SIRIVANNAVARI MAISON บ้านของพระองค์หญิง บ้านของอาร์ตติส เพราะทรงเชื่อว่าศิลปะก็สามารถถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของไลฟ์สไตล์ได้เช่นกัน
การเสด็จกลับจากประเทศฝรั่งเศสของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในครั้งล่าสุดนี้ เราจึงได้เห็น คอลเลคชั่นเครื่องใช้ตกแต่งบ้าน (Home Collection) ที่ทรงออกแบบเป็นครั้งแรกภายใต้แบรนด์ SIRIVANNAVARI MAISON ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยว่า “บ้านของสิริวัณณวรี”
หลังเสด็จมาทรงเปิดร้าน SIRIVANNAVARI MAISON บริเวณ Luxe Avenue ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน พร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระองค์หญิงทรงประทานสัมภาษณ์ถึงคอลเลคชั่นเครื่องใช้ตกแต่งบ้านที่ทรงออกแบบว่าเป็นแบรนด์ที่แตกไลน์มาจากเสื้อผ้าแบรนด์ SIRIVANNAVARI
ด้วยทรงรักในการตกแต่งบ้าน และทรงหลงใหลในเรื่องของกลิ่นหอม และความอบอุ่นของความเป็นบ้านซึ่งมีความเป็นส่วนตัว เมื่อมีโอกาสไปทรงฝึกงานกับกลุ่มบริษัท จิอาร์จิโอ อาร์มานี่ (Giorgio Armani) บริษัทแฟชั่นชั้นนำของโลก ที่ยามนี้ขยายอาณาจักรของตัวเองไปยังธุรกิจประเภทอื่นด้วย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหาร เครื่องสำอาง และโรงแรม ARMANI แห่งแรกของโลกที่ดูไบ
การได้ทรงทอดพระเนตรงานในส่วน Armani Casa และทอดพระเนตรคอลเลคชั่นเครื่องใช้ตกแต่งบ้าน รวมถึงในส่วนของรีสอร์ตและโรงแรม จึงทรงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงนั้นมาคิดโครงการเล็กๆของพระองค์เองขึ้นมา และต่อมาได้ขยายเป็นโครงการใหญ่จนกลายมาเป็นแบรนด์ SIRIVANNAVARI MAISON ในที่สุด
“ท่านหญิงเชื่อว่าทุกคนคิดว่า ไม่มีที่ไหนเท่ากับบ้านของตัวเองหรอก บ้านคือ สิ่งที่บ่งบอกคาแรกเตอร์”
ดังนั้นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ซึ่งส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายขนนกยูง ทั้งประเภทเครื่องหอม อันประกอบด้วย เทียนหอม, ก้านหอมระเหย, สเปรย์ปรับอากาศ ฯลฯ และประเภทเครื่องใช้และของประดับ อันประกอบด้วย แจกันแก้ว, กรอบรูป, เชิงเทียน และ ชุดผ้าประดับโต๊ะอาหาร จึงล้วนแต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพและรสนิยมส่วนตัวของพระองค์หญิง
“มันคือเรื่องของ personality (บุคลิกภาพ) หมด สินค้าทุกชิ้นใส่ใจ นับตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องของกลิ่นหอม หรือ กรอบรูป เพราะว่าตัวเองเป็นคนชอบถ่ายรูป รูปก็จะเยอะ จะหากรอบรูปที่ถูกใจก็ยาก ก็เลยออกแบบเองซะเลย กลิ่นเทียนก็เอาใจความเป็นตัวเองก่อน แล้วก็มาดูว่าผู้หญิงเขาชอบอะไรบ้าง หลายๆอย่างรวมกัน”
แต่สิ่งที่ยังเป็นพื้นฐานเริ่มต้นในการออกแบบผลงานแต่ละชิ้น คือศิลปะในแนว อาร์ตนูโว (Art Nouveau) ที่เคยเป็นแรงบันดาลพระทัยในผลงานการออกแบบเสื้อผ้าของพระองค์หญิงมาก่อน รวมถึงความเท่ห์ ความเป็นชนเผ่า ความล้ำสมัยอันน่าเหลือเชื่อ และความเป็นศิลปิน
อย่างไรก็ตามท่านหญิงตรัสว่า ไม่ทรงต้องการให้แรงบันดาลพระทัยหยุดอยู่แค่ศิลปะในแนวอาร์ตนูโว เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่ทรงโปรดและเป็นแรงบันดาลพระทัยให้ทรงสร้างสรรค์ผลงาน
“ต้น period (ยุค)ของอาร์ตนูโว มันเป็นอะไรที่มันหวานมาก หลังๆมันก็เริ่มมีอะไรแปลกๆดู hard (หนัก) มากขึ้น แต่ท่านหญิงไม่อยากจะหยุดอยู่แค่ความเป็นอาร์ตนูโวค่ะ จริงๆแล้วมันมีศิลปะหลายแขนงที่ชอบมาก มีอาร์ตเดคโค( Art Deco) ที่ก็ค่อนข้างชอบ และที่ใส่ความเป็นศิลปะแนว โมเดิร์นนิสม์ (Modernism)เข้าไป”
ในบรรดาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ทั้งหมด พระองค์หญิงทรงโปรด เทียนหอม กลิ่น Sakura Bleu มากที่สุด ทรงให้เหตุผลว่า
“ชอบตั้งแต่การเริ่มออกแบบตัวสีค่ะ ซากุระเป็นอะไรที่มันหอม มันหวาน เป็นอะไรที่ very feminine (มีความเป็นผู้หญิงมากๆ) แต่ว่าอันนี้สิ Sakura Bleu มันล้ำยิ่งกว่าความเป็น feminine ซะอีก ลองใช้ดูนะคะ”
พระองค์หญิงทรงตรัสด้วยว่า ความยากและความท้าทายในการออกแบบเครื่องใช้ตกแต่งบ้านคือ เแนวคิดในการออกแบบ ตลอดจน การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับตัวผลิตภัณฑ์
“เพราะว่ามันเป็นอะไรที่เริ่มต้นใหม่ และมันไม่ใช่แฟชั่น คือ ต้องบอกว่ายากทุกอย่างดีกว่า ทำอย่างไรให้คนจดจำได้ว่านี่คือ Home Collection แบรนด์ SIRIVANNAVARI MAISON”
ความใส่ใจในทุกกระบวนการของการออกแบบ พระองค์หญิงตรัสว่าไม่ต่างอะไรกับการออกแบบเสื้อผ้า เพียงแต่มันยากมากกว่าเท่านั้น
“แม้แต่ไม้เนี่ยๆก็ต้องเลือกสี ดูยังไงให้มันเข้ากับแบรนด์ หรือแม้แต่ตัวกราฟฟิก (ทรงชี้ไปที่ผลิตภัณฑ์ก้านหอมระเหย และเทียนหอมบรรจุอยู่ในขวดแก้วบรรจุภัณฑ์ที่ตกแต่งด้วยลายกราฟฟิกที่ทรงออกแบบ) ก็เหมือนเสื้อผ้าแหล่ะเธอ คือใส่ใจหมดทุกสิ่ง แต่มันยากกว่า มันยากมาก”
ร่วมสองอาทิตย์กว่า ที่ร้าน SIRIVANNAVARI MAISON เปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แม้ทุกชิ้นจะมีจำหน่ายแค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติจากประเทศแถบยุโรปจะสนใจผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหอมมากเป็นพิเศษ
ราคาของผลิตภัณฑ์มีตั้งแต่ราคา 1,000 บาท ไปจนถึง 25,000 บาท ซึ่งราคาสูงสุดเป็นราคาของเชิงเทียนนกยูง ในล็อตแรกผลิตจำนวน 5 ชิ้นเท่านั้น และถูกจับจองไปเกือบทั้งหมด มีหนึ่งชิ้นที่ทรงเลือกไปไว้สำหรับตกแต่งโต๊ะเสวย
ในวันเปิดร้าน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงจับจองกรอบรูปของพระขนิษฐา ไปด้วย 1 ชิ้น ขณะที่แขกผู้มีเกียรติที่ไปร่วมงานในวันนั้นก็ต่างอยากมีครอบครองไว้คนละชิ้นหลายชิ้น
เมื่อถูกทูลถามว่าในอนาคตจะทรงเลือกใช้วัสดุในการออกแบบเพื่อทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นหรือไม่ ทรงตรัสว่า
“อันนี้ต้องติดตามตอนต่อไป ตอนนี้ได้แค่นี้ก็ถือว่าบุญมากแล้ว ไม่แน่นะ ตอนเราอยู่เมืองนอก เราก็ไปดู material (วัสดุ)ใหม่ๆ เช่นกัน ถ้าได้เจอ material ใหม่ๆ ก็ไม่แน่เหมือนกัน”
เพราะบ้านคือสิ่งที่บ่งบอกคาแรกเตอร์… ตามที่ทรงตรัส ซึ่งหากใครอยากทราบว่าบ้านที่พระองค์หญิงทรงประทับอยู่ฝรั่งเศสมีสไตล์การตกแต่งอย่างไร เพียงแค่ลองแวะไป ร้าน SIRIVANNAVARI MAISON ก็จะช่วยให้เราพอจินตนาการเห็นภาพได้บ้าง เพราะแนวคิดในการตกแต่งร้าน ทรงตรัสว่าเหมือนบ้านที่ปารีส
“มันเป็นบ้านอาร์ตติสต์ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเนี่ย มันควรจะเป็นผลงานของเราให้หมดทุกชิ้น ตั้งแต่เรื่องของการทำปริ้นลายบนเฟอร์นิเจอร์ ปริ้นลายบนผนัง คุณฟอร์ด (กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร ELLE ประเทศไทย) ก็เคยเห็นแล้ว แม้กระทั่งการทำ แชนเดอเลียร์ จะให้ฉันไปหาแชนเดอเลียร์ ราคาเกือบแสนฉันก็ไม่มีตังส์ ฉันก็ต้องเนรมิตสิ่งที่ฉันทำขึ้นมาเอง ต้องใช้วิธีว่า โอเค เราทำของเราเองก็ได้ ไม่ต้องไปง้อใคร ใช้คอนเซ็ปต์ว่าเรามี budget (งบประมาณ) อยู่เท่านี้ เราจะใช้ความเป็นดีไซน์ ความเป็น Volume(ปริมาตร)ที่ประหยัดไฟหน่อย ใช้เรื่องของการตกกระทบกันของแสงจากแก้วไวน์”
ซึ่งแชนเดอเลียร์พุ่มใหญ่สร้างสรรค์ขึ้นจากแก้วไวน์แถมยังประหยัดไฟด้วยนี้ มีประดับไว้เป็นของตกแต่งในร้าน และเคยโดนใจลูกค้าบางรายที่เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายจนอยากจะซื้อไปครอบครอง ส่วนเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นเป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าที่พระองค์หญิงทรงได้รับพระราชทานมาจากทูลกระหม่อมพ่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แล้วทรงใช้ไอเดียในด้านการออกแบบ ทำให้มีความพิเศษและน่าสนใจมากขึ้น ขณะที่ภาพ Inkjet ที่ผนังร้านก็ทำมาจากภาพ Painting ฝีพระหัตถ์ จึงทำให้สไตล์การตกแต่งร้านมี personality ของพระองค์หญิงอยู่ในทุกรายละเอียด
“คือทำให้บ้านมันมีชีวิต และทำยังไงให้มันดูสนุกในการตกแต่งบ้านมากที่สุด บวกกับความเป็นกลิ่นหอม ดอกไม้เยอะๆ อะไรอย่างนี้ มันเหมือนการออกแบบคอลเลคชั่นๆหนึ่ง มันสนุก เข้าใจไหม”
และเพื่อให้เราหลับตาเห็นสไตล์การตกแต่งของบ้านของพระองค์หญิงที่ปารีสมากขึ้น คุณฟอร์ด – กุลวิทย์ ได้กล่าวให้ฟังเพิ่มเติมว่า
“ค่อนข้างจะมีความเป็นศิลปินพอสมควร เพราะเวลาเข้าไป ก้าวแรกที่เห็นจะเป็นภาพ Painting ของพระองค์หญิง แล้วก็จะทรงนำหลายๆสิ่งมา Adapt (ดัดแปลง) อย่างที่ทรงตรัสเรื่องแชนเดอเลียร์ และผนังก็จะเป็นภาพ Inkjet จากภาพ Painting ของพระองค์หญิงทั้งหมด”
พระองค์หญิง : “บางทีนอนอาบน้ำมองตรงเพดาน ก็จะเห็นภาพ Inkjet ของตัวเอง และมีที่เป็นโมเสกแบบสลับสีบ้าง…อยากจะบอกว่าช่างไทยเก่งกว่าช่างฝรั่งเยอะมาก …แล้วก็จะมีกระจกที่สูงๆ มันไม่ใช่กระจกหลุยส์ เป็นกระจกที่มันเป็นงานดีไซน์ และมีเก้าอี้ พูดตรงๆก็คือของเก่า แล้วเราก็เอามาทำใหม่บ้าง มีฉากที่เป็นดีไซน์”
คุณฟอร์ด : “กลิ่นในบ้านจะหอมตลอดเวลา ไปทุกครั้งหอมทุกครั้ง กลิ่นจะบอก Identify (เอกลักษณ์) ได้เลยว่า ทรงโปรดให้บ้านมีกลิ่น จะทรงรู้สึกว่าบ้านมีความอบอุ่นและก็ cozy”
พระองค์หญิง : “แล้วก็มีดอกไม้ ยังไงต้องมีดอกไม้” พระองค์หญิง ทรงเน้นย้ำ
คุณฟอร์ด : “และที่สำคัญแขกทุกคนที่ได้เข้าไป ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรเลย ทรงกรุณาให้นั่งคุยกันได้”
พระองค์หญิง : “บางทีก็ตกแต่งนู่น ตกแต่งนี่ แต่ห้องทำงานก็ใส่ใจนิดนึง ค่อนข้างจะเป็นส่วนตัว มีโต๊ะใหญ่เบ้อเร่อไว้ทรงงานคอลเลกชั่นต่างๆ หลังห้องทำงานก็จะขึ้นอะไรที่มันเป็นไอเดีย มีรูปภาพ จะอัพรูปขึ้นไปหมด เวลาทรงงานบางทีก็นั่งตรงข้ามโต๊ะ นั่งดูผนังขาวๆ บางทีเรามีไอเดีย แล้วประตูก็จะเป็นประตูบานพับใช่ไม๊คะ นั่งคิดว่า ฉันต้องการทำอะไร ดึงอันนู้นอันนี้มา คือในสมองท่านหญิงมีแต่เรื่องของงาน งานๆๆ โอเค..วันนี้ ฉันอยากไปอังกฤษ นั่งรถไฟไปดูมิวเซียม 3 ชั่วโมง พรุ่งนี้อีกสามชั่วโมง มะรืนอีกสามชั่วโมง ตอนกลางคืนไปนั่งดูเธียเตอร์ กลับมาปารีส มานั่งเขียนงาน ทำรายงาน ทำอะไรต่อ บางทีลืมกินข้าว ต้องมีคนมาคอยถามกินข้าวไม๊ กินข้าวเสร็จ แล้วค่อยมานั่งคิดงานต่อ”
เพราะทรงงานหนักและยังทรงศึกษาอยู่ที่ เอโกล เดอ ลา ฌอมป์ ซินดิกัล เดอ ลา กูตูร์ ปารีเซียง( Ecole De la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne) สถาบันเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของโลก ในด้านการสอนการออกแบบและตัดเย็บแฟชั่นชั้นสูง เสด็จกลับมาเมืองไทยคราวนี้ พระองค์หญิง จึงทรงมีพระประสงค์ที่จะใช้เวลาเพื่อพักผ่อน เพื่อจะได้มีพระกำลังในการทรงงานต่อไป
“จริงๆแล้ว ตอนนี้อยากทำหลายสิ่งมากเยอะไปหมดเลย และตอนนี้อยากสนุกกับชีวิตมาก อยากมีความสุข อยากร่าเริงมาก เพราะว่าไปเครียดอยู่ครึ่งปี กลับมาเที่ยวนี้ก็อยากพักผ่อน อยากไปทะเลมาก แล้วเรื่องงานก็ไม่ทิ้งค่ะ ปลายปีทุกท่านก็จะได้เจออีกคอลเลคชั่นหนึ่งของแบรนด์ SIRIVANNAVARI และปีหน้าก็ยังเจอ SIRIVANNAVARI MAISON ทุกคนจะได้เจอผลงานใหม่ๆแน่นอน จะมีโปรเจคใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ ทุกคนต้องติดตามตอนต่อไปว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น”