สุทธิชาติ ศราภัยวานิช จบการศึกษาจาก คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มงานแรกในกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูน A-Comic จากการชักชวนของเพื่อนสนิท มีหน้าที่รวบรวมต้นฉบับจากนักเขียน เบิกค่าเรื่อง ตอบจดหมายผู้อ่าน ได้เห็นงานเขียนหลายแนว ทำให้เขาได้เรียนรู้ ได้เริ่มเห็นความลำบากในอาชีพสายนี้ แต่ด้านลบที่ได้รับรู้ไม่ทำให้เขาเลิกความฝันจะเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพ การค้นหาและพัฒนาตัวเอง ก็ยังต้องเดินต่อไปพร้อมการหาเลี้ยงชีพตามเส้นทางของหนุ่มสาว
กราฟิกโรงพิมพ์จึงเป็นงานต่อมาที่สุทธิชาติไปทำตามคำชวนของเพื่อนอีกคน ที่โรงพิมพ์ “นิวไวเต็ก” นี่เองที่เขาได้สั่งสมความชำนาญในด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก หัดใช้โปรแกรมต่างๆ เพื่อออกแบบงานโฆษณา หนังสือที่ระลึกงานศพ และหนึ่งในผลงานที่เขาภูมิใจคือร่วมออกแบบร้าน MilkPlus ร้านแรกที่สีลม ซึ่งเป็นต้นแบบให้สาขาอื่นๆ ทั้งหมด สองปีผ่านไป อีกครั้งที่มีเพื่อนที่เชื่อในฝีมือสุทธิชาติมาชักชวนสู่งานใหม่ๆ เขาได้เข้าร่วมงานกับ บอย โกสิยพงษ์ ในการเขียนการ์ตูนที่แถมกับแผ่นซีดีเพลงของ คริสติน นักร้องสาวของเบเกอรี่สมัยนั้น
ผลงานของสุทธิชาติถูกใจบอยให้ทาบทามมาร่วมงานเขียนการ์ตูนในงานแอนิเมชั่นสำหรับทีวีที่กำลังทดลองทำ และจากนั้นก็ได้เขียนการ์ตูนซีรี่ส์ใน Katch นิตยสารแฟชั่นวัยรุ่นที่เป็นต้นแบบให้นิตยสารอื่นๆหลายฉบับในปัจจุบันด้วยการสร้างสรรค์จาก Bakery Music ในสมัยนั้น
นักสืบโจ หัวปลาหมึก (Joe the Sea-cret Agent) และเพื่อนตัวประหลาดสี่ตัว ในนิตยสาร Katch นี้เองที่สร้างชื่อสุทธิชาติออกสู่สาธารณะและก่อเกิดแฟนๆ กลุ่มใหญ่ ด้วยพล็อตเรื่องเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์บนโลก
“เริ่มอะไรใหม่ๆ มา ต้องเขียนให้เสร็จสักหนึ่งตอนก่อนเลย หน้าตาอาจจะไม่สวยงามเหมือนคนอื่น แต่เป็นสไตล์ของเรา คนจำได้แน่ๆ เด็กใหม่ชอบคิดว่าได้เงินเท่าไหร่ จะได้ลงตีพิมพ์หรือเปล่า ผมว่าเรื่องนี้มันมาทีหลัง เขียนให้เสร็จก่อน อย่าไปเครียดตรงนั้น ควรจะใส่ใจว่าเดินเรื่องยังไง คนอ่านแล้วรู้เรื่องหรือเปล่า” คือแนวทางทำงานที่สุทธิชาติยึดถือตลอดมา
ต่อด้วยงานหลากหลายอย่างการ์ตูนสั้น P.I.G (Prince in Garbage), เรื่อง Cactus Jack, หนังสือการ์ตูนทำมือ Tribute Comic, การ์ตูนเรื่อง Zuperstar and Mamarazzi, การ์ตูนสั้น How to be a ROCK star, มิวสิกแอนิเมชั่น JOE the SEA-CRET Agent ตอน NEW YORK Summerland, และ ฯลฯ
สุทธิชาติเคยได้รับโจทย์จากไนกี้ประเทศไทย วาดการ์ตูนสั้นๆเรื่อง “Eyeke Seven” จัดแสดงเป็นนิทรรศการ Born from Obsession ณ เพลย์กราวน์ ทองหล่อ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นหนุ่มสาวมาซึมซับเรื่องราวของรองเท้ากีฬารุ่นใหม่ๆ ผ่านเนื้อหาและภาพการ์ตูน สุทธิชาติเล่าว่าการใช้การ์ตูนเป็นพรีเซ็นเตอร์ทางการตลาดมีทำกันมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นๆ กันจะเป็นตัวการ์ตูนที่ดังมาก่อน เช่นในระดับโลกก็เป็นมิกกี้เม้าส์ ในไทยเป็นปังปอนด์ เป็นต้น แต่การสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะนั้นก็พอมีแต่ยังเป็นส่วนน้อยอยู่
สุทธิชาติมีผลงานรวมเล่มที่ชื่อ SuttichART Works เป็นหนังสือรวมเล่มผลงานของสุทธิชาติที่แปลกมีแนวเฉพาะตัว และความสามารถทางคอมพิวเตอร์กราฟิก
อนาคตของวิชาชีพนักเขียนการ์ตูนในไทยนั้น สุทธิชาติมองว่าการ์ตูนสิ่งพิมพ์นั้นค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว และผู้จะทำอาชีพนี้ก็คงต้องเพราะใจรักเป็นหลัก เพราะความเติบโตก้าวหน้ายังค่อนข้างจำกัดอยู่ ส่วนการ์ตูนสำหรับแอนิเมชั่นถือว่าค่อนข้างสดใส กำลังโต และมีอนาคตไม่ว่าจะมองด้านวิชาชีพหรือด้านธุรกิจ ทุกวันนี้สุทธิชาติยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาพประกอบ คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมากว่า 5 ปีแล้ว
************************************
ที่มา : สารนุกรมเสรี www.wikipedia.com