พุ่มพวง ดวงจันทร์ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535) ชื่อเล่น ผึ้ง หรือชื่อจริง รำพึง จิตรหาญ นักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของฉายา ราชินีลูกทุ่ง ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงออดอ้อน หวาน จำเนื้อร้องได้แม่นทั้งที่ไม่รู้หนังสือ และเป็นแม่แบบให้กับนักร้องรุ่นหลัง
ประวัติก่อนเข้าวงการ
รำพึง จิตรหาญ เกิดที่ บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท โตที่ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นบุตรีของนายสำราญ และนางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย เกิดในครอบครัวยากจน เป็นลูกคนที่ 5 ของบ้านในจำนวน 12 คน
สถานภาพครอบครัวเธอจัดอยู่ในขั้นที่ยากจนมาก เธอเรียนที่โรงเรียนบ้านดอนตำลึง แต่ด้วยความที่เธอมีน้องอีก 6 คน ประกอบกับค่านิยมของแม่นั้นเห็นว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนมา เธอไม่จบแม้แต่ชั้น ป.2 ในวัยเด็กพอน้องหลับหมด เธอไปหาของขาย เก็บผัก หาดอกไม้ป่า หาบไปขายตามโรงงาน
เส้นทางนักร้อง
รำพึง ชื่นชอบการร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เด็ก ถึงแม้ว่าเธอจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่ก็มีความจำดีเยี่ยม เธอเริ่มหัดร้องเพลงและเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย เธอเข้าประกวดล่ารางวัลไปทั่ว ตั้งแต่อำเภอศรีประจันต์ บางปลาม้า แล้วข้ามจังหวัดไปถึงอำเภอเสนา ผักไห่ มหาราช วิเศษชัยชาญ บ้านแพรก หนองโดน พระพุทธบาท สระบุรี และต่อมาอยู่กับวงดนตรีที่กรุงเทพฯ กับ ดวง อนุชา ตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ แต่ยังไม่ได้เป็นนักร้องอาชีพก็กลับบ้านอำเภอสองพี่น้อง
ในปี พ.ศ. 2518 เมื่ออายุได้ 15 ปี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นำวงดนตรีมาแสดงที่วัดทับกระดาน เธอได้ร่วมร้องเพลงและแสดงความสามารถจนไวพจน์เห็นความสามารถ เกิดความเมตตา จึงรับเป็นบุตรบุญธรรมและพาไปอยู่กรุงเทพฯ เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นหางเครื่องและนักร้องพลาง ๆ ก่อนที่ไวพจน์ จะแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง แก้วรอพี่ เพลงแต่งแก้กับเพลง “แก้วจ๋า” โดยใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ ซึ่งจากการอยู่ในวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ทำให้เธอสนิทสนมกับธีระพล แสนสุข ทำให้ต้องแยกออกจากวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาเริ่มงานกับศรเพชร ศรสุพรรณ โดยทำงานเป็นทั้งหางเครื่องและนักร้องในวง และย้ายมาอยู่กับขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด
ความสำเร็จและรางวัล
ในปี พ.ศ. 2519 ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง มนต์ เมืองเหนือ รับเป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อจากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็น “พุ่มพวง ดวงจันทร์” จากการตั้งชื่อโดย มนต์ เมืองเหนือ และได้บันทึกเสียงจากการแต่งของก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ขวัญชัย เพลงนั้นคือ “รักไม่อันตรายและรำพึง” และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ มนต์ เมืองเหนือแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มาสังกัดบริษัทเสกสรร
เทป-แผ่นเสียงผลงานของพุ่มพวง ดวงจันทร์เริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาหลังจากได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทองและปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้นพุ่มพวง
พ.ศ. 2521 พุ่มพวงได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากเพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร้องเพลง “ส้มตำ” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
พุ่มพวง ดวงจันทร์ เข้ามาอยู่สังกัดอโซน่า โปรโมชั่น ในปี พ.ศ. 2525 ผลงานในระหว่างปี 2525-2535 ของเธอมีมากมายอย่างเช่น จะให้รอ พ.ศ.ไหน (มิ.ย. 2525) สาวนาสั่งแฟน (2526) นัดพบหน้าอำเภอ (2526) ทิ้งนาลืมทุ่ง (2527) คนดังลืมหลังควาย (2528) อื้อฮื้อ ! หล่อจัง (2528) ห่างหน่อย – ถอยนิด (2529) ชั่วเจ็ดที-ดีเจ็ดหน (2529) เรื่องของสัตว์โลก (2529) และ คิดถึงน้องบ้างนะ (2530) ซึ่งสามชุดหลังเป็นชุดที่ออกหลังที่พุ่มพวงออกจากค่ายอโซน่า โปรโมชั่นแล้ว
ต่อมาย้ายมาอยู่กับพีดี โปรโมชั่น และ ซีบีเอส เร็คคอร์ด (ประเทศไทย) และอาจารย์ไพจิตร ศุภวารีได้เปลี่ยนภาพลักษณ์พุ่มดวงให้เข้ากระแสนิยมของเพลงสตริงในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับของนักฟังเพลงลูกทุ่ง จึงได้ย้ายไปทำงานร่วมกับท็อปไลน์มิวสิค มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย ผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างเช่นชุด ตั๊กแตนผูกโบว์, กล่อม และ ทีเด็ดพุ่มพวง ผลงานกับค่ายท็อปไลน์มิวสิคอื่น ๆ เช่น หนูไม่รู้, หนูไม่เอา, พี่ไปดู หนูไปด้วย และนำผลงานเก่ามามิกซ์รวมกัน เช่น พุ่มพวงหลาย พ.ศ. (ตลับทอง และตลับเพชร), ขอให้รวย, น้ำผึ้งเดือนห้า, ซูเปอร์ฮิต 1 และ 2 จากนั้นเธอเริ่มรับจ้างทำงานให้กับอาร์เอส โปรโมชั่น เมโทร
เทปและแผ่นเสียง และแฟนตาซี ไฮคลาส สำหรับผลงานกับค่ายอาร์เอส เช่น ลูกทุ่งท็อปฮิตมาตรฐาน เป็นผลงานอัลบั้มที่เธอนำเพลงดังของศิลปินลูกทุ่งดังในอดีตมาร้องใหม่ นอกจากนี้ยังมีค่ายเมโทรฯ ที่ได้ลิขสิทธิ์งานเพลงชุด “ส่วนเกิน” อีก 1 ชุด
พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2526 และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง ได้พบกับ (ไกรสร แสงอนันต์) ผลงานการแสดงของเธอในฐานะนางเอก อย่างเช่น สงครามเพลง, รอยไม้เรียว, ผ่าโลกบันเทิง, นักร้อง นักเลง, นางสาวกะทิสด, มนต์รักนักเพลง, ลูกสาวคนใหม่, อีแต๋น ไอเลิฟยู, หลงเสียงนาง, จงอางผงาด, ขอโทษทีที่รัก, คุณนาย ป.4, อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง, สาวนาสั่งแฟน, เสน่ห์นักร้อง, นางสาวยี่ส่าย (ภาพยนตร์โทรทัศน์) เป็นต้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง “สยามเมืองยิ้ม” ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2
ลาลับ
13 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พุ่มพวงทะเลาะกับสามี และป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถเบิกเงินจากธนาคารเพื่อมารักษาตัวเองได้ (ซึ่งมีอยู่ 6 ล้านบาท) สมุดบัญชีอยู่กับไกรสร (สามี) ที่เชียงใหม่ เธอจึงตัดสินใจสั่งอายัติเงินทั้งหมด ต่อมา 20 มีนาคม เธอเดินทางจากเชียงใหม่ เข้ารักษาตัวเองที่โรงพยาบาลตากสิน จันทบุรี และย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรง ลุกลามถึงไต ทางด้านไกรสรออกมายอมรับว่ามีปัญหาครอบครัวจริง ต่อมา 3 เมษายน แพทย์เจ้าของไข้เปิดเผยว่าพุ่มพวงอาการดีขึ้น
ทางด้านญาติของพุ่มพวงมีความเห็นว่าควรรักษาด้วยไสยศาสตร์ เนื่องจากเชื่อว่าถูกปองร้ายด้วยไสยศาสตร์ด้วยวิธีการคุณไสย ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เดินทางออกจากโรงพยาบาลศิริราชเพื่อไปรักษาด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ ไปจังหวัดพิษณุโลกโดยเดินทางด้วยรถตู้ แต่หลังจากกราบไหว้พระพุทธชินราช เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ก็เกิดอาการช็อคและหมดสติ ญาตินำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเวลา 20.55 น.
ได้สวดอภิธรรมศพที่วัดมกุฏกษัตริยาราม พิธีพระราชทานเพลิงศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ จัดที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. พ.ศ. 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นพุ่มพวง ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวงทุกปี ช่วง 13-15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ
ชีวิตส่วนตัว
แฟนคนแรกของพุ่มพวงคือ ธีระพล แสนสุข ระหว่างที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ เทใจทุ่มกับงานอย่างเต็มที่ ธีระพลเริ่มปันใจให้กับสลักจิต ดวงจันทร์ จึงทำให้ความรักของทั้งคู่จบลง แต่ด้านธุรกิจยังคงร่วมงานกันอยู่ แต่ในปี 2530 ธีระพล แสนสุข ก็ถูกน้องชายพุ่มพวง ดวงจันทร์ ยิงตาย
ในปี พ.ศ. 2527 พุ่มพวงจดทะเบียนสมรสกับนายไกรสร ลีละเมฆินทร์ อดีตพระเอกภาพยนตร์ ที่ใช้ชื่อในวงการว่า ไกรสร แสงอนันต์ ต่อมาพุ่มพวงฝึกหัดเขียนหนังสือจนสามารถเขียนชื่อตัวเองได้ เพื่อประโยชน์ทางนิติกรรมต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2530 มีบุตรชายชื่อ สันติภาพ (ต่อมาเปลี่ยนชือเป็น สรภพ) หรือ “เพชร” หรือ “บ่อยบ๊อย” ลีละเมฆินทร์ ซึ่งก็เป็นนักร้องลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังมี จันทร์จวง ดวงจันทร์ ดวงใจ ดวงจันทร์ และสลักจิต ดวงจันทร์ น้องสาวพุ่มพวงก็เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งเช่นกัน
รางวัล
รางวัลเสาอากาศทองคำทองคำ เพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” (ผลงาน – ธีระพล แสนสุข) (2521)
รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 เพลง “สาวนาสั่งแฟน” ( ผลงาน – วิเชียร คำเจริญ) (2532)
รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 เพลง “สยามเมืองยิ้ม” (วิเชียร คำเจริญ) (2534)
ยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็น “ปริยศิลปิน” ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน 15 ส.ค. 2552
ที่มา : http://th.wikipedia.org