Default เกิดจากการรวมตัวของคุณโอ้ (อัครฤทธิ์ ลียะวณิช) คุณเต้ (ศตพร นวลละออง) และ คุณแอร์ (อนิศา สุทัศญาลัย) ซึ่งรู้จักเป็นเพื่อนกันเมื่อตอนเรียนที่ Savannah College of Art and Design, USA. ทำงานและรับโปรเจคร่วมกันในนาม Default จากนั้นคุณโอ้ และคุณเต้ได้กลับมาเซ็ต Default BKK ขึ้นอย่างจริงจัง โดยตั้งเป็นบริษัทขึ้น ส่วนคุณแอร์ยังคงอยู่ที่ New York จึงแยกบริษัทออกเป็น 2 ส่วน ก็คือ Default NY หรือ by Default และก็ Default BKK
ประวัติการศึกษาและการทำงาน
คุณโอ้: อัครฤทธิ์ ลียะวณิช ชื่อเล่น โอ้ครับ จบศิลปกรรมศาสตร์ สาขากราฟิกดีไซน์ ที่จุฬาฯ ทำงานอยู่ที่ Propagandist 1 ปีแล้วไปเรียนต่อโท กราฟิกดีไซน์ที่ SCAD หลังจากจบโทแล้วก็ทำงานอยู่ที่อเมริกาประมาณ 8 ปีที่ Segura Inc. ที่ Chicago และ Syrub ที่ New York ก่อนย้ายไปทำเป็น freelance ให้กับบริษัทต่างๆ เช่น Abound Sodano, Browns, Fold 7, Suburbia…ที่ลอนดอน อีกปีกว่าๆ
คุณเต้: ศตพร นวลละออง ชื่อเล่น เต้ จบโบราณคดี มนุษยวิทยา จากศิลปากร จบแล้วทำงานอยู่พักนึง แล้วก็ไปเรียนต่อที่ SCAD พอจบแล้วก็ไปทำงานที่ Thomas Ryan
งานที่ถนัด ส่วนมากเป็นงานอะไร
งานที่ชอบทำมากที่สุดก็คงเป็นงาน Editorial งานหนังสือ และงานสิ่งพิมพ์ต่างๆ ชอบที่เราสามารถจับต้องเป็นเล่มๆ ได้
ระหว่างการทำงานให้กับลูกค้าไทย กับลูกค้าต่างประเทศ มีความแตกต่างในการทำงานหรือไม่
แตกต่างมาก งานต่างประเทศจะให้อิสระในการทำงานมากกว่า ลูกค้าจะเคารพความคิดของนักออกแบบมากกว่า ส่วนลูกค้าไทยยังไม่ค่อยเข้าใจในวิชาชีพของเราในวงกว้าง ยังคิดว่าเราเป็นคนทำอาร์ตเวิร์คให้ตามที่เขาต้องการอยู่ การทำงานก็ยังมีข้อจำกัดเยอะ การให้อิสระในการทำงาน อย่างเช่นการเลือกสี และ ตัวหนังสือ บางครั้งเขามีสีที่เขาต้องการอยู่ในหัวอยู่แล้ว ถึงเราจะแนะนำว่าสีนั้นมันไม่เหมาะสมกับภาพรวมของงานนั้นแต่บางทีลูกค้าก็ไม่ฟังเรา เราก็พยายามที่จะเสนอ และ push ทางเลือกที่ดีที่สุดให้ลูกค้านะ
จุดเด่นหรือสไตล์งานของ Default คืออะไร คิดว่าอะไรทำให้งานของบริษัทเป็นที่จดจำ
น่าจะเป็นการหาวิธีการตอบโจทย์ที่ซ้ำ หรือเดิมๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้มันน่าสนใจและเหมาะสมครับ เราไม่ได้ยึดติดสไตล์ไหนเป็นพิเศษ
วิธีการทำงาน / ขั้นตอนการทำงาน เป็นอย่างไร
เริ่มจากการทำความเข้าใจในลูกค้า และโจทย์ที่ได้ก่อนว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นหาแนวความคิด Concept ที่จะตอบโจทย์นั้นๆ เมื่อได้แนวความคิดแล้ว ก็หาวิธีการที่ใหม่ๆ มาตอบแนวความคิดนั้นๆ
ไม่ว่าจะทำงานประเภทไหน ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจ หรือจะทำหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ มันก็ไม่แตกต่างกันครับ ต้องเริ่มจากกระบวนการคิดก่อน ทำให้เหมาะสมกับสินค้านั้นๆ นอกนั้นก็เป็นเรื่องดีเทลว่าเป็นงานประเภทอะไร มีข้อจำกัดเฉพาะอะไร อย่างเช่นขวดที่เราเลือกให้ลูกค้า บางทีก็ต้องหาขวดสำเร็จรูปมาดีไซน์เฉพาะกราฟิกบนขวด เพราะถ้าเราออกแบบขวดให้ใหม่ ลูกค้าก็จะต้องผลิตครั้งละมากๆ ต้นทุนก็สูง ซึ่งบางทีลูกค้าไม่ได้มีเงินลงทุนขนาดนั้น
ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
คงเป็นเรื่องความอิสระในการนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ และการยอมรับในวิธีการใหม่ๆ ซึ่งบางทีมันอาจจะใหม่เกินไปสำหรับลูกค้า ทำให้ลูกค้าไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ
เวลาเปิดดูหนังสือดีไซน์ มักจะเห็นงานของ ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา สวยๆเก๋ๆ แต่ของไทยค่อนข้างหายากที่จะเจองานที่มีดีไซน์โดดเด่นๆ คิดว่าเพราะอะไร
เพราะความไม่มีอิสระในการทำงาน ผมว่านักออกแบบไทยมีความสามารถพอที่จะทำงานให้โดดเด่น แต่งานที่ดีที่เราเห็นในหนังสือจากต่างประเทศไม่ได้เกิดจากนักออกแบบอย่างเดียว มันเกิดจากความมีวิสัยทัศน์ของลูกค้าด้วย เร่ิมจากการเลือกบริษัทออกแบบ ดูที่ผลงานของบริษัทนั้นๆ ไม่ใช่จ้างเพราะเค้าบอกๆ กันมา คนนี้ดัง และรวมไปถึงวิธีการการทำงานร่วมกันของนักออกแบบและลูกค้า ผมก็ไม่เคยเจอลูกค้าที่ไหนมาบอกว่า ต้องการตัวหนังสือแบบโน้น แบบนี้ สีนี้ นอกจากเมืองไทย ถ้าเราไม่สามารถหลุดจากการมองเฉพาะรูปแบบ เราก็จะไม่มีวันเห็นงานดีดี ลูกค้าควรมองที่แนวความคิด ว่าตอบโจทย์ได้ตามที่ต้องการหรือไม่ รายละเอียดควรเป็นเรื่องของนักออกแบบ เช่น เรื่องสี สีแต่ละสีก็ให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน การเลือกสี ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับโทนของงาน ไม่ใช่เลือกเพราะว่าลูกค้าชอบสีนี้
อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงาน
คิดว่ากราฟิกดีไซน์เป็นวิชาชีพนะ เราทำงานจากการคิดที่เป็นระบบไม่ใช่จากพรสวรรค์ ไม่ใช่ศิลปิน มันมีวิธีที่จะทำให้เราคิดงานออกได้แน่ๆ ไม่ใช่นั่งรอให้อะไรผ่านเข้ามาในหัวแล้วปิ๊ง อย่างเช่น จากโจทย์ที่ได้มา เราก็ลิสท์ออกมาเลยว่าข้อดีของเขาคืออะไร มีอะไรที่ตอบโจทย์ได้บ้าง มีวิธีการอะไรที่ใช้ได้บ้าง แล้วแต่ละอันจะไปคิดต่อเป็นอะไรได้บ้าง เมื่อได้แล้วก็มาไตร่ตรองดูอีกทีว่าอะไรคือวิธีที่ดีที่สุด น่าสนใจที่สุดในการตอบโจทย์นั้นๆ แล้วค่อยลงมือทำ
อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบ / การประกอบอาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์
สิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบ ก็ง่ายๆ คือ อย่าทำงานเพื่อให้มันผ่านๆไป หรือทำตามลูกค้าบอกเพราะว่ากลัวว่าลูกค้าจะไม่จ้าง ถ้าเราทำตามลูกค้าก็ต้องเกิดจากการคุยและทำความเข้าใจ บางครั้งเราเองก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ลูกค้าน่าจะเข้าใจสินค้าของตัวเองมากกว่าเรา และก็พยายามทำงานให้ดีที่สุด อย่างน้อยเราก็จะได้ภูมิใจในวิชาชีพและผลงานของเรา
คิดว่ากราฟิกดีไซเนอร์ จะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรบ้าง
เริ่มต้นด้วยการยอมรับว่างานออกแบบเป็นวิชาชีพ ไม่ได้ออกแบบด้วยความรู้สึก จากพรสวรรค์ จากความอยาก หรือแสดงความเก่งของตัวเรา
ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นวิชาชีพแล้ว เราก็จะเริ่มเรียนรู้หลักการในการออกแบบต่างๆ อ่านหนังสือออกแบบ อ่านปรัชญาวิธีคิดของนักออกแบบดังๆ เราก็จะเริ่มเรียนรู้และพัฒนา เราต้องทำความเข้าใจและหลุดพ้นจากรูปแบบเพราะว่ามันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานออกแบบ แล้วมันก็จะเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้น
****************************************************
ขอบคุณภาพประกอบและบทสัมภาษณ์จากhttp://www.gfxterminal.com/master_tips.php
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ www.gfxterminal.com ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย