ภาณุ อิงคะวัต เป็นทั้งนักสร้างสรรค์งานโฆษณา และนักออกแบบแฟชั่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท เกรย์ฮาวด์ แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 และเป็นบุคลากรยุคบุกเบิกในยุคโฆษณาสมัยใหม่ของประเทศไทย
ภาณุ อิงคะวัต จบการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้าสู่วงการโฆษณาที่บริษัท ดีทแฮล์มแอดเวอร์ไทซิ่ง (ปัจจุบันคือบริษัท ลีโอ เบอร์เนทท์ (ประเทศไทย) เป็นเวลา 25 ปี จนดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์ และประธานกรรมการผู้บริหารของ บริษัท ลีโอ เบอร์เนทท์ (ประเทศไทย) มีผลงานได้รับรางวัลในระดับประเทศคือ TACT Award, B.A.D.Award (Bangkok Art Directors’ Association) มาหลายชิ้น และปัจจุบันก็ยังได้รับเชิญไปเป็นคณะกรรมการตัดสินและบรรยายพิเศษเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และงานโฆษณาอยู่บ่อยครั้ง
ภาณุ อิงคะวัต ได้เปลี่ยนทางตัวเองมาอยู่ในวงการออกแบบแฟชั่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน ภาณุ อิงคะวัต ก็ยังคงเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้กับบริษัท ลีโอ เบอร์เนทท์ รวมไปถึงตำแหน่งสำคัญในสมาคมอื่นๆ เช่น นายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ
ตามติดหัวหน้าฝูงเกรย์ฮาว์ด ‘ภาณุ อิงคะวัต’
หัวหน้าฝูง “หมาป่า” คนนี้ มีรสนิยม มุมมอง และไอเดียที่มากกว่าคำว่า “เข้าท่า” และพูดจาเรื่อง “เทรนด์” ได้สนุกด้วยข้อมูลที่แน่นกว่าใคร
แม้ Greyhound จะมีความหมายว่า “สุนัขพันธุ์หนึ่ง” เหมือนที่ชื่อ “ภาณุ” คือ “พระอาทิตย์” แต่ถ้าคุณเติมคำว่า “อิงคะวัต” ต่อท้ายเสียหน่อย meaning ของชื่อและนามสกุลนี้ จะเดินทางไกลไปหลายพื้นที่..
ตั้งแต่ ไม้ยืนต้นของวงการโฆษณา, เจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์และร้านอาหาร Greyhound ..ไปจนถึงนักวิเคราะห์เทรนด์และแฟชั่นยุคใหม่ นี่ยังไม่นับบทบาทอื่นๆ ที่เขา “เคลื่อนไหว” อยู่ทุกวัน และเดินเท้า (ทางความคิด) อย่างไม่หยุดหย่อน ใครบางคนเคยบอกว่า ถ้าอยากดื่ม “ไวน์ดี” ก็ต้องไปที่ “ไร่องุ่น” เช่นนี้แล้ว “จุดประกาย” เลยวิสาสะคิดไปเองว่า ถ้าอยากได้มุมมองและความคิดที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเทรนด์ดีไซน์ที่โถมตัวในตอนนี้ เราก็ต้องบุกสำนักเกรย์ฮาว์ด ที่อยู่ในซอยสุขุมวิท 53
เข้า “ถ้ำเสือ” นั้น ไม่แน่ว่าจะได้ “ลูกเสือ”…แต่การบุกรัง “หมาป่า” ครั้งนี้ จุดประกายได้ฟังไอเดียดีๆ มาหลายมุม
โปรดอ่านอย่างรื่นรมย์ อย่าได้ร้อนรน..
ทำไม “ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่” สามารถพูดอะไรได้ตั้งหลายอย่าง แต่เสียงที่กำลังดังมากคือ “เทรนด์ดีไซน์”
ผมว่ามันเป็นความจำเป็นจริงๆ เพราะในโลกธุรกิจวันนี้ ถ้าเราไม่มีจุดแตกต่าง มันจะทำให้เราด้อยค่าหรือดูเชยล้าหลังในสายตาของผู้บริโภค การดีไซน์หรือสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ให้กับธุรกิจรูปแบบเดิมๆ จึงเป็นทางออกใหม่ ดีไซน์ช่วยทำให้ของอย่างเดียวกันแตกต่าง เราลองกลับไปคิดดูสิว่า แค่เราจะไปนั่งกินกาแฟ เรายังต้องคิดเลยว่าจะกินที่ไหน บรรยากาศร้านแบบไหน จะสไตล์อเมริกัน หรือแบบอิตาลีดี เพราะว่าทุกวันนี้ ลูกค้าคือพระเจ้าจริงๆ
ทุกคนพยายามทำให้สินค้ามี “มูลค่าเพิ่ม” กันทั้งนั้น จึงต้องแข่งขันกันด้วยไอเดีย หรือดีไซน์ใหม่ๆ ไม่ต้องอะไร วันนี้คุณเริ่มเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาปรับบรรยากาศร้านมาเป็นสไตล์โมเดิร์น เลียนแบบร้านฟาสต์ฟู้ด และก็สามารถคิดค่าก๋วยเตี๋ยวได้เป็น 2 เท่า ส่วนหนึ่งทัศนคติ หรือมุมมองของลูกค้าก็เปลี่ยนไปแล้ว คือจะต้อง แจ๋ว แปลก พิเศษ แต่ต้องถูกด้วยนะ
มองอีกมุมหนึ่ง “การลดราคา” เป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” ที่เล่นกับจิตสำนึกหรือเปล่า
ก็อาจจะใช่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้บริโภคจะฉลาดได้ฝ่ายเดียวนี่ครับ ผู้ประกอบการเขาก็ต้องนำหน้าไปอีกขั้นเหมือนกัน ผมว่าแบรนด์อินเตอร์ใหญ่ๆ วันนี้เขาก็จับทิศทางนี้ได้ เขาก็ไปรอตั้งราคาไว้สูงๆ เพราะเขารู้ว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่รอจะซื้อในช่วงลดราคา แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของเขาพร้อมจะควักจ่ายอยู่แล้ว เพราะกลุ่มแฟนพันธุ์แท้เป็นกลุ่มมีอำนาจจับจ่ายสูงและเป็นผู้ต้องก้าวทันกับเทรนด์ใหม่ตลอดเวลา และของยิ่งแพงลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ก็ยิ่งภูมิใจที่ตัวเองเท่านั้นที่ซื้อได้ และได้ใส่ก่อนพวกรอลดราคา
เสื้อผ้า Greyhound ก็เหมือนกัน ถึงเราจะไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในประเภท Luxury Brand แต่เราก็มีกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่ยังเชื่อในแบรนด์และยอมจ่ายราคาเต็มเพื่อจะได้ใส่ก่อน และก็มีกลุ่มรอลดราคาเพราะชอบแบรนด์แต่รอได้ คือไม่ต้องทันเทรนด์ขนาดนั้น เพียงแต่
เพียงแต่…
เพียงแต่เรื่องการลดราคานั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วทุกคนต้องการซื้อในราคาที่ดีที่สุด มันไม่ได้หมายความว่าต้องแปลว่าถูกเสมอไป แต่ต้องเป็น The Right price คือราคาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้าคนนั้น แม้แต่เศรษฐีก็ยังต้องการได้รับส่วนลดแม้จะ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ก็เอา มันเป็นสิทธิที่พึงได้ ทุกคนไม่ต้องการเป็นคนโง่หรือสุรุ่ยสุร่าย ถ้าฉันต้องจ่ายเงินให้กับกระเป๋าถือหนึ่งใบที่ราคาห้าหมื่นบาท แต่ฉันสามารถจ่ายแค่ สี่หมื่นเก้าพันห้าร้อยบาท ทำไมฉันจะไม่ดีใจ ใช่ไหม
อย่างนั้น เทรนด์ดีไซน์ทำไมไม่มาก่อนหน้านี้ ทำไมมาโถมตัวเอาในวันนี้
ผมว่าโลกธุรกิจวันนี้เปลี่ยนไป จากการใช้กลยุทธ์แบบตัดราคา หรือการแข่งขันกันด้วยการสร้างสินค้าที่แตกต่าง จริงๆ มันเริ่มยากขึ้น ใครจะคิดสินค้าใหม่ถอดด้ามได้ตลอดเวลา หรือถ้าวันนี้เราลดราคา พรุ่งนี้คู่แข่งก็ลดได้เหมือนกัน เศรษฐกิจตอนนี้ มันต้องการอะไรที่ทำให้คนซื้อรู้สึกพิเศษ แต่คำว่าดีไซน์นั้น ไม่ได้หมายความเสมอไปว่า ต้องเกี่ยวกับการออกแบบขีดเขียนอะไรแบบนั้น แต่เป็นในลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ คิดนอกกรอบเดิมๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างแบรนด์ Zara เขาพลิกโฉมธุรกิจแฟชั่น ไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำได้ แต่มันพิสูจน์แล้วว่า จากธุรกิจ Fashion Retail เดิมๆ เขาได้สร้างรูปแบบธุรกิจแฟชั่นในรูปแบบใหม่ขึ้นมาจริงๆ ทั้งๆ ที่ยังเป็นหลักการเดิม
เคสของ Zara บอกอะไรกับสังคมแฟชั่น
แต่ความสำเร็จของ Zara ไม่ได้เกิดขึ้นจากราคาที่ถูกอย่างเดียว แต่เขาคิดเป็นขบวนการ ตั้งแต่การจำลองแบบเสื้อผ้าจาก Catwalk ของแบรนด์ High Fashion มาผลิตให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางทีเร็วกว่าเจ้าของดีไซน์อีก แต่มาปรับแต่งให้ผลิตง่ายขึ้น วัสดุถูกลงทำให้ราคาเป็นที่รับได้ของคนทั่วไป มีสินค้าหลากหลายแบบ ที่นี้พอมีตลาดมากขึ้นๆ เขาก็ผลิตได้จำนวนมาก ราคาก็ยิ่งถูกลงอีก คนก็ยิ่งซื้อได้ง่ายขึ้น มันต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการแฟชั่นเลย และปรากฏการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพดีในราคาที่เหมาะที่ควร
แต่ในมุมหนึ่ง ตัว Zara เองก็ทำลายแบรนด์ในเชิงคุณค่าลงไปหรือเปล่า กับการที่ถูกวิจารณ์ว่าก๊อบปี้แบรนด์ในตลาดบน
ผมว่าในสนามรบทางเศรษฐกิจวันนี้ดูเหมือนเราจะมีความอายน้อยลงทุกที วันก่อนผมเพิ่งเห็นรายการในช่อง EI ของ UBC เขานำเสนอเสื้อผ้าที่ก๊อบปี้แบรนด์ดีไซเนอร์ดังๆ แต่มาปรับรายละเอียด ปรับแบบนิดๆ หน่อยๆ และเอามาเทียบกันให้ดูว่าสวยเหมือนกัน ราคาของจริงเท่านี้ ราคาของก๊อบเท่านี้ เขาไม่อายหรือหลบๆ ซ่อนๆ กันแล้วครับ จริงๆ แล้ว ความคิดอย่าง Zara ก็มีคนอื่นทำ เพียงแต่ทำไม่เป็นระบบ แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคทุกคนต้องการการตลาดแบบนี้นะ มันก็ยังมีตลาดแบบอื่นๆ ที่ “แพง เจ๋ง พิเศษ ไม่เหมือนใคร” ก็ยังขายได้ แต่มันต้องมีเหตุผลของมันไง ผมว่าอันนี้มันก็เป็นตัวอย่างที่ดีของกลยุทธ์ใหม่ๆ หรือสิ่งที่เราเรียกว่า Ceative Economy นั่นแหละ คือใครฉลาดกว่า หามูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ได้เก่งกว่า หยิบแพะชนแกะได้ดีกว่า ก็สำเร็จไป
ในมุมของ เกรย์ ฮาว์ด ที่ถูกจ้างให้เข้าไปออกแบบดีไซน์สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สปา โรงแรม เทศกาลเบียร์ ฯลฯ มันจะบอกได้ไหมว่า เกรย์ฮาว์ด สามารถดีไซน์ได้ทุกสินค้า
คือหลังจากเปิดแบรนด์มา 30 ปี เกรย์ฮาว์ดก็มีบุคลิกที่ผู้คนเริ่มจับต้องได้ มีเสน่ห์มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสไตล์เหล่านี้ก็สามารถขยายวงกว้างไปได้อีกมากกว่าแฟชั่นหรือร้านอาหาร คนก็เริ่มมาให้เราช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสายโรงแรมบูติค สายร้านอาหาร สายศูนย์การค้า หรือยูนิฟอร์มต่างๆ ผมก็รู้สึกดีนะ เพราะเราสร้างเกรย์ฮาว์ดสไตล์มาตั้ง 30 ปี ก็น่าจะมีคุณค่าที่สามารถแตกดอกออกผลไปหลายๆ ทางได้ ถ้าดูแบรนด์ฝรั่งดังๆ เขายังสามารถขยายผลจากเสื้อผ้าสู่แว่นตา สู่น้ำหอม สู่เครื่องสำอาง มันค่อยคุ้มค่าเหนื่อยหน่อยครับ
ผมว่าอีกหน่อยแบรนด์แฟชั่นไทยก็จะสามารถขยายผลได้แบบนี้เหมือนๆ กัน แต่แน่นอนมันต้องอยู่ที่ความถนัดของเรา และความเหมาะสมในแบรนด์สไตล์ด้วยว่าตรงกับสไตล์เราหรือเปล่า
ปีที่แล้วคุณให้สัมภาษณ์ว่า ผู้บริโภคใหม่ๆ ชอบเปลี่ยนเทรนด์ตลอดเวลา ในฐานะคนทำงานคุณมีวิธีตามติดเทรนด์ นำหน้าไลฟ์สไตล์อย่างไร
ก็คงเหมือนชาวครีเอทีฟคนอื่นๆ คือต้องเปิดหูเปิดตาตลอดเวลา อ่านหนังสือ ซื้อแมกกาซีนใหม่ๆ ดูหนัง ฟังเพลง ดูศิลปินใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องชอบแบบนั้น แต่ต้องเข้าใจว่าเขาทำอะไรอยู่ และเพราะอะไร และสำหรับบริษัท ที่สำคัญต้องสร้างสมดุลให้ได้ระหว่างเลือดใหม่กับเลือดเก่า เลือดใหม่จะนำความคิดมุมมองใหม่ๆ เข้ามา ส่วนเลือดเก่าจะเกาะกุมรากเหง้าของแบรนด์ไว้และปรับให้เข้ากับมุมมองใหม่ที่ได้รับมา
ทำไมคนยุคนี้ ถึงต้องการชีวิตแบบ Hi-lifestyle
วันก่อนผมยังคุยกันเลยว่า คนรุ่นใหม่เบื่อของง่าย คือทุกสิ่งทุกอย่างมันมาแบบ “ถูก-เร็ว-ดี” เช่นเด็กสมัยนี้ไปเที่ยวบาร์แป๊บเดียวก็รู้สึกว่าเบื่อแล้ว ย้ายที่อีกแล้ว เบื่อแล้ว ต้องย้ายถิ่นเที่ยวถิ่นที่เก๋ๆ
อะไรคือ “ตัวการ”
อินเทอร์เน็ตไง มันทำให้คนอยากจะไปที่ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการก็เลยต้องทำมารองรับอยู่เรื่อยๆ ให้ทัน มันเป็นยุคที่ผู้บริโภคเป็นพระราชาจริงๆ
แล้วแบรนด์เก่าในยุคก่อนจะทำอย่างไร
ก็อยู่เฉยไม่ได้ไง (ตอบทันที) ก็ต้องปรับตัว สร้างสรรค์ พลิกเกม ไม่งั้นกลายเป็นของโบราณเชยไป
ดูเหมือนว่าสินค้าต่างๆ หาหนทางให้ตัวเองมี value ขึ้นมาด้วยดีไซน์ อยากถามว่ามันมีทางอื่นๆ อีกไหม ที่จะไม่ใช่แค่การดีไซน์ หรือออกแบบสินค้า
มี แต่ว่าดีไซน์มันทำให้รู้สึกจับต้องได้ง่าย แต่ในความเป็นจริง มันมีหนทางอื่นๆ ได้อีก กลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม มันกว้างกว่าดีไซน์เยอะอย่างใน เบอร์ลิน หลังจากที่พังกำแพงไปแล้ว เขาพยายามผลักดันให้เบอร์ลินเป็นเมืองใหม่ที่ดึงดูดนักลงทุนรุ่นใหม่ นอกจากจะดีไซน์เมืองเขาใหม่ให้สวยงามทันสมัยสุดๆ แล้ว เขายังคิดต่อไปด้วยว่าถ้าค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและบริหารธุรกิจที่เบอร์ลินถูกที่สุด เมื่อเทียบกับเมืองต่างๆ ในยุโรปแล้วจะยิ่งเป็นแรงดึงดูดสำคัญ เพราะฉะนั้นเขาหันไปลดภาษีต่างๆ ทำให้ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานถูก ทำให้การเข้ามาตั้งบริษัทกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ มันไม่ใช่แค่ดีไซน์แต่มันเป็นการคิดแบบเบ็ดเสร็จทั้งระบบ
บริษัทเกี่ยวกับ Trend report แห่งหนึ่งของนิวยอร์ก เคยบอกว่าเทรนด์ใหม่ตัวหนึ่งของเสื้อผ้าก็คือ การทำให้แม่กับลูกสาว หรือพ่อกับลูกชาย ใช้สินค้ายี่ห้อเดียวกัน วิธีการแบบนี้มันจะสามารถใช้ได้ในบ้านเราไหม
ได้สิ และเวิร์คมากด้วยๆ เพราะว่าคนแก่ไม่อยากแก่ และคนแก่เดี๋ยวนี้ก็แก่ช้าลงมาก และพวกเขาจะภูมิใจมากเมื่อถูกทักว่านี่แม่หรือพี่สาว กันแน่ เพราะฉะนั้นแม่ก็แฮปปี้ที่จะใช้ของเดียวกับลูก เพื่อจะได้ดูเด็ก ในขณะเดียวกันลูกสาวก็อยากใช้ของแพงยี่ห้อที่แม่ใช้ การที่สินค้าทำให้คนสามารถรู้สึกแบบนี้ได้ มันได้ผลแน่นอน ทำให้ขายได้ทั้งสองเจเนอเรชั่น พ่อกับแม่ก็โคตรแฮปปี้เลยที่ดูร่วมสมัย ลูกก็โคตรแฮปปี้เลยเพราะว่ามีตู้ ATM เคลื่อนที่อยู่ข้างตัว (หัวเราะกันครืน) มันเป็นจิตวิทยาที่เวิร์คมากๆ ฉะนั้น เรื่องนี้ผมว่ามันเวิร์คมากๆ win-win กันทุกฝ่าย
แล้วตัวดีไซน์ของเสื้อผ้า มันคือเสียงหนึ่งที่ตะโกน บอกกับยุคสมัยได้ว่า ตัวตนฉันคืออะไร ใช่ไหม
วันนี้กลยุทธ์ด้านการตลาดอันหนึ่งคือการเจาะเข้าหาเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมันเป็นอีกทางหนึ่งที่แตกต่างจาก กลยุทธ์ของ Zara โดยสิ้นเชิง แฟชั่นแบรนด์เริ่มเจาะ Segment กลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน คือสร้างแบรนด์สไตล์ที่ชัดเจน ลูกค้าเองก็มีความต้องการที่ชัดเจนขึ้นเขาจะรู้เลยว่าร้านนี้เป็นร้านของฉันหรือไม่ใช่ ดีไซน์มันเป็นเหมือน Dialog ที่จะไปคุยกับพวกเขา ยิ่งถูกคอถูกใจกันก็ยิ่งเข้ากันได้ดี แต่มันต้องกลับไปที่คำถามเบสิคว่า แบรนด์สไตล์คุณเป็นอย่างไร ใครคือลูกค้า และสินค้าของเราถูกใจคนแบบไหน พวกที่ชอบเหมือนกันจะมีพลังดูดคนประเภทเดียวกันเข้ามา
จากการที่เกรย์ฮาว์ดเริ่มรับเป็น Design Consultant เท่าที่ผ่านมาเวลาตรวจสุขภาพแล้ว อะไรคืออาการ “ผิดปกติ” อย่างแรกของแบรนด์ ที่มักพบบ่อยๆ
สำหรับผมที่เราลงมาทำ design consultant เพราะผมได้ความรู้ด้านพาณิชย์ศิลป์จากการที่ผมได้ทำงานในบริษัทโฆษณาอย่าง ลีโอ เบอร์เนทท์ มานานและชินกับการที่ต้องดีไซน์ไอเดียที่ต้องตอบโจทย์ทางกลยุทธ์การตลาด เราก็เลยสามารถหยิบเอาโจทย์หรือความต้องการทางการตลาดมาช่วยแปลออกมาในรูปของดีไซน์ได้มากขึ้น
บางครั้งนายทุนโรงแรมคนหนึ่ง อาจจะเคยเดินเข้าไปหาบริษัท architect หรือ interior แล้วบอกว่า อยากได้โรงแรมสักแห่ง ช่วยออกแบบให้เขาหน่อย ซึ่งดีไซเนอร์เหล่านี้ อาจจะมองเพียงแต่มุมของดีไซน์ สิ่งที่เราทำได้คือช่วยแปลและขยายโจทย์ทางการตลาดให้ดีไซเนอร์ทำงานได้ตรงเป้ามากขึ้น เช่นก่อนที่เราจะลงมือทำอะไร เราก็จะคิดก่อนว่า เรากำลังพูดอยู่กับใคร ไลฟ์สไตล์เขาเป็นอย่างไร กระแสหรือเทรนด์ใหม่ๆ ของวันนี้เป็นอย่างไร แล้วเราก็เอาสิ่งเหล่านี้มากรอง มาผนวกกัน ซึ่งมันจะทำให้ดีไซน์มีจุดมุ่งหมายและตอบโจทย์ได้ตรงขึ้น
กลับมาที่เรื่องเทรนด์และดีไซน์ ถ้า trend คือกระแส แล้ว fashion คืออะไร
ผมเคยถามอาจารย์ด้านแฟชั่นในเรื่องนี้เหมือนกันว่า คำตอบคือ แฟชั่นกับเทรนด์ก็คล้ายๆ กัน มันคือกระแสความนิยมของอะไรสักอย่างที่สะท้อนความเป็นไป ความคิด ปัญหา แรงกดดัน ของสังคมในขณะนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นร็อค พังค์ หรือโรแมนติก หรืออะไรก็ตาม กระแสของสังคมช่วงนั้น มันดิ้นรนหาทางออกอะไร สิ่งเหล่านี้มันจะย้อนไปหาความคิดของคนเสมอ อย่าง พังค์ มันก็เป็นสิ่งที่ปฏิวัติกระแสของฮิปปี้ บุปผาชน ที่เป็นไปอยู่นานในยุค 70’S ผู้คนมันเบื่อและอยากหาทางออกใหม่ๆ จึงฉีกตัวเอง ฉีกกรอบเดิมๆ และผันตัวออกมาอย่างสุดๆ จนกลายเป็นพังค์
ความยาวสั้นของเทรนด์ตัวหนึ่ง ขึ้นอยู่กับอะไร
กระแสสังคม ขึ้นอยู่กับความกดดัน หรือมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ มาจากกระแสใหม่ๆ มาจากนู่นนั่นนี่ ได้ทั้งนั้น ถ้าคิดจากมุมนี้ หากเราผ่านพ้นสงครามเศรษฐกิจตอนนี้ไปแล้ว เราจะได้รับเทรนด์อะไรจาก วิกฤตินี้ไหม ผมว่ามันน่าสนใจมากเลยว่า เมื่อมันพ้นเมฆดำไป มันคงจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะ เพราะคุณดูสิ ตอนนี้แบรนด์ที่ประสบปัญหามากๆ คือแบรนด์ High End ต่างๆ ที่ราคาแพงลิบลิ่วทั้งนั้น ไม่ใช่พวก Street Brand ทั่วๆ ไป
คุณเชื่อเรื่อง brand แล้วคุณเชื่อไหมว่า brand จะต้องมี design เสมอไป
ผมว่า คุณจะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่มันคือ design ทุกอย่างมันคือ design ทั้งนั้น
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/
www.wikipedia.com