ชีวิตระหว่างบรรทัด ‘ เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ’

กล่าวได้อย่างเต็มปากว่าการยอมรับตัวเองคือบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่ความสำเร็จ  เพราะนั่นย่อมหมายถึงความเข้าใจในความสามารถที่ตนเองมีอยู่อันนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการทำงานให้ได้ประสิทธิผลและเหนือสิ่งอื่นใดคือความสามารถในการสร้างความสุขให้กับตัวเอง

ไม่แปลกเลยที่เราเห็นบุคคลมากมายแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาให้ได้เห็นด้วยความภาคภูมิ ซึ่งคนเหล่านั้นก็มัก ‘มีดี’และ ‘ได้ดี’ กันทั้งสิ้น

“อาชีพหลักของเราคือเป็นทอม ส่วนที่เห็นทำๆอยู่ทั้งหมดนั้นเป็นอาชีพรอง”
ประโยคแนะนำตัวของบรรณาธิการคนเก่งแห่ง ณ เพชรสำนักพิมพ์ ‘เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ’ สะท้อนแนวคิดที่กล่าวไว้ข้างต้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่น่าแปลกใจเลยที่พบว่าเจ้าของรอยยิ้มสดใสจริงใจผู้นี้ประสบความสำเร็จกับงานที่ตัวเองรักและมีชีวิตแสนสุขอย่างที่เจ้าตัวต้องการได้อย่างเต็มที่

“เราต้องบอกเขาอย่างนี้ก่อน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม อย่างแรกคือคนรับได้ก็จะเข้ากับเราได้เลย แต่ถ้ารับไม่ได้ก็จะได้ทำตัวให้ถูก ที่สำคัญที่สุดบางครั้งเราก็ต้องประสานงานกับผู้หญิงซึ่งมักคิดว่าเราจะเข้าไปจีบเสียเรื่อย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นก็บอกให้รู้ไว้เสียก่อนเลยว่าเรามีจรรยาบรรณและสามารถแยกแยะงานกับเรื่องส่วนตัวได้อย่างเด็กขาด”

“อาจเป็นเพราะคุณแม่ชอบอ่านหนังสือ เราเห็นอย่างนั้นมาตั้งแต่เด็กก็คงซึมซับมาบ้าง รู้ตัวอีกทีเราก็รักหนังสือแล้ว แต่เราไม่ได้หยุดลงแค่ชอบอ่านอย่างเดียว จำได้ว่าครั้งหนึ่งอ่านศาลาคนเศร้าแล้วรู้สึกว่า อืม…ไม่เห็นเศร้าเหมือนชื่อเลย ก็ไปบอกแม่ว่าทำไมศาลาคนเศร้าถึงไม่เศร้า แม่ตอบกลับมาว่าถ้าอยากให้เศร้าก็เขียนเองซิ…ไปเป็นบรรณาธิการเองเลย

”ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้ว่าตำแหน่งบรรณาธิการทำหน้าที่อะไร ถึงจะรู้ไม่ลึก รู้ไม่ละเอียด แต่ก็จุดประกายให้เราว่าสักวันหนึ่งฉันจะเป็นบก.ให้ได้”

การเดินทางตามหาความฝันระหว่างบรรทัดและตัวอักษรมานานนับสิบปี ในที่สุดเธอก็ได้ทำอย่างที่ตั้งใจ

“การทำพ้อกเก็ตบุคส์ค่อนข้างยากกว่าทำนิตยสาร เพราะนิตยสารอยู่ได้เพราะมีโฆษณาช่วยส่วนหนึ่ง แม้ว่าคนจะซื้ออ่านมากหรือน้อยก็เป็นปัญหารองลงไป แต่พ้อกเก็ตบุคส์นั้นถ้าพิมพ์แล้วขายไม่ได้ทุกอย่างก็จบ

“เพราะฉะนั้นจึงต้องเริ่มต้นจากการวางแผนที่ดีก่อน ไม่ใช่นึกจะเขียนก็เขียน นึกจะทำก็ทำ ต้องคิดว่าประเด็นของเล่มที่เราจะทำเป็นที่สนใจของผู้อ่านไหม และถึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจแต่มีประโยชน์หรือเปล่า สร้างสรรค์ไหม ใครจะเป็นผู้ถ่ายทอด เราต้องมีจรรยาบรรณของสื่อด้วย ต้องคิดจิปาถะ เราคิดอยู่เสมอว่าหนังสือของเราต้องสร้างประโยชน์ให้กับผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะเห็ฯว่างานของ ณ เพชรสำนักพิมพ์  จะมีหลากหลายแต่มีจุดร่วมเดียวกันคือสาระและข้อคิด ”

นอกจากการดูแลสำนักพิมพ์แล้ว ด้วยใจรักในวงการวรรณกรรมและความมีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ เพชรยุพาจึงได้รับหน้าที่ผู้ประสานงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยพร้อมกันไปด้วย

“คนที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมได้ สำหรับเราถือว่าต้องเป็ฯคนมีความสามารถรอบด้านมาก เพราะฉะนั้นนับว่าเป็นกำไรชีวิตที่ได้ทำหน้าที่นี้ ได้รู้จัก ได้ทำงานร่วมกับนักเขียนหลายต่อหลายคน ซึ่งทำให้มองเห็นว่าที่คนเขาพูดๆกันว่าทำงานกับศิลปินนั้นลำบาก ก็คงจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง (หัวเราะ) นั่นเป็นเพราะคนเหล่านี้มีความอ่อนไหวทางอารมณ์อยู่ แต่ใครก็ตามที่ได้เดินอยู่บนทางสายนี้ท่ามกลางคนพวกนี้แล้วจะรู้ว่า เป็นที่ที่น่าอยู่จริงๆ” เพชรยุพาทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

You may also like...