กิตติศักดิ์ กันดิศาคุณานนท์

จากการเสก็ตงานเล่นๆสู่ Jewelry design ที่ผสมผสานคุณค่าความงาม ความละเอียด มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ทำให้ใครๆเห็นต่างหลงรักและอยากเป็นเจ้าของ ไม่เว้นแม่แต่คุณสุมณี คุณะเกษมไฮโซพันล้านและผู้เป็นเจ้าของอภิมหาคฤหาส์หมื่นล้าน กิตติศักดิ์ กันดิศาคุณานนท์ Jewelry design หนุ่มรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจด้วยความรักและปรารถนาที่จะเห็นผู้สวมใส่มีรอยยิ้มและความสุข

ประวัติในการทำงานที่ผ่านมาของคุณ

ครอบครัวผมนิยมใส่จีเวลรี่กันอยู่แล้ว ผมได้เห็นบ่อยๆจึงเกิดความคุ้นเคย ผมเริ่มดีไซน์ ทำนองเล่นๆสนุกๆเมื่อเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนนั้นจำได้ว่าเรียนวิชาฟิสิกส์แล้วเครียด จึงหยิบกระดาษมาขีดๆเขียนๆเป็นรูปนั่นนี่ แล้วฝังพลอยลงไป เพื่อนๆถามว่าทำอะไรก็ตอบไปว่าวาดรูปเล่น เขาก็ชมๆกันว่าสวย  คุณแม่เห็นเข้าถามว่าออกแบบเป็นจีเวลรี่หรอ เลยเอาไปทำ จำได้ว่าเป็นตุ้มหูรูปตัวต่อ ผมก็เฉยๆ ไม่ได้คิดเอาดีด้านนี้จริงจัง เป็นการวาดเล่นแก้เบื่อในห้องเรียนเท่านั้น ต่อมาเมื่อได้ค้นพบในสิ่งที่เป็นตัวเอง ก็มีใจรักขึ้นมา Jewelry design เป็นเราแน่นอน  ตอนนั้นยังไม่มีความรู้อะไรมากนัก ยึดคุณแม่เป็นหลัก ท่านชอบเครื่องประดับแนวแฟมินีน อ่อนช้อย ผมก็ดีไซน์มาเรื่อยๆ เก็บสะสมไว้ ทุกวันนี้มีหลายรูปแบบ หลายสไตล์ บางแบบท่านเห็นชอบก็เอาทำบ้าง เมื่อเราสนใจในอะไรเราจะทำสิ่งนั้นได้ดี ผมศึกษาอะไรใหม่ๆ ทำให้มีแรงบันดาลใจต่างๆเข้ามามาก ออกแบบเครื่องประดับแนวมีชีวิต คือรูปสัตว์ต่างๆ ดูแล้วเหมือนมีเพื่อนตัวเล็กๆมาอยุ่บนร่างกายก็น่ารักดี สมัยนั้น( พ.ศ.2547) ยังไม่ค่อยมีใครคิดรูปแบบนี้มากนัก ปัจจุบันนี้มีคนทำในสไตล์ที่ผมกล่าวมามากจนกลายเป็นของโหล

คุณแม่เป็นเหมือน PR ของผม บางครั้งใส่จีเวลรี่ดีไซน์ผมไปพบเพื่อนๆ พวกเขาก็ชมว่าสวย ผมจึงได้รับมอบหมายให้ดีไซน์เป็นครั้งคราว เริ่มมีความสนุกกับเส้นทางนี้แล้ว ก็ดีไซน์มาอยู่เรื่อยๆ ศึกษารูปแบบดีไซน์ของต่างประเทศ และเครื่องประดับแบรนด์ต่างๆ งานที่ถือเป็นผลงานชิ้นแรก(เจ้าของผลงานไม่ประสงค์ออกนาม) คือ ออกแบบสร้อยคอ มีพลอยมาให้ดูเป็น มรกตโคลัมเบียและไพลินเขมร แต่ละเม็ดก็เท่าลูกอมโอเล่ ซึ่งมูลค่าสูงเลยทีเดียว เมื่อทราบ detail ของอัญมญีแล้วมีความคิดว่า พลอยที่ สวย คุณภาพดี ก็ควรมีดีไซน์ที่ช่วยทำให้สวยยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ใส่มีราศี ใครเห็นแล้วต้องสะดุดตามาชมเจ้าของ ที่สำคัญต้องไม่จมหายไปเวลาถ่ายรูป จึงดีไซน์เป็นรูปนกยูง เป็นเรื่องบังเอญมากที่สามารถเข้ากับชุดตุ้มหูนกยูงของเขาพอดี จำได้ว่าเมื่อเขาเห็นดีไซน์ของผมแล้วเขาสั่งช่างทำขึ้นมาตามแบบ โดยไม่ให้ผมปรับแบบอะไรเลย เป็นความประทับใจอย่างมาก

จากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากคนใกล้ชิด ที่พอเห็นฝีมือของผมแล้วพอใจ ให้ช่วยดีไซน์แบบเสมอมา ครั้งหนึ่งเป็นคุณป้าผมเอง มีโจทย์มาให้คือเป็น Golden south sea pearl และ Tahitian pearl ซึ่งท่านเก็บสะสมมาเมื่อไปเที่ยว เอามาถามผมว่าทำเป็นอะไรแล้วสวย ผมจึงถามก่อนเลยว่า detail เป็นอย่างไร พอทราบแล้วจึงออกแบบเป็นรูปหนอนกำลังไต่บนใบไม้ เพราะของสวยต้องมีอะไรที่ทำให้สวยและโดดเด่น

บางครั้งไปพบเจ้านายหรือเพื่อนๆโดยบังเอิญตามห้าง เห็นเขาใส่จีเวลรี่ดีไซน์ผม ก็มีความสุข ปลื้มอยู่ในใจลึกๆ เพราะเขากล่าวว่า เวลาเห็นชิ้นงานก็นึกถึงคนออกแบบ นึกถึงช่วงเวลาที่มีต่อกัน จีเวลรี่นี่ถือเป็นอะไรได้หลายอย่าง มีทั้งความสวยงาม ดีไซน์และ ความทรงจำ โชคดีมากที่ได้รู้จักกับ คุณศรัณยู-คุณนภาพร ศรีอรทัยกุล กรรมการบริหาร World Crystal Co.,LTD. ห้างเพชรแถวหน้าของเมืองไทย  ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับคุณภาพเยี่ยม ดีไซน์ที่ล้ำสมัย ฝีมือปราณีตให้กับแบรนด์จีเวลรี่ชั้นนำระดับโลก ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสายอาชีพผม รวมถึงได้รับความสนิทสนม มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอมา ครั้งหนึ่งช่วงฝึกงานของมหาวิทยาลัย ขอมาฝึกงานที่โชว์รูม ได้เห็นชิ้นงานที่มีดีไซน์ล้ำสมัยจากผลงานดีไซน์ของคุณนภาพรเอง  และผลงานปราณีตมากจากช่างฝีมือ ดีไซน์ของผมสามารถผลิตเป็นชิ้นงานได้จริงและมีความเป็นไปได้ในการผลิตอยู่หลายชิ้น นอกจากนี้ได้รับคำแนะนำ ติ ชม ดีไซน์ผมที่ผ่านสายตาคุณนภาพร ว่าบางแบบหากปรับเล็กน้อยจะดูดีขึ้น บางแบบถ้าไม่ปรับอาจเป็นไปได้ยากในการผลิต ถือเป็นกระจกที่สะท้อนความสามารถของผม ให้ได้พัฒนาฝีมือ คนเราถ้าไม่จริงใจต่อกันเขาก็จะไม่ติ การที่เขาติคือให้เราได้ปรับในทางที่ดีขึ้น ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ด้วยความที่ยังเป็นนิสิต ยังไม่ได้รับงานดีไซน์จริงจัง นอกจากการเรียนแล้วก็พยายามหาเวลาว่าง ดีไซน์เป็นงานอดิเรก เก็บประสบการณ์ รสนิยมดีๆที่ได้รับจากบุคคลรอบข้าง เป็นประโยชน์ต่อสายอาชีพเป็นอย่างมาก

ประวัติการศึกษา

สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ แรกเริ่มตั้งใจเข้าเรียนที่แห่งนี้หมายจะเป็นหมอ แต่แล้วก็ได้เบนเข็มเมื่อชั้น ม.6 มีโอกาสตามพี่ไปเข้าเวรกะกลางคืนที่โรงพยาบาล เห็นเคสอุบัติเหตุสาหัส คิดทันทีว่า คงไม่ใช่สิ่งที่ใจรับได้ ไม่ใช่ตัวตนของเรา ความคิดที่จะเป็นหมอก็สลายไป จากนั้นก็มาคุยกับเพื่อนสนิท(ดนุ เกิดลาภผล) ที่เห็นผมวาดรูปอยู่เรื่อยๆในตอนนั้น เพราะนั่งเรียนด้วยกัน เขาแนะให้ผมเป็นนักออกแบบเพชรพลอย เพราะตัวเขาเองก็อยากเป็น interior (ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เลยชวนกันไปเรียน sketch design ที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมมีความชอบด้าน Artistic ขึ้นมาจริงจัง จึงเข้าศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ วัสดุศาสตร์(อัญมณีและเครื่องประดับ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 ทีแรกตั้งใจเข้าเรียนที่นี่เพราะต้องการเรียน Jewelry Design แต่หลักสูตรนี้ต้องรออีกหลายเทอม และตลอด 4 ปี มีเพียง 1 หน่วยกิต ด้วยความที่เป็นคนใจร้อนจึงไปเรียนดีไซน์หลักสูตรสั้นๆที่ London คิดว่าความรู้ที่มีไม่พอจึงสมัครเรียนหลักสูตร Jewelry Design ของ GIT จนจบหลักสูตรขั้นสูงสุด(Certificated of Advance in Jewelry Design, GIT) ยังมีความคิดว่าอนาคตหากมีโอกาสจะไปเรียนต่อที่ Italy เพราะมีเสนห์ในโลกศิลปะมากมายและนักออกแบบชื่อเสียงของโลก

อะไรคือแรงบันดาลใจในการออกแบบ

ผมเองเป็นคนที่มีหัวคิดในด้าน Aesthetic แรงบันดาลใจของผมเกิดขึ้นได้ง่ายมาก หลากหลายตามแต่โอกาส มองทุกอย่างเป็นของสวยไปหมด อย่างเวลาไปเที่ยวที่ไหนเห็นอะไรสะดุดตา ถูกใจก็เก็บเป็นความทรงจำ แล้วนำผสมผสานกับความชอบส่วนตัวลงไปในงานดีไซน์ในแบบฉบับของผมเอง หรือแม้แต่เห็นใครที่ถูกใจก็จะจำหน้าเขาคนนั้นมาแล้วมาดีไซน์ว่าหากเขาใส่แนวนี้จะทำให้ดูดี เป็นต้น บางครั้ง inspiration มาจากธรรมชาติ Architecture หนือแม้แต่ความคลาสสิกของวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ แต่ละยุคสมัย

ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถใส่จีเวลรี่ ผมสามารถออกแบบให้ได้กับทุกคน สำหรับผู้ชายดีไซน์ต้องคงความทะมัดทะแมง ดูแล้วสมาร์ทจะเหมาะกว่า ไม่เน้นโมเดิร์น อาจมีดีไซน์เล็กน้อยเพื่อเพิ่มเสน่ห์ในงาน ผมจะดีไซน์ตามรสนิยมของผมคือมีความเป็นวินเทจ แอนทีค ผสมลงไปบ้างเล็กน้อย งานดีไซน์จึงจะมีลูกเล่น เพิ่มความเท่ห์ มีความชัดเจนในแบบฉบับผมเอง ผลงานจึงไม่กลายเป็นของโหล ที่สำคัญต้องดูมีราคา

Fascination in Jewelry อยู่ที่ว่าจีเวลรี่ช่วยเสริมบุคลิก ดึงCharacterคนใส่ขึ้นมา เติมเต็มเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้นั้น ในฐานะที่ผมเป็นผู้ชาย ดีไซน์เครื่องประดับสำหรับผู้หญิงของผมก็น่าจะให้ความมั่นใจกับผู้หญิงที่ใส่ว่าผู้ชายจะมองว่าสวยและชอบ ผู้หญิงมีสไตล์การแต่งกายที่หลากหลายมาก เครื่องประดับก็จะต้องมีหลายแนว ที่ได้สัมผัสจะมี Working woman ต้องการจีเวลรี่แนว casual wear มีความคลาสสิก แต่ก็ไม่เรียบเกินไปจนกลายเป็นของซ้ำชาก พบบ่อยๆ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นผู้หญิงที่ชื่นชอบการแต่งตัวสวยๆ ผมก็จะแนะนำว่า ในเมื่อจีเวลรี่เป็นของฟุ่มเฟือย ไม่ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ฉะนั้นแล้วเมื่อจะให้ความสุขกับตนเองทั้งทีก็ควรเก็บเป็นชิ้นงานสวยๆ ดีไซน์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อัญมณีดูมีค่ามากขึ้นหรือด้อยลง และสะท้อนรสนิยมผู้ที่สวมใส่ ผมพยายามเชียร์อัพเจ้านายแต่ละท่านให้แต่งตัวสวยๆ โดยกลุ่มนี้ผมจะนำสนอดีไซน์ที่เป็น unique เป็นงานฝีมือ มีเอกลักษณ์เฉพาะผสมผสานกับความหรูหรา มีคอนเซปต์ ซึ่งเป็นจุดที่ครองใจคนที่ผมดีไซน์ให้ โดยส่วนตัวได้รู้จักกับช่างเทคนิคของร้านจีเวลรี่ที่เป็นงานฝีมือร้านหนึ่ง ผมจะปรึกษาเกี่ยวกับดีไซน์ของผมว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในการผลิต อาจมีปรับบ้างก่อนนำเสนอผลงาน ทำให้ไม่มีปัญหาว่าดีไซน์แล้วทำไม่ได้

ในทัศนคติของผม คิดว่า Jewelry Design ที่สวยจริงๆคือ เมื่อสวมใส่บนร่างกายแล้วถ่ายรูปออกมาแล้วยังเห็นอยู่ ไม่หายไป แต่ในโลกของความจริงเป็นได้เพียงเฉพาะกลุ่มบุคคล ผมจึงต้องปรับความคิด และคงไว้ซึ่งดีไซน์ที่ผสมผสานทั้งดีไซน์และความมีเอกลักษณ์ของ artistic and aesthetic เข้าด้วยกันจึงจะถือว่าสมบูรณ์ แรงบันดาลใจที่แท้จริงของผมคือ ดีไซน์ต้องผลิตได้จริง มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์และต้องช่วยเสริมบุคลิกให้ผู้สวมใส่ดูดี สะท้อนรสนิยม ให้เขาดูสมบูรณ์แบบในแบบฉบับของเขาที่สุด

กุญแจ แนวทาง ที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ก่อนอื่นผมต้องขอบพระคุณคุณพ่อ คุณแม่ เป็นอย่างยิ่งที่ให้โอกาสได้เดินตามทางที่ผมรัก ซึ่งคุณพ่อก็แอบผิดหวังอยู่ลึกๆที่ผมไม่ได้เป็นหมอ เพราะว่าทั้งสองท่านอยากให้ผมมีหน้าที่การงานมั่นคง แต่ท่านก็เปิดใจ เห็นแก่ความสุขผมในระยะยาว ท่านก็เข้าใจและให้การสนับสนุน ผมได้มีโอกาสเรียนวาดรูปเพิ่มเติมทำให้มีทักษะการวาดมากขึ้น ทั้งสองท่านส่งไปเรียน Jewelry Design อย่างจริงจัง ขอบพระคุณคุณแม่ที่ผลิตชิ้นงานจากดีไซน์ผมในวันนั้น ท่านกล่าวว่า “กำลังใจถ้าหาจากในบ้านยังไม่ได้ ก็อย่าไปหวังจากข้างนอก”

นอกจากนี้แล้วหากไม่กล่าวถึงคงเหมือนว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตผมหายไป ก่อนหน้าที่ผมจะได้พบกับบุคคลท่านนี้ บนโต๊ะทำงานจะมีภาพท่านตั้งไว้ และจะเป็นที่ทราบในวงเพื่อนๆว่าผมชื่นชมบุคคลท่านนี้เป็นอย่างมาก ท่านคือ คุณสุมณี คุณะเกษม ตั้งแต่ได้พบกับท่าน ท่านกรุณานับผมเป็นน้อง ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ท่านได้เอ็นดูผมถึงเพียงนี้

 

 

ทุกครั้งที่ได้รับเกียรติไปยัง มณีมณฑ์ชา เพ้นต์เฮ้าส์ ผมปรารถนาให้เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ในแต่ละนาทีคือความสุข ในระหว่างที่รอพบท่าน จะพบความงามของเครื่องเรือนระดับ masterpiece ที่ท่านประมูลมาจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งบรรจงจัดวางตามจุดต่างๆของห้อง แต่ละชิ้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรายละเอียดที่สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในดีไซน์ ไอเดียใหม่ๆพรั่งพรูในใจผม ผมได้รับการต้อนรับอย่างใส่ใจและอบอุ่นจากผู้ช่วยทุกคน และความสุขที่ยิ่งใหญ่ของผมคือเวลาที่ได้พบกับบุคคลที่ผมรักและศรัทธาเสมอมา คือคุณพี่สุมณี

ท่านกล่าวว่าผมกับท่านมีรสนิยมที่คล้ายกัน แนวเครื่องประดับจะเน้นดีไซน์ที่เป็น uniquely and obviously ช่วยเสริม character ให้สง่างาม เพราะสวมใส่จีเวลรี่ชิ้นใหญ่อย่างไรก็สวยกว่าใส่ชิ้นเล็ก ขึ้นชื่อว่าของสวยย่อมมีเวที Jewelry collection ของท่าน แต่ละชิ้นจะสวยงามด้วยดีไซน์และอัญมณีระดับ gem quality เมื่อเครื่องประดับชั้นเยี่ยม ดีไซน์เลิศหรู ผสมผสานกับเสื้อผ้าหรูหรา ฝีมือตัดขั้นเยี่ยมจากสไตลิลส์ผู้มากความสามารถและประสบการณ์ เวทีที่แสดงความงามแบบฉบับ the best of the best คือคุณสุมณี ทุกอย่างจะลงตัวและสมบูรณ์แบบที่สุด เป็นความสง่างามในแบบฉบับหาที่ติไม่ได้ ในเมื่อชีวิตผมได้สัมผัสกับความสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว ผมจำเป็นต้องพัฒนาฝีมืออยู่เสมอๆ

ท่านให้การสนับสนุนผม ผมได้รับมอบหนังสือประมูลเครื่องประดับของ Sotheby ภายในรวบรวมแบบเครื่องประดับระดับ world class จากแบรนด์ชั้นนำของโลก บางชิ้นเป็นเครื่องประดับของพระราชวงศ์ในแถบยุโรป มีความเป็นมาบรรยายให้ทราบ ถือเป็นการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้นไปในตัว นอกจากดีไซน์ที่สวยงาม วิจิตรบรรจงแล้ว ยังสอดแทรกความรู้ทางอัญมณีที่ดีมาก สามารถใช้เป็น reference ผมอ่านแล้วนำไปใช้สอบที่ภาควิชาได้อย่างสบาย

ผมสร้างสรรค์ผลงานมอบให้ท่านตามแต่ละโอกาส ผลงานแต่ละชิ้นทำด้วยใจรักที่มีต่อท่าน เหนือสิ่งอื่นใด ผมได้รับกำลังใจที่ดีจากท่านเสมอมา ท่านเชื่อว่าผมจะสามารถมีฝีมือสร้างชื่อเสียงและนำมาซึ่งความสำเร็จสู่ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเครดิตทีได้รับจากท่านถึงเพียงนี้ ประกอบกับครอบครัวคือทัพหลัง ผมถือเป็นกุญแจ แนวทางที่นำมาซึ่งแรงผลักดันตัวผมให้พัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อให้ทุกคนที่รักผมมีรอยยิ้มแห่งความสุขครับ

มุมมองของคุณต่อวงการ Jewelry Design ในระดับประเทศและระดับสากล

ด้วยความที่ได้มีโอกาสมาเรียน Jewelry Design ที่ GIT ทำให้ได้พบปะกับพี่ๆในวงการอัญมณีหลายท่าน และหลากหลาย แต่ละท่านเป็นถึงระดับผู้บริหาร เจ้าของกิจการ บางท่านส่งออกพลอย ซึ่งมากด้วยความรู้และประสบการณ์ แม้ว่าผมยังไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง แต่จากการที่พี่ๆทุกท่านได้ให้ความเอ็นดูเล่าถึงลูกค้าให้ฟังบ้าง ประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านพ้นมาทำให้ผมได้รับความรู้มากมาย วิสัยทัศน์ระดับผู้บริหารถือเป็นวิทยาทานอย่างยิ่งสำหรับผม ที่ทราบมาสำหรับคนไทยดีไซน์ที่ได้รับการนิยมมาทุกยุคทุกสมัยจะเป็นแนวที่สวมใส่ได้ประจำทั้งกลางวันและกลางคืน ลูกเล่นมีน้อยมากไม่เป็นดีไซน์มากเกินไป ดีไซเนอร์เครื่องประดับแนวดังกล่าวจะเป็นดีไซเนอร์รุ่นแรกๆที่ไปเรียนด้านดีไซน์ที่ต่างประเทศ แวดวง Jewelry Design ทุกวันนี้มีดีไซเนอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย บางท่านเป็นเจ้าของแบรนด์ที่มีใจรักด้านนี้แล้วไปเรียนด้านนี้ก็มี บางท่านถูกส่งมาเรียนเพื่อกลับไปทำงานที่ร้าน หรือบางท่านมาเรียนด้วยใจรักหวังที่จะเป็นดีไซเนอร์(อย่างผมเป็นต้น) บางท่านเรียกได้ว่ามากด้วยความสามารถทางศิลปะอย่างแท้จริงออกแบบเครื่องประดับ เปิดแบรนด์ของตัวเอง ออกแบบเครื่องแต่งกายรวมถึงเป็นเมคอัพอาร์ทิสก็มี ปัจจุบัน jewelry designer ในประเทศไทยมีมาก แต่ละท่านก็จะมีรูปแบบดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น ไม่มีเค้าโครงเครื่องประดับยุคแรกๆเหลืออยู่  อาจถือว่าเป็นโชคดีของดีไซเนอร์ในประเทศไทยก็เป็นได้ เพราะจะมีงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบมากมาย มีสถาบันเปิดสอนจัดประกวดชิงรางวัล ซึ่งเป็นเวทีที่จะผลักดันให้มีนักออกแบบรุ่นใหม่เกิดขึ้น สามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมาสู่สายตาประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วจะมีงานจัดแสดงเครื่องประดับเพชรพลอยอยู่เสมอๆและหลายงาน ใน 1 ปีมีมากกว่า 5 ครั้ง อาทิ Central Watch and Jewelry, Bangkok Gem and Jewelry Fair, งานจัดแสดงสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่งานครบรอบของห้างเพชรต่างๆ งานแต่ละงานในแต่ละครั้งก็จะมีดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่คอนเซปต์ในแต่ละแบรนด์ ขอยกตัวอย่าง พ.ศ.2545 Diamond Trading Company (ขณะนั้นยังเปิดทำการ บริหารงานโดยคุณกรรณิการ์ เศวตเศรณี) จัดงาน Diamond Right hand ring – แหวนมือขวาของคนมีระดับ โดยจะมีแบรนด์ชั้นนำของประเทศไทยเข้าร่วมประมาณ 13 – 14 ราย แต่ละรายจะมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ไปในทิศทางเดียวกันคือ มือขวาเป็นมือที่ทรงพลัง สามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความสำเร็จของผู้สวมใส่เป็นอย่างดี ล่าสุดเมื่อกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา GIA จัดแสดงงานครบรอบ 80 ปี มีการจัดแสดงจีเวลรี่ในรูปแบบฉบับของสถาบันเอง งานเหล่านี้ก็ถือเป็นงานส่งเสริมด้านดีไซน์ให้กับดีไซเนอร์ได้ศึกษาด้วยตนเองจากรูปธรรม

ในระดับสากล มีดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงมากมาย นอกจากจีเวลรี่ดีแล้ว ยังมีแขนงอื่นๆเข่น เสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น  Jewelry designer ต่างประเทศจะสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปแบบเฉพาะให้กับแบรนด์ต่างๆ ถือเป็นความงามในแบบฉบับของแบรนด์ และความเป็นเอกลักษณ์ในความคิด มีความเป็น cultural icon ยากต่อการนำมาคัดลอก หรือปรับปรุง อาทิ Steven Kretchmer นักออกแบบรังสรรค์ ผลงานการฝังเพชรบนตัวเรือนด้วยแรงอัดทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เพชรมีความแวววาว สะท้อนแสงเป็นประกายมากกว่าการฝังในรูปแบบอื่นๆ แม้ว่าจะมีหลายแบรนด์ที่ลอกเลียนแบบในทำนองนี้ก็ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์เพราะเขาจะมีเทคนิคเฉพาะในการผลิต หรือแม้แต่เครื่องประดับทองคำ ไม่มีการฝังเพชรพลอย Saint Christopher เป็นบุคคลแรกที่สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับศาสนา ความรักและศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า เป็นเครื่องประดับรูปแบบของจี้เล็กๆ สามารถซ่อนในกระเป๋าได้ หรือติดกับเข็มกลัด กลัดไว้กับเสิ้อผ้าได้ หรือเกี่ยวเป็นสร้อยแขวนไว้ในรถยนต์ทำให้เครื่องประดับของเขาเป็นที่นิยมในคริสต์ศาสนิกชน นิกายคาทอลิก หากเป็นเครื่องประดับเพชรพลอยชั้นสูง ก็คือ Van Cleef and Arples สร้างสรรค์ผลงานการฝังอัญมณีในแบบฉบับของตนเอง มีความปราณีต ช่วยให้เครื่องประดับของเขาหรูหราและมีความเหนือระดับกว่าแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ นั่นคือการฝังรูปแบบ Mysterious setting เป็นที่เรียกขานในประเทศไทยว่า งานไร้หนาม ซึ่งค่าแรงในงานลักษณะนี้สูงมาก และใช้เวลา เนื่องด้วยการคัดสรรวัตถุดิบตลอดจนการผลิตต้องได้ช่างที่มีฝีมืออย่างแท้จริง กลุ่มคนที่อุปโภคเครื่องประดับจะมีหลากหลาย ได้แก่ชาวอเมริกันจะมีงานสังสรรค์เป็นประจำกลุ่มลูกค้าจะชื่นชอบกับผลงานของดีไซเนอร์ที่เน้นโชว์ความสวยงามของอัญมณีและความปราณีตในฝีมือการผลิต สาวชาวอเมริกันจะขาดcocktail ring ไม่ได้เลย  กลุ่มชาวอาหรับ หรือในแถบตะวันออกกลางนั้นจะชอบเครื่องประดับชิ้นใหญ่ๆ ผสมผสานทั้งความหรูหรา และควาวเจิดจรัสของอัญมณี ที่สำคัญเป็นเอกลักษณ์ในการแต่งกายของชนชาติคือจะประดับตั้งแต่ศรีษะลงมาในรูปแบบที่ว่าประโคม ซึ่งเป็นความงามในวัฒนธรรมของพวกเขา เพราะทราบจากเพื่อนที่ส่งออกให้ประเทศแถบนั้นมาว่าเขาจะซื้อเครื่องประดับครั้งหนึ่งไม่ใช่กล่องแต่เป็นกระด้ง

ความคิดของทุกคนมีได้อย่างไม่จำกัด ทำให้เราได้เห็นดีไซน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะระดับประเทศหรือระดับสากล ดีไซน์ทุกคนก็ต้องการแสดงความคิดสร้างสรรค์ และพรสวรรค์ที่มีในตนเองเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชน
ผลงานที่ผ่านมา
1. Certificated
1.1 2008 Certificated of Fundamental Level in Jewelry Design, GIT
1.2  2009 Certificated of Intermediate Level in Jewelry Design, GIT
1.3  2010 Certificated of Advance Level in Jewelry Design, GIT
ผลงาน
2.1 2008 แสดงผลงานออกแบบเครื่องประดับ Collection : Holding on my love ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) GIT, Atrium Zone Central World Department Store
2.2  2009 แสดงผลงานออกแบบเครื่องประดับ Collection : Madame Pomegranateร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) GIT, Royal Paragon Hall, Siam Paragon
2.3 2010 ร่วมแสดงผลงานการออกแบบและผลิตเครื่องประดับโดยฝีมือนิสิต คอนเซปต์ “อารมณ์แห่งฤดูกาล” ร่วมกับภาควิชาวัสดุศาตร์(อัญมณีและเครื่องประดับ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการ JEWELRY SEASON 17th ณ ลานหน้าศูนย์การค้าโตคิว ผลงานคือ Collection : ใบไม้กับสายน้ำ  แรงบันดาลใจคือ เมื่อถึงฤดูใบใม้ร่วง จะพบเห็นใบเมเปิ้ลที่สวยงามร่วงโรยตามกาลเวลาลงสู่พื้นดินและน้ำ โดยชิ้นงานผลิตด้วยตนเองและเพื่อนอีก 2 คน
2.4 2011 ออกแบบป้ายชื่อแฟนซีมอบแด่คุณสุมณี คุณะเกษม
รางวัลทีได้รับ
รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดออกแบบเครื่องประดับภายใต้คอนเซปต์ “ Geometry มิติที่แตกต่างกับความงามที่น่าค้นหา” ภายใต้โครงการ JEWELRY SEASON 16th ณ Central World Department Store

ปัจจุบันผมดีไซน์งานร่วมกับเพื่อนๆที่เป็นเจ้าของกิจการร้านจีเวลรี่ รับงานดีไซน์ฟรีแลนซ์  เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

กิตติศักดิ์ กันดิศาคุณานนท์

You may also like...