Balenciaga …. the Fashion Master of Us All

ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่พอใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า กติกาในการตัดสินความงามของผู้หญิงทั่วโลกในแต่ละยุคสมัยนั้น ถูกกำหนดขึ้นโดยทัศนะหรือความคิดเห็นของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีจำนวนเพียงน้อยนิดในโลก แต่มีอิทธิพลทางความคิดต่อค่านิยมการแต่งกายและกติการความงามของผู้คนรุนแรงยิ่งกว่ากฏอัยการศึกของรัฐบาลช่วงปฏิวัติ

ในบางช่วงเวลา ผู้หญิงยอมปล่อยตัวให้อ้วนท้วนสมบูรณ์เพราะมีค่านิยมว่าความอวบอ้วนคือสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งหรูหรา บางยุคสมัยผู้หญิงยีผมฟูโป่งดูน่าขันเพราะเห็นว่าสวย มาสู่ยุคที่การมีไหล่กว้างเอวคอดกิ่วจนร่างกายดูเป็นสามเหลี่ยมเหมือนนักอเมริกันฟุตบอลหมายถึงความโก้สง่า กระทั่งมาถึงวันที่ผู้หญิงผอมแห้งได้รับการเชิดชูให้เป็นสุดยอดนางแบบ ค่านิยมเหล่านี้ คือคำพิพากษาจากดีไซเนอร์ผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคสมัย ที่ถูกส่งผ่านมาสู่โลกโดยการสื่อสารของบรรณาธิการแฟชั่นของนิตยสารชั้นนำ และส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่เป็นปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่ไม่ได้หยุดแค่วงการแฟชั่น แต่อาจกระทบเลยเถิดไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร และรูปแบบการทำเกษตรกรรม หรือการเลี้ยงสัตว์เลยทีเดียว จึงเห็นได้ว่า นักออกแบบแฟชั่นตัวเล็กๆ ในห้องทำงานที่เต็มไปด้วยกระดาษ ดินสอสี หุ่นโชว์เสื้อ และผ้าตัวอย่างมากมาย เป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อโลกอย่างยิ่งใหญ่และลึกล้ำอย่างสุดประมาณ

และหนึ่งในบุคคลผู้สร้างปรากฏการณ์นี้ คือ Cristóbal Balenciaga นักออกแบบจาก Basque ผู้ก่อกำเนิดแบรนด์แฟชั่นสะท้านโลก Balenciaga ซึ่งเริ่มต้นชื่อเสียงในฐานะนักออกแบบแฟชั่นชั้นสูงหัวก้าวหน้า จากการทำงานออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีที่ผสมผสานทั้งความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำยุคเข้ากับความประณีตสุดเฉียบที่ไม่ยอมให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องฝีมือและคุณภาพจนได้รับการนับถือว่าเป็น “นักออกแบบชั้นครู” โดยคำนิยมที่เชื่อถือได้จาก Christain Dior ซึ่งถ้าบังเอิญยกย่องใครขึ้นมาแล้ว บุคคลนั้นย่อมจะสุดยอดจริงๆ

ผลงานออกแบบแฟชั่นในทุกยุคสมัยของ Balenciaga นั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อทิศทางของวงการแฟชั่นชั้นสูงของโลก เริ่มตั้งแต่เมื่อเขาเปิดร้านหรูที่ San Sebastián ประเทศสเปนในปี 1918 เป็นต้นมา และขยายสาขาไปตามเมืองใหญ่ต่างๆทั่วประเทศ โดยมีลูกค้าเป็นเหล่าราชนิกูลและไฮโซ มาอุดหนุนให้เขาฟูเพื่องทั้งเงินและชื่อเสียง จนกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในสเปน ก็เป็นเหตุให้เขาต้องย้ายหนีไปแจ้งเกิดและดังเป็นพลุแตกในวงการแฟชั่นฝรั่งเศส ซึ่งโลกจะต้องจดจำไม่ลืม ถึงชุดกระโปรงทรงลูกโป่งที่ใส่แล้วเหมือนคนท้องของ Balenciaga ที่แสดงหัวคิดปฏิวัติและเสียดสียุคสมัยที่ผู้หญิงเคยพยายามรัดเอวกิ่วและโชว์ส่วนโค้งเว้า ให้หันมานิยมใส่เสื้อผ้าที่ไม่เห็นรูปทรง ซึ่งผู้ที่สื่อสารอิทธิพลทางแฟชั่นนี้ก็คือลูกค้าที่เป็นชนชั้นสูง ที่ใส่ชุดของเขาไปออกงานหรือโชว์ตัวในหน้าสื่อต่างๆ และบรรณาธิการแฟชั่นของ Harper’s Bazaar ที่ขยายอิทธิพลทางแฟชั่นทำให้หญิงสาวชาวบ้านแห่แหนไล่ตามเลียนแบบจนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรม ซึ่งความดังของแบรนด์นี้จะมากขนาดไหน ก็คงอธิบายได้แต่เพียงว่า มีหญิงสาวชั้นสูงกระเป๋าหนักมากมายจากทั่วโลกยอมเสี่ยงตายเพื่อเดินทางมายุโรปเพื่อซื้อชุดของ Balenciaga แม้ในช่วงเวลาหน้าสิ่งหน้าขวานอย่างสงครามโลกครั้งที่สองเลยก็แล้วกัน…เหลือเชื่อจริงๆ และการออกแบบที่ดังสุดๆของเขาในช่วงเวลานั้นก็คือเสื้อคลุมทรงเรขาคณิต ที่ดูล้ำยุคเหนือโลกไม่ซ้ำแบบใคร…จะสวยหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ถูกใจนักวิจารณ์แฟชั่นและถูกใจคนชั้นสูง ที่ชอบแสวงหาความแปลกแตกต่างเป็นที่หนึ่งอีกเช่นเคย

แต่หลังจากที่การทดลองนำพาทรวดทรงผู้หญิงไปสู่รูปทรงเรขาคณิตเริ่มอิ่มตัว Balenciaga ก็แอบย่องนำหน้าใครๆ มาสู่การออกแบบที่เน้นส่วนโค้งส่วนเว้าอันเป็นธรรมชาติให้ถูกอกถูกใจบรรดาสาวไฮโซขี้เบื่อ ตามด้วยการออกแบบเสื้อทูนิคที่มีทรงเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการสร้างความนิยมด้วยแฟชั่นกระโปรงเอวสูงที่มีกลิ่นอายของกิโมโนและการเสริมไหล่กว้างที่ทำให้ผู้สวมใส่ดูเอวคอดกิ่ว อีกทั้งชุดกระโปรงทรงบอลลูน กับอะไรๆอีกมากมายที่แสนจะขบถและกล้าหาญ ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเขาจะสนุกกับเส้นสายและทรวดทรงของเสื้อผ้าแล้ว ในช่วงปี 1960 Balenciaga ก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะสนุกสนานกับสิ่งใหม่ๆเช่น การเล่นกับเนื้อผ้าประเภทต่างๆที่ทำให้เกิดความน่าสนใจ หรือการออกแบบคอปกเสื้อที่ไม่ติดกับตัวเสื้อและทำให้รู้สึกเหมือนเป็นเครื่องประดับคอ ฯลฯ และแทบทุกคราวเลยทีเดียวที่สไตล์ของเขาประสบความสำเร็จจนถึงขั้นสร้างอิทธิพลทางความคิดด้านความสวยความงามของเรือนร่างสตรีทั่วโลกแม้ในยุคสมัยที่มีศึกสงคราม

ลูกค้าคนดังของ Balenciaga นั้นมีทั้งราชวงศ์ชั้นสูงและหญิงสูงศักดิ์จากทุกวงการ อาทิ Pauline de Rothschild, Bunny Mellon,Marella Agnelli, Hope Portocarrero , Gloria Guinness และ Mona von Bismarck รวมถึงพระราชินี Fabiola แห่ง Belgium แต่ที่ครึกโครมก้องโลกคงไม่มีใครเกิน Jackie Kennedy ที่อยากซื้อชุดแสนแพงของ Balenciaga ในช่วงที่ John F. Kennedy ผู้เป็นสามีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และทำให้เขาถูกสังคมโลกเพ่งเล็งว่าฟุ่มเฟือยเกินกว่าเหตุ จนในที่สุดข่าวฉาวก็จบลงด้วยการให้พ่อสามีเป็นคนเช็คบิลเพื่อช่วยรักษาภาพลักษณ์ที่รู้จักประหยัดของ JFK เอาไว้ได้อย่างหวุดหวิด…โอโฮ แฟชั่น Balenciaga เขย่าการเมืองโลกเลยจริงๆ

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของ Balenciaga ช่วยยืนยันว่า การไล่ตามแฟชั่นเป็นการแข่งขันอันแสนทรมานและหอมหวานที่สุดสำหรับผู้หญิง และเป็นเกมอันโหดร้ายของนักออกแบบผู้แสนเย่อหยิ่ง ก้าวร้าว เลือดเย็นและสนุกกับการทารุณกรรมผู้หญิงด้วยแฟชั่นที่พวกหล่อนไล่ล่าอย่างเหนื่อยหนัก ไม่มีวันชนะ แต่ผู้หญิงก็ยังไม่หยุดสวย และหลงรักการทารุณกรรมทางแฟชั่นนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ว่าโลกจะถึงกาลแตกสลายหรืออยู่ท่ามกลางไฟสงครามก็ตาม

+++++++++++++++

เรียบเรียงโดย : วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

You may also like...