He is the Most Beautiful

Visual arts – He is the Most Beautiful Lady II ของ จักรพรรดิ์ รัตนจันทร์
คุณอาจเคยเห็นความงดงามระทดระทวยของสตรีเพศหรือกายกำยำของบุรุษมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในงานศิลปะหลากแขนง เพราะมนุษย์เลือกที่จะถ่ายทอด ‘ด้าน’ ที่งดงามและคุ้นเคยเหล่านั้น ตั้งแต่ก้าวแรกที่รู้จักกับศิลปะ


แต่พนันได้เลยว่ามีไม่กี่ครั้งหรอกที่คุณจะได้เห็นเพศที่สามอวดโฉมโลดแล่นอยู่ในงานจิตรกรรม โดยเฉพาะงานที่มุ่งจะบอกเล่าเรื่องราวอันน่าสนเท่ห์ของพวกเธอ ท่ามกลางสังคมที่คละคลุ้งไปด้วยอคติเช่นนี้
แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ จักรพรรดิ์ รัตนจันทร์ เลือกที่จะกล่าวถึงกะเทยในงานของเขา หลังจากที่ ใน He is The Most Beautiful Lady ชุดแรกเคยอวดโฉมสู่สายตาผู้ชมมาแล้ว ณ หอศิลป์จามจุรี เมื่อปี พ.ศ. 2546

แต่ด้วยเทคนิคสีชอล์กพาสเทลและสีน้ำมัน ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตน He is the Most Beautiful Lady II จึงสามารถถ่ายทอดมุมมืดอันมีชีวิตชีวาหลังม่านและแสงสีสว่างไสวหน้าม่านของนางโชว์สาวประเภทสองได้อย่างถึงรสถึงชาติและมีแง่มุมชวนคิด

ความมลังเมลืองของอาภรณ์กับสีสันฉูดฉาดจัดจ้านบนใบหน้า ซึ่งขัดแย้งกับเรือนกายกำยำของนางโชว์คือแรงบันดาลใจมหัศจรรย์ให้จักรพรรดิ์สร้างสรรค์งานชุดนี้ขึ้นมา แน่นอนว่ามันเป็นแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันได้รับจากชีวิตของเพศใดใดได้อีกเลย

จักรพรรดิ์ ถ่ายทอดอิริยาบถของนางโชว์ตั้งแต่หลังม่าน เมื่อความพยายาม ‘หลีกหนี’ธรรมชาติเริ่มต้นขึ้นที่หน้ากระจก ไปจนถึงการแสดง ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ที่ถุกเก็บกดไว้ ออกมาเมื่ออยู่หน้าเวที ที่ซึ่งเพศที่สามได้รับการยอมรับและสนใจ แม้ว่าเมื่อสักครู่ที่ด้านล่างเวที เธอเพิ่งจะถูกหัวเราะเยาะมาก็ตาม

Sandra Witelson นักจิตวิทยาวิเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัย McMaster ประเทศคานาดา เคยกล่าวไว้ว่า การ ‘แต่งองค์ทรงเครื่อง’ ของคนแปลกเพศนั้น เป็นไปเพื่อเปลื้องความต้องการในจิตใจตนเองมากกว่าสัญชาตญาณ ‘สวยเพื่อสืบพันธุ์’ แบบใครๆ ความงามในสายตาผู้อื่นจึงไม่สำคัญเท่าความพึงพอใจของตนเอง

คนแปลกเพศจำนวนมากใช้เสื้อผ้าและกระจกสะท้อนเบื้องลึกของความเป็นตัวเองออกมา โดยมีสีสัน อารมณ์ และพรสวรรค์เป็นเครื่องประดับที่แพรวพราว เรียกร้องการยอมรับจากสังคมบนพื้นฐานของความเท่าเทียม

แต่บนโลกแห่งความอยุติธรรมใบนี้ ที่ทางของพวกเธออยู่ที่ไหน และกว้างขวางเพียงไร …

You may also like...