ประวัติการศึกษา / การทำงาน
ผมจบจากพาณิชย์ศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง ช่วงที่จบแรกๆ อารมณ์มันอยากไปทำงานแล้ว แต่จบแค่ ปวส. น่ะ เลยตัดสินใจเรียนรอบคำ่ไปด้วย ก็เลยทำงานที่กราฟิกเฮาส์เล็กๆ แล้วก็เรียนต่อไปด้วยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สาขานิเทศศิลป์ อีกประมาณ 2 ปี
ช่วงแรกๆ ที่เข้าไปทำงาน ออฟฟิสก็มีประมาณ 3 ถึง 4 คน แต่ละคนจะจัดเลย์เอาต์ ไปจนถึงปิดอาร์ตเวิร์กเองเลย ประมาณว่า Print แล้วมาแปะอาร์ตเวิร์กเรียกว่าทำตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งอาร์ตเวิร์กสมัยนั้นยังต้องใช้การแปะมือ แล้วก็สั่งสีอยู่ นับว่าโหดทีเดียว แต่ว่ามันก็ดีนะงานยุคนั้นมันสอนอะไรเราได้เยอะเลย อย่างเช่นการใช้สี คือตอนนั้นเราจะไม่เห็นภาพที่มันจะออกมานะครับ ต้องใช้จินตนาการคิดออกมาว่าสั่งสีนี้มันจะเข้ากับสีนี้ไหม เราก็ต้องเปรียบเทียบเอาเองจากจินตนาการ บางทีลองสีนู่นนี่ สั่งออกมาเน่าเองก็มี พอช่วงหลังเริ่มมีคอมพิวเตอร์มาช่วยก็สะดวกขึ้นเยอะครับ
แล้วเป็นมาอย่างไร จึงมาเป็น 8e88
พอเรียนจบรอบคำ่แล้ว ผมเริ่มทำงานที่ใหม่เป็นกราฟิกในบริษัทที่เขาทำเว็บและสิ่งพิมพ์ พอดีช่วงนั้นเขาขาดคนทำเว็บผมก็เลยไปช่วยเขาทำตรงนั้น พี่เขาก็สอนจนผมออกแบบเว็บไซต์เป็น จากนั้นเราก็เริ่มอยากจดโดเมน ไม่ได้คิดหรอกครับว่าจะทำเป็นพอร์ตโฟลิโอ ตั้งใจไว้ว่ามีงานอะไรก็ขึ้นไปก็จะเอาขึ้นไปใส่ ทำงานประมาณเป็นงานกราฟิกชิ้นหนึ่งแล้วเอาขึ้นไปอยู่ในเว็บ เอาไปเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้เรียกให้ใครเข้าไปดู ส่วนชื่อก็มาจากไก่ขัน ตอนนั้นผมอยากจะตั้งชื่อให้มันออกมาไทยๆ หน่อย อยู่ๆ ก็นึกชื่อนี้ขึ้นมาได้
ซิกเนเจอร์ของงานคุณเป็นอย่างไรคะ
จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ผมทำงานไม่มีแนวอะไรเป็นส่วนตัว จนมาถึงงานชุด Tiger นี่ล่ะที่เราต้องทำงานไปแสดงต่างประเทศ ผมเลยอยากหาอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศเราเอาไปโชว์เขา ตอนแรกก็ลองไปหลายแบบ พยายามเอาอะไรที่เป็นไทยมา สุดท้ายผมเอาลายไทยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นสมัยที่คลาสสิคที่สุดของไทยมา เอากราฟิกสมัยใหม่มาผสม แล้วก็ปรับเรื่องการจัดวาง เรื่ององค์ประกอบ เรื่องสี เลยทำให้คนเห็นว่างานของผมมันออกมาทางแนวนี้ก็เป็นได้
คิดว่างานของคุณมีชื่อเรียก สไตล์ หรือเปล่า เรียกว่า สไตล์ อะไร
จริงๆจะเรียกว่าสไตล์มันก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว มันน่าจะคล้ายๆกลิ่นหรืออะไรเฉพาะบางอย่าง แต่ถ้าจะเอาตามที่เขาเรียกกัน งานแบบที่เห็นๆกันน่าจะเข้าข่ายประเภท แม็กซิมั่มลิสต์ มั๊งครับ ซึ่งบางงานที่ทำให้ลูกค้าผมทำเป็นแนวมินิมอลก็มี เพียงแต่มันอาจจะไม่ใช่งานที่สร้างความโดดเด่นได้ดีพอเท่ากับงานอีกแบบที่ทำ
แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ในการทำงานได้มาจากไหน
สิ่งรอบข้างครับ บางทีไปเดินตลาดสด งานวัด เดินดูชาวบ้าน ผมจะชอบคิดอะไรเล็กๆ อ่ะ อย่างรถขายปลาหมึก, รูปเพ้นท์กระท่อมเชยๆหลังรถสิบล้อ, การละเล่นหรือของเล่นสมัยเราเด็กๆบางอย่าง อะไรอย่างนี้นะ คือ ประเทศอื่นมันไม่มีอ่ะครับ
ขั้นตอนในการทำงานเป็นอย่างไร
จะสเก็ตซ์งานก่อน แต่เป็นอารมณ์ thumbnail ครับ คือเราจินตนาการในหัวไว้แล้วสเก็ตซ์ให้จำได้ว่าตรงนี้เราจะใช้อะไร คิดสี แบบโทนนี้มันเป็นยังไง เวลาเราสร้างอิลิเมนต์ เราก็ต้องรู้ว่ามัน match กับสีนี้มั้ยคิดโครงสร้างสีและรูปแบบไว้ในใจก่อน แต่รายละเอียดตอนทำมันอาจจะมีเพิ่มหรือลดทอนลงบ้างตามความเหมาะสม แต่มันยังอยู่ในโครงสร้างที่เราคิด
รู้ได้อย่างไรว่า พอทำๆ ไปแล้ว งานควรจบ และพอแล้ว
มันใช้ความรู้สึกกับประสบการณ์มากกว่าครับ ประสบการณ์นี่ไม่ใช่อายุนะ มันคือการที่เราดูและทำมาพอสมควร อย่างงาน maximal ที่ผมทำสไตล์เยอะๆ มันก็ไม่ใช่ถมเต็มไปเรื่อยๆ บางทีเยอะไป ผมก็ลบหรือยกออกทั้งก้อนก็มีเหมือนกัน หลักๆคือใช้ความรู้สึกเอา
อย่างงานอิลลัสเตรชั่นแบบที่วางแน่นๆ ทับๆ กัน มันมีหลักการในการทำ หรือว่าวางไปอย่างไร้ทิศทาง
ผมว่ามันอยู่ที่อิลิเมนต์นะ ถ้าคนทำเขาไม่ได้สร้างอิลิเมนต์เอง แต่ไปเอาคลิปอาร์ต มาหรือทำโครงสร้างง่ายๆ มา แล้วมาวางๆ ซ้ำๆ มันจะดูรู้ว่าไม่ค่อยมีทิศทางหรือหลักการอะไร แต่งานที่เขาสร้างอิลิเมนต์เองแล้วมาวางองค์ประกอบ งานโดยรวมมันจะดูรู้ว่าเขาทำมาด้วยแนวคิดอะไร เริ่มต้นด้วยอะไร
คิดอย่างไรกับการออกแบบงานนอกกรอบไร้กฏเกณฑ์ กับงานที่ตามกฎเกณฑ์ของกราฟิกดีไซน์
งานอิลลัสเตรชั่นมันเป็นอย่างนั้นนะ มันไม่มี grid ไม่มีระบบตายตัว มันเกี่ยวกับการวาง Composition มากกว่า เวลาผมทำผมใช้ความรู้สึกว่าตรงนี้มันสวยมันใช่ แต่ถ้าเป็นพวกกราฟิก พวกสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ที่ออกแบบ อะไรที่มันมีหลักของการวาง grid ก็ต้องใช้ ผมว่ามันสำคัญครับ ควรจะรู้ทั้งสองด้าน ทฤษฎีควรรู้ไว้ แต่บางทีไม่ต้องทำตามเสมอไป เหมือนเรารู้่เพื่อที่ว่าเราจะมาปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง
คิดว่าตอนนี้กราฟิกไทยพัฒนาหรือยัง
เมื่อ 2 ปีก่อนเหมือนจะพัฒนาไปในทางที่ดีนะ กำลังดูมีอนาคต งานคนไทยหลายๆคนเริ่มมีงานไปลง Annual Book ร่วมกับงานระดับนานาชาติได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยให้กับวงการ ทำให้มันจุดประกายบางอย่างกับกระแสสังคม เอกชน รัฐบาล เริ่มหันมาสนใจงานกราฟิกดีไซน์ มองๆไปแล้วมันคล้ายๆกับยุคสามหน่อ สักเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่งานกราฟิกบูมระลอกแรก ยุคนั้นผมยังพึ่งเรียนปี 1 เองมั๊ง ได้เห็นนิตยสารไทยเริ่มทำกราฟิกเจ๋งๆ ปกเทปสวยๆของเบเกอรี่ มันสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย
แต่ช่วงนี้มัน down ลงไป อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาด้วย งานใหม่ๆที่โดดเด่นมีกลิ่นเฉพาะตัวมันค่อนข้างมีให้เห็นน้อย ช่วงนี้เลยมีแต่งานที่ทำตามแนวทางที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว อาจจะต้องรอคอยคลื่นระลอกใหม่มาสร้างผลกระทบในวงกว้างอีกที ซึ่งคงอีกหลายปี
ฝากอะไรกับดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่หน่อยค่ะ
ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามันมีค่านิยมผิดๆบางอย่างเกิดขึ้น การเรียนและทำงานกราฟิกมันเหมือนกลายเป็นแฟชั่นบางอย่าง สำหรับคนที่ตั้งใจกับมันจริงๆ อยากจะให้พัฒนาทั้งสกิลฝีมือ และแนวคิด เช่น นำสิ่งใกล้ตัวที่คาดไม่ถึงมาต่อเชื่อมกับการสร้างงาน มันน่าจะได้ผลงานที่มีกลิ่นเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือน สร้างงานดีๆออกมาได้
*********************************************
ขอบคุณภาพประกอบและบทสัมภาษณ์จากhttp://www.gfxterminal.com/master_tips.php?article_id=8
ข้อเขียนและภาพประกอบนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ www.gfxterminal.com ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย