เลยไม่ดี เขาไปสมัครเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสุพรรณกงลิเสีย เสี้ยว เป็นโรงเรียนจีน แต่สอนอยู่ได้แค่ครึ่งปีก็ลาออก ด้วยใจไม่ได้รักอาชีพนี้อย่างจริงจัง
เขาได้สมัครเข้าไปเป็นทหารอยู่ที่โรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อชะตาเขาพลิกผกผัน หลังจากเขาได้หนีราชการทหารเรือ จนได้รับโทษถูกคุมขัง เขาได้กลายเป็นขวัญใจของนักโทษ ด้วยการร้องเพลงกล่อมก่อนนอน เมื่อได้รับอิสรภาพ สุรพลได้ทิ้งเส้นทางทหารเรือ สุรพลมีโอกาสได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์กองทัพอากาศ น้ำเสียงของเขาได้โดนใจหัวหน้าคณะนักมวยเลือดชาวฟ้า อย่างเรืออากาศศรีปราโมทย์ วรรณพงษ์ จึงเรียกตัวเขาไปพบในวันรุ่งขึ้น และยื่นโอกาสให้สุรพลย้ายไปเป็นนักร้องประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ
ในปี พ.ศ. 2496 เพลง ‘น้ำตาลาวเวียง’ เป็นเพลงแรกที่ได้บันทึกเสียง แต่เพลงที่ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไปคือเพลง ‘ชูชกสองกุมาร’ หลังจากนั้นชื่อเสียงของสุรพล ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น และมีผลงานชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ เช่น ‘สาวสวนแตง’ ‘เป็นโสดทำไม’ ‘ของปลอม’ ‘หนาวจะตายอยู่แล้ว’ ‘หัวใจผมว่าง’ ‘สาวจริงน้อง’ ‘ขันหมากมาแล้ว’ ‘น้ำตาจ่าโท’ ‘มอง’ และ อีกหลายเพลง และทำให้คนรู้จักความเป็น “สุรพล สมบัติเจริญ” อย่างแท้จริงในเวลา
ต่อมาก็คือเพลง “ลืมไม่ลง” และเมื่อชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สุรพลจึงมีงานร้องเพลง นอกสังกัดถี่ขึ้นเป็นลำดับ อาทิ ร่วมร้องกับวง “แมมโบ้ร็อค” ของ เจือ รังแรงจิตร วง “บางกอกช่ะช่ะช่ะ” ของ ชุติมา สุวรรณรัตน์ และ สมพงษ์ วงษ์รักไทย ส่วนวงดนตรีที่สุรพลร้องด้วยมากที่สุดคือ วง ” ชุมนุมศิลปิน ” ของ จำรัส วิภาตะวัตร
ตลอดชีวิตของการเป็นนักร้อง สาเหตุที่ทำให้ “สุรพล” ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาเพลงลูกทุ่ง เพราะความอัจฉริยะในตัวเองที่สามารถแต่งเพลง และยังคงเป็นที่จดจำจนทุกวันนี้ก็มี อาทิ ลืมไม่ลง, ดำเนินจ๋า, แซ่ซี้อ้าย ลื้อเจ็กนั้ง, หัวใจเดาะ, สาวสวนแตง, น้ำตาจ่าโท, สนุกเกอร์, นุ่งสั้น, จราจรหญิง, เสน่ห์บางกอก และ16 ปีแห่งความหลัง เป็นต้น
นอกจากจะแต่งเอง ร้องเอง “สุรพล” ยังทำหน้าที่ครูแต่งเพลงให้คนอื่นร้องจนโด่งดังอีกด้วย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เป็นต้น
“สุรพล สมบัติเจริญ” ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่นครปฐม เสียชีวิต เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เมื่ออายุเพียง 37 ปี 10 เดือน 23 วัน
รางวัลที่ได้รับ
วันที่ 12 ก.ย. 2532 ได้รับรางวัลพระราชทานเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 “สาวสวนแตง” คว้าเพลงดีเด่น แต่งโดยครูพยงค์ มุกดา แต่งเพลงดีเด่นในเพลง “เด็กท้องนา” ขับร้องโดย ละอองดาว สกาวเดือน และเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ส่วนเพลงที่ได้รับรางวัลร้อง-แต่งเองคือ “16 ปีแห่งความหลัง”
วันที่ 7 ก.ค. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทานแต่งเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค2 ในเพลง “ด่วนพิศวาส” ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช และคำเตือนของพี่ ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร
วันที่ 18 ก.ย. 2537 ได้รับรางวัลพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง สืบสานคุณค่าวัฒนธรรม สองรางวัลในเพลง น้ำตาเมียหลวงขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช และเพลง เสียวไส้ ซึ่งสุรพลแต่ง และขับร้องเอง เมื่อ 18 ต.ค. 2537 เพลงรอยไถแปร และน้ำตาลก้นแก้วได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ขับร้องโดย ก้าน แก้วสุพรรณ ส่วนเพลงกว๊านพะเยาได้รับรางวัลเดียวกัน แต่เป็นการขับร้องโดยสุรพล สมบัติเจริญ
ที่มา : http://th.wikipedia.org