พลพัฒน์ อัศวประภา “Personal Stylist” คนแรกของไทย คำบอกเล่าลึกๆ ถึงอาชีพ Personal Stylist จาก พลพัฒน์ อัศวประภา ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นระดับแถวหน้าของไทย ตอบคำถามบทบาทและคุณค่าที่แท้จริงของงาน เปลี่ยนแฟชั่นจากเรื่องโง่ๆ กลายเป็นเรื่องฉลาดๆ ได้อย่างไร พลพัฒน์ อัศวประภา Personal Stylist คนแรกของไทย ปัจจุบันกลายเป็นไอดอลของเด็กรุ่นใหม่ที่หลงใหลในแฟชั่น
เขากลับเมืองไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อมารับช่วงธุรกิจของครอบครัว ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้ามานานกว่า 30 ปี แต่เพราะในตอนที่อยู่นิวยอร์กมีโอกาสได้ร่วมงานกับนิตยสารหลายฉบับ เพราะเรียนจบและมีประสบการณ์ด้านแฟชั่น เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงได้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องแฟชั่นในนิตยสารต่างๆ
แต่จุดเปลี่ยนมาจากเมื่อศูนย์การค้าสยามพารากอนต้องการมี Personal Stylist หรือที่ปรึกษาด้านการแต่งกาย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย เพราะ Fashion Stylist ที่มีอยู่นั้นทำงานให้กับนิตยสารและทีวี เป็นการแต่งให้กับนางแบบหรือการถ่ายแบบในลักษณะของ mock up ซึ่งเป็นงานแบบOne Way แตกต่างกับPersonal Stylist ที่แต่งตัวให้กับคนที่ต้องการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ และใช้ได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นงานแบบReal Way
เพราะคนที่มาปรึกษามีส่วนที่ต้องการจะแก้ไขปรับปรุง หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนลักษณะการแต่งตัวเมื่อเปลี่ยนสายงาน เช่น จากทำด้านการเงินมาเป็นงานด้านบันเทิง หรือกำลังจะกลับมาทำงานอีกครั้งหลังจากไปเลี้ยงลูกมา 3-4 ปี หรือมีงานอีเว้นต์ที่มีความเป็นทางการมาก หรือต้องไปงานกาล่าดินเนอร์ซึ่งไม่เคยไปมาก่อน ฯลฯ
บุกเบิกเส้นทาง
เขาบอกว่า หลังจาก 4 ปีแล้วที่เริ่มบุกเบิกให้กับสยามพารากอน การทำงานในตอนนี้ในส่วนของการรับลูกค้าเป็นรายบุคคลนั้นน้อยลงไป แต่งานที่ยังคงรับบทบาทมากคือในแต่ละฤดูกาลหรือช่วงที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ลูกค้าวีไอพีมาอบรม เพราะสยามพารากอนมีทีม Personal Stylistและมีงานที่องค์กรต่างๆ ต้องการให้ไปพัฒนาบุคลิกภาพของพนักงานมากขึ้น และกำลังจะทำรายการทีวีเกี่ยวกับแฟชั่นเพื่อให้ความรู้อย่างมีสีสัน การที่คนทำงานแฟชั่นหลุดโลกเพราะต้องใช้จินตนาการและความเพ้อฝันสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี แต่ในการทำงานศิลปะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องคำนึงถึงงานที่ออกมาแล้วจับต้องได้และใช้ประโยชน์ได้ เช่น การออกแบบเสื้อผ้าต้องทำเพื่อโชว์บนคนจริงและสวมใส่ได้จริง ไม่ใช่บนหุ่น หรือคนที่มีรูปร่างเป็นนางแบบเสมอไป
เช่น ผู้หญิงทำงานทั่วไปต้องตื่นเช้า ทำอาหารให้ลูก ต้องไปส่งลูก ต้องทำงานถึงดึก ไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันไม่มีเวลามาสนใจการแต่งตัวมากนัก เพราะฉะนั้น ในบทบาทของ Personal Stylist ต้องรู้ว่าในชีวิตจริงควรจะจัดการให้ไลฟ์สไตล์ของคนกับแฟชั่นไปด้วยกันได้อย่างไร ซึ่งในบริบทของผู้หญิงคนหนึ่งนั้นอาจจะมองไม่เห็นว่าสามารถใส่เสื้อแบบนี้ได้เลย เป็นหน้าที่ของ Personal Stylist ที่จะตอบโจทย์หรือหาความสมดุลของความสวยงามและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
“เราเป็นเหมือนหมอ เพราะเคยมีผู้หญิงที่บอกว่าไม่เคยรู้สึกสนุกกับแฟชั่นหรือแต่งตัวเลย แต่เมื่อเจอเราจุดประกายให้เขาสนใจแฟชั่นในแบบใหม่ๆ สิ่งที่เราทำคือต้องเริ่มจากการอุ่นเครื่อง เพราะคนที่จะแต่งตัวแล้วมีความสุขได้ต้องรู้สึกมีความสุขกับตัวเองก่อน แต่คนไทยบอกตรงๆ ไม่ได้ ต้องบอกให้ลองปรับเปลี่ยนหรือใส่แบบนั้นแบบนี้ ให้รู้สึกพอใจกับตัวเอง ต้องบอกว่าคนที่ดูดีได้ไม่ได้จำเป็นต้องมีรูปร่างมาตรฐาน ถึงจะอ้วนไป เตี้ยไป ก็ยังเป็นที่ชื่นชมของคนเวลาแต่งตัว เทคนิคที่ใช้ได้ผลเสมอคือมักจะบอกให้ทดลองใส่ก่อน เพราะเมื่อลองแล้วสวยจะตอบรับดี เพื่อจะทำลายกรอบที่แต่ละคนเคยมี คือ ชุดแบบนั้นแบบนี้ใส่ไม่ได้ เพราะคิดว่าใส่แล้วไม่สวย”
เจาะแก่น-กรอบแนวคิด
หลายคนมักจะคิดว่าการแต่งตัวเป็นเรื่องโง่ๆ ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่อันที่จริงจะแต่งแบบฉลาดๆ ก็ได้ เพราะการแต่งตัวนั้นเป็นการสะท้อนภาพของตัวเอง และการไม่ตกเป็นทาสของแฟชั่นเกินไป เพราะรู้จักตัวเองว่าอะไรที่เหมาะสม ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าคนที่แต่งตัวเก่งๆ มีภาพที่ชัดเจนของตัวเอง บางทีใส่ของแบบง่ายๆ ไม่ต้องแพง แต่วิธีที่ผสมผสานออกมาดูดี เห็นตัวตนชัด
“สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พยายามผลักดันให้คนไทยได้เห็น เราเป็น Personal Stylist เราไม่เร้าให้ลูกค้าใส่ของที่ดูไม่เหมาะกับตัวเขาเอง เราไม่ได้ทำงานแบบตีหัวเข้าบ้าน แต่อยากให้เขากลับมาใช้บริการเราอีก ไม่ได้อยากให้เขาซื้อของแพงๆ เพื่อเราจะขายได้มากๆ แต่ให้ไว้ใจกับคำแนะนำที่ให้ไป”
กรอบแนวคิดการมองโลกแฟชั่นของเขาคือการมองแบบ practical และ realistic คือเป็นไปได้จริง เพราะการเติบโตที่นิวยอร์กซึ่งเชื่อในสิ่งที่เป็นไปได้จริง เพราะฉะนั้น กับงาน Personal Stylist จึงต้องให้ของที่ลูกค้าซื้อไปสามารถใช้ได้จริงในระยะยาว และสามารถผสมผสานกับวิถีชีวิตของเขา ไม่ใช่ใช้แล้วรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง
เพราะฉะนั้น Personal Stylistต้องคิดแทนลูกค้า ซึ่งก่อนที่ลูกค้าจะได้รับคำปรึกษา เขาต้องกรอกแบบสอบถามยาวมาก เช่น สัดส่วน เสื้อผ้าแบบที่ไม่ชอบ ไม่ใส่ยี่ห้ออะไร เพราะอะไร งบประมาณที่จะใช้ จุดประสงค์ในการมารับคำแนะนำ ฯลฯ เพราะต้องทำความรู้จักกับลูกค้าให้มากที่สุดก่อนที่ลูกค้าจะมาจริง
แต่คนไทยมักจะกรอกแบบสอบถามในสิ่งที่คิดว่าตัวเองเป็น ทั้งที่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ลูกค้าจะมาจำเป็นต้องไปเลือกของมาไว้ที่เดียวกัน และต้องใช้เวลาอีกครึ่งวันเพื่อไปเดินหาของและหมายตาเอาไว้ก่อน เพราะการมาเจอกันแค่ 3-4 ชั่วโมงถือว่าน้อยมาก และต้องอ่านที่ลูกค้ากรอกและดูว่าสิ่งที่กรอกกับสิ่งที่เป็นตรงกันหรือเปล่า อาจจะต้องคิดใหม่หมด เพราะฉะนั้น ความเป็นไปได้เป็นสิ่งสำคัญ
“โลกของแฟชั่นปัจจุบันเป็นโลกของการแต่งแบบฉลาด คนในโลกปัจจุบันต้องแต่งตัว มีเวลาไปเล่นกีฬา ไปสังสรรค์ไม่ใช่คนในโลกอดีตใช้เวลาทั้งวันเพื่อการแต่งตัว คนที่จะประสบความสำเร็จในปัจจุบันต้องโชว์ให้เห็นด้านนี้ ถ้าเป็นผู้นำของประเทศหรือสตรีหมายเลขหนึ่งแล้วใช้เวลาทั้งวันกันการแต่งตัวก็ดูโง่ เพราะมีหน้าที่อื่นอีกมากมายที่ต้องทำ เช่น มิเชล โอบามา ฉลาดมาก เธอแต่งตัวด้วยดีไซเนอร์ที่มีเชื้อสายจีน เชื้อสายแขก เชื้อสายสเปน ไม่ใช่เพราะเป็น celeb ของแฟชั่น แต่เพื่อสื่อว่าเป็นภรรยาของประธานาธิบดียุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคนชั้นสอง เพราะบารัค โอบามา เป็นคนชั้นสองเหมือนกัน และใช้แฟชั่นเป็นอาวุธเพื่อถ่ายทอดกลยุทธ์ทางการเมืองด้วยซ้ำ”
อยู่อย่างมืออาชีพ
สำหรับความประทับใจของงานนี้ อยู่ที่การที่ลูกค้านำคำแนะนำไปใช้ได้จริง ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าดีขึ้นเมื่อได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากการแต่งตัว ลูกค้าได้พัฒนาตัวเอง และรู้สึกว่าคำแนะนำที่ได้ไม่ใช่สิ่งไร้สาระ สามารถทำได้จริงและเกิดประโยชน์ในชีวิต โดยประเมินความสำเร็จจากการที่ลูกค้ากลับมาหาแล้วมีความสุข ไว้วางใจ และพัฒนาสู่การเป็นเพื่อน
“ความชื่นชมที่เราได้รับจากกระแสต่างๆ ที่สื่อออกไปก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เราจะอยู่ในอาชีพนี้ได้นานเป็นเรื่องของเครดิตมากกว่าซึ่งสร้างยาก และเมื่อคนอายุมากขึ้นความสนใจเรื่องแฟชั่นจะน้อยลงเพราะจะอยู่ในโลกของตัวเองจากตัวตนที่ชัดเจนขึ้น แต่งานเชิงแฟชั่นต้องมองกว้าง และถูกขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาแทนคนรุ่นใหม่ จึงจำเป็นต้องเปิดหูเปิดตาตลอดเวลา เพื่อเปิดรับกระแสใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันใช้วิจารณญาณของคนอายุมากตัดสินว่า อะไรเหมาะในช่วงโอกาสไหนและสถานะใด ซึ่งคนอายุมากจะได้เปรียบในเรื่องประสบการณ์”
แต่จุดที่รู้สึกแย่คือ ไม่สามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้นได้เมื่อลูกค้าที่มีปัญหาจริงๆ แล้วแก้ไขไม่ได้ เช่น ลูกค้าแอบเห็นสีหน้ากังวลของเราเพราะโจทย์ยากกว่าปกติ เราทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุกน้อยลงกับการช้อปปิ้งทั้งที่ยังไว้ใจเราอยู่ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเขามีปัญหาอะไร หรือของที่ลูกค้าใส่ได้สวยในครั้งนั้นไม่มีเลยทำให้ลูกค้ารู้สึกแย่ว่าทำไมหาของทั้งห้างแล้วใช้เวลาทั้งวันยังไม่ได้ ในบางครั้งกลับบ้านหมดแรง ยิ่งวันที่มีลูกค้า 2 รายต่อกัน ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้พักเพราะลูกค้ารออยู่
ในต่างประเทศผลตอบแทนที่ได้สูงกว่าในเมืองไทยมาก คนที่เก่งๆ ได้เงินเท่ากับทนายความและหมอ ได้เงินเป็นร้อยเป็นพันเหรียญต่อชั่วโมง นอกจากจะได้ค่าจ้างจากร้านแล้ว ยังได้เปอร์เซ็นจากการขายของ เพราะสังคมที่ต้องต่อสู้แข่งขันสูง ไม่ว่าเรื่องอะไรจะเป็นรองไม่ได้ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ชีวิตค่อนข้างน่ากลัว แต่ในเมืองไทยไม่มีรายได้จากร้านค้า ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อมากหรือน้อย เพราะสังคมแบบสบายๆ ไม่แข่งขันสูง
สำหรับคุณสมบัติของ Personal Stylist คือ ต้องรู้เรื่องแฟชั่น มีความรู้ด้านศิลปะในเชิงทฤษฎี และความอดทนมีความสำคัญ เพราะในความเป็นจริงงานนี้คืองานบริการ เหมือนทุกอาชีพที่ทำงานหนัก ต้องไม่หยุดรับสื่อและประมวล รู้ว่าอะไรดีไม่ดี เช่น ดาราเกาหลีที่มาเล่นคอนเสิร์ตเมืองไทย ซึ่งแม้จะไม่ชอบสไตล์เกาหลี แต่ทำได้เพราะเข้าใจ และช่วยสร้างความไว้ใจมากขึ้น แม้ว่าโดยส่วนตัวจะชอบแฟชั่นในแบบ ‘Minimalist’ หรือน้อยชิ้นแต่ดูดี อย่างModern Classic คือมีความเรียบโก้ ไม่เอะอะ ไม่กรีดร้อง เพราะรักแฟชั่นในส่วนของการนำไปใช้มากกว่าในส่วนของการเป็นแฟนตาซี
แม้อาชีพ Personal Stylist ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่มีทิศทางที่ดี เพราะเริ่มมีการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการต่างๆ มากขึ้น…..อนาคตสำหรับคนที่เข้าใจและรักในแฟชั่นจริงๆ
ที่มา :http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9530000057266